stadium

ย้อนความทรงจำ เคธี่ ฟรีแมน กับเหรียญทองที่เอาชนะอคติทางเชื้อชาติ

6 เมษายน 2564

"ทุกอย่างยังเป็นเหมือนความฝัน"

 

แม้จะผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว หลังจาก เคธี่ ฟรีแมน แบกความหวังของออสเตรเลียในการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกวิ่ง 400 เมตร ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของกองเชียร์ที่นครซิดนี่ย์ แต่เธอก็ยังคงไม่เชื่อตัวเองว่าจะทำได้สำเร็จ และชัยชนะของเธอมีความหมายต่อประเทศมากแค่ไหน

 

ย้อนไปในช่วงเวลานั้น สถานการณ์ทางการเมืองของ ออสเตรเลีย กำลังปั่นป่วน จากการที่ต้องรับมือกับประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์อันยุ่งเหยิงกับชาวอะบอริจิน, ชาวเกาะ และชนพื้นเมือง

 

ในฐานะนักกีฬาที่มีเชื้อสายชาวพื้นเมือง และมีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในตอนนั้น ฟรีแมนกลายเป็นช่องทางและจุดสนใจสำหรับการเปลี่ยนแปลงมุมมองด้านเชื้อชาติของคนในประเทศ

 

โอลิมปิก เกมส์ ครั้งนั้น สำคัญต่อฟรีแมนและคนออสเตรเลียทั้งประเทศอย่างไร ร่วมย้อนไปกับความทรงจำของเธอได้ที่นี่

 

 

ปัญหาเหยียดเชื้อชาติที่เจอมาตั้งแต่เด็ก

 

"เมื่อคิดถึงคืนนั้นในเดือนกันยายน (วันที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก) สำหรับฉันแล้ว มันดึงให้ฉันย้อนไปถึงการแข่งครั้งแรก ๆ ที่การวิ่งเหมือนกับทำให้ฉันได้รับประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ"

 

ฟรีแมนเริ่มต้นการวิ่งตั้งแต่ 5 ขวบ โดยมีพ่อเลี้ยงคือ บรูซ บาร์เบอร์  คอยกระตุ้นและทำหน้าที่โค้ชให้เป็นคนแรก ซึ่งเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ฟรีแมนก็คว้าแชมป์ระดับภูมิภาคและระดับประเทศมากมายจากการลงแข่ง 100 เมตร, 200 เมตร, กระโดดสูง และกระโดดไกล คำว่า "ฉันคือนักกีฬาที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก" ถูกเขียนไว้เป็นแรงบันดาลใจบนผนังบ้าน  

 

แต่ยังมีอีกอย่างที่เป็นแรงขับอันเด่นชัด นั่นก็คือการโดนเลือกปฏิบัติเพราะสีผิวที่มีมาแต่กำเนิด

 

"ฉันเคยเป็นเด็กที่อับอายเพราะผิวดำ และเป็นคนพื้นเมือง ฉันโตมาโดยมองตัวเองเป็นแบบนั้น"

 

"เมื่อตอนที่ฉันอายุประมาณ 10 ขวบ ฉันคว้าแชมป์รายการหนึ่งได้ แต่กลับไม่ได้รับถ้วยรางวัลเพราะเป็นคนดำ"

 

ฟรีแมนเก็บความคับแค้นใจที่ความสามารถโดนด้อยค่า ชัยชนะในรายการเล็ก ๆ ทำให้ไม่มีใครให้ความสำคัญ ดังนั้นเธอต้องคว้าแชมป์ในรายการที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ทุกคนมองเห็น

 

ในปี 1990 ฟรีแมนดึงความสนใจจากทุกคนได้สำเร็จ หลังกลายเป็นนักกีฬาออสเตรเลียผิวดำคนแรกที่คว้าเหรียญทอง คอมมอนเวลธ์ เกมส์ ที่อ็อคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ก่อนจะได้อีก 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงินในการแข่งที่ วิคตอเรีย ประเทศแคนาดา 4 ปีต่อมา แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ในทีมตำหนิเพราะฉลองชัยด้วยการถือธงออสเตรเลียและธงอะบอริจินร่วมกัน

 

"ฉันอยากจะตะโกนออกไปว่า 'มองฉันนี่ มองผิวของฉัน ฉันเป็นคนดำแล้วยังไง เพราะฉันเจ๋งที่สุด' "

 

 

การสมานฉันท์

 

ก่อน ซิดนีย์ เกมส์ จะเริ่มต้นขึ้น ผู้คนนับแสนได้เดินทางข้ามสะพาน ซิดนีย์ ฮาร์เบอร์ เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและสร้างความปรองดองกับชาวอะบอริจินและชนพื้นเมือง ถึงแม้รัฐบาลจะปฏิเสธการขอโทษต่อสิ่งที่พวกเขาทำผิดในอดีต อย่างเช่นการบีบบังคับให้เด็กพื้นเมืองต้องแยกจากครอบครัว

 

ครอบครัวของฟรีแมนต้องเจ็บปวดกับเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอสะท้อนออกมาว่าเธอไม่ได้วิ่งเพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการวิ่งเพื่อชุมชนของเธอเช่นกัน "ฉันคิดถึงบรรพบุรุษของตัวเองอยู่เสมอ"

 

ด้วยความสามารถ และเกียรติยศระดับแชมป์โลก 2 สมัยบวกกับ 1 เหรียญเงินโอลิมปิก ฟรีแมนได้รับเลือกให้เป็นผู้จุดกระถางคบเพลิงโอลิมปิกในพิธีเปิดการแข่งขัน ซึ่งแม้แต่แม่และผู้จัดการของเธอก็ไม่รู้เรื่องนี้ จนกระทั่งแสงสปอตไลท์ส่องมาที่เธอในโอลิมปิก สเตเดี้ยม  

 

แสงไฟในครั้งนั้นได้ส่งข้อความอันทรงพลังของคำว่า สามัคคี

 

 

คู่แข่ง และการแข่งขัน

 

การจุดกระถางคบเพลิงของฟรีแมน สร้างภาพจำอันน่าประทับใจให้กับแฟนกีฬาทั่วโลก แต่สิ่งที่ทำให้คนทั้งประเทศออสเตรเลียเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริงคือการแข่งขัน 400 เมตรหญิง โดยฟรีแมนคว้าเหรียญเงินที่แอตแลนตาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ด้วยสถิติดีที่สุดของตัวเอง ตามหลัง มารี-โฆเซ่ เปเร็ค แชมป์จาก ฝรั่งเศส เพียง 0.38 วินาที ดังนั้นนี่จึงเป็นการแข่งขันที่ทุกคนให้ความสนใจ

 

อย่างไรก็ตาม เปเร็ค ถอนตัวก่อนเริ่มการแข่งขันวันแรกเพียง 24 ชั่วโมง และเดินทางกลับยุโรปทันที หลังถูกนักข่าวออสเตรเลียคุกคาม รวมทั้งมีการบุกรุกโรงแรมที่พัก

 

"ฉันรู้สึกใจหายจนถึงทุกวันนี้ เพราะฉันรู้ว่าตัวเองพร้อมแล้วสำหรับการลุ้นแย่งเหรียญทองจากเปเร็ค เธอก็รู้เช่นกัน แต่สุดท้ายไม่มีใครรู้ผลลัพธ์เพราะมันไม่เกิดขึ้น"

 

ในวันแข่งรอบชิงชนะเลิศ ฟรีแมน เปิดเผยว่า "ฉันรู้สึกตัวเบาและผ่อนคลายเป็นพิเศษ ฉันรู้สึกดีและบอกกับตัวเองว่า มันก็แค่การทำหน้าที่ตามปกติอีกวันหนึ่งเท่านั้น"

 

"ฉันรู้สึกสงบและกำลังจะเข้าสู่สนามแข่งขัน ก่อนที่จะได้ยินใครบางคนพูดว่า เคธี่! คุณทำได้"

 

"พอได้ยินคำนั้น ทุกอย่างรอบตัวของฉันก็กลายเป็นภาพเบลอทันที ฉันไม่ได้ยินอะไรอีกต่อไป และรู้สึกว่ามีแค่ฉันคนเดียวในสนาม"

 

ฟรีแมนมีสมาธิกับตัวเองอย่างเต็มที่ แม้จะมีเสียงเชียร์อื้ออึงจากกองเชียร์กว่า 120,000 คนในสนามที่ส่งกำลังใจให้เธอคว้าชัยชนะ

 

 

ชัยชนะแห่งความทรงจำที่สร้างคุณค่าไปตลอดกาล

 

เมื่อเสียงปืนที่เป็นสัญญาณออกสตาร์ตดังขึ้น ฟรีแมนในชุดรัดรูปที่คลุมตั้งแต่หัวจรดเท้าเพื่อลดความเสียดทานให้มากที่สุด ออกวิ่งตามแผนที่เธอวางเอาไว้ร่วมกับโค้ช ปีเตอร์ ฟอร์จูน เธอเกาะกลุ่มนำก่อนจะเร่งเครื่องหลังพ้นโค้งสุดท้าย และเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกด้วยเวลา 49.11 วินาที

 

ฟรีแมน ย้อนความคิดของตัวเองในวันนั้นว่า "ฉันชนะได้ ฉันจะคว้าแชมป์ ใครล่ะจะมาหยุดฉันได้?" อย่างไรก็ตาม สำหรับคนอื่น ๆ การได้เหรียญทองนับเป็นความพึงพอใจอย่างสูงสุดแล้ว แต่กับฟรีแมนทุกอย่างต้องดีที่สุด นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เธอดูผิดหวังทั้งที่ทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ

 

"ฉันมองตรงไปที่นาฬิกาและรู้สึกผิดหวังกับสถิติของตัวเอง ฉันน่าจะวิ่งได้ต่ำกว่า 49 วินาที แต่ทำไม่สำเร็จ"

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป ฟรีแมนคว้าเหรียญทองให้กับตัวเอง, ให้กับประเทศออสเตรเลีย, ให้กับชุมชนของเธอ และยังรวมใจผู้คนนับล้านเข้าไว้ด้วยกัน

 

ท้ายที่สุดแล้ว ฟรีแมนเปิดเผยเคล็ดลับว่า ในการแข่งครั้งนั้น เธอคิดอยู่ในหัวตลอดเวลาว่าตัวเองเหนือกว่าคู่แข่ง และความคิดแบบนั้นทำให้เธอไม่รู้สึกด้อยกว่าใคร เหมือนที่เคยเป็นในวัยเด็ก

 

"ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองได้รับการปกป้อง เพราะผู้หญิงคนอื่น ๆ เหล่านั้น มักจะมาสบประมาฉันเรื่องบรรพบุรุษอยู่เสมอ"

 

คราวนี้ ฟรีแมน ถือธงของอะบอริจินและธงชาติออสเตรเลียได้อย่างเต็มภาคภูมิ รวมทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความปรองดองของประเทศ

 

"ลึก ๆ ข้างในแล้ว ฉันซึมซับความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานทั้งหมดที่ผู้คนของฉันได้รับ และเปลี่ยนมันให้กลายเป็นแหล่งพลังงานเพื่อมุ่งไปข้างหน้า"

 

คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้เสมอ


stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator

100 day to go olympic 2024
stadium olympic