stadium

หลิน ตัน ตำนานแบดมินตันผู้ยากจะหาใครเทียบ

18 มิถุนายน 2567

2 เหรียญทองโอลิมปิก, แชมป์โลก 5 สมัย และแชมป์รายการเก่าแก่ที่สุดในโลกอย่าง ออลอิงแลนด์ 6 สมัย จากจำนวนความสำเร็จที่กล่าวถึงคร่าวๆ ก็คงเพียงพอแล้วที่จะยกให้ หลิน ตัน เป็นหนึ่งในนักแบดมินตันและนักกีฬาที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล

 

แม้จะน่าเสียดายที่แฟนแบดมินตันยุคปัจจุบันไม่ได้เห็นเขาลงวาดลวดลายในคอร์ตเพราะประกาศอำลาวงการตามหลัง ลี ชอง เหว่ย คู่ปรับตลอดชีวิตไปพักใหญ่ ๆ แล้ว

 

แต่สถานะความเป็นตำนานของเขาจะยังคงอยู่ในความทรงจำของแฟนกีฬาลูกขนไก่ทุกคนตราบนานเท่านาน

 

กว่าที่ หลิน ตัน จะขึ้นมาถึงจุดนี้ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขาต้องเผชิญกับคู่ยอดฝีมือทุกยุคทุกสมัย

 

แล้วตำนานนักแบดแดนมังกรสร้างชื่อเสียงของตัวเองได้อย่างไร ร่วมย้อนความสำเร็จของเขาได้ที่นี่

 

 

พ่อทุกสถาบัน

 

กับ 2 เหรียญทองโอลิมปิก และ แชมป์โลก 5 สมัย หลิน ตัน คือนักแบดมินตันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของวงการ โดยจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่มาจากการคว้าแชมป์แรกในอาชีพ คือ โคเรีย โอเพ่น ปี 2002 ก่อนจะไต่อันดับโลกพรวดพราดหลังคว้าแชมป์ที่ เดนมาร์ก, ฮ่องกง และรายการ ไชน่า โอเพ่น ในปีถัดมา ขณะที่อายุเพียง 18 ปี

 

ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2004 หลิน ตัน ที่ฟอร์มแรงไม่หยุดก็ก้าวขึ้นเป็นมือ 1 ของโลกได้สำเร็จ ซึ่งเจ้าตัวก็ประกาศศักดาด้วยการคว้าแชมป์ออลอิงแลนด์สมัยแรกของตัวเอง ในเดือนต่อมา โดยหลังจบเกมนัดชิงชนะเลิศ ปีเตอร์ เกด คู่แข่งชาวเดนมาร์กถึงกับออกปากเรียกว่า "ซูเปอร์แดน" และกลายเป็นฉายาของเจ้าตัวมาจนถึงปัจจุบัน  

 

ขณะเดียวกัน จากการนำทัพจีนคว้าแชมป์ โธมัส คัพ (แบดฯ ทีมชายชิงแชมป์โลก) เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี ทำให้หลายฝ่ายยกให้ หลิน ตัน เป็นตัวเต็งใน โอลิมปิก เกมส์ ที่กรุงเอเธนส์ แต่เจ้าตัวกลับโชคร้ายได้รับบาดเจ็บขา หนึ่งสัปดาห์ก่อนเปิดการแข่งขัน ซึ่งแม้จะหายทันลงสนามรอบแรก แต่ด้วยสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้แพ้ต่อ โรนัลด์ ซูซิโล่ จากสิงคโปร์ 2 เกมรวด

 

จากความบอบช้ำในครั้งนั้น หลิน ตัน ใช้เวลาไม่นานในการกลับมาคว้าแชมป์ ก่อนจะประสบความสำเร็จสุดขีดในปี 2006 ทั้งการได้แชมป์ออลอิงแลนด์สมัยที่ 2 รวมทั้งแชมป์โลกสมัยแรก และป้องกันแชมป์ทั้ง 2 รายการได้สำเร็จในปีต่อมา

 

ถึงเวลานี้ หลิน ตัน พร้อมแล้วที่จะทำความฝันของตัวเองให้สำเร็จกับ โอลิมปิก เกมส์ ที่บ้านเกิด                              

 

ใน ปักกิ่ง เกมส์ ปี 2008 หลิน ตัน แสดงให้เห็นถึงฝีมือที่เหนือกว่าคู่แข่งแบบคนละชั้น ทะลุผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศโดยไม่เสียแม้แต่เกมเดียว ก่อนจะปิดบัญชี ลี ชอง เหว่ย คู่ปรับตลอดกาลจาก มาเลเซีย ขาดลอย 2 เกมรวด 21-12 และ 21-8 คว้าเหรียญทองแรกให้ตัวเองได้สำเร็จ และยังเป็นการคว้าแชมป์รายการใหญ่ครบทุกรายการ ทั้งประเภทเดี่ยว และประเภททีม

 

 

ชายผู้เกิดมาเพื่อช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่

 

ในรอบชิงฯ ออลอิงแลนด์ ปี 2009 หลิน ตัน ตอกย้ำความแค้นใส่ ลี ชอง เหว่ย  คว้าแชมป์สมัยที่ 4 ไปครอง ก่อนจะทำสถิติไร้พ่ายตลอดเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน พร้อมคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 3 ติดต่อกัน ขณะที่ปี 2010 แม้จะพลาดหวังจากรายการใหญ่ๆ แต่ก็ยังได้แชมป์ระดับทวีปเป็นรางวัลปลอบใจ ทั้งแชมป์เอเชีย และเหรียญทองเอเชียนเกมส์  

 

ศึกมหากาพย์ระหว่างคู่ปรับตลอดกาลในกีฬาแบดมินตันคือ หลิน ตัน ปะทะ ลี ชอง เหว่ย ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ยอดนักแบดจากมาเลเซียแก้แค้นได้สำเร็จในรอบชิงฯ ออลอิงแลนด์ ปี 2011 ก่อนที่ทั้งคู่จะเจอกันอีกครั้งโดยมีตำแหน่งแชมป์โลกเป็นเดิมพัน ซึ่งนับเป็นการวัดฝีมือก่อนโอลิมปิก เกมส์ ที่กรุงลอนดอน

 

เกมการแข่งสมกับที่เป็นการดวลกันของสุดยอดนักแบดแห่งยุค ลี ชอง เหว่ย ได้เกมแรกไปก่อน แต่ หลิน ตัน เอาคืนได้สำเร็จ ต้องวัดกันในเกมสุดท้าย ซึ่งหลังจากดวลกันถึงดิวซ์ ก็เป็นยอดนักแบดชาวจีนที่ทำให้ ลี ชอง เหว่ย ต้องรอคอยแชมป์รายการใหญ่ต่อไป

 

ส่วนในปี 2012 ถึงแม้จะเจอกับปัญหาอาการบาดเจ็บ แต่ หลิน ตัน ก็ยังคว้าแชมป์ออลอิงแลนด์สมัยที่ 5 ได้สำเร็จในเดือนมีนาคม ก่อนที่จะช่วยให้จีนคว้าแชมป์โธมัส คัพ สมัยที่ 5 ติดต่อกัน

 

นอกจากนั้นเจ้าตัวยังหยุดสถิติครองมือหนึ่งยาวนาน 142 สัปดาห์ของ ลี ชอง เหว่ย ได้สำเร็จ ก่อนจะมุ่งหน้าไปป้องกันแชมป์โอลิมปิก ซึ่งทั้งคู่โคจรมาเจอกันในรอบชิงอีกครั้ง และผลลัพธ์ที่ออกมาก็เหมือนฉายหนังม้วนเดิมจากศึกชิงแชมป์โลกเมื่อ 12 เดือนที่แล้ว โดยนักแบดชาวมาเลเซียได้เกมแรกไปก่อน แต่ หลิน ตัน ก็เอาคืน 2 เกมรวด กลายเป็นชายคนแรกที่ป้องกันแชมป์แบดมินตันในโอลิมปิกได้สำเร็จ

 

 

แชมป์โลกสมัยที่ 5

 

หลังจากได้เหรียญทองโอลิมปิกเหรียญที่ 2 หลิน ตัน ใช้เวลาส่วนใหญ่นอกคอร์ท และลงแข่งแค่ 2 ครั้งเท่านั้นในปี 2013 โดยถอนตัวจากรอบก่อนรองชนะเลิศศึกชิงแชมป์เอเชีย ก่อนจะได้สิทธิ์ไวลด์การ์ดร่วมบู๊ศึกชิงแชมป์โลกที่กว่างโจว ซึ่งแม้จะไม่ได้ลงแข่งมากนัก หลิน ตัน ก็ยังคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 5 ได้สำเร็จ และมี ลี ชอง เหว่ย เป็นคู่ปรับตามเดิม แต่สิ่งที่แตกต่างจากนัดชิงฯ 2 รายการที่ผ่านมาคือ ในเกมสุดท้าย ระหว่างที่ หลิน ตัน ขึ้นนำ 20-17 คู่แข่งชาวมาเลเซียต้องขอยอมแพ้เนื่องจากมีอาการเจ็บเข่า

 

น่าเสียดายที่ปีถัดมา สหพันธ์แบดมินตันโลก(บีดับเบิ้ลยูเอฟ) ปฏิเสธให้ไวลด์การ์ด หลิน ตัน ลงแข่งชิงแชมป์โลก ทำให้เจ้าตัวพลาดการป้องกันแชมป์ ซึ่งในปีนั้น เฉิน หลง รุ่นน้องร่วมชาติ คว้าแชมป์ไปครองจากการเอาชนะ ลี ชอง เหว่ย ที่ไม่ถึงฝั่งฝันเสียที

 

อย่างไรก็ตาม หลิน ตัน กลับมาลงแข่งอย่างจริงจัง และเดินหน้าคว้าแชมป์มากมาย ทั้งแชมป์เอเชียอีก 2 สมัย แชมป์เอเชียน เกมส์ สมัยที่ 2 ตามด้วย ออลอิงแลนด์สมัยที่ 6 ในปี 2016 ซึ่งด้วยผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องทำให้เจ้าตัวได้โควตาไปลุ้นป้องกันแชมป์โอลิมปิกสมัยที่ 3 ที่ ริโอ เดอ จาเนโร แต่คราวนี้ ลี ชอง เหว่ย เป็นฝ่ายดับฝัน หลิน ตัน บ้าง หลังเป็นฝ่ายคว้าชัยในรอบรองชนะเลิศ ก่อนที่ หลิน ตัน ต้องกลับบ้านมือเปล่า เพราะแพ้ต่อ วิคเตอร์ เอ็กเซลเซ่น จาก เดนมาร์ก ในรอบชิงเหรียญทองแดง ซึ่ง เอ็กเซลเซ่น คนเดิมตามมาหลอกหลอนนักแบดชาวจีนอีกครั้งในรอบชิงฯ ศึกชิงแชมป์โลกปีต่อมา  

 

หลังจากนั้น กราฟอาชีพของ หลิน ตัน ก็กลายเป็นขาลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ถึงแม้จะเข้าชิงออลอิงแลนด์ได้เป็นครั้งที่ 10 ในอาชีพเมื่อปี 2018 แต่ก็แพ้ต่อ ฉือ ยู่ ฉี รุ่นน้องร่วมชาติ และตกรอบแรกอีกหลายรายการ ก่อนที่จะมาคว้าแชมป์ มาเลเซีย โอเพ่น ได้สำเร็จในปี 2019 โดยเอาชนะ เฉิน หลง เจ้าของเหรียญทอง ริโอ เกมส์

 

 

เป้าหมายสุดท้ายที่ทำไม่สำเร็จ

           

หลิน ตัน ยังคงลงแข่งต่อไปแม้อายุจะเข้าสู่วัย 36 ปี แล้ว โดยเจ้าตัวให้สาเหตุว่า เขาสู้เพื่อโอกาสเข้าไปแข่งโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม นักแบดมินตันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ไม่สามารถเรียกฟอร์มเก่งของตัวเองให้กลับมาอย่างสม่ำเสมอได้ ส่งผลให้ยากที่จะลดช่องว่างกับ เฉิน หลง และ ชื่อ ยู่ ฉี เพื่อคว้าโควตาลุย "โตเกียว 2020" ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ทำให้ โอลิมปิก ต้องเลื่อนออกไปอีก 1 ปี ส่วนการแข่งขันแบดมินตันก็ต้องหยุดชะงัก

 

และแล้ว ด้วยความหวังที่มีอยู่ริบหรี่ ประกอบกับสังขารที่ร่วงโรยทำให้ หลิน ตัน ตัดสินใจอำลาวงการในเดือน กรกฎาคม ปี 2020

 

"อดทน คือคำที่ผมพูดกับตัวเองอยู่เสมอเมื่อต้องเจอกับช่วงที่ยากลำบาก เพื่อยืดระยะอาชีพของตัวเองออกไปให้นานที่สุด" หลิน ตัน ออกแถลงการณ์ผ่าน โซเชียล มีเดีย

 

"แทนที่จะไล่ล่าอันดับโลกอย่างที่เคยทำตอนอายุน้อยกว่านี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาความท้าทายที่ผมต้องการคือเอาชนะขีดจำกัดเรื่องร่างกายของตัวเอง และฝึกฝนจิตใจให้ไม่ยอมแพ้"

 

"แต่สภาพร่างกาย และความเจ็บปวด ไม่ยอมให้ผมสู้เคียงข้างกับเพื่อนร่วมชาติอีกต่อไป หลังจากผ่านมา 20 ปี ผมต้องกล่าวอำลาจากทีมชาติจีน"

 

"ผมได้ทุ่มเททุกอย่างให้กับกีฬาที่ตัวเองรักจนหมดสิ้นแล้ว"

 

ถึงแม้ท้ายที่สุดแล้ว หลิน ตัน จะไม่สามารถทำตามเป้าหมายของตัวเองได้สำเร็จ หรือแม้แต่มีผลงานไม่น่าประทับใจในช่วงปลายอาชีพ แต่สถานะความเป็น "ตำนาน" ของเขาก็ยังคงได้รับการจารึก และจะถูกเล่าขานไปอีกนานแสนนาน


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

stadium olympic