stadium

ไขความคิด "อรวรรณ พาระนัง" นักปิงปองที่เริ่มต้นจากศูนย์สู่ความสำเร็จ

6 กันยายน 2565

คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะทำให้ชีวิตดีและประสบความสำเร็จได้ ดั่งเช่น “ทิพย์” อรวรรณ พาระนัง นักกีฬาเทเบิลเทนนิสทีมชาติไทยจากจังหวัดอุบลราชธานี ตัวอย่างของคนที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะยากจน แต่เพราะเธอมีเป้าหมายที่ชัดเจนและค้นพบความสามารถของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เธอใส่เกียร์ 5 มุ่งหน้าสุดกำลังโดยไม่ลังเล

 

ติดเยาวชนทีมชาติตอนอายุ 15 ก่อนจะขยับขึ้นสู่ชุดใหญ่ครั้งแรกด้วยวัยเพียง 18 ปี หลังจากนั้น 3  ปี เธอก็ได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาปิงปองไทยคนแรกที่คว้าแชมป์รายการเก็บคะแนนสะสมอันดับโลก รวมถึงแชมป์ซีเกมส์ หญิงคู่ในปี 2019 ซึ่งเป็นความสำเร็จครั้งแรกในรอบ 31 ปีของวงการลูกเด้งไทย

 

วันนี้เราจะพาไปสำรวจความคิดของนักปิงปองต้นทุนน้อยแต่ร้อยความพยายามคนนี้กัน รับรองได้ว่าคุณจะต้องทึ่งไปกับทัศนคติอันยอดเยี่ยมของเธอ ไปติดตามพร้อมกันผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษชิ้นนี้

**บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2021

 

 

เริ่มเล่นปิงปองได้อย่างไร ?

อรวรรณ พาระนัง  : เราเป็นแค่เด็กบ้านนอกที่ชอบเล่นกีฬา วิ่ง เปตอง วอลเลย์บอล ฟุตบอล แต่ก็เล่นแค่ในโรงเรียนสนุก ๆ แต่จริงจังที่สุดก็คือปิงปอง ตอนนั้นเราเห็นรุ่นพี่ในโรงเรียนเขาไปแข่งแล้วได้รางวัลกลับมา โรงเรียนประกาศยกย่องความเก่งที่หน้าเสาธงตอนเช้า เห็นแล้วก็เกิดเป็นแรงบันดาลใจ อยากเป็นแบบรุ่นพี่คนนั้นบ้าง

 

พอเรามีเป้าหมายก็ลุยเลย ไปขอหัดตีปิงปอง เหมือนเราเป็นเด็กหัวไว ตอนนั้นแค่ 9 ขวบแต่เรียนแปปเดียวก็ทำได้ทุกอย่างที่ครูสอน เดิมทีอยากเล่นปิงปองตั้งแต่อนุบาลอยู่แล้ว แต่เพราะส่วนสูงไม่ได้ หัวเรายังไม่พ้นโต๊ะเลย อ.นิวาศ สมคะเน ผอ.โรงเรียนและครูสอนปิงปอง ท่านก็ไม่สอนเรา ครูบอกให้เราไปเดาะลูกปิงปอง 1,000 ครั้ง ตีอัดกำแพง 1,000 ลูก เราก็ทำได้นะ แต่ส่วนสูงเราตอนนั้นมันไม่ได้ ก็ตื้อเขาอยู่แบบนั้นจนขึ้นชั้นประถมหัวเริ่มพ้นโต๊ะ อ.นิวาศ จึงยอมสอนให้

 

อ.นิวาศ สมคะแน คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของคุณอย่างแท้จริงเลย ?

อรวรรณ พาระนัง  : ใช่ค่ะ เหมือน อ.นิวาศ เขาเห็นแววเรา ก็เลยเน้นฝึกให้เราเยอะกว่าคนอื่น พอเริ่มพัฒนาขึ้นก็ได้ออกไปแข่งต่างจังหวัดบ่อยขึ้น ก็ได้ อ.นิวาศ นี่แหละที่คอยซัพพอร์ทให้ทุกอย่างเลย ทั้งไม้ปิงปอง ค่าน้ำมัน ค่าอาหาร ที่พัก คือเมื่อก่อนครอบครัวเรายากจนมาก พ่อเป็นภารโรง แม่เป็นแม่ครัวที่โรงเรียนแล้วก็ทำนาปลูกข้าวไปด้วย อ.นิวาศ ก็จะรู้จักครอบครัวเราเป็นอย่างดี

 

มีครั้งนึงจำได้ว่าต้องไปแข่งแมตช์ออลไทยแลนด์ที่ต่างจังหวัด อย่างที่บอกต้นทุนเราไม่ได้เยอะเพราะฉะนั้นเวลาจะไปแข่งละครั้งต้องเลือกแมตช์ที่จะไป ต้องเลือกแมตช์ที่คุ้มค่า ไปแล้วต้องได้เงินรางวัลกลับมา เพราะไปแข่งแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายเยอะมาก ทั้งค่าโรงแรม ค่าน้ำมันค่าอาหาร ซึ่งเมื่อก่อนครอบครัวเราไม่มี ให้ได้มากที่สุดก็ 500 บาท ส่วนที่เหลือก็ได้อาจารย์ช่วยดูแล ทุกวันนี้เจอหน้ากันอาจารย์ก็ยังยื่นเงินให้ใช้อยู่เลย (หัวเราะ)

 

 

 

เล่าประสบการณ์ปากกันตีนทีบในวัยเด็กที่จำไม่เคยลืมให้ฟังหน่อย

อรวรรณ พาระนัง : ครอบครัวเรามีพี่น้อง 5 คน รวมพ่อแม่ก็เป็น 7 คน แต่มีรถมอเตอร์ไซค์แค่คันเดียว เวลามีแข่งในตัวเมืองแล้ว อ.นิวาศ ไม่ว่างพาไปแข่ง พ่อกับแม่ก็จะขับรถมอเตอร์ไซค์อัด 3 พาเราไปแข่ง เชื่อมั้ยระยะทางไกลมาก บ้านอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 50-60 กิโลเมตร เป็นอะไรที่ลำบากมากเดินทางชั่วโมงกว่า ๆ แล้วแข่ง 9 โมงก็ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ 6 โมงเช้า ทั้งง่วงทั้งเหนื่อย ไปถึงสนามก็ต้องรีบกินข้าวให้ทันก่อนแข่ง

 

ตั้งแต่ตอนนั้นก็คิดแล้วว่าจะต้องหนทางทำให้ครอบครัวเมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรถยนต์ขับเหมือนคนอื่น ตอนนั้นป็นโมเม้นท์ที่ลำบาก ๆ นะ แต่ก็มีความสุขมากด้วย บางครั้งยังอยากกลับไปมีโมเม้นท์แบบนั้นอีก เพราะทุกวันนี้ถึงจะมีรถยนต์แล้ว แต่ก็ต้องอยู่ห่างพ่อแม่ ไม่ได้เจอหน้าไม่ได้กอดกันเหมือนเมื่อก่อน ทำได้แค่ส่งเงินให้ใช้ประจำทุกเดือนไม่เคยขาด

 

ทำไมถึงตัดสินใจเข้าเมืองหลวงมาเรียนต่อที่โรงเรียนกีฬากรุงเทพมหานคร ?

อรวรรณ พาระนัง : ตอนแรกก็ไม่ได้อยากมานะ 2 จิต 2 ใจ ตอนนั้นยังเด็กมากด้วย อายุแค่  13-14 ยังไม่อยากห่างพ่อแม่ แต่เพื่ออนาคตของตัวเองก็จำเป็นต้องมาเพราะเราเลือกแล้ว

 

การใช้ชีวิตคนเดียวมันก็ยากนะ ด้วยความที่เราเป็นเด็กบ้านนอก ไม่รู้จักสังคมเมืองกรุงว่ามันเป็นยังไง อยู่ที่อุบลราชธานีไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ที่นี่เราต้องเจอคนหลากหลายรูปแบบ ต้องปรับตัวให้ได้ แล้วเราไม่ทันคน โดนเพื่อนแกล้งบ้าง นั่งร้องไห้ กินข้าวไม่ลงอยู่เป็นอาทิตย์ ไม่ซ้อมไม่ไปเรียนอยากกลับบ้าน ร้องไห้โทรไปหาพ่อแม่ท่านก็ไม่อยากคุยด้วยเพราะกลัวร้องตาม

 

พอโตขึ้นมาก็เคยถามว่านะว่าทำไมกล้าปล่อยให้เราไปอยู่คนเดียว ท่านก็บอกจริง ๆ ก็ไม่อยากทิ้งหรอก แต่เพื่ออนาคตของเรา ซึ่งเขาก็เชื่อมั่นว่าเราทำได้ ตอนเขาพูดแบบนั้นเขาก็จะร้องไห้ สงสารเราที่ต้องมาเหนื่อยต่อสู้ตัวคนเดียว สิ่งที่เราทำได้ก็คือกัดฟันสู้ต่อไปเพราะคำว่าอนาคตคำเดียว

 

ตอนมาอยู่กรุงเทพใหม่ ๆ เรามีเป้าหมายเยอะแยะไปหมด อยากติดทีมชาติ อยากเป็นแชมป์ประเทศไทย แต่แพลนปรับมาเรื่อย ๆ ค่อย ๆ สูงขึ้นตามจังหวะชีวิต ซึ่งฝันของเราตอนนี้ก็คือโอลิมปิกสูงสุดแล้ว ต้องอดทนต่อสู้มากมาย ต่อสู้กับการใช้ชีวิตส่วนตัว ต่อสู้กัยชีวิตนักกีฬา มันเหนื่อยมากแต่ก็คุ้มค่า

 

 

 

อะไรคือกุญแจที่ทำให้คุณค้นพบทางเดินของตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก ?

อรวรรณ พาระนัง : ตั้งแต่เด็กแล้วเวลาเราไปแข่งทีไรจะผ่านเข้ารอบลึก ๆ ตลอด ไม่ค่อยแพ้ ผ่านไปสักระยะเราก็เริ่มรู้แล้วว่าการเล่นกีฬาปิงปองเป็นหนทางเดียวที่สร้างรายได้ให้กับเรา หาเงินได้เร็วและง่าย เรามองไปรอบ ๆ ตัวแล้วลองเปรียบเทียบกันดู พ่อแม่เราต้องเหนื่อยขนาดนี้กว่าจะได้เงินมาแต่ละบาท กว่าจะทำนาเกี่ยวข้าวเสร็จกว่าจะได้เงินต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ แต่เราตีปิงปองไม่กี่วันก็ได้เงินมาให้ครอบครัวแล้ว ก็เลยตัดสินใจแล้วว่าปิงปองคืออาชีพของเราจริง ๆ มันคือทางเดียวที่เปลี่ยนชีวิตเราให้ดีขึ้นได้

 

ชีวิตที่ต้องดิ้นรนขนาดนี้ มีวิธีรับมือกับความผิดหวัง ความกดดันอย่างไร ?

อรวรรณ พาระนัง : เราใช้วิธีการเล่าให้คนอื่นฟัง เพราะเราเป็นคนคิดเยอะ ปล่อยวางช้า พอเจอเหตุการณ์เดิมซ้ำ ๆ มันฝังใจ ถึงเวลาเราจะคิดและคาดการณ์ไปก่อนทั้งที่มันเป็นอดีตไปแล้ว เราจึงเลือกที่จะแชร์ความรู้สึกตัวเองกับคนที่ไว้ใจได้ จะไม่เก็บไว้คนเดียว พอได้ระบายออกไปมันรู้สึกเบาสมองนะ คำแนะนำที่ได้กลับก็ช่วยปลอบประโลมความรู้สึกเราได้ทุกครั้ง พอได้ปรับความคิดปรับทัศนคติใหม่ ก็จะก้าวข้ามปัญหามาได้เสมอ แต่ส่วนใหญ่เวลามีปัญหาไม่ค่อยคุยกับพ่อแม่นะ เพราะกลัวเขาเป็นห่วง ทุกวันนี้อยู่กรุงเทพคนเดียวไม่อยากให้เขามากังวล

 

ความรู้สึกหลังสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ซีเกมส์และรายการแรงกิ้งเป็นอย่างไร ?

อรวรรณ พาระนัง : ไม่เคยคิดเลยว่าวันนึงจะได้เป็นแชมป์ซีเกมส์ หรือคว้าแชมป์รายการเก็บคะแนนสะสมอันดับโลก เพราะเราเคยคุยกับ อ.นิวาศ แค่อยากเป็นแชมป์ประเทศไทย แต่พอมาถึงจุดที่เราทำสำเร็จแล้ว ชีวิตเราก็ต้องไปอีกสเตป ต้องตั้งเป้าหมายใหม่ให้สูงขึ้นกว่าเดิม ไม่รู้หรอกว่าจะทำได้ไหม แต่ถ้าเรายังมีแรงอยู่ก็จะสู้ฝ่าฟันต่อไป

 

ตั้งแต่เด็กเราไม่เคยคิดเลยว่าจะทำเป้าหมายสำเร็จ มีแต่คนรอบข้างที่เชื่อมั่นว่าเราทำได้ ซึ่งพอเราทำได้ มาถึงเป้าหมายแต่ละครั้งเราตะลึงทุกครั้ง ถามตัวเองตลอดว่าทำได้ยัง ซึ่งมีรุ่นพี่คนนึงเคยบอกว่าถ้าอยากรู้ว่าทำได้ยังไงก็มองย้อนกลับว่าเราเคยทำอะไรมาบ้าง

 

 

 

มองย้อนกลับไปแล้วพบคำตอบไหม ?

อรวรรณ พาระนัง : เจอน้ำตา เจอความเหนื่อยล้า เจอโรปแกรมฝึกซ้อมโหด ๆ  (หัวเราะ) ตีลูกปิงปองไปแต่ละทีน้ำตาจะไหล เป็นอะไรที่หนักหน่วงมาก ไหนจะต้องเสียสละเวลาส่วนตัว ไม่มีเพื่อน รวมไปถึงอีกหลาย ๆ อย่างที่ต้องแลกมา

 

กำลังจะได้เข้าร่วมโอลิมปิกครั้งแรกในชีวิต สิ่งนี้มีคุณค่ากับคุณอย่างไร ?

อรวรรณ พาระนัง : มันคือการเติมเต็มความฝัน โอลิมปิกคือความฝันสูงสุดของนักกีฬาทุกคน ซึ่งเกือบจะสมบูรณ์แบบแล้วนะ แต่เพราะเรายังมีเป้าหมายสูงกว่านี้อีก คือการคว้า 3 เหรียญทองโอลิมปิก ถึงตอนนี้มันอาจจะยากสำหรับเรา แต่ก็ตั้งใจจะทำให้ได้จริง ๆ

 

 

 

ความลำบาก ใช่ข้ออ้างที่ทำให้เราไปไม่ถึงเป้าหมายไหม ?

อรวรรณ พาระนัง : ไม่ใช่เลยค่ะ บนโลกนี้ยังมีคนอื่นอีกเยอะแยะมากมายที่ต้นทุนคล้ายน้อยเหมือนเรา หรือด้อยกว่าเรา บางคนไม่มีพ่อแม่ ไม่มีที่อยู่อาศัย แต่เขาก็ยังต่อสู้จนมีชีวิตที่ดีได้ เพราะฉะนั้นความลำบากไม่ใช่ข้ออ้างเลย เราก็เคยลำบากมาก็ต้องดิ้นรนกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ถ้าเราอยากประสบความสำเร็จ มันจะมีความรู้สึกว่าฉันต้องทำให้ได้ ต่อให้มีอะไรเป็นอุปสรรคอะไรมาขวางกั้นก็จะฝ่าไปให้ได้

 

ส่วนคนที่ล้มเหลวเราคิดว่าเป็นเพราะเขาปิดกั้นตัวเอง หรือบางคนปิดกั้นคนอื่นด้วย บางคนล้มเหลวเพราะคิดว่าตัวเองเก่งที่สุดเจ๋งที่สุดแล้ว คิดว่าคนอื่นไม่สามารถโค่นล้มได้ นั่นแหละคือความล้มเหลวที่แท้จริง

 

ภาพจำของคุณตอนนี้เป็นเหมือนตัวแทนของนักสู้ต้นทุนน้อยแต่ร้อยความพยายาม มีอะไรอยากจะบอกคนที่กำลังหมดหวังอยู่ไหม ?

อรวรรณ พาระนัง : อยากจะบอกว่า อุปสรรคที่เข้ามามันไม่ได้น่ากลัวอย่างคิด ขอแค่อย่าน้อยใจตัวเองว่าเรามีไม่เท่าคนอื่น อยากให้หันกลับมามองสิ่งที่ตัวเองมีดีกว่า กลับมาสู้กับตัวเอง คิดหาวิธีทำยังไงให้ประสบความสำเร็จ ถึงจะไม่ได้มีมากกว่าคนอื่น แต่อย่าดูถูกตัวเองถึงแม้คนเราจะเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกจะทำให้สำเร็จได้ และเมื่อวันที่เราฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จเชื่อเถอะว่าคุณจะภูมิใจกับมันมากแน่ ๆ 

 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

La Vie en Rose
stadium olympic