stadium

คาร์ล ลูอิส ชายผู้เป็นเจ้าแห่งกรีฑาในโอลิมปิก

27 พฤษภาคม 2567

สหพันธ์กรีฑานานาชาติยกให้เขาเป็น "นักกรีฑาแห่งศตวรรษ" คณะกรรมการโอลิมปิกสากลก็ยกให้เขาเป็น "นักกีฬาโอลิมปิกแห่งศตวรรษ" แฟนกีฬาเรียกเขาติดปากว่า "คิง คาร์ล" นี่คือ คาร์ล ลูอิส ตำนานนักกรีฑาที่ได้ชื่อว่า ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล

 

จากลูกไม้ใต้ต้นสู่เจ้าเหรียญทองแห่งกรีฑาโอลิมปิก คาร์ล ลูอิส สร้างชื่อโด่งดังถึงขั้นพ่อแม่ของ ลูอิส แฮมิลตัน แชมป์โลกฟอร์มูล่า วัน หลายสมัย นำไปตั้งชื่อลูกของตัวเองได้อย่างไร ติดตามได้ที่นี่

 

 

สายเลือดกรีฑาเข้มข้น

 

คาร์ล ลูอิส หรือชื่อเต็มว่า เฟรเดริก คาร์ลตัน ลูอิส เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 1961 ที่เมืองเบอร์มิงแฮม รัฐแอละบามา โดยเป็นลูกของ วิลเลี่ยม ลูอิส โค้ชกรีฑา และ เอเวอลีน (ลอว์เลอร์) ลูอิส อดีตนักกรีฑาทีมชาติสหรัฐฯ ซึ่งเขาเกิดมาท่ามกลางช่วงขบวนการสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement)หรือการต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมของคนผิวดำ

 

พ่อแม่ของลูอิสเป็นนักเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นครู ส่งผลให้ลูกได้เรียนวิธีทำให้ตัวเองแข็งแกร่งและมีความสามารถรอบด้าน จากตัวอย่างของพ่อแม่

 

พ่อแม่ของลูอิสเริ่มตั้งสโมสรกรีฑาเพื่อเด็กหญิงในช่วงปลายปี 60 เนื่องจากแม่ของเขามองว่าเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกับที่มีสโมสรของเด็กชาย ดังนั้นลูอิสและแครอลน้องสาวจึงได้ติดตามพ่อแม่ไปฝึกซ้อมอยู่เสมอ โดยมีบ่อทรายสำหรับกระโดดไกลเป็นของเล่น ก่อนกลายเป็นสิ่งที่สร้างชื่อให้ลูอิสโด่งดังระดับโลกในภายหลัง

 

คลีฟแลนด์ ลูอิส พี่ชายของคาร์ล ก็เป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงเช่นกัน โดยเป็นนักฟุตบอลเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกที่ถูกดราฟต์ไปเล่นใน นอร์ธ อเมริกัน ซอคเกอร์ ลีก หลังจากช่วยให้มหาวิทยาลัย แบรนเดลส์ คว้าแชมป์เอ็นซีเอเอ ระดับดิวิชั่น 3 พร้อมกับทำสถิติดาวซัลโวตลอดกาลของมหาวิทยาลัยในตอนนั้น

 

 

จากเด็กโตช้าสู่นักกรีฑาดาวรุ่งพุ่งแรง

 

ด้วยการที่คลุกคลีอยู่กับงานของพ่อแม่ ลูอิสและน้องสาวจึงได้เริ่มฝึกกรีฑาเหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ ในชมรมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตามในช่วงเริ่มแรกลูอิสไม่สามารถทำผลงานได้ดีเท่ากับเด็กในวัยเดียวกัน เนื่องจากมีปัญหาด้านการเจริญเติบโต มีภาวะโตช้า ก่อนที่จะสูงพรวด 2 นิ้วครึ่งภายในเดือนเดียว ตอนที่อายุ 15 ปี ซึ่งทำให้ต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดินเนื่องจากร่างกายปรับตัวไม่ทัน

 

แต่เมื่อปรับตัวได้แล้ว ลูอิส ก็กระโดดได้ไกลขึ้น วิ่งได้เร็วขึ้น หลังจากรู้จักใช้ทักษะที่มีให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย และในช่วงปลายปี 1979 หลังจากที่เขาจบการศึกษาระดับไฮสคูล ลูอิสก็ทำสถิติกระโดดไกลได้เป็นอันดับ 5 ของโลก

 

อย่างไรก็ตาม แทนที่เขาจะเลือกมหาวิทยาลัย วิลลาโนวา ซึ่งมีเชื่อเสียงด้านกรีฑาและอยู่ใกล้บ้าน ลูอิสกลับเลือกมหาวิทยาลัยฮุสตัน เนื่องจากไม่ต้องการเป็นที่สนใจ และเชื่อมั่นว่าแผนงานของ ทอม เทลเลซ โค้ชที่ม.ฮูสตัน จะทำให้เขาไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ นั่นคือการกลายเป็นชายที่กระโดดไกลที่สุดในโลก

 

ความจริงแล้ว ลูอิส ไม่เคยคิดลงแข่งวิ่งระยะสั้นตอนเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะหลงใหลความท้าทายของการแข่งประเภทนี้ในเวลาต่อมาและหันมาเอาดีในด้านนี้ควบคู่ไปด้วย และในปี 1981 เขาก็ได้รับการขนานนามว่าเป็นนักกรีฑาสมัครเล่นที่ดีที่สุดของสหรัฐฯ หลังกลายเป็นชายคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์การแข่งขันระดับมหาวิทยาลัย ที่คว้าแชมป์ทั้งประเภท 100 เมตร และกระโดดไกล ซึ่งชายคนแรกที่ทำได้ก็คือ เจสซี่ โอเว่นส์ ไอดอลของ ลูอิส นั่นเอง

 

 

สู่แสงไฟแห่งโอลิมปิก

 

ลูอิสผ่านการคัดตัวติดทีมชาติสหรัฐฯ ตั้งแต่ โอลิมปิก เกมส์ ปี 1980 หลังจากที่คว้าแชมป์ระดับมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปีแรก อย่างไรก็ตามเจ้าตัวไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันเนื่องจากสหรัฐฯคว่ำบาตรการแข่งขันที่รัสเซีย ทำให้เขาต้องรออีก 4 ปีกว่าจะได้มีส่วนร่วมในกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

 

แต่การรอคอยกลับเหมือนเป็นแรงกระตุ้นให้เขาทำผลงานอย่างเต็มที่ ในโอลิมปิกปี 1984 ที่ ลอส แองเจลิส เขาทำสถิติกวาด 4 เหรียญทอง เทียบเท่ากับที่ โอเว่นส์ เคยทำเอาไว้ที่เบอร์ลินในปี 1936 โดย ลูอิส ได้เหรียญทองจากวิ่ง 100 เมตร, 200 เมตร, ผลัด 4x100 เมตร และกระโดดไกล สิ่งเดียวที่น่าผิดหวังในการแข่งขันครั้งนั้นคือ ลูอิสปล่อยโอกาสทำลายสถิติกระโดดไกลของ บ็อบ เบม่อน ที่คงอยู่มายาวนานกว่า 15 ปี เนื่องจากต้องการเก็บแรงไว้แข่งรายการอื่น

 

หลังจากนั้น ในปี 1988 ที่กรุงโซล ลูอิสเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 2 ในประเภท 100 เมตร แต่ได้รับเหรียญทอง หลังจาก เบน จอห์นสัน นักวิ่งชาวแคนาดาที่เข้าเส้นชัยเป็นคนแรกไม่ผ่านการตรวจสารกระตุ้น ขณะเดียวกันเขาก็ป้องกันแชมป์ในประเภทกระโดดไกล และคว้าเหรียญเงินจาก 200 เมตรได้สำเร็จ

 

ส่วนปี 1992 แม้ลูอิสไม่ผ่านการคัดเลือกในประเภท 100 เมตร และ 200 เมตร แต่เขาก็ยังพิสูจน์ให้ทุกคนว่าเป็นของจริง ด้วยการคว้าเหรียญทองกระโดดไกลเป็นสมัยที่ 3 และเป็นหนึ่งในทีมผลัด 4x100 เมตรที่ทำสถิติโลกเอาไว้ยาวนานกว่า 16 ปี

 

และในโอลิมปิกหนสุดท้ายในชีวิตของเจ้าตัวที่แอตแลนตา ในยามที่ทุกคนคิดว่าเขาเลยจุดสูงสุดไปแล้ว และได้เวลาส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ ลูอิสกลับสร้างความตื่นตะลึงด้วยการป้องกันแชมป์กระโดดไกลเป็นสมัยที่ 4 ซึ่งเป็นนักกีฬาคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์โอลิมปิกจากประเภทเดียวได้ถึง 4 สมัยติด ก่อนจะอำลาวงการในปีต่อมา

 

เหรียญทองที่แอตแลนตานับเป็นหนึ่งในเหรียญที่มีความหมายมากที่สุดในชีวิตของเขา เพราะลูอิสเอาชนะทั้งอายุ, แรงโน้มถ่วง, ประวัติศาสตร์ และคำปรามาสจากทั่วโลก ซึ่งจาก 9 เหรียญทองโอลิมปิก บวกกับอีก 10 เหรียญทองชิงแชมป์โลก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ คาร์ล ลูอิส จะได้รับการยกย่องให้เป็นนักกรีฑาแห่งศตวรรษ


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

stadium olympic