stadium

มูฮัมหมัด อาลี กับช่วงเวลาแห่งความทรงจำในโอลิมปิก

18 เมษายน 2567

การจุดคบเพลิงโอลิมปิก เกมส์ ปี 1996 ที่แอตแลนตา อาจไม่ได้มีเทคโนโลยีที่หวือหวา หรือตระการตาที่สุด เมื่อเทียบกับทุกครั้ง แต่เป็นครั้งที่อยู่ในความทรงจำของทุกคนมากที่สุด เพราะคนที่ทำหน้าที่ถือคบเพลิงคนสุดท้ายมีชื่อว่า มูฮัมหมัด อาลี

 

คนรุ่นหลังที่ไม่ทันได้รับรู้ความยิ่งใหญ่ของตำนานนักชกผู้ล่วงลับรายนี้ อาจสงสัยว่าทำไม การทำหน้าที่จุดกระถางคบเพลิงของอาลี ถึงได้เข้าไปฝังอยู่ในจิตใจของแฟนกีฬาทั่วโลก เพราะความสำเร็จตลอดอาชีพของเขา ไม่ว่าจะเป็นการครองแชมป์โลกหลายสถาบัน และการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก 1 สมัย อาจจะมีคนที่ทำได้ทัดเทียม หรือดียิ่งกว่า 

 

แต่หากไปถามแฟนกีฬารุ่นเก๋า หรือนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพ คำตอบที่ได้คงไม่เพียงพอที่จะสรุปในย่อหน้าเดียว เพราะชายชื่อ มูฮัมหมัด อาลี ไม่ได้เป็นแค่นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ แต่ยังเป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การยกย่องกับสิ่งที่เขาทุ่มเทให้มันตลอดชีวิต นอกเหนือไปจากการแลกหมัดบนสังเวียน

 

 

ประวัติชีวิต แคสเซียส เคลย์ โดยสังเขป 

มูฮัมหมัด อาลี หรือชื่อตั้งแต่กำเนิดคือ แคสเซียส มาร์เซลลัส เคลย์ จูเนียร์ เกิดที่เมืองหลุยส์วิลล์ รัฐเคนตักกี้ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 1942 ในครอบครัวของ แคสเซียส มาร์เซลลัส เคลย์ ซีเนียร์ ช่างทาสีป้ายโฆษณา

 

ในวัยเด็ก อาลี เติบโตท่ามกลางสังคมที่มีการแบ่งแยกชนชั้น เหยียดเชื้อชาติ และการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ก่อนที่จะพบว่าตัวเองมีทักษะในการชกมวยตอนอายุ 12 ปี หลังได้เจอกับ โจ มาร์ติน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และโค้ชมวยเยาวชนในท้องถิ่น

 

หลังจากนั้น ด้วยพรสวรรค์ และความทุ่มเทในการฝึกซ้อม อาลี ก็ไต่เต้าขึ้นสู่ระดับแนวหน้าของวงการมวยสมัครเล่น ก่อนจะประสบความสำเร็จคว้าเหรียญทองรุ่น ไลต์ เฮฟวี่เวต ในโอลิมปิกปี 1960 ที่กรุงโรม และเริ่มต้นขึ้นชกมวยอาชีพในเวลาต่อมา

 

 

อาลี เดินหน้าเก็บชัยเหนือคู่ชกโดยไม่มีเพลี่ยงพล้ำ ก่อนจะเอาชนะ ซอนนี่ ลิสตัน คว้าแชมป์ มาครองในปี 1964 ด้วยวัยเพียง 22 ปี ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานเจ้าตัวก็หันมานับถือศาสนาอิสลาม พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น มูฮัมหมัด อาลี เนื่องจากต้องการทิ้งชื่อที่บ่งบอกถึงความเป็นทาส

 

หลังจากครองแชมป์โลก อาลี เดินหน้าป้องกันแชมป์ได้ถึง 9 สมัย ก่อนที่จะถูกตั้งข้อหาหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหารในช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งอาลีระบุว่ามันขัดต่อหลักศาสนาอิสลามที่ตัวเองนับถือ นอกจากนั้นยังไม่ต้องการเข่นฆ่าผู้อื่นที่ไม่มีความแค้นต่อกันให้กับพวกคนผิวขาวที่กดขี่ข่มเหงพวกเขามาตลอดชีวิตอีกด้วย

 

อาลี ต้องสู้คดีนานถึง 3 ปี โดยไม่ได้ขึ้นสังเวียนเนื่องจากถูกยึดใบอนุญาต ก่อนที่จะพ้นผิดและกลับมาขึ้นชกอีกครั้งในปี 1970 ซึ่งหลังต้องพบกับความปราชัย 2 ครั้งในอาชีพ อาลี ก็เข็มขัดแชมป์ที่เคยเป็นของตัวเองกลับคืนมา ด้วยการชนะทีเคโอ จอร์จ โฟร์แมน ในปี 1974

 

หลังจากได้แชมป์โลกสมัยที่ 2 อาลี เดินหน้าป้องกันแชมป์ได้อีก 10 สมัย ซึ่งรวมถึงการเจอกับ ฟราเซียร์ เป็นครั้งที่ 3 ในอาชีพ ก่อนที่จะแพ้คะแนนต่อ เลออน สปิงค์ส แบบช็อกโลกในปี 1978 แต่เอาคืนได้สำเร็จในการรีแมตช์ปีเดียวกัน กลายเป็นนักชกคนแรกที่ครองแชมป์รุ่นเฮฟวี่เวตได้ 3 สมัย

 

 

ปีถัดมา อาลี ในวัย 37 ปี ก็ประกาศแขวนนวม ซึ่งแม้ยังหวนกลับมาขึ้นสังเวียนอีก 2 ครั้ง ช่วงปี 1980-81 แต่ก็แพ้แบบหมดรูป เนื่องมาจากสภาพร่างกายที่ร่วงโรย และการทานยารักษาโรคไทรอยด์ ที่ทำให้น้ำหนักลด สุดท้ายก็ถึงคราวประกาศอำลาสังเวียนอย่างจริงจัง

 

สภาพร่างกายหลังแขวนนวมของอาลี แตกต่างจากวลีที่ว่า "โบยบินดุจผีเสื้อ ต่อยเจ็บเหมือนผึ้ง" ราวฟ้ากับเหว โดยในปี 1984 เจ้าตัวถูกตรวจพบว่าเป็นโรคพาร์กิน ที่เป็นผลมาจากการขึ้นชกถึง 61 ไฟต์ ตลอดอาชีพ ถูกต่อยไปกว่า 2 แสนครั้ง จนสมองได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งส่งผลให้อดีตแชมป์โลกเคลื่อนที่ได้อย่างเชื่องช้า, ปฏิกิริยาโต้ตอบรวมทั้งการพูดเป็นไปอย่างจำกัด อย่างไรก็ตามแม้จะถูกโรครุมเร้า อาลีใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสในการตอบแทนสังคม เจ้าตัวเดินทางไปทั่วโลกเพื่อรณรงค์ด้านมนุษบธรรม สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน และบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะและการกุศล จวบจนวันสุดท้ายของชีวิตในปี 2016 

 

ย้อนรอย แอตแลนตา 1996 ที่ อาลี เกือบไม่มีส่วนร่วม

ความจริงแล้ว อาลี เกือบจะไม่ได้รับหน้าที่อันทรงเกียรติในวาระฉลองครบรอบ 100 ปี ของการจัด โอลิมปิก เกมส์ เนื่องจาก บิลลี่ เพย์น ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดการแข่งขันต้องการให้เป็น อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ ตำนานนักชกอีกรายมากกว่า เนื่องจากเติบโตในเมืองแอตแลนตา และเคยได้เหรียญทองแดงโอลิมปิก เมื่อปี 1984 แบบที่ควรจะมีลุ้นเหรียญทอง แต่ถูกปรับแพ้ฟาวล์ในรอบรองฯ เนื่องจากชกคู่แข่งหลังระฆังดังขึ้นไปแล้ว

 

ในเรื่องนี้ ดิค เอเบอร์ซอล อดีตผู้บริหารของ เอ็นบีซี สื่อชื่อดังในสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ในตอนที่เสนอชื่อคนจุดกระถางคบเพลิง ฝั่งคณะกรรมการจัดการแข่งขันเลือก โฮลีฟิลด์ ขณะที่ตัวเขายืนยันว่ามีเพียงอาลีเท่านั้นที่คู่ควรกับเกียรติยศในครั้งนี้ แต่อีกฝ่ายโต้แย้งว่าภาพลักษณ์ของเจ้าดูไม่ดีนัก จากกรณีไม่เข้ารับการเกณฑ์ทหารในช่วงสงครามเวียดนาม

 

"อาลี ไม่ได้เลี่ยงการเกณฑ์ทหาร เขาพร้อมรับผลที่ตามมาในการยืนหยัดตามความเชื่อมั่นของตัวเอง กองทัพไม่ให้ทางเลือกอื่นนอกจากต้องไปรบ ซึ่งมันขัดต่อหลักศีลธรรมของเขา ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจไม่รับการเกณฑ์ทหาร อาลีพร้อมที่จะเข้าคุก แม้จะต้องสละเวลาที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพไปถึง 3 ปี  เขาพร้อมที่จะแลกมันกับจุดยืนของตัวเอง" เอเบอร์ซอล เปิดเผยถึงคำพูดที่เขาอธิบายต่อคณะกรรมการจัดการแข่งขัน แอตแลนตา เกมส์

 

เอเบอร์ซอล เรียกร้องให้คณะกรรมการฯ พิจารณาเรื่องอาลีอีกครั้ง ในขณะเดียวกัน เขาก็ได้เตรียมหนังสั้นที่จะแสดงให้เห็นว่าทำไมเจ้าตัวถึงคู่ควรเป็นผู้จุดไฟในกระถางคบเพลิง

 

"ผมต้องการให้บิลลี่ (เพย์น) เห็นว่าความยิ่งใหญ่ของ อาลี ก้าวข้ามทุกยุคทุกสมัย เขาได้เหรียญทองโอลิมปิกในวัยเพียง 18 ปี เขายืนหยัดในหลักการที่น้อยคนจะทำตาม เขาเป็นนักกีฬาผิวสีที่กล้าพูดถึงความอยุติธรรมเหมือนอย่าง จิม บราวน์ และ บิลล์ รัสเซลล์ นอกจากนี้ อาลี ยังเป็นบุคคลผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกเพศทุกวัย" เอเบอร์ซอล กล่าว 

 

สุดท้าย ในเดือน พฤษภาคม ปี 1996 เพย์น ก็โทรศัพท์หา เอเบอร์ซอล และบอกว่า เขาเข้าใจแล้วว่าหน้าที่นี้ต้องเป็นของอาลีเท่านั้น

 

 

ช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนพิธีเปิดจะเริ่มต้นขึ้น บรรดานักข่าวต่างจับกลุ่มถกเถียงกันถึงเรื่องใครจะเป็นคนจุดกระถางคบเพลิงซึ่งยังไม่มีการเปิดเผย บ้างก็ว่าเป็นโฮลีฟิลด์ บ้างก็ว่าเป็นเจเน็ต อีแวนส์ เจ้าของ 4 เหรียญทองโอลิมปิก มาร์ค สปิตซ์ ตำนานนักว่ายน้ำอเมริกันก็เป็นอีกชื่อที่ถูกกล่าวถึง เช่นเดียวกับ คาร์ล ลูอิส ยอดนักกรีฑาที่ประสบความสำเร็จทั้งประเภทลู่และลาน โดยไม่มีใครนึกถึงชื่อของอาลีมาก่อน

 

แต่เมื่อช่วงเวลานั้นมาถึง ตอนที่ เจเน็ต อีแวนส์ ส่งคบเพลิงโอลิมปิกให้กับ อาลี ทั้งโลกก็เหมือนอยู่ในพะวัง จากนั้นอาลีที่อยู่ในภาวะมือสั่นและเคลื่อนไหวได้อย่างจำกัดจากโรคพาร์กินสัน นำไฟไปจุดยังกระสวยที่จะยิงขึ้นไปที่กระถางคบเพลิง

 

 

"มันเป็นเสียงกลืนน้ำลายที่ดังที่สุดที่ผมเคยได้ยินมา" เอเบอร์ซอล รำลึกความหลัง "แม้ผมจะอยู่ในรถบรรทุกแต่ก็ยังได้ยิน มันเป็นเสียงที่ทรงพลัง เพราะไม่มีใครคิดว่าจะเป็นเขา"

 

"หลายคนอาจจำเหตุการณ์ตอนนั้นไม่ได้ แต่อาลีจุดไฟไม่ติดในตอนแรก และส่งผลให้โดนไฟลามมาที่มือเนื่องจากมีลมพัด ซึ่งผมถามเขาในภายหลังว่าถูกไฟลวกหรือไม่ อาลีตอบว่า 'ไม่รู้สิ ผมกำลังอินกับการจุดคบเพลิงอยู่' " เอเบอร์ซอล เผยบทสนทนากับอดีตแชมป์โลกหลังเสร็จพิธี

 

ความประทับใจนี้ แม้แต่ตัว โฮลิฟิลด์ ซึ่งได้รับเกียรติให้วิ่งคบเพลิงช่วงสุดท้าย ก็ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ตัวเขาไม่มีวันทำได้

 

"ผมอยากเป็นคนที่ได้จุดกระถางคบเพลิงโอลิมปิก แต่เมื่อได้เห็นอาลีปรากฏตัวบนเวที ได้เห็นแขนที่สั่นไหวและการต่อสู้กับโรคพาร์กินสันที่กัดกินไปทั้งร่าง ทั้งหมดที่ผมคิดได้คือ พวกเขาเลือกคนที่เหมาะสมที่สุดแล้ว ซึ่งผมไม่มีทางเทียบได้เลย"

 

หลังจากช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ในครั้งนั้น อาลี ได้รับเชิญอีกครั้ง ในพิธีเปิด โอลิมปิก เกมส์ ปี 2012 ที่กรุงลอนดอน ซึ่งเจ้าตัวได้รับเลือกให้ถือธงโอลิมปิก และเป็นครั้งสุดท้ายที่ตำนานรายนี้ปรากฏตัวในโอลิมปิก เกมส์

 


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

stadium olympic