stadium

ธันยพร พฤกษากร : ถอดบทเรียนจากความผิดพลาดเพื่อกลับไปคว้าเหรียญโอลิมปิก

7 มิถุนายน 2564

ธันยพร พฤกษากร หรือ 'ธันย่า' หนึ่งในตัวแทนนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทยที่ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าก่อนหน้านี้เธอเคยเข้าร่วมโอลิมปิกมาแล้วถึง 3 ครั้งทั้งปักกิ่ง ลอนดอนและริโอ เดอจาเนโร แม้ผลงานโดยรวมจะถือว่าทำได้ดีทะลุเข้ารอบชิงได้เกือบจะทุกครั้งที่ลงทำการแข่งขัน แต่สุดท้ายเธอกลับทำพลาดไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลใดๆ กลับมาได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว

 

ในบางคนอาจจะล้มกระดานความตั้งใจไปแล้วหรือบางคนอาจเลือกหันหลังให้กับความผิดหวัง แต่สำหรับธันย่าเป้าหมายของเธอยังคงชัดเจนว่าจะต้องคว้าเหรียญโอลิมปิกมาครองให้ได้ตามที่ตั้งใจ

 

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ธันย่ายังคงมุ่งมั่นและพร้อมที่จะเผชิญทุกปัญหา เราจะมาถอดความคิดของเธอไปพร้อมกับเรื่องราวที่เธอพบเจอมาตลอด 18 ปีบนเส้นทางของนักแม่นปืน

 

 

คาดหวังบนความไม่คาดหวัง

 

ในช่วงวัยเด็กของธันย่า เธอมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการคุยโทรศัพท์จะเรียกว่าเสพติดการสนทนาทางไกลขนาดหนักก็ว่าได้เพราะเมื่อไหร่ที่เธอว่างเป็นอันต้องยกหูโทรศัพท์เพื่อติดต่อหามิตรสหาย มันจึงกลายเป็นกิจวัตรที่ถูกบันทึกลงในสมุดชีวิตประจำตัวของเธอ

 

"ตอนเด็กญ่าติดโทรศัพท์มาก จำได้ว่าหลังเลิกเรียนจะโทรหาเพื่อนทุกวันๆ ละ 3-4 ชั่วโมง พ่อกับแม่ก็เลยมองว่าเราเสียเวลาไปกับการคุยโทรศัพท์เยอะท่านเลยอยากจะหากิจกรรมอื่นๆ ให้ทำโดยบอกว่าให้เราลองไปเล่นกีฬาดูบ้างเผื่อจะชอบ"

 

ธันย่าบอกต่อว่า ด้วยพื้นฐานของเธอเป็นคนที่ชอบการทำกิจกรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การเล่นกีฬาจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ผนวกกับการที่คิดได้ว่าเธอหมกหมุ่นไปกับการคุยโทรศัพม์มากเกินไปจึงอยากจะลองหาสิ่งแปลกใหม่ที่ตื่นเต้นและท้าทายให้กับชีวิต

 

"ตอนแรกเลยเริ่มไปฝึกว่ายน้ำก่อน แล้วทีนี้ครูที่สอนเขามองเห็นว่าเรามีแววที่จะรุ่งท่านเลยบอกว่าจะดันให้เป็นนักกีฬาว่ายน้ำแบบจริงๆ จังๆ เพราะด้วยสรีระรูปร่างของเรานั้นตัวสูง แต่เราเองรู้สึกว่าการว่ายน้ำมันเหนื่อยมาก ต้องใช้แรงเยอะเลยตัดสินใจไม่เอาด้วยเลยกลายเป็นว่าเราไม่ชอบแล้วก็เลิกเล่นไปเลย"

 

 

ครอบครัวพฤกษากรมองว่านี่คือโอกาสสำคัญที่จะดันให้เธอออกห่างจากโทรศัพท์จึงพยายามควานหาเกมกีฬาชนิดอื่นเพื่อทดแทนการว่ายน้ำที่ตัวธันย่าปัดตกไปโดยไม่ใยดีและหันมาจับด้ามปืนนับแต่นั้น

 

"เรารู้สึกว่ามันเป็นกีฬาที่ไม่ต้องออกแรงเยอะ แค่ตามองที่ศูนย์เล็งแล้วก็ยิงแค่นั้นเอง ไม่มีอะไรยากสำหรับเราในตอนนั้น ยิ่งมีคนรอบข้างคอยยกยอเราด้วยก็เลยกลายเป็นว่าติดใจการยิงปืนไปเลย จำได้ว่ามีครูที่ฝึกยิงปืนท่านหนึ่งบอกกับเราว่าอย่ามาเสียเวลากับปืนต่อสู้เลยฝีมือระดับนี้ลองไปฝึกยิงปืนสากลจะรุ่งกว่า ด้วยความที่เราชอบและมีคนยุส่งก็เลยตัดสินใจหันมาเอาดีด้านนี้ไปเลย" 

 

ไม่มีอะไรที่ซับซ้อนแค่แรงยุยงบวกกับฝีมือที่เก่งเกินวัยของธันย่า นั่นจึงทำให้เธอได้เดินทางมาพบกับ 'ครูโก๋' มานพ พณิชย์พาติกรรม ผู้ที่เป็นบิดาของนักแม่นปืนระดับตำนานของไทยอย่าง 'เอ็กซ์' จักรกฤษณ์ ซึ่งเสมือนครูฝึกสอนยิงปืนสากลคนแรกที่ประสาทวิชาให้กับธัญญ่า กระทั่งในที่สุดเธอก็สามารถก้าวขึ้นมาติดทีมชาติได้สำเร็จ

 

"ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าคนที่มาสอนเราคืออาโก๋ เอาจริง ๆ เราไม่รู้จักใครเลยพอมารู้ที่หลังว่านี่คือพ่อของพี่เอ็กซ์ จักฤษณ์เลยนะที่มาสอนเราก็ตื่นเต้นนิดหน่อย ซึ่งจริงๆ แล้วอาโก๋เป็นครูที่ดีมากท่านช่วยสอนเทคนิคใหม่ๆ ในการยิงปืนสากลให้กับเราและยังมีส่วนในการช่วยผลักดันได้มีโอกาสไปคัดตัวทีมชาติไทยในเวลานั้นด้วย" ธันย่าระลึกถึงความหวังดีที่ครูโก๋ที่มีส่วนช่วยให้เธอเดินทางมาไกลจนถึงทุกวันนี้พร้อมกับบอกต่อว่า

 

"ตอนนั้นเราไม่รู้เลยว่ามันคือการแข่งคัดเลือกทีมชาติ นึกว่าแข่งกันเล่นๆ เป้าหมายของเราในตอนนั้นไม่ใช่การเป็นนักกีฬาทีมชาติ ไม่ใช่เลยแค่อยากจะเล่นสนุกๆ อยากที่จะเอาชนะคนอื่นเท่านั้น แต่พอผลการแข่งขันประกาศออกมาแล้วรู้ว่าเราติดทีมชาติก็มีความรู้สึกว่าทำไมการเป็นนักกีฬาทีมชาติมันง่ายจัง" ธันย่ายอมรับด้วยความใสซื่อพร้อมกับเสียงหัวเราะที่ดังออกมาอย่างชอบใจ

 

เธอบอกด้วยว่า สิ่งที่ทำให้เธอสามารถทำผลงานได้ดีกระทั่งได้เป็นนักกีฬายิงปืนในนามทีมชาติไทยนั่นคือการที่เธอไม่ได้คาดหวังสิ่งอื่นใดนอกเหนือไปจากการตั้งสมาธิอยู่กับตัวเองให้ได้มากที่สุด ตามองผ่านศูนย์เล็ง เพ่งสมาธิไปที่เป้าหมายและเหนี่ยวไกยิง นี่คือสิ่งเดียวที่ธัญญ่ากำชับกับตัวเองทุกครั้งเวลาลงทำหน้าที่ในสนามยิงปืน

 

"พอเราไม่ได้คาดหวังอะไร มันก็จะไม่กดดัน แล้วผลงานมันจะออกมาดีเอง"

 

 

 

ขอแค่ได้บินลัดฟ้า

 

เส้นทางในนามทีมชาติของธันย่าถือว่าเป็นอีกหนึ่งนักกีฬายิงปืนที่โดดเด่นไม่แพ้รุ่นพี่ด้วยผลงานเหรียญเงินกีฬาซีเกมส์ 3 สมัย คว้าเหรียญทองในรายการเดียวกันนี้ได้อีก 4 สมัย ทั้งยังเคยกระโดดขึ้นไปยืนหนึ่งคว้าเหรียญทองในรายการชิงแชมป์เอเชียมาแล้ว อีกทั้งยังเป็นถึงรองแชมป์ในรายการชิงแชมป์โลก บวกกับการได้ไปแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกถึง 3 ครั้งและครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 ของเจ้าตัวอีกด้วย

 

เรียกได้ว่าผลงานไม่ขี้ริ้วขี้เหร่เลยแม้แต่น้อย

 

ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เธอก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาตัวความหวังที่จะคว้าเหรียญรางวัลในทุกครั้งที่ลงแข่งขันคือการโฟกัสไปที่สมาธิ เธอบอกว่าจำเป็นยิ่งที่จะต้องดึงสติให้อยู่กับเนื้อกับตัวมากที่สุด หากเผลอสติหลุดไปแล้วยากที่เรียกกับคืน ซึ่งมันคือเคล็ดไม่ลับที่ช่วยให้เธอประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้

 

ธันย่าย้อนความกลับไปว่า ถึงแม้ว่าเธอจะติดทีมชาติได้สวมเสื้อที่มีธงชาติปักที่หน้าอกแต่ยังไม่กล้าตั้งเป้าหมายให้ไกลเกินเอื้อมขอโฟกัสไปที่การแข่งขันระดับภูมิภาคเป็นอันดับต้นเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด

 

"จำได้ว่ามีคำพูดของโค้ชคนหนึ่งบอกกับญ่าว่าการยิงปืนทุกครั้งเราต้องมีจุดหมาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเหรียญรางวัลหรือต้องเป็นที่หนึ่ง เขาให้เรากลับไปคิดเป็นการบ้านว่าเป้าหมายคืออะไร ตอนนั้นเป้าหมายของเราอย่างเดียวเลยคืออยากไปเที่ยวต่างประเทศแค่นั้นเลย มันจึงทำให้เราโฟกัสไปที่การแข่งขันทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคให้ดีที่สุดเพื่อให้มีผลงานเพียงพอที่ทางสมาคมฯ จะส่งตัวเราไปแข่งขันในระดับนานาชาติซึ่งมันก็ทำให้เราพัฒนาฝีมือของตัวเองขึ้นเรื่อยๆ จนเราได้ไปแข่งโอลิมปิกแรกในชีวิตทั้งที่ญ่าเองก็ไม่ได้หวังถึงตรงนั้นเลยหวังเพียงแค่อยากไปเที่ยวเท่านั้นเอง" 

 

ไม่กล้าปฏิเสธว่าความฝันเดียวของธันย่าในเวลานั้นคือการที่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ก็ปฏิเสธยากเช่นกันว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะพัฒนาการที่ดีขึ้นตามระดับที่ช่วยส่งให้เธอสามารถก้าวไปถึงการแข่งขันในรายการระดับโลกอย่างโอลิมปิกได้สำเร็จถึง 3 ครั้งติดต่อกัน

 

จากปักกิ่ง มายังลอนดอนแล้วนั่งเครื่องต่อไปยังบราซิล มันไม่ใช่แค่การนั่งเครื่องบินลัดฟ้าเพื่อไปเที่ยวตามที่เธอฝัน แต่มันคือการแข่งขันที่จะเปลี่ยนความคิดเธอไปตลอดกาล

 

 

 

จุดเปลี่ยนของชีวิต

 

"เราต้องประเมินตัวเองด้วยว่าเราอยู่ในระดับไหน ถ้าจะบอกว่าเราจะเตะบอลให้เก่งกว่าเมสซี่ (นักฟุตบอลทีมชาติอาร์เจนติน่า) โดยใช้เวลาแค่สองปีมันก็ไม่ใช่ เราต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง เหมือนกันถ้าบอกว่าแข่งในรายการซีเกมส์ บอกได้เลยว่าเราเหนือกว่าคู่แข่งแน่นอน แต่ถ้าจะให้ไปเทียบในระดับเวิลด์คัพหรือเอเชียนคัพ … ยาก"

 

คำสภาพจากปากของธันย่าที่เมื่อเธอมองทุกอย่างให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง จากที่เคยคิดว่าเธอสามารถเอาชนะใครก็ได้ในระดับภูมิภาค เด็กหญิงที่ครั้งหนึ่งเคยหวังแข่งขันเพื่อที่จะเอาชนะ แต่ในวันนี้วันที่เธอประเมินศักยภาพของตัวเธอเองแล้วว่าอยู่ในระดับใดในเวทีโลก

 

ธันย่าบอกต่อว่า จากการฝึกซ้อมที่หนักหน่วงและประสบการณ์ที่เคยผ่านการแข่งขันระดับโลกมาบ้าง เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เธอพบว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการมีสมาธิอยู่กับการแข่งขัน ร่วมไปถึงการละทิ้งความคาดหวังใดๆ ปลดเปลื้องความคิดฟุ้งซ่านทั้งจากภายในและภายนอกตัวเอง พยายามเล่นให้ได้ตามที่ซ้อมและทำแต่ละนัดให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

"ถ้าลองปริ้นท์สถิติออกมาดูแล้วเทียบกับคนอื่นๆ ที่ได้เข้ารอบไฟนอลเหมือนกัน เราสู้ใครเขาไม่ได้เลยที่คิดแบบนั้นก็เพราะว่าทุกคนมีเหรียญแต่ในขณะที่เราทำได้แค่เข้าร่วมแข่งขันดังนั้นจะให้บอกว่าเก่งแล้วก็ไม่ได้เราต้องมีเหรียญรางวัลมาการันตีด้วย"

 

ด้วยแนวคิดที่ว่า "ฉันไม่เก่ง" จึงทำให้ธันย่ายังคงฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อพัฒนาฝีมือตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งทะยานสู่การติดท๊อปแรงค์ของโลกสูงสุดที่อันดับ 7 แต่กระนั้นเธอก็ยังคงติดอยู่กับความซ้ำเดิมว่าไม่เก่ง ซึ่งส่วนตัวแล้วเธอมองว่ามันคือดาบสองคม

 

"มันมีทั้งดีและเสีย ข้อดีของมันคือจะทำให้เราเพอร์ฟอร์มได้ดีแต่ข้อเสียของมันก็คือเราจะไปได้ไม่ไกลกว่านี้แล้ว ดังนั้นเราต้องคอยพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ เพื่อที่จะขึ้นไปเทียบชั้นกับคนอื่นให้ได้"

 

แต่จุดเปลี่ยนของความคิดก็มาถึง เมื่อเธอสามารถคว่ำนักกีฬายิงปืนจากทีมชาติยูเครนเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกที่ปักกิ่งได้สำเร็จในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกปี 2011ที่เซินเจิ้นประเทศจีน

 

"หลังจากครั้งนั้นความคิดของเราก็เปลี่ยนไป มันทำให้รู้ว่าเราก็สู้เขาได้และทำให้เราเป็นที่รู้จักของคนในวงการยิงปืน ทำไมเรายังถึงไปคิดว่าตัวเองต้อยต่ำ ทั้งๆที่เราสามารถยิงสู้เขาได้ตั้งแต่นั้นมา ธันย่าก็เปลี่ยนความคิดไปเลย เปลี่ยนความฝันไปด้วยว่าไม่ใช่แค่อยากไปเที่ยว ความหวังมันสูงขึ้น คราวนี้รู้แล้วว่าเราไปโอลิมปิกเพื่ออะไร"

 

 

 

บทเรียนที่ล้ำค่า

 

เป็นที่ทราบกันว่า โอลิมปิกที่ลอนดอน ธันย่าทำผลงานได้ดีกระทั่งทะลุเข้าสู่รอบไฟนอลได้สำเร็จ ก่อนหน้านี้เธอตั้งความหวังไว้ว่าจะต้องมีเหรียญใดเหรียญหนึ่งมาคล้องคอ กลับกันเธอไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลติดมือกลับบ้านแม้แต่เหรียญเดียว มันคือความผิดพลาดที่เธอยอมรับว่าเกิดจากความหวั่นใจของตัวเองล้วนๆ เมื่อนัดแรกยิงไม่เข้าเป้ามันยิ่งตอกย้ำความวิตกเข้าสู้ขั้นวิกฤต "เละ" คือคำจำกัดความของผลการแข่งขันที่เธอน้อมรับ

 

"มันยังไม่ทันจะได้แข่งรอบไฟนอลเลย ก็คิดไปแล้วว่าถ้าเรายิงปกติธรรมดาเหมือนที่ผ่านมา ได้แล้วเหรียญเงินแน่นอน เราสรุปไปแล้วว่าเราจะทำได้แค่นั้นแต่พอถึงเวลาแข่งจริงมันทำให้เราวิตกกังวลที่นี้ก็เลยเละเลย แต่ถ้าเราไม่ด่วนสรุปมาแบบนั้นญ่าเชื่อว่ามันจะต้องดีกว่านี้แน่นอน"

 

นั่นจึงเป็นบทเรียนที่มีราคาจ่ายค่อนข้างสูง เธอยอมรับว่าจะให้ย้อนกลับไปแก้ไขอะไรคงไม่ได้อีกแล้ว วิธีที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้จากความผิดพลาดและนำมาปรับใช้ให้ดีขึ้นต่อไป

 

"มันสอนให้เรารู้ว่าจะต้องอยู่กับปัจจุบัน โฟกัสไปที่แต่ละนัดให้ดีที่สุด ถ้าเรามัวแต่ไปคิดว่าเราต้องยิงให้ได้เท่าคนอื่นเขามันจะเป็นการกดดันตัวเอง การยิงแต่ละครั้งจะไม่ลื่นไหล จะพยายามไม่เอาเรื่องรอบตัวมาใส่หัว ต้องยอมรับแรงกดดันในสถานการณ์นั้นให้ได้ เราตื่นเต้น เราอยากได้เหรียญต้องยอมรับว่ามันคือความจริงที่เราต้องเจอแน่ๆ" 

 

ความผิดหวังจากโอลิมปิกทั้ง 3 ครั้งที่ธันย่าต้องเจอจะเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าเพื่อที่จะช่วยย้ำเตือนให้เธอรู้ว่าเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่กดดันต้องมีสมาธิกับตัวเองให้มากที่สุดเพื่อให้กระสุนแต่ละนัดพุ่งตรงเป้า

 

การเดินทางที่ยาวนานบนถนนสายนักแม่นปืนของธัญญ่านี่คงถึงเวลาแล้วที่ควรจะได้รับโอกาสแก้มือจากความผิดพลาดครั้งก่อน เหรียญใดเหรียญหนึ่งคือความหวังสำหรับโอลิมปิกครั้งนี้

 

เกือบ 20 ปีที่ธัญญ่าทำได้แค่ "เกือบ" นี่จะเป็นโอกาสแก้มือครั้งสำคัญของเธออีกไม่ถึง 50 วันเราจะได้รู้แล้วว่า 'ธันย่า' ธันยพร จะสามารถคว้าเหรียญโอลิมปิกกลับประเทศมาชมเชยตามที่ตั้งใจได้หรือไม่ มาเอาใจช่วยไปพร้อมกัน


stadium

author

จิรวัฒน์ จามะรี

ฉันจะพาเธอลอยล่องไปในอวกาศ ในวันที่ฝนตกลงที่หน้าต่างในตอนเช้า

La Vie en Rose
stadium olympic