21 พฤษภาคม 2567
ในปัจจุบัน หากพูดถึงการแข่งมาราธอนระดับนานาชาติ เราย่อมนึกภาพผู้ชนะเป็นนักกีฬาผิวดำจากทวีปแอฟริกา ดินแดนแห่งการผลิตนักวิ่งปอดเหล็กระดับโลก โดยเฉพาะประเทศเคนยา และเอธิโอเปีย
ขณะที่ต้นกำเนิดของการแข่งมาราธอนนั้นเริ่มต้นขึ้นในโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ปี 1896 แต่รู้หรือไม่ว่ากว่าที่นักวิ่งผิวดำชาวแอฟริกันจะประสบความสำเร็จในกีฬาชนิดนี้ ต้องใช้เวลายาวนานถึง 64 ปี
อาเบเบ บิกิล่า คือชื่อของนักวิ่งผิวดำคนแรกของทวีปแอฟริกาที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้สำเร็จ ในการแข่งขันปี 1960 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี
จากนักวิ่งโนเนมที่ไม่มีใครรู้จัก สู่ผู้เขียนหน้าประวัติศาสตร์ด้วยการคว้าเหรียญทองและทำลายสถิติโลก ซึ่งใช้เพียงเท้าเปล่าเท่านั้น
บิกิล่าจารึกชื่อของตัวเองให้เป็นหนึ่งในตำนานโอลิมปิกได้อย่างไร ติดตามได้ที่นี่
อาเบเบ บิกิล่า เกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมปี 1932 ใน จาโต้ ชุมชนเล็ก ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของแคว้น เชวา ภูมิภาคประวัติศาสตร์ของ เอธิโอเปีย ซึ่งในวันที่เจ้าตัวลืมตาดูโลกนั้นตรงกับวันแข่งขันมาราธอนใน โอลิมปิก เกมส์ ปี 1932 ที่มหานคร ลอส แองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกาพอดิบพอดี
สำหรับยอดนักวิ่งหลาย ๆ คนนั้น มักจะมีพื้นฐานมาจากการเริ่มวิ่งตั้งแต่วัยเด็ก ยกตัวอย่างเช่น เอลิอุด คิปโชเก้ ที่ต้องวิ่งไปกลับโรงเรียนวันละหลายกิโลเมตร แต่เด็กชายบิกิล่าสิ่งที่เป็นรากฐานให้กับการวิ่งระยะไกลของเขาคือกีฬาท้องถิ่นที่ชื่อว่า จีน่า (Gena) ซึ่งเหมือนกับกีฬาฮ็อกกี้ แต่ใช้พื้นที่ว่างระหว่างหมู่บ้านเป็นสนามแข่งขันโดยไม่มีขอบเขต ดังนั้นบางครั้งเสาประตูของทั้งสองฝั่งจึงห่างกันเป็นกิโลเมตร
นอกจากการเล่นจีน่าแล้ว บิกิล่าก็ช่วยครอบครัวในการไล่ต้อนปศุสัตว์ตั้งแต่เด็กจนเข้าสู่วัยรุ่น จนมาถึงจุดเปลี่ยนตอนอายุได้ 19 ปี กับทริปการเดินทางเข้ากรุงแอดดิส อะบาบา ที่เปลี่ยนชีวิตของบิกิล่าไปตลอดกาล
ในการไปเยือนเมืองหลวงหนนั้น บิกิล่าได้ไปเที่ยวชมวังของจักรพรรดิ ไฮเล่ เซลาสซี่ แห่งเอธิโอเปีย ก่อนจะไปสะดุดตาเข้ากับการฝึกซ้อมของเหล่าองครักษ์ จึงตัดสินใจสมัครเข้ากองทัพ เพราะนอกจากจะได้ทำอาชีพที่สนใจแล้ว ยังช่วยเรื่องการเงินของครอบครัวได้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งบิกิล่าได้ทำหน้าที่เป็นองครักษ์ส่วนตัว
แม้จะได้งานที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่จากที่พักซึ่งอยู่บนเนินซูลุลต้าห่างจากกรุงแอดดิส อะบาบา กว่า 20 กิโลเมตร ทำให้บิกิล่าต้องเดินเท้าไปกลับวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 40 กิโลเมตร แต่เรื่องนี้กลับกลายเป็นต้นทุนชั้นดีให้กับการเป็นนักวิ่งมาราธอนของเขาในอนาคต
ขณะเดียวกัน จากการที่องครักษ์ทุกคนถูกสนับสนุนให้ออกกำลังกายอย่างจริงจัง ทำให้บิกิล่าได้เล่นกีฬาหลายอย่างทั้ง ฟุตบอล, วอลเลย์บอล และบาสเกตบอล ก่อนค้นพบทักษะโดยธรรมชาติของตัวเอง นั่นก็คือการวิ่ง
เขาเริ่มจากการวิ่งระยะ 5,000 แมตร และ 10,000 เมตร ก่อนที่จะลงแข่งมาราธอนครั้งแรกในวันแข่งกีฬาเหล่าทัพ ซึ่งความจริงแล้วความคิดที่จะเป็นนักกีฬาทีมชาติไม่เคยอยู่ในหัวของเขาเลยแม้แต่น้อย จนกระทั่งได้ดูการแข่งขันโอลิมปิกปี 1956 ที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย บิกิล่าได้เห็นตัวแทนทีมชาติเอธิโอเปียผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ทำให้เจ้าตัวใฝ่ฝันอยากไปถึงจุดนั้น
ความสามารถของบิกิล่าไปเข้าตา ออนนี นิสคาเน่น โค้ชชาวสวีเดนซึ่งเป็นผู้อำนวยการกรีฑาของเอธิโอเปียในขณะนั้นเข้าอย่างจัง ทำให้เขาถูกจับเข้าโปรแกรมฝึกซ้อมอย่างเป็นขั้นตอน และเพียงแค่ 1 เดือนก่อนจะถึง โอลิมปิก เกมส์ ที่กรุงโรม บิกิล่า ก็เอาชนะในการคัดตัวนักวิ่งมาราธอนของเอธิโอเปียได้สำเร็จ โดยทำเวลาได้ 2:21:23 ชั่วโมง เร็วกว่าสถิติโอลิมปิก ทั้งที่แข่งในพื้นที่เหนือระดับน้ำทะเลถึง 2,400 เมตร
จากผลงานของบิกิล่าทำให้เขาได้ติดทีมชาติเอธิโอเปียไปลงแข่งที่กรุงโรม แม้จะยังไม่มีประสบการณ์ลงแข่งระดับนานาชาติก็ตาม (บางแหล่งข้อมูลบอกว่าบิกิล่าถูกเรียกติดทีมในภายหลังแทนที่ วามี่ บิราตู ที่ข้อเท้าหัก)
ภายใต้การโค้ชของนิสคาเน่น บิกิล่าฝึกซ้อมในเอธิโอเปียทั้งแบบใส่รองเท้าและไม่ใส่รองเท้า อย่างไรก็ตาม ในวันสุดท้ายของการเตรียมตัว รองเท้าวิ่งของเขาขาดกระจุยไม่อยู่ในสภาพใส่ลงแข่งได้แต่อย่างใด
บิกิล่าแก้ปัญหาด้วยการไปซื้อรองเท้าจากร้านในบริเวณใกล้เคียง แต่คู่ที่เขาเลือกมานั้นมีอาการรองเท้ากัดทำให้เกิดแผลพุพอง ส่งผลให้บิกิล่าเลือกวิ่งด้วยเท้าเปล่าในการแข่งครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต
ในวันแข่งขัน ณ เส้นสตาร์ท เต็มไปด้วยปอดเหล็กชื่อดัง ทั้ง เซอร์เก โปปอฟ เจ้าของสถิติโลกจากสหภาพโซเวียตและตัวเต็งของการแข่งขัน, อแล็ง มิมูน แชมป์เก่าจาก 4 ปีที่แล้ว และ ฟรานโย่ มิฮาลิช รองแชมป์เก่าจากยูโกสลาเวีย ซึ่งคงมีไม่กี่คนที่จะเคยได้ยินชื่อ อาเบเบ้ บิกิล่า นักวิ่งเท้าเปล่าจากเอธิโอเปีย
แต่เมื่อการแข่งขันผ่านไป 20 กิโลเมตร ทุกคนก็ต้องประหลาดใจเมื่อ บิกิล่า ขึ้นเป็นผู้นำร่วมกับ ราดี้ เบน อับเดสเซเลม จาก โมร็อกโก ที่เพิ่งคว้าอันดับ 14 จากการแข่ง 10,000 เมตร เมื่อ 48 ชั่วโมงก่อนหน้า และเป็นคนที่ นิสคาเน่น กำชับให้ บิกิล่า ไล่ตามอย่างกระชั้นชิด ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า บิกิล่า จำหน้า อับเดสเซเลม ไม่ได้ เลยมองหาจากหมายเลขแข่งหรือ bib เบอร์ 26 แต่เจ้าตัวมีเหตุต้องใช้เบอร์ 185 อันเดียวกับตอนแข่ง 10,000 เมตร ทำให้บิกิล่าหาตัวไม่เจอจนถึงเส้นชัย
ทั้งบิกิล่าและอับเดสเซเลมไล่ตามกันอย่างไม่ลดละ ก่อนผ่านจุด 25 กิโลเมตร ด้วยสถิติ 1:20:27 ชั่วโมง ตามมาด้วย โปปอฟ และ แบร์รี่ แม็กกี จาก นิวซีแลนด์ ที่อยู่ห่างออกไปกว่า 1 นาทีครึ่ง ซึ่งเมื่อผ่านจุด 35 กิโลเมตร แม็กกี แซงโปปอฟได้สำเร็จ แต่กลับโดน 2 ผู้นำทิ้งห่างออกไปเรื่อย ๆ
หลังจากผ่านถนนแอปเปียนอันเก่าแก่ที่จุด 40 กิโลเมตร ศึกชิงเหรียญทองมาราธอนก็เข้าสู่ช่วงไคลแม็กซ์ โดยอับเดสเซเลมเริ่มเร่งสปีดก่อนแต่บิกิล่าก็ตอบสนองได้ทันท่วงที จากนั้นเมื่อเข้าสู่ 500 เมตรสุดท้าย ตำนานชาวเอธิโอเปียก็เผด็จศึก ณ จัตุรัส ปิอัซซ่า ดิ ปอร์ต้า กาเปน่า ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เหมือนตลกร้าย เพราะจัตุรัสแห่งนี้คือที่ตั้งของเสาโอเบลิสก์ ดิ แอ็กซัม ที่กองทัพอิตาลีนำกลับมาจากเอธิโอเปีย ภายหลังการรุกรานชาติแอฟริกันตะวันออกในปี 1936
เมื่อมาถึงที่ตั้งของอนุสาวรีย์ บิกิล่าก็ทิ้งห่างอับเดสเซเลมแบบหายห่วง ก่อนจะเข้าเส้นชัยที่ประตูชัยคอนสแตนตินด้วยการทำสถิติโลกและสถิติโอลิมปิกขึ้นมาใหม่ 2:15:16.2 ชั่วโมง เร็วกว่าสถิติของโปปอฟ 0.8 วินาที กลายเป็นนักวิ่งผิวดำชาวแอฟริกันคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก โดยอับเดสเซเลมคว้าเหรียญเงิน และแม็กกีคว้าเหรียญทองแดง
นักวิ่งมาราธอนโนเนมไร้ประสบการณ์จากเอธิโอเปีย ลงแข่งด้วยเท้าเปล่าซึ่งต้องผ่านถนนที่ปูด้วยก้อนหินของกรุงโรม แต่กลับสร้างปรากฏการณ์เอาชนะปอดเหล็กชั้นนำทั่วโลก ชื่อของ อาเบเบ้ บิกิล่า กลายเป็นคนดังในชั่วข้ามคืน
ในตอนให้สัมภาษณ์บนโพเดียมหลังจบการแข่งขัน บิกิล่าถูกผู้สื่อข่าวถามถึงสาเหตุที่เลือกวิ่งเท้าเปล่า ซึ่งแทนที่เจ้าตัวจะพูดถึงรองเท้าที่ทำให้วิ่งไม่ถนัด แต่เขากลับบอกว่า "ผมต้องการให้ทั้งโลกรู้ว่า เอธิโอเปีย ประเทศของผมนั้น เราเอาชนะทุกอย่างด้วยความมุ่งมั่นและความกล้าหาญ"
ด้วยประโยคนี้เองทำให้เหรียญทองโอลิมปิกปี 1960 ไม่ใช่แค่เหรียญแรกและเหรียญสุดท้ายในชีวิตของเขา
4 ปีต่อมา บิกิล่า ลงแข่งมาราธอนโอลิมปิกเป็นสมัยที่ 2 แต่คราวนี้สถานการณ์เป็นคนละเรื่อง เมื่อเจ้าตัวมาในฐานะแชมป์เก่า ทุกคนรู้ความสามารถของเขาดี ขณะที่องค์ประกอบก็ต่างออกไปจากกรุงโรม ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศของกรุงโตเกียวที่มีความชื้นสูง คู่แข่งที่พัฒนาขึ้น หรือการที่ตัวเขาเองใส่รองเท้าลงแข่งขัน
ที่ยิ่งไปกว่านั้น คือการเตรียมตัวของบิกิล่า เพราะ 40 วันก่อนถึงการแข่งขัน เขาถูกตรวจพบว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นสัปดาห์ หลังเข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉิน แต่ยังร่วมเดินทางไปที่กรุงโตเกียวโดยไม่รู้ว่าจะลงแข่งได้หรือไม่ด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรมาหยุดบิกิล่าจากการสร้างประวัติศาสตร์ในครั้งนั้นได้เช่นกัน
บิกิล่ายังคงวิ่งด้วยท่วงท่าที่สงบและผ่อนคลายไปตามท้องถนนในโตเกียว ราวกับทั้งโลกมีเพียงเขาแค่คนเดียว เพราะวิ่งเข้าเส้นชัยก่อนอันดับ 2 อย่าง เบซิล ฮีตลี่ย์ จาก สหราชอาณาจักรถึง 4 นาที
ตำนานชาวเอธิโอเปียผ่านเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 2:12:11.2 ชั่วโมง เป็นสถิติใหม่ของโอลิมปิกอีกครั้ง โดยแทบไม่แสดงอาการเหน็ดเหนื่อย ทั้งที่คู่แข่งคนอื่น ๆ ต่างล้มพับเมื่อถึงจุดสิ้นสุดการแข่งขัน
บิกิล่า กลายเป็นนักกีฬาคนเดียวของ เอธิโอเปีย ที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกในปีนั้น เช่นเดียวกับเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่เขาคว้าเหรียญแรกในประวัติศาสตร์ให้ชาติบ้านเกิด นอกจากนั้นเขายังเป็นคนแรกที่คว้าเหรียญทองมาราธอน 2 สมัยอีกด้วย
แน่นอนว่าบิกิล่ากลับถึงประเทศในฐานะวีรบุรุษไม่ต่างจากครั้งแรก ชื่อเสียง เงินรางวัล และความนิยมหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย อย่างไรก็ตามเขายังไม่หยุดอยู่แค่นี้ เพราะบิกิล่ามองไปถึงการคว้าเหรียญทอง 3 สมัยติด
บิกิล่าเข้าร่วมการแข่งโอลิมปิกอีกครั้งในปี 1968 ที่กรุงเม็กซิโก ซิตี้ เพื่อลุ้นแชมป์ 3 สมัยติด ทุกคนต่างจับตารอดูเขาสร้างตำนาน แต่ก็ไม่ต่างจากครั้งที่ผ่าน ๆ มา อุปสรรคเข้ามาขวางทางเขาอีกครั้ง โดยก่อนแข่ง 1 สัปดาห์ บิกิล่า มีอาการเจ็บที่ขาซ้ายก่อนจะตรวจพบว่ามีอาการกระดูกน่องแตก แพทย์แนะนำไม่ให้ลงน้ำหนักที่เท้าจนกว่าจะถึงวันแข่งขัน
เมื่อถึงวันแข่งขัน บิกิล่า เตรียมพร้อมที่เส้นออกตัวเหมือนร่างกายไม่มีอะไรผิดปกติ เขาขึ้นเป็นกลุ่มนำในช่วงแรกตามคาด แต่แล้วด้วยอาการบาดเจ็บทำให้ความเร็วของบิกิล่าค่อย ๆ ตกลงไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายไม่สามารถแข่งต่อไปได้ ต้องขอถอนตัวหลังวิ่งไปได้ 17 กิโลเมตร ส่วนเหรียญทองเป็นของ มาโม่ โวลเด้ เพื่อนร่วมชาติ อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับถึงบ้านเกิด จักรพรรดิ ไฮเล่ เซลาสซี่ เลื่อนยศ บิกิล่า ให้เป็นร้อยเอก
หลังความผิดหวังจากเม็กซิโก บิกิล่าก็ต้องรักษาอาการบาดเจ็บและไม่ได้ลงแข่งมาราธอนอีกเลย จนมาถึงปี 1969 เคราะห์ก็เข้ามาซ้ำกรรมก็เข้ามาซัดบิกิล่าอีกหน และเป็นเคราะห์หนักที่สุดในชีวิต เมื่อเขาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างรุนแรงจนทำให้เป็นอัมพาตตั้งแต่สะโพกลงไป เรื่องวิ่งหรือแค่การเดินปกติก็ทำไม่ได้อีกต่อไป
แต่แม้จะต้องนั่งรถเข็นก็ไม่ได้หยุดหัวใจรักการแข่งขันของบิกิล่า เพราะในปีถัดมา ขณะที่ยังคงต้องรับการรักษาบาดแผลจากอุบัติเหตุ เขาก็เข้าร่วมการแข่งขันรายการ สโต๊ก แมนเดอวิลล์ เกมส์ ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นรายการนำร่องของพาราลิมปิก เกมส์ ในปัจจุบัน โดยบิกิล่าลงแข่งยิงธนูและเทเบิลเทนนิสคนพิการ
เรื่องประสบอุบัติเหตุนี้ บิกิล่า เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้วา "ชายที่ประสบความสำเร็จย่อมมาพร้อมเรื่องโศกเศร้า มันเป็นเจตจำนงของพระเจ้าให้ผมคว้าเหรียญทองโอลิมปิก และเป็นเจตจำนงของพระองค์เช่นกันที่ทำให้ผมประสบอุบัติเหตุ ผมตอบรับชัยชนะเหล่านั้นเช่นเดียวกับเรื่องสะเทือนใจเหล่านี้ ผมต้องตอบรับทั้งสองอย่างที่มันเป็นความจริงของชีวิตและอยู่อย่างมีความสุขให้มากที่สุด
บิกิล่าเสียชีวิตในวัยเพียง 41 ปี ในปี 1973 เนื่องจากมีอาการเลือดออกในสมองซึ่งเกี่ยวเนื่องมาจากอุบัติเหตุครั้งนั้น ซึ่งเป็นเวลาไม่ถึง 10 ปี นับตั้งแต่ที่เขาคว้าเหรียญทองสมัยที่ 2 ที่กรุงโตเกียว
แต่ตำนานและมรดกตกทอดของนักกีฬาแอฟริกันตะวันออกคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก ยังสืบสานต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
TAG ที่เกี่ยวข้อง