1 มกราคม 2564
หากคุณมีวัยเด็กที่ยากลำบาก แต่ได้รับโอกาสจนไต่เต้าขึ้นมาประสบความสำเร็จสูงสุด ทัศนคติในการใช้ชีวิตของคุณจะเปลี่ยนไปหรือไม่ เชื่อว่าคำตอบของแต่ละคนคงแตกต่างกันไป บางคนอาจหันไปใช้ชีวิตสะดวกสบายมีบ้านใหญ่โต มีผู้คนมาคอยอำนวยความสะดวก เพื่อเป็นการตอบแทนตัวเองรวมทั้งชดเชยสิ่งที่เคยขาดหายไป
ขณะที่บางคนอาจจะเลือกคงวิถีชีวิตเดิม ๆ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความเขาเป็นคนตระหนี่ขี้เหนียว แต่อาจจะเป็นเพราะเขาพอใจและสบายใจกับสิ่งที่ตัวเองเป็นและสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้ว
การใช้ชีวิตทั้ง 2 แบบนั้น ไม่มีแบบไหนผิดแบบไหนถูก เพราะมันขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคน แต่กับนักกีฬาดังระดับ เอลิอุด คิปโชเก้ ยอดนักวิ่งมาราธอนชาวเคนยาแล้ว ไม่ใช่แค่เขาเลือกใช้ชีวิตเรียบง่ายเพราะตัวเองพอใจเท่านั้น แต่มันยังเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ตัวเขาเอง รวมทั้งนักวิ่งเพื่อนร่วมชาติประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
แล้วหลักการแห่งความเรียบง่ายของ คิปโชเก้ คืออะไร ติดตามได้ที่นี่
จากกิ่งไม้สู่ผู้เขียนประวัติศาสตร์
"คุณไม่รู้ตัวหรอกว่าคุณกำลังวิ่ง เพราะมันเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ" คิปโชเก้ อธิบายความรู้สึกในวัยเด็กที่ต้องวิ่งเป็นระยะทางไกลหลายกิโลเมตรเพื่อไปเรียนหนังสือ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเด็กนักเรียนในประเทศเคนยา
แต่เมื่ออายุได้ 18 ปี ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อ แพทริค แซง โค้ชคนปัจจุบันเสนอแผนการฝึกซ้อมที่จะทำให้ความสามารถของเขาฉายแสงมากกว่าแค่วิธีเดินทางไปโรงเรียน
ปัญหาเดียวในตอนนั้นคือ คิปโชเก้ ไม่มีแม้แต่ปากกาที่จะจดบันทึก
"ผมต้องหยิบกิ่งไม้มาเขียนแผนซ้อม 10 วันลงบนแขนของตัวเอง จากนั้นก็พยายามท่องมันในหัว, รีบกลับบ้านและหากระดาษกับปากกามาเขียนสิ่งที่เขาบอกในช่วงที่ยังจำมันได้"
ปัจจุบันในวัยเกินเลขสาม คิปโชเก้ กลายเป็นนักวิ่งที่ประสบความสำเร็จ, มีรายได้หลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งเป็นมนุษย์คนแรกที่วิ่งมาราธอนด้วยเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง
แต่หลาย ๆ อย่างยังคงเหมือนเดิม คิปโชเก้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเหมือนคนธรรมดาคนหนึ่ง ห่างไกลจากสิ่งรบกวนมากเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งแคมป์เก็บตัวที่หมู่บ้านคัปตากัตในชนบทของเคนยา ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตของเขาเป็นอย่างดี
สำนักตักศิลาของนักวิ่ง
แคมป์เก็บตัวที่คัปตากัตนั้น ไม่ได้มีถนนที่สมบูรณ์แบบเหมาะแก่การฝึกซ้อมมาราธอน แต่เป็นถนนดินลูกรังที่ขรุขระซึ่งเป็นหลุมเป็นบ่อ ส่วนตัวอาคารที่พักหากไม่มีรองเท้าวิ่งราคาแพงหลายสิบคู่ด้านนอก ก็อาจชวนให้เราคิดไปว่าเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมด้วยซ้ำ
สถานที่แห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นในปี 2002 โดย แพทริก แซง อดีตนักวิ่งมาราธอนระดับเหรียญเงินโอลิมปิก และโค้ชที่ทำงานกับคิปโชเก้มาเกือบ 20 ปี ซึ่งเป้าหมายแรกคือใช้เป็นสถานที่เก็บตัวสำหรับนักวิ่งระดับเยาวชน หรือนักกีฬาดาวรุ่ง หาใช่ที่ฝังตัวถาวรของยอดนักวิ่งระดับคิปโชเก้แต่อย่างใด
ความจริงแล้วบ้านของคิปโชเก้ที่มีภรรยาและลูก ๆ อาศัยอยู่ ไม่ได้ห่างจากแคมป์มากมายนัก แต่เขาก็เลือกใช้เวลาตลอดสัปดาห์ในหอพัก และสิ่งเดียวที่เขามีสิทธิ์เหนือคนอื่นคือห้องพักส่วนตัว แต่การใช้ชีวิตนอกเหนือจากนั้นสมบุกสมบันเท่าเทียมกัน
"ทีนี่เราใช้ชีวิตกันง่าย ๆ ตื่นตอนเช้าออกไปวิ่งก่อนกลับมาที่แคมป์ ถ้าเป็นวันทำความสะอาด เราก็จะทำมันร่วมกันหรือพักผ่อน จากนั้นก็ทานอาหารเที่ยง, นวดคลายกล้ามเนื้อ, ออกวิ่งตอน 4 โมงเย็น, จิบชายามบ่าย, พักผ่อน และเข้านอน ง่าย ๆ แค่นั้น"
การใช้ชีวิตห่างไกลครอบครัวอาจจะทำให้บางคนรู้สึกเหงา และคิดถึงบ้าน แต่กับนักวิ่งในแคมป์ที่คัปตากัตแล้ว กลับเป็นเรื่องดีเพราะทำให้พวกเขามีสมาธิอยู่กับการฝึกซ้อม และด้วยทัศนคติที่มาจากการใช้ชีวิตแบบสามัญ บวกกับสถานที่ตั้งแคมป์ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 8,000 ฟุต ทำให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นความสำเร็จ
เงินทองเป็นของนอกกาย
ความสำเร็จของคิปโชเก้นั้นมากมายเหลือคณานับ ทั้งการเป็นเจ้าของสถิติโลกมาราธอน, เป็นคนแรกที่วิ่งมาราธอนด้วยเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง, คว้าเหรียญโอลิมปิกครบเซ็ต (เหรียญทองแดงปี 2004, เหรียญเงินปี 2008 และเหรียญทองปี 2016) รวมทั้งคว้าแชมป์มาราธอนระดับเมเจอร์ได้ 9 จาก 10 รายการที่ลงแข่ง ซึ่งความสำเร็จระดับนี้เคยทำให้นักกรีฑาเคนยาบางคน อนาคตดับวูบเพราะมัวเมากับชื่อเสียงและเงินทองมาแล้ว แต่ไม่ใช่กับคิปโชเก้
"ผมไม่ได้มีเงินก้อนพิเศษที่จะทำให้ตัวเองเสียสมาธิ ผมเป็นมนุษย์และจะใช้ชีวิตแบบมนุษย์ ส่วนเงินทองเป็นของนอกกาย ผมไม่ได้ทำงานกับเงินเพราะมันอยู่ในธนาคาร ผมแค่ต้องการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเท่านั้น"
นักกีฬาดังคนอื่น ๆ อาจจะใช้ชีวิตช่วงสุดสัปดาห์ไปกับการปาร์ตี้, ซื้อของแพง ๆ ให้ตัวเอง หรือไปเที่ยวในสถานที่หรู ๆ แต่กับคิปโชเก้แล้วคือการไปเยี่ยมฟาร์มเล็ก ๆ ของตัวเอง ซึ่งเขาเลี้ยงวัว, แกะ และไก่เท่านั้น
"การได้ใกล้ชิดกับสัตว์เป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะหลังจากการฝึกซ้อม เพราะมันทำให้คุณผ่อนคลาย และปรับสภาพจิตใจของตัวเอง"
ชายผู้ไม่เคยคิดถึงคำว่าขีดจำกัด
ในความพยายามทำลายกำแพง 2 ชั่วโมงครั้งแรกเมื่อปี 2017 คิปโชเก้ทำเวลาเกินไปเพียง 25 วินาที แม้จะมีปัจจัยช่วยมากมาย หลายคนตั้งคำถามว่านี่อาจจะเป็นขีดจำกัดของมนุษย์ แต่ไม่ใช่กับตัวเขาที่ไม่เคยหมดความเชื่อมั่นในตัวเอง และเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
"แม้ผมจะพลาดเป้าหมาย แต่ก็มีความสุขเพราะทำให้ทั้งโลกมีความหวัง ตอนนี้เหลือเพียง 25 วินาทีที่ต้องทำให้สำเร็จ ดังนั้นเราต้องมุ่งมั่นต่อไป"
2 ปีต่อมา ด้วยการวางแผน, ตัวช่วย และการเตรียมความพร้อมที่ดีกว่าเดิม คิปโชเก้ก็กลายเป็นชายคนแรกที่วิ่งมาราธอนด้วยเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมงได้สำเร็จ แต่ไม่ได้รับการบันทึกสถิติอย่างเป็นทางการ เนื่องจากสหพันธ์กรีฑานานาชาติไม่ให้การรับรอง
แล้วเป้าหมายของคิปโชเก้จบลงแค่นั้นหรือไม่ คงไม่ต้องเสียเวลาคิดหาคำตอบ เพราะให้หลังจากการทำภารกิจระดับ นีล อาร์มสตรอง เหยียบดวงจันทร์คนแรกได้สำเร็จ ยอดนักวิ่งชาวเคนยาก็เอ่ยปากกับนักกายภาพของตัวเองในวันถัดมาว่า "คราวนี้ เป้าหมายต่อไปคือทำให้มันเป็นทางการ"
แม้คิปโชเก้จะไม่ได้แสดงเจตจำนงเรื่องนี้ต่อหน้าสาธารณะ แต่ก็มีข่าวลือว่าเจ้าตัววางแผนจะทำมันใน ลอนดอน มาราธอน ปี 2020 ก่อนที่การแข่งขันจะถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากไวรัสโคโรน่าระบาด เช่นเดียวกับรายการใหญ่อย่าง โอลิมปิก เกมส์ ที่คิปโชเก้หวังไปป้องกันแชมป์
แต่ไม่ว่าเขาจะทำลายกำแพง 2 ชั่วโมงอย่างเป็นทางการได้สำเร็จ หรือคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้อีกสมัย ก็คงไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตติดดินของเขาได้ จากเด็กชายวัย 18 ปีที่ใช้กิ่งไม้เขียนตารางซ้อมครั้งแรกของตัวเอง กลายมาเป็นนักกีฬาชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก แต่เป้าหมายในชีวิตยังคงเหมือนเดิมและชัดเจน เรียบง่ายและถ่อมตัว
"สิ่งสำคัญที่สุดของผมคือแรงบันดาลใจ ไม่ใช่ชื่อเสียง"
"มันไม่เกี่ยวกับการมีชื่อเสียง แต่เป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนมนุษย์ ความสุขของผมคือการได้พบเจอผู้คนและพวกเขาพูดกับผมว่า 'มนุษย์ไร้ขีดจำกัด'"
TAG ที่เกี่ยวข้อง