stadium

ณภัสวรรณ หย่างไพบูลย์ : 20 ปีเพื่อทีมชาติกับการกรุยทางสู่โอลิมปิกหน 2

4 มิถุนายน 2564

เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ 'เอิน' ณภัสวรรณ หย่างไพบูลย์ ควงปืนคู่ใจกวาดเหรียญรางวัลให้กับทัพนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทยมาอย่างต่อเนื่อง ผลงานที่สร้างชื่อให้กับเธอคือการคว้าเหรียญทองในศึกเวิลด์ คัพ 2017 ที่ประเทศอินเดีย ในประเภทปืนสั้น 25 เมตรหญิง โดยก่อนหน้านี้เธอเคยคว้าทั้งเหรียญเงินและเหรียญทองแดงในรายการเดียวกันนี้มาแล้วในปี 2015 และ 2016 ตามลำดับ

 

ทุกเหรียญรางวัล ทุกเสียงปรบมือ ยังคงดังก้องต่อเนื่องเมื่อเธอสามารถคว้าเหรียญทองแดงในรายการชิงแชมป์เอเชียเมื่อปี 2019 ที่ประเทศกาตาร์พร้อมกับได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จ ลบความผิดหวังที่เธอเคยพลาดมาแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน

 

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ก่อนหน้าที่เอินจะก้าวขึ้นมาอยู่ ณ.จุดนี้ เธอเคยเกือบจะวางกระบอกปืนแล้วกลับไปใช้ชีวิตให้เหมือนกับผู้คนทั่วไป จุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอยังคงยืนหยัดอยู่ในแวดวงนักแม่นปืนคืออะไรและเป้าหมายที่ปักธงอยู่ในใจต่อโอลิมปิกครั้งนี้ของเธอยังคงเหมือนเดิมหรือไม่ เราจะพาไปร่วมพูดกับเธอ

 

 

 

จุดกำเนิดนักแม่นปืน

 

ช่วงวัยเด็กของใครหลายคนน่าจะมีความทรงจำที่ดีกับการที่ได้ใช้เวลาอยู่กับการทำกิจกรรมที่ตัวเองชื่นชอบ หนังสือ ดูหนังหรือฟังเพลง รวมไปถึงการได้วิ่งเล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน ความรู้สึกช่วงนั้นเป็นอะไรที่วิเศษ

 

เอินเป็นหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เธอชื่นชอบการทำกิจกรรมร่วมกับสหายรุ่นราวคราวเดียวกัน ชอบการวิ่งเล่นและออกกำลังกายเป็นชีวิตจิตใจ กีฬาจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเธอ ถ้าจะบอกว่าเอินเป็นหนึ่งคนที่แอ็คทีฟก็ไม่เกินจริงนัก ทั้งฟุตบอล บาสเก็ตบอล ปิงปอง แบดมินตัน พูดง่ายๆ ว่าอะไรที่ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวเธอพอใจเป็นอย่างยิ่ง

 

เอินเป็นคนที่ชอบการเล่นกีฬาเป็นทุนเดิม ทำให้ไม่ใช่เรื่องยากที่จะลองเล่นกีฬาใหม่ๆ ท้ายที่สุด 'ยิงปืน' ก็กลายมาเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่เธอเลือก

 

เอินบอกว่า ครั้งแรกที่ได้จับด้ามปืนเธอรู้สึกเฉยชากับมัน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา กีฬาที่เธอเลือกเล่นแทบจะมีการเคลื่อนไหวของร่างกายทั้งสิ้น ทว่า การตีความของเธอกีฬายิงปืนมันคือการหยุดนิ่ง ไม่ไหวติง

 

"ตอนแรกไม่ชอบเลย มันยืนนิ่งๆ ยืนอยู่ท่าเดียวแบบนั้นใครจะไปชอบ กว่าจะทำใจได้ก็ใช้เวลาอยู่พักใหญ่ อาจจะเพราะว่าเราชอบเล่นกีฬาด้วยพอได้ลองยิงปืนและทำความเข้าใจกับมันก็เลยกลายเป็นว่าการยืนอยู่นิ่งๆ ก็สบายกว่าการวิ่งเหมือนกันนะ"

 

เมื่อเอินลองปรับความเข้าใจว่าการยิงปืนนั้นเป็นอย่างไร พร้อมกับเริ่มหลงใหลในเสน่ห์ของการ 'ยืนนิ่งๆ' นั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอหันมาจริงจังกับกีฬาชนิดนี้มากขึ้น พร้อมกับที่ครอบครัวเห็นว่าเธอมีแววรุ่งจึงส่งให้เอินได้ลงซ้อมในสนามจริงนับแต่นั้น

 

 

 

การที่เอินได้คลุกคลีอยู่กับกระสุน เสียงปืนและเป้าซ้อม ทำให้ฝีมือของเธอพัฒนามากขึ้นกระทั่งตัดสินใจเดินหน้าสู่แวดวงนักแม่นปืนเต็มตัว

 

การที่จะเป็นเลิศในด้านใดก็ตาม หลักสำคัญล้วนมาจากการฝึกซ้อมยิ่งเข้มข้นเท่าไหร่ผลลัพท์ที่ได้ย่อมส่งผลให้เกิดการพัฒนาทั้งในแง่ของฝีมือและความเข้าใจ การตอบสนองต่อการรับรู้ที่ได้มาจากการฝึกฝนคือใจความสำคัญที่สุด เอินจึงใช้เวลากับการฝึกซ้อมมากเป็นพิเศษ เธอขลุกตัวอยู่ที่สนามซ้อมยิงปืนเกือบจะในทุกวันหลังเลิกเรียน ยิ่งเป็นช่วงสุดสัปดาห์หรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ด้วยแล้วนั้น การที่จะแยกเธอออกจากด้ามปืนนับเป็นเรื่องที่ยากทีเดียว

 

"สมัยก่อนการซ้อมของคนต่างจังหวัดก็จะดูธรรมดาไม่ได้มีอะไรพิเศษ ส่วนใหญ่จะเป็นการซ้อมการเคลื่อนที่ตั้งแต่การเดิน การวางท่าทาง แล้วก็ยิงเทคนิคอะไรไม่มี ซึ่งโค้ชแต่ละคนก็สอนต่างกันด้วย บางคนก็อาจจะเสริมเทคนิคลูกเล่นใหม่ๆ เข้ามาบ้างเราก็เรียนรู้จากตรงนั้น"

 

เหนี่ยวไกปืนในแต่ละครั้งล้วนมีความหมายสำหรับการฝึกซ้อม มันไม่ใช่ลั่นไกเพื่อความสนุกที่ได้เห็นกระสุนพุ่งเข้าเป้า เพราะกระสุนแต่ละนัดที่พุ่งตัวออกจากรางปืนมันมีมูลค่าที่ต้องจ่าย 

 

"ตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่าราคากระสุนที่เราใช้ยิงซ้อมมันต้องจ่ายเงินขนาดไหน รู้แค่ว่าพ่อจ่ายเงินให้ เรามีหน้าที่ยิงก็ยิงไป แต่เมื่อมารู้ว่ากระสุนปืนที่ใช้มันมีราคา 10 บาทต่อนัดแล้วเราใช้ซ้อม 150-200 นัดต่อวัน เราก็เริ่มรู้สึกแล้วว่าจะยิงทิ้งยิงขว้างไม่ได้แล้ว ต้องตั้งใจซ้อมให้มากขึ้น"

 

แม้ว่าราคาค่าฝึกซ้อมค่อนข้างสูง แต่เอินก็ยังคงตั้งหน้าตั้งตาฝึกฝน กระทั่งโค้ชเล็งเห็นว่าเธอพร้อมที่จะก้าวออกจากสนามซ้อมแล้วเดินลงสู่สนามแข่งขันจริง

 

 

 

ทางแยกของชีวิต

 

ระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่เอินเดินสายแข่งขันในระดับภูธร เมื่อเธอสั่งสมประสบการณ์จากสนามระดับล่างมากพอก็ถึงเวลาที่เธอจะกระโจนสู่รายการแข่งขันที่ใหญ่กว่าจากเด็กเดินสายธรรมดากลายมาเป็นตัวแทนทีมชาติลุยศึกซีเกมส์

 

"พอหลังจากที่ซ้อมได้ประมาณปีกว่าๆ โค้ชที่สอนเราก็บอกว่าให้ลองไปคัดตัวทีมชาติ ซึ่งตอนนั้นเรากำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมฯ 5 ก็เลยคิดว่าถ้าเราคัดติดอาจจะได้โควต้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยก็ตัดสินใจไปคัดตัว"

 

ผลจากการฝึกซ้อมบวกกับความโชคดีทำให้เอินสามารถผ่านรอบคัดเลือกและได้เป็นตัวแทนทีมชาติได้เข้าร่วมแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 22 ที่ประเทศเวียดนามรับหน้าสื่อเป็นเจ้าภาพ นับว่าเป็นเวทีแรกในนามทีมชาติของเอิน แม้จะเป็นการแข่งขันรายการใหญ่ครั้งแรก แต่เธอกลับทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ ซิวเหรียญเงินกีฬายิงปืนมาคล้องคอได้อย่างน่าอัศจรรย์

 

เอินยอมรับว่า เธอไม่ได้คาดหวังกับการแข่งขันในรายการซีเกมส์ การตั้งความหวังโดยไม่คาดหวังน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผลลัพท์ออกมาดีเกินคาด ไร้ซึ่งความกดดันจากทั้งภายในตัวเองและภายนอกสนาม เธอตั้งใจไว้แค่ว่าจะทำให้กระสุนแต่ละนัดที่ยิงออกจากปากกระบอกปืนพุ่งตรงเข้าเป้าให้ได้มากที่สุดเท่านั้น

 

ภายหลังจากที่เอินทำผลงานคว้าอันดับ 2 กีฬายิงปืนในซีเกมส์ครั้งที่ 22 เธอก็ได้โควต้านักกีฬาสมใจทำให้เดินเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ ช่วงชีวิตในบทบาทของนิสิตนี่เองที่เข้ามามีส่วนสำคัญทำให้เอินเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า "จะไปต่อหรือพอแค่นี้"

 

 

 

เข้าใจได้ว่าช่วงอายุวัยรุ่นจากมัธยมสู่มหาวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาที่มีความหมายสำหรับเด็กในวัยดังกล่าว สิ่งต่างๆ รอบตัวล้วนแต่มีความน่าสนใจ สิ่งแปลกใหม่รายล้อมชวนให้ค้นหา ประสบการณ์ชีวิตมักจะถูกปูทางมาจากช่วงวัยรุ่น จะเรียกว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตก็ไม่ผิดนัก เพราะทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือสิ่งที่เอินกำลังเผชิญหน้าอยู่ ณ.เวลานั้น

 

ไม่แปลกที่เด็กผู้หญิงจากต่างจังหวัดจะตื่นตาตื่นใจกับสิ่งใหม่ที่ได้พบเห็น ไม่ว่าจะเป็นการได้พบเพื่อนใหม่ การได้ทำกิจกรรมใหม่ แสงสีอาจล่อตาสะกิดใจจนเธอหลงใหลไปตามประสาวัยรุ่น

 

"อยู่ๆ มันก็รู้สึกเบื่อขึ้นมาเฉยๆ อาจเป็นเพราะว่าเรามีทางเลือกเยอะ เราได้เจอเพื่อน ได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน อีกอย่างเราก็ไม่อยากซ้อมหนักเหมือนแต่ก่อน อยากใช้เวลาในการเรียนหนังสือ อยากมีเวลาทำกิจกรรมกับเพื่อนหรืออะไรใหม่ๆ ดูบ้าง"

 

ถ้าจะว่ากันตามภาษาชาวบ้าน "ช๊อตไปดื้อๆ" คำนี้น่าจะดูเหมาะสมที่สุดในการนำมาใช้เป็นเหตุผลของเอิน เธอกล้ายอมรับว่าไร้ซึ่งความกระหายและหมดความท้าทายกับกีฬายิงปืนไปโดยปริยาย จากที่เคยซ้อมหนักวันละหลายชั่วโมงแปรเปลี่ยนเป็นลดเวลาการซ้อมแล้วสละให้กับตัวเองได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ แต่เอินยังคงแวะเวียนไปที่สนามฝึกซ้อมบ้างเป็นครั้งคราวเนื่องด้วยความที่เป็นนักกีฬามหาวิทยาลัยจึงทำให้เธอละทิ้งหน้าที่โดยสิ้นเชิงไม่ได้

 

 

กลับมาเพื่อเขียนประวัติศาสตร์

 

ภาระหน้าที่ของเอินยังคงดำเนินต่อไปในรั้วมหาวิทยาลัย ใช่ว่าเธอจะหันหลังไปโดยไม่ไยดี แม้จะลดเวลาฝึกซ้อมลงเหลือเพียงวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่เอินยังคงฝึกปรือวิชายิงปืนอยู่บ้างเพราะโปรแกรมการแข่งขันระดับมหาวิทยาลัยยังคงมีให้ชิงชัยต่อเนื่อง แน่นอนว่าการที่เธอได้โควต้านักกีฬาจึงหลบเลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้าร่วมแข่งขัน

 

เลือดของความเป็นสิงห์แม่นปืนยังคงไหลเวียนอยู่ในตัวของเอิน แม้ว่าจะลดบทบาทการแข่งขันเหลือเพียงกีฬาระดับมหาวิทยาลัยแต่เธอสามารถคว้ารางวัลมาเป็นที่เชิดหน้าชูตาของสถาบันได้อย่างต่อเนื่องและเหมือนโชคชะตาถูกกำหนดไว้แล้ว กระสุนที่พุ่งเข้าเป็นตัวจุดประกายความหวังในตัวเธออีกครั้ง

 

คงจะเหมือนเดินทางมาถึงทางแยกจะ 'ซ้ายหรือขวา' ในเมื่อตัวเลือกมีจำกัดทำให้เอินต้องใช้วิธีการคิดวิเคราะห์อย่างถ้วนถี่เพื่อให้ได้ผลลัพท์ที่ดีที่สุดโดยมีอนาคตเป็นเดิมพัน

 

เป้าหมายเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผ่านกระบวนการทางความคิด ใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสรับใช้ชาติ ในเมื่อมีโอกาสแล้วใยจึงสละทิ้งไปเสียดื้อๆ เมื่อเธอทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างเส้นทางที่เธอเดินผ่านมาก็ทำให้คิดได้ว่า "เอาวะ! ลองดูอีกทีจะเป็นไร"

 

อย่างที่บอกไปแล้วข้างต้น กระบวนการทางความคิดนั้นมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจยิ่งเป็นเรื่องสำคัญเท่าไหร่ยิ่งต้องใช้เวลาไตร่ตรองให้รอบคอบมากขึ้น เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตในภายภาคหน้า สิ่งต่างๆ ที่เอินได้พานพบระหว่างทางมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจแม้ว่าจะไม่มากมายเหมือนใครแต่มากพอที่จะทำให้เธอหวนคืนทีมชาติอีกครั้ง

 

เอินบอกว่า ประสบการณ์จากการผ่านช่วงชีวิตในวัยรุ่นเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจหันกลับมารับใช้ชาติอีกครั้ง ครานี้เธอมีเป้าหมายที่ชัดเจนทุกครั้งที่เหนี่ยวไกเธอคิดเสมอว่าจะต้องทำให้ได้

 

"เมื่อก่อนเราไม่รู้เลยว่าแข่งไปแล้วจะได้อะไรนอกจากเหรียญรางวัล แต่พอเราเริ่มโตขึ้นความคิดก็เปลี่ยนไปเรามีความหวัง เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนกว่าแต่ก่อน โอลิมปิกคืออะไร การแข่งเวิล์ดคัพสำคัญแค่ไหน เมื่อเราลองมานั่งคิดดูแล้วจึงตัดสินใจที่จะเดินหน้าต่อ"

 

การหวนกลับมาจับด้ามปืนอีกครั้งของเอิน มันสร้างความกังวลให้กับเธอไม่น้อย "จะทำได้เหมือนเดิมหรือไม่?" เป็นคำถามที่ยังดังก้องอยู่ในหัวของเธอ ความวิตกนี้อาจส่งผลให้ในระยะยาว แต่ด้วยช่วงวัยที่โตขึ้นและประสบการณ์ชีวิตที่ช่วยสอนให้มีวิธีคิดเป็นขั้นเป็นตอนจึงทำให้เอินรับรู้ได้ทันทีว่าจะรับมีกับสถานณ์เช่นนี้อย่างไร

 

เอินกลับมาตั้งใจซ้อมมากขึ้นละทิ้งคำถามและความกังวลที่ก่อตัวอยู่ภายในจิตใจ ตั้งสมาธิอยู่ที่ไกปืน สายตามองไปที่ศูนย์เล็งและเหนี่ยวไก แล้วในที่สุดกระสุนก็พุ่งตรงเป้าและทำให้เธอได้เดินทางไปลอนดอน

 

 

โอลิมปิกเวทีแห่งความฝัน

 

โอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอนประเทศอังกฤษ คือโอลิมปิกแรกในชีวิตของเอิน หลังจากที่ผ่านรอบคัดเลือกเธอก็ได้เข้าร่วมชิงชัยกับนักแม่นปืนชั้นเยี่ยมทั่วโลก จากที่ไม่เคยได้สัมผัสกับมหกรรมกีฬาระดับโลก ครั้งนี้เธอรู้ซึ้งแล้วว่ารสชาติของการแข่งขันในเวทีโอลิมปิกเป็นอย่างไร

 

"มันเหมือนฝัน" เธอยอมรับตามตรง "เราไม่รู้ตัวเลยว่าเราได้ไปโอลิมปิก แต่พอกลับมาเปิดทีวีดูก็เพิ่งจะรู้ อ้าวเฮ้ย! เราได้ไปโอลิมปิกมาแล้วนี่" 

 

แน่นอนว่าครั้งแรกย่อมมีความตื่นเต้น ประหม่าหรืออะไรก็แล้วแต่ที่พอจะสรรหามาอรรถาธิบายความรู้สึกครั้งนั้นได้ มือสั่น ตัวเกร็ง ใจเต้นระรัว เหล่านี้ส่งผลให้เอินทำผลงานได้ไม่ดีนักกับโอลิมปิกแรกในชีวิต แต่ใช่ว่าเธอจะยอมอ่อนข้อให้กับความผิดหวัง กลับกันเธอเก็บมาเป็นประสบการณ์เพื่อสานต่อเส้นทางนักแม่นปืนต่อไป

 

2 ปีต่อมา … เธอสามารถคว้าเหรีญเงินชิงแชมป์โลก 2014 ที่จีนเป็นเจ้าภาพได้สำเร็จต่อยอดด้วยการคว้าเหรียญทองแดงในรายการเดียวกันนี้ในปี 2016 ที่เยอรมันนี แม้ว่าโอลิมปิก 2016 ที่บราซิลเธอไม่สามารถคว้าสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนั้นได้ ทว่าอีกหนึ่งปีถัดมา เอินก็กัาวขึ้นสู่โพเดียมในฐานะแชมป์เปี้ยนจากรายการเวิลด์คัพ 2017 ที่อินเดีย

 

ล่าสุด เธอสามารถคว้าเหรียญทองชิงแชมป์เอเชียปี 2019 พร้อมได้สิทธิ์เข้าแข่งขันโอลิมปิก 2020 ลบความผิดหวังที่บราซิลได้สำเร็จ

 

"เราพยายามทำดีที่สุดแล้ว เต็มที่กับทุกนัด คำว่าเสียดายกับเสียใจมันมีเส้นบางๆ กั้นอยู่แต่เราจะเสียเวลากับมันไม่ได้เพราะเรามีเป้าหมายต้องไปต่อ"

 

 

คุณค่าชีวิตจากอาชีพนักยิงปืน

 

ความใฝ่ฝันของนักกีฬาคือ ขอสักครั้งในชีวิตได้มีโอกาสได้เข้าแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเพราะนอกจากจะเป็นการร่วมตัวของนักกีฬาฝีมือเยี่ยมจากทั่วทุกมุมโลก โอลิมปิกยังเป็นเวทีชี้วัดว่า "คุณนั้นแน่สักแค่ไหน คู่ควรกับเหรียญรางวัลหรือไม่ เจ๋งแค่ไหนที่จะคว้าไปครอง" 

 

ต่างคนต่างเป้าหมาย แต่การเดินทางสู่โอลิมปิกนั้นยากกว่าต้องขับเคี่ยวกับการแข่งขันรอบคัดเลือก นักกีฬาจากหลากประเทศทั่วโลกต่างมุ่งหวังที่จะคว้าตั๋วเพื่อบินลัดฟ้าสู่มหานครโตเกียว

 

"เราคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทางมันสำคัญกว่า สำหรับเราโอลิมปิกไม่ใช่ทุกอย่าง มันสำคัญตรงที่ว่าระหว่างเราเจออะไรมาบ้าง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปลายทางทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นจากช่วงเก็บตัวฝึกซ้อม สนามไม่ดี กระสุนไม่พอใช้ไหนจะเรื่องเงินทุนสนับสนุน การจัดการภายใน โรคระบาด สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถ้าเรามองว่าเป็นตัวช่วยให้เราเข้มแข็ง มุ่งมั่น เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากที่ไหน มันสำคัญกว่ามาก"

 

แม้ว่าเอินจะประสบปัญหาต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยืดเยื้อยาวนาน กระทั่งปัญหาอาการบาดเจ็บที่นักกีฬาต้องพบเจอ สถานการณ์เฉพาะหน้าที่ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะมาในรูปแบบใด แต่ประสบการณ์จากการเดินทางในสายนักแม่นปืนกว่า 20 ปีของเอิน ช่วยให้เธอสามารถเอาชนะทุกปัญหาที่ประดังเข้ามาได้

 

โอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นบททดสอบอีกหนึ่งด่านหินที่จะพิสูจน์ฝีมือของเอินว่าเธอแม่นเป้าแค่ไหนและกับการที่เธอเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลา 20 ปีจะช่วยให้เธอทำสำเร็จหรือไม่ เรามาเอาใจช่วยไปพร้อมกัน 


stadium

author

จิรวัฒน์ จามะรี

ฉันจะพาเธอลอยล่องไปในอวกาศ ในวันที่ฝนตกลงที่หน้าต่างในตอนเช้า

stadium olympic