3 พฤษภาคม 2567
อาจดูเป็นกีฬาสบาย ๆ ที่เหมือนมีเอาไว้เล่นสนุก ๆ แต่ในการแข่งโอลิมปิกนั้น กีฬาทางน้ำต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ว่ายน้ำ, กระโดดน้ำ, โปโลน้ำ, ระบำใต้น้ำ และว่ายน้ำมาราธอน ล้วนแต่เป็นการแข่งขันที่ดุเดือดและมีเรื่องราวมากมาย ซึ่งแต่ละชนิดมีความเป็นมาอย่างไรในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ติดตามได้ที่นี่
ได้รับการบรรจุเป็นกีฬาที่แข่งขันในโอลิมปิกสมัยใหม่ตั้งแต่ครั้งแรกในปี 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ โดยในระยะแรกมีเพียงการแข่งขันประเภทชาย เปิดโอกาสให้นักกีฬาว่ายน้ำใช้ท่าอะไรก็ได้ จนในปี 1900 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้เพิ่มการว่ายน้ำท่ากรรเชียงเข้าไปอีก 1 รายการ ต่อมาปี 1908 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จึงเพิ่มท่ากบและต่อมาได้บรรจุท่าผีเสื้อตามมาเป็นท่าสุดท้าย
อย่างไรก็ตามในสมัยนั้นการจัดการแข่งขันยังไม่ค่อยเข้าที่เข้าทาง ที่กรุงเอเธนส์นักว่ายน้ำยังต้องใช้วิธีออกสตาร์ตด้วยการกระโดดจากบนเรือลงไปในน้ำที่เย็นจัดราวกับน้ำแข็งของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแถมยังมีคลื่นอีกด้วย ดังนันผู้ที่จะเข้าแข่งต้องคิดถึงความแข็งแกร่งทนทานของตนเองว่ามีเพียงพอหรือไม่ที่จะเอาชีวิตให้รอดก่อนจะคิดเรื่องเอาชนะ
ปี 1900 โอลิมปิกที่กรุงปารีส มีการแข่งขันว่ายใต้น้ำรวมทั้งการว่ายน้ำผ่านเครื่องกีดขวางอีกด้วย 4 ปีต่อมาที่เมืองเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา มีการแข่งดำน้ำระยะไกล (Plunge for distance) ซึ่งรายการเหล่านั้นไม่ได้รับความนิยม เพราะผู้ชมจะไม่เห็นอะไรเลยนอกจากน้ำในขณะที่นักว่ายน้ำดำน้ำอยู่ทำให้ถูกยกเลิกไป ส่วนการแข่งขันว่ายน้ำประเภทหญิง เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในโอลิมมปิกปี 1912 ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
นับตั้งแต่โอลิมปิกครั้งที่ 3 ที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯก็ครองความเป็นเจ้ากีฬาชนิดนี้มาโดยตลอดในปัจจุบันการแข่งขันว่ายน้ำโอลิมปิกทั้งประเภทชายและหญิงนั้น นักว่ายน้ำจากสหรัฐฯและออสเตรเลียนับว่าอยู่แถวหน้าเหนือชาติอื่นๆ
หากไม่นับการฝึกฝนนานเป็นแรมเดือนแรมปี เพื่อนำทั้งหมดที่เรียนรู้มาใช้ในสนามแข่งแค่วันเดียว ในกีฬาว่ายน้ำยังมีสิ่งสำคัญอื่นๆที่นักกีฬาแต่ละคนต่างมีไม่เหมือนกัน นั่นคือเรื่องของเทคนิคและยุทธวิธีในการรักษาจังหวะการแข่งของตนเอง ที่กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไปโดยปริยาย นอกจากนี้กติกาและระเบียบการแข่งขันต่างๆก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่นักกีฬาห้ามลืมเป็นอันขาด เพราะหากมีการตรวจสอบพบจะมีผลต่อการแข่งขันและตัวนักกีฬาเองทันที
ถือเป็นกีฬาที่เล่นเป็นทีมชนิดแรกๆที่เข้าสู่กีฬาโอลิมปิก ได้รับการบรรจุเข้าในโอลิมปิกในปี 1900 เป็นครั้งแรก ซึ่งมีการแข่งขันตลอดมาทุกครั้งจนถึงปัจจุบัน และในโอลิมปิกปี 2000 ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย มีการแข่งขันโปโลน้ำหญิงเป็นครั้งแรก หลังจากที่ประเภทชายกลายมาเป็นกีฬาหลักของโอลิมปิกมากว่า 1 ศตวรรษ
แม้จะเป็นที่นิยมในโซนยุโรป แต่โปโลน้ำก็ได้รับความนิยมจากนักกีฬาทั่วโลก จนเรียกได้ว่าไม่มีใครที่เป็นเจ้าของตำแหน่งเจ้าเหรียญทองตัวจริง และด้วยความที่เป็นกีฬาที่มีสูตรการแข่งค่อนข้างตายตัว ทำให้ทุกชาติสามารถฝึกฝนนักกีฬาของตัวเองขึ้นมาแข่งในสนามได้อย่างสูสีกัน ด้วยความเท่าเทียมกันในด้านนี้จึงเรียกว่าทุกประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกและส่งนักกีฬาเข้าร่วมในการกีฬาประเภทนี้ มีโอกาสเข้าชิงเหรียญทองด้วยกันทั้งสิ้น แต่สิ่งหนึ่งที่มีส่วนให้การแข่งขันไม่ออกมาไม่เป็นตามที่หลายคนคาด นั่นเพราะความเจนสนามและประสบการณ์ที่นักกีฬาในแต่ละประเทศมีไม่เหมือนกัน
กีฬากระโดดน้ำถูกบรรจุในโอลิมปิกเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1904 ที่เซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา มีสองรายการและเป็นประเภทชายทั้งสิ้น ในยุคแรก ๆ กีฬาประเภทนี้เป็นการกระโดดลงไปในน้ำแล้วดำไปให้ไกลกว่าคู่แข่งคนอื่น ๆ ซึ่งผู้ชมจะไม่ได้เห็นอะไรเลยเพราะนักกีฬาอยู่ใต้น้ำ ทำให้ถูกถอดออกจากกีฬาโอลิมปิกทันที ก่อนจะมีการบรรจุกีฬากระโดดน้ำจากกระดานสปริงบอร์ดเข้ามาในโอลิมปิกครั้งแรกที่กรุงลอนดอนปี 1908
ต่อมาในปี 1912 ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน การกระโดดน้ำได้มีการพัฒนาท่าทางต่างๆเพิ่มมากขึ้น ด้วยเทคนิคการพับตัว ม้วนตัว ตลอดจนการตีลังกาหลายตลบ ซึ่งก็เป็นช่วงที่นักกระโดดน้ำจากสหรัฐอเมริกา เริ่มเข้ามาช่วงชิงความเป็นเจ้าในกีฬากระโดดน้ำจากสวีเดนและเยอรมนีไป และครอบครองไว้จนถึงยุคปี 1980 ก่อนที่นักกระโดดน้ำจากจีนจะขึ้นมาฉายแสง
นับตั้งแต่ปี 1924 จนถึงปัจจุบัน กระโดดน้ำไม่ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบในการแข่งขันไปเลย จนกระทั่งโอลิมปิกครั้งที่ 27 ที่ เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย มีการเพิ่มรายการกระโดดน้ำคู่เข้าไปด้วย เรียกว่า ซิงโครไนซ์ ไดวิ่ง (Synchronized Diving) เป็นการกระโดดน้ำเป็นคู่ เหมือนกับการกระโดดน้ำประเภทเดี่ยว แต่นักกระโดดน้ำทั้งสองคนต้องทำทุกอย่างให้พร้อมกัน ตั้งแต่ตำแหน่งที่เริ่มต้นจนกระทั่งถึงท่าจบในการลงสู่พื้นน้ำ
ในอดีตการแข่งกระโดดน้ำโดยหมุนตัวเพียง 2 รอบ หรือ 2 รอบครึ่ง ก็ถือว่าผ่านมาตรฐานของการแข่งแล้ว แต่ปัจจุบันพื้นฐานนักกีฬาที่ส่งแข่งส่วนใหญ่สามารถหมุนตัวกลางอากาศได้มากกว่า 3 - 4 รอบก่อนจะลงถึงน้ำ นอกจากนี้รูปร่างและทักษะการกระโดดของนักกีฬาเองก็มีความเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จากกระดานกระโดดเท่าที่จำเป็นและตัวนักกีฬาเองก็มีความผอมสูงมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการแข่งขันที่นักกีฬาจากทุกประเทศต่างต้องมีการปรับตัวให้ทันกับเทรนด์ที่เปลี่ยนไป
ได้รับการบรรจุให้เป็นกีฬาที่มีการชิงชัยเฉพาะนักกีฬาหญิงในโอลิมปิกอย่างเป็นทางการในโอลิมปิกฤดูร้อน 1984 ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา มีชิงชัย 2 เหรียญทอง คือ ประเภทเดี่ยวและคู่ ซึ่งนักกีฬาระบำใต้น้ำ จากสหรัฐฯ กวาดไปทั้งสองเหรียญทอง
ประเทศที่ครองความยิ่งใหญ่ในกีฬาระบำใต้น้ำ คือสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ที่ต่างผลัดกันครองเหรียญทองในโอลิมปิกมาตลอด แต่จุดหักเหที่ทำให้สหรัฐฯและแคนาดา มีคู่แข่งเพิ่มขึ้นคือหลังจากโอลิมปิกในปี 1996 ที่แอตแลนตา เมื่อทั้งสหรัฐฯและแคนาดาเจอปัญหาเดียวกันคือ นักกีฬาหลักต่างพร้อมใจกันวางมือ ขณะที่หลายประเทศต่างพัฒนาขีดความสามารถขึ้นมา โดยเฉพาะรัสเซียและญี่ปุ่นที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในช่วงการแข่งขันระบำใต้น้ำชิงแชมป์โลกที่ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1998 นอกจากนี้ยังมีจีนและอิตาลีเป็นคู่แข่งที่พัฒนาฝีมือได้อย่างรวดเร็ว
ความโดดเด่นของระบำใต้น้ำนั้นหากไม่นับลีลาและความสวยงามของท่วงท่า สิ่งสำคัญอีกประการที่ขาดไม่ได้ และเรียกได้ว่าเป็นกฎเหล็กของการแข่งเลยก็ว่าได้ นั่นคือการควบคุมไม่ให้หยดน้ำกระจายไปทั่ว ซึ่งแน่นอนว่าในยุคแรกของการแข่งนั้นเป็นเรื่องที่หลายมองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้
แต่ด้วยมาตรฐานการฝึกที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา จากกฎเหล็กที่นักกีฬาต้องระวังก็กลายเป็นพื้นฐานที่นักระบำใต้น้ำทุกคนต่างทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ และส่งผลต่อฝีมือของนักกีฬาจากประเทศต่างๆ ที่มีความสูสีกันมาขึ้นจะห่างชั้นกันก็เพียงประสบการณ์ในการแข่งขันเท่านั้น แต่ก็เพียงพอจะทำให้นักกีฬาจากโยนยุโรปมีความได้เปรียบนักกีฬาจากโซนเอเชียอยู่ในระดับหนึ่ง ยกเว้นจีนกับญี่ปุ่นที่สามารถเทียบชั้นได้อย่างเหลือเชื่อ
เป็นการว่ายน้ำแบบเปิดโล่งที่กำหนดโดยระยะทางไกลและกฎดั้งเดิมที่ใช้ว่ายน้ำในช่องแคบอังกฤษ ซึ่งแตกต่างจากการวิ่งแข่งมาราธอนที่มีระยะทางที่กำหนดไว้โดยเฉพาะการวิ่งมาราธอนจะแตกต่างกันไปในแต่ละระยะ อย่างไรก็ตามคำจำกัดความขั้นต่ำที่ใช้โดยทั่วไปคือ 10 กิโลเมตรเป็นระยะทางของการแข่งขันว่ายน้ำมาราธอนในกีฬาโอลิมปิก
เช่นเดียวกับการวิ่งมาราธอน การว่ายน้ำมาราธอนเองก็เป็นการแข่งกับจิตใจตัวเอง และปรับตามสภาพแวดล้อมของสนามที่มีความเปลี่ยนแปลงของคลื่นลมอยู่ตลอดเวลา นั่นทำระยะทาง 10 กิโลเมตรในการแข่งขัน มีความกดดันมากกว่าที่คิดมาก
แม้จะไม่ใช่กีฬาที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ แต่การแข่งว่ายน้ำระยะไกลขนาดนี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ความแข็งแรงและทนทานของร่างกายกับจิตใจของนักกีฬาได้เป็นอย่างดี เพราะนอกการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือเทคนิคในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อในการแข่ง และสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่จะท้าทายนักกีฬาอยู่ตลอดเวลา