stadium

ดิ๊ค ฟอสบิวรี่ ตำนานผู้เปลี่ยนโลกของกีฬากระโดดสูงไปตลอดกาล

5 เมษายน 2564

ในการแข่งขันกระโดดสูงของ โอลิมปิก เกมส์ ปี 1968 ที่กรุงเม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้เห็นท่ากระโดดอันแปลกประหลาดที่นักกีฬากระโดดหันหลัง และเอนตัวโค้งไปกับคาน หรือต่อให้มีท่านี้เกิดขึ้น ก็คงไม่มีใครคิดเช่นกันว่ามันจะได้ผลดีถึงขั้นคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ

 

แต่ ดิ๊ค ฟอสบิวรี่ เด็กหนุ่มสูงเก้งก้างวัย 21 ปี จาก มหาวิทยาลัย โอเรกอน กลับฉีกสามัญสำนึกของทุกคนจนหมดสิ้น เขาใช้ท่ากระโดดที่ทุกคนเยาะเย้ย ก้าวขึ้นไปถึงจุดสูงสุดพร้อมกับสร้างสถิติใหม่ของโอลิมปิกได้อย่างเหลือเชื่อ

 

อย่างไรก็ตาม กว่าจะไปถึงจุดนั้น ฟอสบิวรี่ ต้องเอาชนะคำดูถูกเย้ยหยันมากมาย

 

เขาสยบเสียงวิจารณ์เหล่านั้นได้อย่างไร และทำไมท่า "Fosbury Flop" ถึงกลายเป็นนวัตกรรมที่สร้างปรากฏการณ์ให้วงการกีฬามากที่สุด ติดตามได้ที่นี่

 

 

เด็กที่มีดีแค่ตัวสูง

 

เส้นทางการมาเล่นกีฬากระโดดสูงของ ดิ๊ค ฟอสบิวรี่ ไม่มีอะไรซับซ้อน เขาเป็นเด็กคนหนึ่งที่ชื่นชอบกีฬา แต่ดันทำได้ไม่ดีสักอย่าง ฟอสบิวรี่ไปทดสอบกับทีมอเมริกันฟุตบอลก็โดนคัดออก หรือแม้จะเป็นหนึ่งในเด็กที่สูงที่สุดในโรงเรียนถึง 6 ฟุต 4 นิ้ว (193 เซนติเมตร) เขากลับเล่นบาสเกตบอลไม่ได้เรื่อง จนเมื่ออายุได้ 16 ปี เขาถึงพบว่า กระโดดสูงคือสิ่งที่ทำให้ตัวเองดูเป็นคนไร้ค่าน้อยที่สุด

 

ถึงแม้จะเจอกีฬาที่ใช่ ก็ไม่ได้หมายความว่าฟอสบิวรี่จะระเบิดฟอร์มสร้างผลงานขึ้นมาได้ในทันที เพราะการกระโดดแบบ straddle (กระโดดโดยหันหน้าเข้าหาคานและยกขาข้ามพ้นคานไปก่อน) ทฤษฎีที่ใช้กันแพร่หลายในขณะนั้น ทำให้ฟอสบิวรี่ประสบปัญหากับการจัดระเบียบร่างกายของตัวเอง และทำให้คานหล่นอยู่ร่ำไป ส่งผลให้ไม่ได้ติดทีมแม้แต่สโมสรระดับท้องถิ่น

 

อย่างไรก็ตาม ฟอสบิวรี่ ไม่ได้ยอมแพ้ เขารู้ว่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเพื่อให้ตัวเองทำผลงานได้ดีขึ้น

 

 

กำเนิดท่าใหม่ที่มีรากฐานจากท่าดั้งเดิม

 

ด้วยความที่กีฬาชนิดนี้ไม่มีกฎตายตัวเรื่องท่าทางในการกระโดด ขอแค่นักกีฬาเทคตัวด้วยขาข้างเดียวและพาตัวเองข้ามคานได้ก็เพียงพอแล้ว ดังนั้นจึงมีท่ากระโดดมากมาย ที่ใช้กันแพร่หลายในช่วงเวลานั้น มีอยู่ 3 ท่าหลัก ๆ นั่นคือ scissors (การกระโดดแบบเตะขาสลับกันเหมือนกรรไกร), western roll (กระโดดคร่อมคานเหมือนการขี่ม้า) และ straddle ซึ่งพัฒนามาจาก western roll อีกที

 

หลังจากทดลองใช้ทั้ง 3 ท่า ฟอสบิวรี่พบว่าตัวเองถนัดแบบ scissors มากที่สุด ทำให้เลือกใช้ท่านี้เป็นหลักและมีการประยุกต์เล็กน้อยเพื่อให้เหมาะกับตัวเอง อย่างไรก็ตาม ท่านี้ยังไม่อาจเทียบกับคนที่ใช้ท่า straddle แต่แล้วในการแข่งขันครั้งหนึ่ง ฟอสบิวรี่ ก็ได้ไอเดียในการคิดเทคนิคใหม่ของตัวเองขึ้นมาดื้อ ๆ

 

"สิ่งที่น่าสนใจคือเทคนิคของผมได้ถูกพัฒนาระหว่างการแข่งขัน ซึ่งมันเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบจากความพยายามที่จะกระโดดข้ามคานไปให้ได้ ผมไม่เคยมีความคิดที่จะเปลี่ยนมัน และแน่ใจว่าโค้ชต้องสติหลุดแน่ ๆ เพราะมันพัฒนาไปได้เรื่อย ๆ ผมเชื่อว่าท่านี้มันเป็นไปโดยธรรมชาติและผมแค่เป็นคนแรกที่หามันเจอเท่านั้น"

 

ฟอสบิวรี่ค่อย ๆ ปรับท่าของตัวเองไปเรื่อย ๆ จนมาถึงไฮสคูลปีสุดท้าย เขาก็เริ่มกระโดดถอยหลังข้ามคาน โดยเอาหลังนำไปก่อนแล้วแอ่นตัวให้ข้ามคาน ตามด้วยเตะขาขึ้นกลางอากาศในตอนจบ การกระโดดแบบนี้ทำให้ต้องเอาหลังลงพื้น แต่ก่อนที่เขาจะขึ้นสู่ไฮสคูลปี 3 โรงเรียนก็ได้เปลี่ยนจากแผ่นไม้มาเป็นวัสดุที่นุ่มกว่าในการรองรับ ทำให้ฟอสบิวรี่ลงพื้นได้อย่างปลอดภัย และส่งผลให้เขาพัฒนาการกระโดดของตัวเองได้มากยิ่งขึ้น

 

ความจริงแล้วโค้ชของฟอสบิวรี่ไม่เชื่อว่าท่าที่เขาคิดจะประสบความสำเร็จ และพยายามกระตุ้นให้กลับมาฝึกท่า straddle ที่ใช้กันทั่วไป แต่ก็ต้องล้มเลิกความคิดเมื่อสถิติฟอสบิวรี่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เขาทำลายสถิติของโรงเรียนลงได้ รวมทั้งคว้าอันดับ 2 ในการแข่งระดับรัฐปีต่อมา

 

ผลงานและท่ากระโดดที่แปลกประหลาดเรียกความสนใจจากสื่อท้องถิ่น รูปของฟอสบิวรี่ได้ขึ้นหน้าหนังสือพิมพ์พร้อมคำอธิบายว่า "Fosbury Flops Over Bar," หรือ ฟอสบิวรี่ล้มตัวข้ามคาน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อท่า Fosbury Flops ที่ใช้กันถึงปัจจุบัน

 

 

สู่แสงสปอตไลท์ระดับชาติ

 

หลังจบการศึกษาระดับไฮสกูลในปี 1965 ฟอสบิวรี่ก็ได้เข้าศึกษาต่อที่ ม.โอเรกอน สเตท ซึ่ง เบอร์นี่ แว็กเนอร์ โค้ชของมหาวิทยาลัยเชื่อว่าฟอสบิวรี่จะทำผลงานได้ดีกว่านี้ หากหันมาใช้ท่า western roll และพยายามโน้มน้าวให้เขาหันมาฝึกท่าแบบดั้งเดิมในช่วงปีแรก ถึงแม้จะอนุญาตให้ใช้ท่า flop ในการแข่งก็ตาม

 

การถกเถียงระหว่างโค้ชกับฟอสบิวรี่เรื่องท่ากระโดดนั้นต่อเนื่องมาจนถึงตอนที่เขาขึ้นปี 2 จนกระทั่งฟอสบิวรี่ใช้ท่าของตัวเองกระโดดผ่านความสูง 6 ฟุต 10 นิ้ว (2.08 ม.) ทำลายสถิติระดับคอลเลจ และทำให้ แว็กเนอร์ ล้มเลิกความคิดที่จะให้เจ้าตัวฝึกท่า western roll ทันที และหันมาช่วยพัฒนาท่า Fosbury Flops อย่างจริงจัง รวมทั้งยังเอาไปสอนนักกีฬารุ่นหลังอีกด้วย

 

ถึงตอนนี้ สื่อทั่วประเทศเริ่มหันมาให้ความสนใจนักกระโดดสูงท่าแปลกจากโอเรกอนแล้ว ฟอสบิวรี่ได้ขึ้นปกหนังสือพิมพ์กรีฑาในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1968 ก่อนที่จะคว้าแชมป์ NCAA รวมทั้งการคัดตัวโอลิมปิก ด้วยเทคนิคของเขาที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง, การจัดท่าทางตอนกระโดด หรือจุดเทคตัว เพื่อให้สถิติดีขึ้น

 

และแล้วก็มาถึงเวทีใหญ่ที่สุดในชีวิตที่เขาจะได้ทดลองว่า เทคนิคของตัวเองเป็นของจริงหรือไม่

 

 

การกระโดดที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์

 

เมื่อการแข่งขันกระโดดสูงในโอลิมปิกปี 1968 ที่เม็กซิโก เริ่มต้นขึ้น ฟอสบิวรี่ได้รับการวิเคราะห์ว่ามีลุ้นคว้าเหรียญใดเหรียญหนึ่ง แต่ไม่ถึงขั้นเหรียญทอง เพราะคู่แข่งแต่ละรายต่างเขี้ยวลากดิน

 

แต่เมื่อเริ่มการแข่งขัน ก็ไม่มีใครมาขวางเขาได้ ฟอสบิวรี่ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยม ในรอบคัดเลือกเขากระโดดผ่านทุกระดับความสูงที่เรียกตั้งแต่ครั้งแรก ผ่านเข้ารอบชิงด้วยฟอร์มสวยหรู

 

พอมาถึงรอบชิง เมื่อความสูงของคานถูกยกไปถึงระดับ 2.18 ม. ซึ่งเป็นสถิติโอลิมปิก ยังมีคู่แข่งเหลือถึง 5 ราย แต่ฟอสบิวรี่ก็ไม่ได้สะทกสะท้าน และผ่านฉลุยตั้งแต่ครั้งแรก

 

เมื่อคานขยับไปที่ระดับ 2.20 ม. เหลือผู้เข้าแข่ง 3 รายคือ ฟอสบิวรี่, เอ็ด คารูเธอร์ส เพื่อนร่วมชาติ และ วาเลนติน กาฟริลอฟ จาก สหภาพโซเวียต ซึ่งหมายถึงแต่ละคนการันตีเหรียญทองแดงเป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ตามไม่มีใครอยากได้เพียงที่ 3 และกระโดดผ่านตั้งแต่ครั้งแรกเช่นเดียวกัน

 

คานถูกขยับขึ้นไปอีก 0.02 ม. คราวนี้ กาฟริลอฟ ต้องออกจากการแข่งขัน หลังจากกระโดดไม่ผ่านทั้ง 3 ครั้ง ขณะที่ ฟอสบิวรี่ ครั้งเดียวก็เพียงพอ

 

สุดท้าย เหลือเพียง ฟอสบิวรี่ กับ คารูเธอร์ส ที่ต้องฟาดฟันกันเองเพื่อเหรียญทอง คานถูกขยับเป็น 2.24 ม. คารูเธอร์สกระโดดไม่ผ่านทั้ง 3 ครั้ง ทำให้เหรียญทองอยู่ในกำมือของฟอสบิวรี่แล้ว เพราะรอบที่ผ่านมาเขาใช้โอกาสกระโดดน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม เด็กหนุ่มที่เคยโดนดูถูกเรื่องทักษะการเล่นกีฬามีเป้าหมายที่ไกลกว่านั้น นั่นก็คือการเป็นเจ้าของสถิติโอลิมปิกแต่เพียงผู้เดียว

 

ฟอสบิวรี่กำหมัดแน่นเรียกสมาธิของตัวเองก่อนกระโดดครั้งสุดท้าย หลังจากพลาดไปใน 2 ครั้งแรก เขาจัดระเบียบร่างกายของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์แบบก่อนจะกระโดดข้ามคานสู่เบาะรองโดยมีเพียงตัวเขาที่ร่วงหล่น ฟอสบิวรี่ คว้าเหรียญทองอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมกลายเป็นเจ้าของสถิติโอลิมปิกคนใหม่

 

ความจริงแล้วเขาขอเรียกความสูงเพิ่มเป็น 2.29 ม. เพื่อทำลายสถิติโลกที่ วาเลรี่ บรูเมล ของสหภาพโซเวียตทำเอาไว้ในปี 1963 น่าเสียดายที่ ฟอสบิวรี่ กระโดดไม่ผ่านทั้ง 3 ครั้ง

 

แต่นั่นก็คงไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะประวัติศาสตร์ถูกเขียนเรียบร้อยแล้ว และโลกของกีฬากระโดดสูงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

 

จากวันนั้นถึงวันนี้

 

คงไม่มีอีกแล้วในประวัติศาสตร์ ที่จะมีคนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้วงการกีฬา เหมือนอย่างที่ฟอสบิวรี่ทำในเม็กซิโก

 

การแข่งขันโอลิมปิกอีก 4 ปีต่อมาที่นครมิวนิค ซึ่งฟอสบิวรี่อดป้องกันแชมป์เพราะไม่ผ่านการคัดเลือก มีนักกีฬา 28 จาก 40 คนที่นำเอาท่าของเขาไปใช้ และครั้งสุดท้ายที่มีการใช้ท่า straddle คือในการแข่งที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ปี 1988

 

สำหรับฟอสบิวรี่ ความสำเร็จที่เม็กซิโกคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา แม้เจ้าตัวจะหายหน้าไปจากวงการกรีฑา แต่ก็ยังทิ้งมรดกสำคัญเอาไว้ให้คนรุ่นหลัง และในปี 1993 ฟอสบิวรี่ก็ได้รับการบรรจุเข้าสู่หอเกียรติยศของโอลิมปิกสหรัฐฯ

 

และกับการแข่งขัน โอลิมปิก "โตเกียว 2020" ในปีนี้ แน่ใจได้เลยว่านักกีฬากระโดดสูงทุกคนจะใช้เทคนิคเดียวกับที่ฟอสบิวรี่เริ่มต้นเอาไว้เมื่อ 53 ปีที่แล้วอย่างไม่ต้องสงสัย


stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator

stadium olympic