14 มิถุนายน 2564
เกือบ 20 ปีเข้าไปแล้วที่ชื่อของ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์, ราฟาเอล นาดาล และ โนวัค ยอโควิช ผลัดกันขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่ในวงการเทนนิสชาย โดยนับตั้งแต่ปี 2003 พวกเขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลม รวมกันได้ถึง 59 ครั้ง (เฟเดอเรอร์ 20 สมัย, นาดาล 20 สมัย และ ยอโควิช 19 สมัย) รวมทั้งแต่ละคนต่างเคยขึ้นเป็นมือวางอันดับ 1 ของโลก แต่ถ้าพูดถึง โอลิมปิก เกมส์ แล้ว มีเพียง นาดาล เท่านั้น ที่คว้าเหรียญทองประเภทชายเดี่ยวได้สำเร็จในการแข่งขันที่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 2008 ขณะที่ เฟเดอเรอร์ เข้าถึงรอบชิงฯ ที่กรุงลอนดอนในปี 2012 แต่ได้เพียงรองแชมป์ ส่วน ยอโควิช ดีที่สุดคือเหรียญทองแดงในปี 2008
ดังนั้น การประลองที่ อาริอาเกะ เทนนิส พาร์ค ช่วงกลางปีนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อดูจากอายุอานามของนักหวดทั้ง 3 ราย (เฟเดอเรอร์ 40, นาดาล 35, ยอโควิช 34) คงบอกได้ว่านี่จะเป็นการดวลกันบนสังเวียนโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของพวกเขา แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้น เราจะมาย้อนรอยดูผลงานของบิ๊กทรีกันว่า พวกเขาทำได้ดีแค่ไหนในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ
นาดาล : 2 เหรียญทอง และ โกลเด้นสแลม
นาดาลคือหนึ่งเดียวในบิ๊กทรีที่เคยคว้าแชมป์โอลิมปิกประเภทชายเดี่ยว ก่อนจะทำ โกลเด้น สแลม (คว้าแชมป์ 4 แกรนด์สแลม และโอลิมปิก) ในอาชีพได้สำเร็จในเวลาต่อมา ซึ่งมีนักเทนนิสชายเพียงคนเดียวที่เคยทำได้ก่อนหน้านี้คือ อังเดร อากัสซี่ ตำนานชาวอเมริกันที่ได้แชมป์โอลิมปิกปี 1996
นักหวดชาวสเปน ลงเล่นโอลิมปิกหนแรกของตัวเองที่กรุงเอเธนส์ ในปี 2004 ขณะที่มีอายุเพียง 18 ปี แต่ได้ลงแข่งในประเภทชายคู่ โดยจับคู่กับ คาร์ลอส โมย่า และโดนเขี่ยตกรอบแรก
อย่างไรก็ตาม 4 ปีต่อมา นาดาล ลงแข่ง โอลิมปิก เกมส์ อีกครั้งด้วยสถานะที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิง หลังคว้าแชมป์ เฟรนช์ โอเพ่น 4 สมัยติด และเพิ่งได้แชมป์วิมเบิลดันสมัยแรกจากการเอาชนะ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ โดยนักหวดชาวสเปน ทำผลงานกระหึ่มแดนมังกรด้วยการล้ม ยอโควิช ในรอบรองชนะเลิศ ก่อนจะคว้าเหรียญทองจากการชนะ เฟอร์นานโด กอนซาเลซ จาก ชิลี 3 เซตรวด รวมทั้งขึ้นเป็นมือ 1 ของโลกครั้งแรกในอาชีพ หลังจบ ปักกิ่ง เกมส์
หลังพลาดลงแข่ง ลอนดอน เกมส์ ในปี 2012 เนื่องจากปัญหาอาการบาดเจ็บ นาดาล กลับมาลงแข่ง โอลิมปิก อีกครั้งที่ ริโอ เดอ จาเนโร ใน 4 ปีต่อมา และเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศ ก่อนแพ้ ฮวน มาร์ติน เดล โปโตร 1-2 เซต และพลาดเหรียญทองแดงจากการแพ้ เค นิชิโกริ อย่างไรก็ตาม ราฟา จับคู่กับ มาร์ค โลเปซ เพื่อนซี้ คว้าเหรียญทองในประเภทชายคู่ได้สำเร็จ
เฟเดอเรอร์ : 1 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงิน
เฟดเอ็กซ์ ลงแข่ง โอลิมปิก เกมส์ หนแรกของตัวเองที่ซิดนี่ย์ เมื่อปี 2000 ในวัย 19 ปี ซึ่งนักหวดชาวสวิตเซอร์แลนด์ ทะลุเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ก่อนจะแพ้ ทอมมี่ ฮาส จาก เยอรมนี ตามด้วยแพ้ อาร์โนด์ ดิ ปาสกวาเล่ จาก ฝรั่งเศส ในรอบชิงเหรียญทองแดง อย่างไรก็ตาม ซิดนี่ย์ เกมส์ ยังคงมีความหมายพิเศษสำหรับเขา เพราะทำให้เจ้าตัวได้เจอกับ เมียร์ก้า วาร์วิเน็ค ที่กลายมาเป็นคุณนายเฟเดอเรอร์ ในปัจจุบัน
4 ปีต่อมา ถึงแม้จะกวาดแชมป์มากมายก่อนไปลุยศึกที่กรุงเอเธนส์ แต่ เฟดเอ็กซ์ กลับทำผลงานได้น่าผิดหวัง โดยตกรอบ 2 จากการแพ้ โทมัส เบอร์ดิช จาก สาธารณรัฐเช็ก เช่นเดียวกับในประเภทชายคู่ที่ตกรอบเดียวกัน
ส่วน ปักกิ่ง เกมส์ ปี 2008 ความหวังในการคว้าแชมป์ชายเดี่ยวของ เฟเดอเรอร์ ต้องเป็นหมันอีกครั้ง หลังถูกเขี่ยตกรอบก่อนรองชนะเลิศด้วยน้ำมือของ เจมส์ เบลค จากสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้เสียบัลลังก์มือ 1 ของโลกให้กับ นาดาล อย่างไรก็ตาม ในประเภทชายคู่กลายเป็นหนังคนละม้วน เมื่อ เฟดเอ็กซ์ ที่จับคู่กับ สตานิสลาส วาวรินก้า ผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ หลังจากปราบตัวเต็งอย่างฝาแฝด บ็อบ และ ไมค์ ไบรอัน ในรอบตัดเชือก คู่หูจากสวิตเซอร์แลนด์ก็คว้าเหรียญทองด้วยการเอาชนะ ไซม่อน แอสเพลิน และ โทมัส โยฮันส์สัน จาก สวีเดน 3-1 เซต ทำให้ เฟเดอเรอร์ บรรลุเป้าหมายจากการลงแข่งหนที่ 3
4 ปีต่อมาใน ลอนดอน เกมส์ เฟเดอเรอร์ ยังคงเป็นหนึ่งในตัวเต็ง หลังจากเพิ่งคว้าแชมป์ วิมเบิลดัน สมัยที่ 7 ณ ออล อิงแลนด์ คลับ สนามเดียวกับที่ใช้ในการแข่งขัน โดยในรอบรองชนะเลิศเจ้าตัวต้องเปิดศึกมาราธอนเกินกว่า 4 ชั่วโมง ก่อนจะเอาชนะ เดล โปโตร ไปได้ แต่ในรอบชิงฯ เฟดเอ็กซ์ กลับหลุดฟอร์มก่อนแพ้ แอนดี้ มาร์รี่ย์ นักหวดเจ้าถิ่นแบบหมดรูป 3 เซตรวด อย่างไรก็ตามเจ้าตัวก็ยังได้เหรียญจากประเภทชายเดี่ยวเป็นครั้งแรก
ขณะที่ ริโอ เกมส์ ปี 2016 เฟเดอเรอร์ ไม่ได้เข้าร่วมการแข่งเนื่องจากเจ็บเข่า แต่คืนสังเวียนอีกครั้งในปีถัดมา และนับตั้งแต่นั้นเจ้าตัวก็ความแชมป์แกรนด์สแลมได้อีก 3 รายการ คือ ออสเตรเลียน โอเพ่น ปี 2017 และ 2018 รวมทั้ง วิมเบิลดัน ปี 2017 ทำให้มียอดรวมแชมป์แกรนด์สแลมสูงสุดที่ 20 สมัย
ยอโควิช : 1 เหรียญทองแดง
โนเล่ ลงแข่งโอลิมปิกหนแรกในวัย 21 ปี หลังจากที่เพิ่งคว้าแชมป์แกรนด์สแลมแรกในอาชีพคือ ออสเตรเลียน โอเพ่น ปี 2008 โดยผลงานที่กรุงปักกิ่งนั้น นักหวดชาวเซอร์เบียเข้าถึงรอบรองชนะเลิศก่อนแพ้ นาดาล แต่แก้ตัวด้วยการเอาชนะ เจมส์ เบลค ในรอบชิงเหรียญทองแดง คว้าเหรียญได้ตั้งแต่การลงแข่งโอลิมปิกครั้งแรกของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม นั่นคือผลงานที่ดีที่สุดในโอลิมปิกของ ยอโควิช เพราะ 2 ครั้งถัดมา ต้องเผชิญกับอุปสรรคคนเดียวกันคือ ฮวน มาร์ติน เดล โปโตร โดยที่ ลอนดอน เกมส์ ปี 2012 ยอโควิช แพ้ แอนดี้ มาร์รี่ย์ ในรอบรองฯ ก่อนจะแพ้ นักหวดชาวอาร์เจนไตน์ 2 เซตรวด ในรอบชิงเหรียญทองแดง ส่วนใน ริโอ เกมส์ ปี 2016 โนเล่ถูกเดล โปโตร เขี่ยตกรอบแรกอย่างเหลือเชื่อ
โตเกียว 2020 : สังเวียนเกียรติยศครั้งสุดท้าย
จนถึงเวลานี้ ยอโควิช ดูมีภาษีดีที่สุดในการคว้าเหรียญทอง โตเกียว 2020 หลังจากเพิ่งคว้าแชมป์เฟรนช์ โอเพ่น สมัยที่ 2 ของตัวเอง เป็นแกรนด์สแลมรายการที่ 19 ในอาชีพ รวมทั้งยังมีลุ้นทำ โกลเดนสแลม ในปีเดียวกัน หลังจากคว้าแชมป์ ออสเตรเลียน โอเพ่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังไม่ควรมองข้าม 2 นักหวดที่ครองแชมป์แกรนด์สแลมสูงสุด 20 สมัยเท่ากันอย่าง นาดาล และ เฟเดอเรอร์ ซึ่งตัวเลขนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อจบศึกวิมเบิลดันในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้
นอกจากนั้นยังมีนักเทนนิสรุ่นหลังที่ก้าวขึ้นมาทำผลงานได้น่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็น โดมินิค ธีม ที่ได้แชมป์แกรนด์สแลมแรกของตัวเองไปแล้ว รวมทั้ง อเล็กซานเดอร์ ซเวเรฟ, ดานีล เมดเวเดฟ และ สเตฟานอส ซิตซิปาส ซึ่ง 2 รายหลังเข้าถึงรอบชิงแกรนด์สแลมมาแล้ว รวมถึงบรรดามือเก๋าที่ประมาทฝีมือไม่ได้อย่าง สตานิสลาส วาวรินก้า รวมทั้ง แอนดี้ มาร์รี่ย์ แชมป์เก่า 2 สมัยซ้อนที่กำลังพยายามเรียกฟอร์มเก่งให้ทันลุ้นแชมป์สมัยที่ 3
อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดที่แฟนกีฬาทั่วโลกหวังเอาไว้คือ อย่าให้นักเทนนิสคนใดต้องเจอกับปัญหาอาการบาดเจ็บ หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันจนทำให้การแข่งขันเทนนิสใน โตเกียว เกมส์ ขาดสีสันอย่างที่มันควรจะเป็น
TAG ที่เกี่ยวข้อง