stadium

ยูเซน โบลต์ มนุษย์ที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์

27 พฤษภาคม 2567

หากพูดถึงการแข่งขันวิ่งระยะสั้น น้อยคนนักที่จะไม่พูดถึงชื่อ ยูเซน โบลต์ ยอดลมกรดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในศึกดวลความเร็วบนลู่ของมนุษยชาติ ผลงาน 8 เหรียญทองโอลิมปิก และ 11 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดงในศึกชิงแชมป์โลกคือเครื่องยืนยันความยอดเยี่ยมของตำนานชาวจาเมกาคนนี้ได้เป็นอย่างดี

 

แต่อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้เขามีความเร็วเหนือกว่าคนอื่น ๆ จนถือครองสถิติโลกถึง 3 รายการ และกว่าที่จะไปยืนอยู่บนจุดสูงสุดของวงการกรีฑา ชีวิตของโบลต์ผ่านอะไรมาบ้าง ติดตามได้ที่นี่

 

 

เด็กที่ไม่เคยอยู่นิ่ง

 

ยูเซน เซนต์ ลีโอ โบลต์ เกิดในวันที่ 21 สิงหาคม ปี 1986 ณ หมู่บ้าน เชอร์วูด คอนเทนต์ ในประเทศจาเมกา โดยเป็นลูกของ เจนนิเฟอร์ โบลต์ ที่ทำอาชีพรับจ้างทำนา กับ เวลเลสลี่ย์ โบลต์ เจ้าของร้านขายของชำ ซึ่งทั้งคู่เคยเป็นนักวิ่งมาก่อน

 

"โบลต์เกิดช้ากว่ากำหนด 1 สัปดาห์ครึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นครั้งเดียวที่เขาช้าในชีวิต" เจนนิเฟอร์ รำลึกความหลังตอนคลอดลูกชาย

 

คำพูดของ เจนนิเฟอร์ ไม่ได้ผิดเพี้ยนมากไปนัก เพราะหลังจากลืมตาดูโลกได้ 3 สัปดาห์ โบลต์ก็แสดงให้เห็นว่าเขาทำทุกอย่างได้เร็วกว่าคนอื่น ๆ

 

"วันหนึ่งฉันทิ้งเขาไว้บนเตียง และตอนกลับมา ยูเซน เกือบจะตกเตียงอยู่แล้ว แต่เขาพยายามดันตัวเองกลับขึ้นมาได้อย่างเหลือเชื่อ ซึ่งฉันไม่เคยเห็นทารกที่อายุเพียง 3 สัปดาห์แข็งแรงขนาดนี้มาก่อน"

 

ในวัยเด็ก ยูเซน โบลต์ คือเด็กที่มีพลังงานล้นเหลือ และไม่เคยอยู่นิ่ง ควบคุมไม่ได้ ทำให้เวลเลสลี่ย์กังวลว่าลูกชายจะเป็นเด็กไฮเปอร์แอกทีฟ จึงนำไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และได้รับคำวินิจฉัยว่าความคิดของเขาถูกต้อง

 

"แพทย์บอกว่าเขามีภาวะไฮเปอร์แอกทีฟ มีพลังงานล้นเหลือ ดังนั้นเราต้องปล่อยให้เขาทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ แต่ต้องคอยดูแลไม่ให้ได้รับอันตราย"

 

ด้วยความเป็นเด็กไฮเปอร์ฯ การเล่นกีฬาจึงถูกกับจริตของเด็กชายยูเซน แต่สิ่งที่เขาสนใจตอนแรกไม่ใช่การวิ่งที่สร้างชื่อให้โด่งดังระดับโลก กลับเป็นกีฬาฟุตบอลและคริกเก็ตที่เขาใช้ผลส้มกับต้นกล้วยมาเป็นอุปกรณ์การเล่น

 

อย่างไรก็ตาม เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ หลังจากเข้าเรียนที่ Waldensia Primary เขาก็ได้เข้าสู่โลกแห่งการวิ่ง และพรสวรรค์ก็เริ่มฉายแววให้เห็นว่านี่ต่างหากคือทางเลือกที่ถูกต้อง

 

เมื่ออายุ 10 ขวบ ยูเซน วิ่งเอาชนะแม่ของตัวเองได้ และ 2 ปีต่อมา เขาก็กลายเป็นเด็กที่วิ่งเร็วที่สุดในโรงเรียนในระยะที่มากกว่า 100 เมตร

 

เมื่อเข้าสู่ระดับไฮสคูล ยูเซน โบลต์ ศึกษาต่อที่ William Knibb Memorial และยังคงเลือกคริกเก็ตเป็นวิชาเอก อย่างไรก็ตาม ด้วยความไฮเปอร์ฯ บวกกับความเร็วที่เขาแสดงให้เห็นในการแข่ง ทำให้โค้ชคริกเก็ตชี้แนะให้เจ้าตัวนำความสามารถไปใช้กับลู่วิ่ง

 

โบลต์เชื่อฟังคำแนะนำ และหันไปเอาจริงเอาจังกับการวิ่ง ภายใต้การโค้ชของ พาโบล แม็คนีล อดีตนักกรีฑาระดับโอลิมปิก และพอถึงวัย 14 ปี เขาก็คว้าเหรียญเงินจากการลงแข่ง 200 เมตรในกีฬานักเรียนชิงแชมป์แห่งชาติ จากนั้นในปีต่อมา เจ้าตัวก็ก้าวไปสู่ความสำเร็จระดับโลก จากการคว้าเหรียญทอง 200 เมตร ในรายการกรีฑาเยาวชนชิงแชมป์โลกที่กรุงคิงส์ตัน ส่งผลให้ได้รับรางวัลดาวรุ่งแห่งปีอีกด้วย

 

 

สู่ชายที่เร็วที่สุดในโลก

 

โบลต์ จบจากไฮสคูลในปี 2004 และเข้าสู่วงการกรีฑาอาชีพในปีนั้น พร้อมกับการลงแข่ง โอลิมปิก เกมส์ หนแรกในชีวิต อย่างไรก็ตามในการแข่งขันที่กรุงเอเธนส์ โบลต์มีอาการเจ็บขาทำให้ตกรอบแรกในรายการ 200 เมตรอย่างน่าเสียดาย

 

4 ปีต่อมา หลังจากล้มเหลวที่เอเธนส์ โบลต์ลงแข่งปักกิ่ง เกมส์ พร้อมกับดีกรี 2 เหรียญเงินชิงแชมป์โลก และ 1 เหรียญเงินจาก เวิลด์ คัพ นอกจากนั้นเจ้าตัวยังหันมาลงแข่ง 100 เมตรเพิ่มเติม หลังประสบความสำเร็จจากการทดลองลงแข่งที่เกาะครีตเมื่อปี 2007

 

และคราวนี้เจ้าตัวก็ประกาศศักดาสู่การเป็นชายที่เร็วที่สุดในโลกได้สำเร็จ โบลต์คว้าเหรียญทองจาก 100 เมตร และ 200 เมตรด้วยการทำลายสถิติโลก(9.69 วินาที และ 19.30 วินาที ตามลำดับ) รวมทั้งเป็นหนึ่งในทีมผลัด 4x100 เมตรของจาเมกาที่เข้าเส้นชัยเป็นทีมแรก แต่ถูกยึดเหรียญในภายหลังเนื่องจากหนึ่งในสมาชิกของทีมไม่ผ่านการตรวจสารกระตุ้น

 

หลังจากขึ้นครองบัลลังก์เจ้าความเร็ว โบลต์เพิ่มดีกรีความยิ่งใหญ่ของตัวเองไปอีกขั้นในศึกชิงแชมป์โลกปี 2009 ที่กรุงเบอร์ลิน เขาทำลายสถิติโลกที่ตัวเองทำไว้ทั้ง 100 เมตร (9.58 วินาที) และ 200 เมตร (19.19 วินาที) ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีใครทำได้ใกล้เคียง รวมทั้งยังคว้าเหรียญทองจากผลัด 4x100 เมตรเช่นกัน

 

ในปี 2011 โบลต์ลงแข่งชิงแชมป์โลกที่แดกู เกาหลีใต้ เขาป้องกันแชมป์ในประเภท 200 เมตร และ 4x100 เมตรได้สำเร็จ แต่ในประเภท 100 เมตร โบลต์ออกสตาร์ทก่อนเสียงสัญญาณทำให้ถูกตัดสิทธิ์อย่างน่าเสียดาย  

 

อย่างไรก็ตาม นับจากการแข่งครั้งนั้น โบลต์ก็ไม่เคยพลาดเหรียญทองในรายการระดับเมเจอร์อีกเลย เขาได้เหรียญทองจากประเภท 100 เมตร, 200 เมตร และ 4x100 เมตร ในโอลิมปิกและศึกชิงแชมป์โลกอีก 2 สมัยต่อมา โดยในการลงแข่ง โอลิมปิกหนสุดท้าย เมื่อปี 2016 หลายฝ่ายต่างคิดว่าโบลต์จะป้องกันแชมป์ไม่สำเร็จ ด้วยฟอร์ม และปัญหาบาดเจ็บที่รบกวนอย่างต่อเนื่อง แต่เจ้าตัวก็พิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่าเขายังคงเป็นชายที่เร็วที่สุดอย่างที่เคยเป็นมา

 

"ผมมาแข่งโอลิมปิกหนนี้เพื่อพิสูจน์ให้ทั้งโลกรู้ว่า ผมคือนักวิ่งที่ดีที่สุดอีกครั้ง"  

 

 

บทอำลาที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

 

โบลต์วางแผนเอาไว้ว่า ศึกชิงแชมป์โลกปี 2017 ที่กรุงลอนดอน จะเป็นการลงแข่งครั้งสุดท้ายของเขาก่อนอำลาวงการ หลายคนเอาใจช่วยให้เขาคว้าแชมป์ 100 เมตรสมัยที่ 4 เพื่ออำลาวงการอย่างสวยหรู ขณะที่เจ้าตัวก็ตัดสินใจไม่ลงแข่ง 200 เมตร เพื่อทุ่มสมาธิให้กับรายการนี้และ 4x100 เมตรอย่างเต็มที่

 

อย่างไรก็ตาม โบลต์ทำได้เพียงเหรียญทองแดงใน 100 เมตร จากการพ่ายแพ้ต่อ จัสติน แกตลิน คู่ปรับตลอดกาล และ คริสเตียน โคลแมน ลมกรดหนุ่มจากสหรัฐฯ ส่วนใน 4x100 เมตร เจ้าตัวก็ต้องออกจากการแข่งหลังวิ่งได้เพียงครึ่งทางเนื่องจากมีอาการบาดเจ็บ เรียกได้ว่าเป็นบทอำลาที่สุดแสนจะชอกช้ำของชายที่ได้ชื่อว่า "เร็วที่สุดในโลก"

 

 

บทส่งท้าย : เคล็ดลับความเร็วของมนุษย์สายฟ้า

 

ความคิดดั้งเดิมของเรานั้น คนที่มีรูปร่างสูงใหญ่ ย่อมช้ากว่าคนที่มีรูปร่างเล็ก แต่กับ ยูเซน โบลต์ เรื่องนี้กลับเป็นเคล็ดลับที่ทำให้เขามีความเร็วเหนือคู่แข่งคนอื่น ๆ ด้วยส่วนสูง 6 ฟุต 5 นิ้ว (195 เซนติเมตร) โบลต์ฝึกซ้อมอย่างหนักจนทำให้มันกลายเป็นข้อได้เปรียบ

 

โบลต์ไม่ได้ก้าวเท้าถี่หรือเร็วกว่านักวิ่งชั้นนำคนอื่น ๆ แต่ช่วงก้าวของเขายาวกว่ามาก ดังนั้นแม้ช่วงออกสตาร์ทเขาจะดูช้ากว่าคู่แข่ง แต่พอเข้าถึงช่วงเร่งความเร็วสูงสุด โบลต์ใช้ช่วงขาที่ยาวทำให้ลดจำนวนก้าวที่ต้องใช้ โดยเขาวิ่งเพียง 41 ก้าวเท่านั้นสำหรับการแข่ง 100 เมตร ขณะที่คู่แข่งต้องใช้ 44-45 ก้าว

 

ถ้าเอาตามทฤษฎีนี้เราอาจจะคิดว่า ถ้าอย่างนั้นคนที่มีความสูงพอ ๆ กับ โบลต์ ก็จะสามารถวิ่งได้เร็วพอ ๆ กัน ถ้าคิดแค่ตามทฤษฎีมันก็พอเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่ในทางปฏิบัติ เพราะสิ่งที่สำคัญคือคุณต้องก้าวเท้าให้ได้เร็วเท่านักวิ่งชั้นนำ รวมทั้งต้องฝึกซ้อมอย่างหนักจนปรับร่างกายให้วิ่งได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งโบลต์มีทั้งพรสวรรค์และพรแสวงจนทำให้เค้นศักยภาพออกมาได้สูงสุดอย่างที่ไม่รู้ว่าอนาคตจะมีใครทำได้หรือไม่ ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องผิดหากจะบอกว่า ยูเซน โบลต์ คือนักวิ่งที่เร็วกว่าใคร เพราะเขาไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน 


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

Hatari
stadium olympic