1 เมษายน 2564
โม ฟาราห์ คือหนึ่งในนักวิ่งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ผลงาน 4 เหรียญทองโอลิมปิก และ 6 เหรียญทองชิงแชมป์โลกจากการลงแข่งระยะ 5,000 เมตร และ 10,000 เมตร คือเครื่องการันตีความยิ่งใหญ่ของเขา
ที่มากไปกว่านั้น เขายังได้รับการประดับยศอัศวิน ซึ่งเป็นเกียรติที่น้อยคนจะได้รับหากไม่ได้สร้างชื่อเสียงและคุณงามความดีให้กับประเทศชาติอย่างแท้จริง
จากความสำเร็จข้างต้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะอำลาการแข่งประเภทลู่ในปี 2017 เพื่อหันไปมุ่งหน้ากับมาราธอนอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม 2 ปีผ่านไป ฟาราห์ประกาศกลับคืนวงการกรีฑาประเภทลู่อีกครั้ง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ โอลิมปิก เกมส์ ณ กรุง โตเกียว
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เขากลับมาแข่งโอลิมปิกสมัยที่ 4 และทำไมถึงเลือกแข่งแค่ประเภท 10,000 เมตรเท่านั้น ติดตามได้ที่นี่
ย้อนรอยจากเด็กผู้พลัดถิ่นสู่แชมป์โลก
โม ฟาราห์ ไม่ใช่ชาวสหราชอาณาจักรโดยกำเนิด เขาเกิดที่ประเทศโซมาเลีย ในปี 1983 ก่อนที่จะย้ายตามมาอยู่กับพ่อตอนอายุได้ 8 ขวบ ซึ่ง ณ ตอนนั้นไม่มีใครรู้หรอกว่าเด็กน้อยรายนี้จะเติบโตขึ้นเป็นนักกรีฑาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของสหราชอาณาจักรในเวลาต่อมา
พรสวรรค์ด้านกีฬาของฟาราห์เปล่งประกายออกมาในสมัยเรียน จากการค้นพบโดย อลัน วัตกินสัน ครูพละของ Feltham Community College ซึ่งมองเห็นว่าเด็กคนนี้น่าจะไปเอาดีด้านการวิ่ง มากกว่าเส้นทางสายฟุตบอลที่เจ้าตัวฝันจะเป็นปีกขวาให้กับ อาร์เซน่อล สโมสรขวัญใจในอนาคต
ฟาราห์พิสูจน์ให้เห็นว่าความเชื่อของวัตกินสันถูกต้อง หลังจากทำผลงานได้น่าประทับใจจากการลงแข่งระดับนักเรียนหลายรายการ รวมทั้งคว้าแชมป์ได้ 1 สมัย จนทำให้ เซอร์ เอ็ดดี้ คูลูคุนดิส เศรษฐีผู้ใจบุญตัดสินใจออกค่าดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้เจ้าตัวได้ถือสัญชาติสหราชอาณาจักรโดยสมบูรณ์ สามารถตระเวนลงแข่งขันโดยไม่ต้องเจอปัญหาเรื่องวีซ่า
หลังจากนั้น กราฟชีวิตของเขาก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ฟาราห์คว้าแชมป์รายการใหญ่ครั้งแรกในกรีฑาเยาวชนชิงแชมป์ยุโรปเมื่อปี 2001 จากประเภท 5,000 เมตร ก่อนจะตามมาด้วยแชมป์ระดับประเทศและระดับทวีปอีกมากมายหลังจากนั้น รวมทั้งได้ไปแข่งโอลิมปิก เกมส์ ครั้งแรกที่กรุงปักกิ่งในปี 2008 แต่ไปถึงแค่รอบรองชนะเลิศ
"ความล้มเหลวที่ปักกิ่งกลายเป็นแรงกระตุ้นให้ผมพยายามมากขึ้น และต้องการพัฒนาตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม" ฟาราห์ ย้อนความหลัง
3 ปีต่อมา หลังได้ร่วมงานกับ อัลแบร์โต้ ซาลาซาร์ อดีตนักวิ่งระยะไกลทีมชาติสหรัฐฯ ฟาราห์ก็คว้าแชมป์โลกสมัยแรกได้สำเร็จจากการแข่งที่เมืองแดกู ประเทศเกาหลีใต้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
สู่ 4 เหรียญทองโอลิมปิก
หลังจากคว้าแชมป์โลกได้ ฟาราห์ก็ก้าวขึ้นมาเป็นนักวิ่งระดับตัวเต็ง เขาป้องกันแชมป์ยุโรปจากประเภท 5,000 เมตรได้สำเร็จ ในปีเดียวกับที่มีการแข่ง ลอนดอน เกมส์ ส่งผลให้เป็นความหวังเหรียญทองของประเทศเจ้าภาพ
และฟาราห์ก็ไม่ทำให้เสียงของคนกว่า 85,000 คนที่เรียกชื่อของเขาในสนาม ลอนดอน โอลิมปิก สเตเดี้ยม ต้องผิดหวัง หลังจากคว้าทั้ง 2 เหรียญทองในประเภท 5,000 เมตร และ 10,000 เมตร กลายเป็นนักวิ่งคนที่ 7 ในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์ทั้ง 2 รายการในโอลิมปิกปีเดียวกันได้สำเร็จ
"การเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก คือสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุด ในฐานะนักกีฬาแล้ว นี่คือเป้าหมายจากสิ่งที่คุณทุ่มเทฝึกฝนอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน โอลิมปิก เกมส์ มันคือสิ่งที่เหลือเชื่อ"
หลังปลดล็อกคว้าเหรียญทองโอลิมปิก โม ฟาราห์ ก็เข้าสู่โหมดไร้เทียมทาน กวาดชัยชนะรายการใหญ่ทุกรายการที่ลงแข่งทั้ง ชิงแชมป์โลก 2 สมัย ในปี 2013 และ 2015 หรือ ชิงแชมป์ยุโรปปี 2014 โดยคว้าเหรียญทองทั้งประเภท 5,000 เมตร และ 10,000 เมตร ก่อนจะไปป้องกันแชมป์โอลิมปิกที่นคร ริโอ เดอ จาเนโร ในปี 2016
ด้วยฟอร์มที่ร้อนแรง ฟาราห์ป้องกันแชมป์ที่ริโอได้ทั้ง 2 ประเภท กลายเป็นนักวิ่งคนที่ 2 ในโลกที่ป้องกันแชมป์ระยะไกลในโอลิมปิกได้สำเร็จ ต่อจาก ลาสเซ่ ไวเรน ตำนานชาวฟินแลนด์ ที่ทำเอาไว้ใน มิวนิค ปี 1972 และ มอนทรีอัล ปี 1976
2 ปีกับโลกมาราธอน
หลังความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ที่ ริโอ เดอ จาเนโร ในปีถัดมา ฟาราห์ประกาศว่าเขาจะหันไปแข่งมาราธอนอย่างจริงจังหลังจบศึกชิงแชมป์โลกที่กรุงลอนดอน ซึ่งเจ้าตัวคว้าเหรียญทองจากประเภท 10,000 เมตร และเหรียญเงินในประเภท 5,000 เมตร
ปี 2018 หลังอำลาการแข่งประเภทลู่ ฟาราห์คว้าอันดับ 3 ในรายการ ลอนดอน มาราธอน ได้สำเร็จ ด้วยเวลา 2:06:22 ชั่วโมง ซึ่งเป็นสถิติใหม่ของสหราชอาณาจักร
ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ฟาราห์ก็คว้าแชมป์มาราธอนรายการใหญ่เป็นครั้งแรกจากศึก ชิคาโก มาราธอน โดยทำเวลาได้ 2:05:11 ชั่วโมง เป็นสถิติใหม่ของยุโรป
ส่วนปี 2019 ฟาราห์ผลงานตกลงกว่าเดิม โดยได้อันดับ 5 ใน ลอนดอน มาราธอน และป้องกันแชมป์ที่ชิคาโกไม่สำเร็จ หลังเข้าเส้นชัยตามหลังแชมป์มากกว่า 4 นาที ก่อนที่จะประกาศกลับมาแข่งประเภทลู่อีกครั้งในเดือนต่อมา
"ผมตื่นเต้นอย่างมากที่ได้ลงแข่งมาราธอนช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มันเป็นการเรียนรู้ที่ดี และการฝึกซ้อมแตกต่างจากการลงแข่งประเภทลู่โดยสิ้นเชิง"
กลับมาอีกครั้งเพื่อเป้าหมายเหรียญทองที่ 5
"ปีหน้า ผมตัดสินใจแล้ว : ใน โตเกียว 2020 ผมจะกลับมาแข่งบนลู่อีกครั้ง" ฟาราห์ ออกแถลงการณ์คัมแบ็กในเดือนพฤศจิกายนปี 2019
ฟาราห์เปิดเผยว่าสาเหตุที่ทำให้เขากลับมาแข่งประเภทลู่อีกครั้ง เพราะเขารู้สึกคิดถึงการแข่งขัน และมีบางสิ่งที่การแข่งมาราธอนให้เขาไม่ได้
"ผมคิดถึงการแข่ง, ผมคิดถึงเสียงหัวเราะ, การหยอกล้อกัน, การได้มองไปที่กล้องถ่ายทอดสด และการได้เล่นสงครามประสาทกับคนอื่น แต่ในมาราธอนไม่มีสิ่งเหล่านี้"
อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ฝ่ายจัดการแข่งขันต้องเลื่อนโปรแกรมไปแข่งในปี 2021 ซึ่งหากฟาราห์ไปลงแข่งเขาก็จะมีอายุ 38 ปี แต่เจ้าตัวไม่ได้กังวลถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด พร้อมทั้งมองว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวเองด้วยซ้ำ
"เอาจริง ๆ แล้ว ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องแย่ เพราะมันทำให้ผมมีเวลาฝึกซ้อมเพิ่มมากกว่าเดิม ได้ลงแข่งมากกว่าเดิม หลังเพิ่งเปลี่ยนกลับมาจากการแข่งมาราธอนได้เพียงปีเดียว"
ขณะเดียวกัน ฟาราห์ก็ออกมายืนยันว่าเขาจะไม่ลงป้องกันแชมป์ในรายการ 5,000 เมตรที่กรุงโตเกียว และจะพุ่งเป้าไปที่ 10,000 เมตร เพียงรายการเดียวเท่านั้น เนื่องจากเรื่องอายุที่ส่งผลต่อสภาพร่างกายและทำให้เขาไม่สามารถลงแข่งได้ทั้ง 2 รายการ อย่างไรก็ตามหากเขาคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ ก็จะกลายเป็นนักกรีฑาคนแรกที่คว้าแชมป์ประเภท 10,000 เมตรได้ 3 สมัย
"ผมยังคงมีแรงกระตุ้น, ผมยังคงกระหายในชัยชนะและต้องการคว้าแชมป์มากกว่านี้ มันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ และผมเคยสร้างประวัติศาสตร์มาแล้วในการวิ่งระยะไกล รวมทั้งยังเป็นนักวิ่งสหราชอาณาจักรคนแรกที่คว้าเหรียญทอง 2 สมัยติดต่อกันอีกด้วย"
"ผมจะสนุกไปกับมัน, รักษารอยยิ้มเอาไว้และรักในสิ่งที่ได้ทำ แม้จะเป็นเรื่องยากแต่มันก็เป็นไปได้"
TAG ที่เกี่ยวข้อง