stadium

ซาวาโอะ คาโต้ ตำนานผู้อุทิศชีวิตให้ยิมนาสติก

9 เมษายน 2564

หากพูดถึงกีฬาที่เป็นความหวังของประเทศญี่ปุ่น ในการแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์ แล้ว ยิมนาสติก จัดว่าเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่สร้างความสำเร็จให้ดินแดนอาทิตย์อุทัยอย่างเป็นกอบเป็นกำ

 

จากทั้งหมด 156 เหรียญทองที่ญี่ปุ่นทำได้ในโอลิมปิกนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ยิมนาสติก เก็บเหรียญทองไปได้มากถึง 31 เหรียญ เป็นรองเพียง ยูโด และมวยปล้ำ

 

ขณะเดียวกันจากทุกชาติที่เข้าร่วมการแข่งขัน ญี่ปุ่น ยังเป็นชาติที่คว้าเหรียญโอลิมปิกจากยิมนาสติกได้มากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจาก สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

 

จุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ในกีฬาชนิดนี้ของพวกเขา ต้องย้อนกลับไปช่วงปี 1960 และ 1970 ซึ่งญี่ปุ่นครองความเป็นเจ้าแห่งกีฬายิมนาสติกชาย หรือเรียกได้ว่าเป็นยุคทอง  

 

ซาวาโอะ คาโต้ คือนักกีฬาคนสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในยุคนั้น จากการคว้าไปทั้งหมด 8 เหรียญทอง ครองสถิตินักกีฬายิมนาสติกชายที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกมากที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน

 

แต่ก่อนที่เขาจะก้าวขึ้นไปเป็นตำนานนักกีฬาโอลิมปิกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น คาโต้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ติดตามได้ที่นี่

 

 

วินัย, ความทุ่มเท และความแม่นยำ

 

ซาวาโอะ คาโต้ เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ปี 1946 ในจังหวัดนีงาตะ โดยเป็นลูกชายของวิศวกรรถไฟซึ่งฉายแววความเฉลียวฉลาดด้านวิชาการที่ได้รับมาจากพ่อตั้งแต่ยังเด็ก และไม่ได้มีวี่แววว่าจะสนใจกีฬาอย่างจริงจัง

 

แต่แล้วชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปเมื่อได้สัมผัสกับกีฬายิมนาสติกสมัยเรียนไฮสคูล ซึ่งทำให้เขาได้ค้นพบความสามารถของตัวเองและตกหลุมรักกีฬาชนิดนี้ ก่อนจะเรียนรู้ทักษะอย่างรวดเร็ว และทุ่มเทฝึกฝนจนเล่นบาร์เดี่ยวได้อย่างคล่องแคล่วโดยใช้เวลาไม่นานนัก เหมือนกับ ทาเคชิ พี่ชายของเขาที่เล่นยิมนาสติกเช่นกัน

 

ซาวาโอะ ยังคงเล่นยิมนาสติกต่อไปจนเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ ม.เคียวอิคุ ในกรุงโตเกียว ซึ่งเจ้าตัวทำได้ดีทั้งการเรียนและกีฬาที่พัฒนาตัวเองจนเก่งทุกอุปกรณ์ ภายใต้การฝึกสอนของ อากิโมโตะ คาเนโกะ ยอดโค้ชชื่อดัง

 

ในวัย 18 ปี ซาวาโอะ ติดทีมชาติเป็นครั้งแรก และเขาก็แสดงให้ทุกคนเห็นถึงความทุ่มเท, การเคลื่อนไหวที่แม่นยำ และวินัยในตัวเอง ซึ่งสร้างความแตกต่างกับคนอื่น ๆ ในทีม

 

 

ล้มยักษ์โซเวียต

 

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ ซาวาโอะ พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา นั่นก็คือการเพิ่มเติมแนวคิดใหม่ ๆ ของตัวเองอยู่เสมอในการฝึกซ้อม เหมือนอย่างการนำเอาแทรมโพลีนมาช่วยในการฝึกท่วงท่าต่าง ๆ ที่ใช้ในการแข่งขัน

 

ซาวาโอะ คาโต้ ลงแข่งโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1968 ที่กรุงเม็กซิโก ซิตี้ และแจ้งเกิดได้ทันทีถึงแม้จะมีอาการบาดเจ็บที่เอ็นร้อยหวายก็ตาม ซึ่งเหรียญทองแรกของเขามาจากการเอาชนะคู่ปรับสำคัญคือ มิคาอิล โวโรนิน จากสหภาพโซเวียต ในประเภทบุคคลรวมอุปกรณ์ ก่อนที่ศึกระหว่าง ญี่ปุ่น-โซเวียต รอบ 2 จะอุบัติขึ้นตามมาในประเภททีม และเป็น ซาวาโอะ รวมทั้ง ทาเคชิ พี่ชายที่ช่วยกันคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ

 

หลังจากนั้น ซาวาโอะ ก็มาคว้าเหรียญทองประเภทบุคคลจากฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์โดยที่นักกีฬาญี่ปุ่นเหมาทั้ง 3 เหรียญ ก่อนที่เขาจะปิดท้ายด้วยการคว้าเหรียญทองแดงให้ประเภทห่วง

 

สรุปการแข่งขันในครั้งนั้น ญี่ปุ่น ครองเจ้าเหรียญทองในกีฬายิมนาสติกจากการคว้าไปถึง 6 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 8 เหรียญทองแดง เหนือกว่าสหภาพโซเวียต แต่ตำนานของ ซาวาโอะ คาโต้ ยังไม่จบแค่นี้

 

 

สร้างตำนานที่มิวนิค ก่อนปิดฉากที่มอนทรีอัล

 

ในโอลิมปิกปี 1972 ที่นครมิวนิค ประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่น ย้ำแค้น โซเวียต ได้อีกครั้ง จากการแข่งประเภททีม ขณะที่ ซาวาโอะ ป้องกันแชมป์บุคคลรวมอุปกรณ์ได้สำเร็จ กลายเป็นนักกีฬาคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์ประเภทนี้ได้ 2 สมัยติดต่อกัน โดยมี เออิโซะ เคนโมซึ และอากิโนริ นาคายามะ เพื่อนร่วมชาติคว้าเหรียญเงินและเหรียญทองแดง ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติแรกที่กวาดทุกเหรียญในประเภทนี้ นับตั้งแต่มีการแข่งขันในปี 1900 ก่อนที่ ซาวาโอะ จะได้เหรียญทองเพิ่มจาก บาร์คู่ และ 2 เหรียญเงินจาก ม้าหู กับ บาร์เดี่ยว

 

4 ปีต่อมา ซาวาโอะ ยังเป็นความหวังของญี่ปุ่นในการแข่งโอลิมปิกที่มอนทรีอัล ประเทศแคนาดา แต่น่าเสียดายที่เขาทำสถิติคว้าแชมป์ประเภทบุคคลรวมอุปกรณ์สมัยที่ 3 ติดต่อกันไม่สำเร็จ หลังจากแพ้ นิโกไล อันเดรียนอฟ จาก โซเวียต เพียง 1 คะแนน อย่างไรก็ตาม ในประเภททีม ญี่ปุ่น ยังคงเหนือกว่า และป้องกันแชมป์ได้อีกครั้ง

 

จากนั้น ซาวาโอะ ก็ป้องกันแชมป์ในประเภทบาร์คู่ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการลงแข่งรายการสุดท้ายของเขาในโอลิมปิก ทำให้ยอดรวมเหรียญทองขึ้นไปเป็น 8 เหรียญ มากกว่านักกีฬายิมนาสติกชายคนไหน ๆ ในประวัติศาสตร์

 

 

คืนสู่เหย้า

 

ซาวาโอะ คาโต้ ประกาศอำลาวงการตอนอายุ 29 และกลับไปสอนที่มหาวิทยาลัยซึ่งเขาเคยทำการศึกษา (เปลี่ยนชื่อมาเป็น ม.ซึคุบะ) และได้เป็นศาสตราจารย์ที่นั่น โดยเขาได้รับการบรรจุเข้าสู่หอเกียรติยศของกีฬายิมนาสติกในปี 2001 ขณะเดียวกันเจ้าตัวยังเคยเป็นรองประธานฝ่ายเทคนิคของสหพันธ์ยิมนาสติกนานาชาติ ก่อนจะอำลาตำแหน่งในปี 2013 หลังอุทิศตัวให้กับองค์กรนานกว่า 20 ปี และเคยออกหนังสือร่วมกับ ฮารุมิ มินุสะ (ศาสตราจารย์และเฮดโค้ชยิมนาสติกม.โคนาซาวะ) ชื่อว่า "The Secret of Gymnastic Training in East Germany" วางจำหน่ายในปี 1991 ซึ่งเป้าหมายของหนังสือคือการวิจัย, ศึกษา และบันทึกสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทคนิคใหม่ ๆ ของยิมนาสติก

 

ตลอดชีวิตของ ซาวาโอะ คาโต้ นั้น นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นนักกีฬาที่มีระเบียบวินัย และมีความเพียรพยายามแล้ว เขายังใช้ช่วงเวลาหลังจากอำลาวงการเพื่อส่งต่อองค์ความรู้และความชำนาญของตัวเองกลับคืนสู่ประเทศ เขาสร้างประวัติศาสตร์สำคัญในโอลิมปิกให้กับตัวเองและญี่ปุ่น รวมทั้งกลายเป็นบุคคลต้นแบบสำหรับนักยิมนาสติกแดนอาทิตย์อุทัยในยุคหลังจนถึงปัจจุบัน


stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator

stadium olympic