16 กรกฎาคม 2567
ถ้าไล่หาสถิติโลกของการวิ่งระยะสั้นแล้ว ในประเภทชายเราย่อมคุ้นเคยกับชื่อของ ยูเซน โบลต์ ตำนานชาวจาเมกา เจ้าของสถิติโลกระยะสั้น 3 รายการ ซึ่งเกิดขึ้นในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา แต่ในประเภทหญิง สถิติโลก 100 เมตร และ 200 เมตรนั้น ต้องย้อนไปยาวนานมากกว่า 30 ปี
ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ จอยเนอร์ ตำนานผู้ล่วงลับชาวอเมริกัน คือผู้ถือครองสถิติดังกล่าวที่เธอทำเอาไว้ในปี 1988 จากการแข่งคัดตัวเลือกทีมชาติสหรัฐฯ และโอลิมปิกที่กรุงโซล
ตัวเลข 10.49 วินาที และ 21.34 วินาที ที่ โฟล-โจ ทำเอาไว้ ยังไม่มีใครทำลายได้ ถึงแม้จะผ่านโอลิมปิกมา 8 สมัยแล้วก็ตาม
แต่กว่าจะได้ชื่อว่าสตรีที่เร็วที่สุดในโลกรวมทั้งเป็นผู้นำแฟชันแห่งยุค ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ จอยเนอร์ เกือบต้องเลิกเล่นกรีฑาไปแล้วด้วยซ้ำ
เธอกลับมายืนบนจุดสูงสุดได้อย่างไร รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังมากขนาดไหน ติดตามได้ที่นี่
ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ เป็นลูกคนที่ 7 จากทั้งหมด 11 คน โดยมีพ่อเป็นช่างไฟฟ้ารับเหมา และมีแม่เป็นครู ซึ่งเมื่อเธออายุได้ 4 ขวบ แม่ของเธอที่มีชื่อเดียวกันคือ ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ ได้แยกทางกับสามีและพาลูก ๆ ย้ายออกจากบ้านในทะเลทรายโมฮาวี รัฐแคลิฟอร์เนีย ไปอาศัยอยู่ในโครงการบ้านสงเคราะห์ในย่านวัตต์ส ที่ยากจนของนครลอสแองเจลิส
ถึงแม้การเป็นอยู่จะยากลำบากแต่ก็ไม่อาจปิดกั้นพรสวรรค์ของเธอได้ ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ เริ่มวิ่งแข่งตั้งแต่อายุ 7 ขวบพร้อม ๆ กับความสนใจในเรื่องแฟชัน และเมื่ออายุ 14 ปี เธอก็คว้าแชมป์เยาวชนระดับชาติ มองเห็นเส้นทางไปสู่การเป็นตัวแทนทีมชาติสหรัฐฯในอนาคต
แน่นอนว่าสำหรับนักกีฬาแล้ว การได้เป็นตัวแทนทีมชาติลงแข่งขันโอลิมปิกย่อมเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ แต่ด้วยฐานะทางครอบครัวที่ยากลำบาก ทำให้ ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ ต้องหยุดความฝันของเธอเอาไว้ขณะเรียนระดับมหาวิทยาลัยของ ม.แคลิฟอร์เนีย สเตต ในนอร์ทริดจ์ (ซีเอสยูเอ็น)
ดาวรุ่งของวงการกรีฑา ต้องผันตัวไปเป็นพนักงานฝากถอนของธนาคารเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว เธอต้องดร็อปเรียน และหยุดซ้อม ซึ่งหากไม่ได้ บ็อบ เคอร์ซี โค้ชของเธอที่ซีเอสยูเอ็นยื่นมือเข้ามาช่วย เราคงไม่ได้เห็นชื่อ ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ เป็นเจ้าของสถิติโลกอย่างทุกวันนี้
เคอร์ซีเสียดายพรสวรรค์ของเธอจึงช่วยแก้ไขปัญหาด้านการเงินจนฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ กลับไปเรียนและลงแข่งขันต่อได้ ดังนั้นเมื่อเคอร์ซีได้รับงานโค้ชที่ ม.แคลิฟอร์เนีย ในลอสแองเจลิส (ยูซีแอลเอ) ปี 1980 เธอจึงย้ายตามไปเรียนที่นั่น ก่อนจะกลายเป็นนักกรีฑาที่มีผลงานโดดเด่น คว้าแชมป์ NCAA (ชิงแชมป์มหาวิทยาลัยระดับประเทศ) จากการวิ่ง 200 เมตร ในปี 1982 ก่อนได้แชมป์ 400 เมตรในปีต่อมา
ถึงแม้จะพลาดติดทีมสหรัฐฯ ลุยศึกโอลิมปิกปี 1980 แต่ ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ ภายใต้การโค้ชของ เคอร์ซี ก็ได้เป็นตัวแทนทีมชาติในอีก 4 ปีต่อมา ซึ่งจัดการแข่งขันที่นคร ลอส แองเจลิส บ้านเกิดของเธอพอดิบพอดี และเธอก็ไม่ทำให้กองเชียร์ต้องผิดหวัง เมื่อคว้าเหรียญเงินจากการลงแข่งประเภท 200 เมตรไปคล้องคอได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ผลงานของเธอไม่ได้รับการยกย่องเท่าที่ควร เพราะในปีนั้น ชาติมหาอำนาจอย่างรัสเซีย, เยอรมันตะวันออก และกลุ่มชาติยุโรปตะวันออกบอยคอตต์ไม่ร่วมการแข่งขัน แต่สิ่งที่ทำให้ กริฟฟิธ ได้รับความสนใจคือสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครทั้งชุดบอดี้สูต และเล็บมือสีฉูดฉาดยาวหลายนิ้ว กลายเป็นกระแสไปทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม หลังจบการแข่งขันเธอตัดสินใจเว้นระยะจากการวิ่ง และหันไปทำอาชีพพนักงานธนาคารอีกครั้ง รวมทั้งใช้เวลาว่างเป็นนักออกแบบทรงผมและเล็บซึ่งเป็นสิ่งที่เธอให้ความสนใจมาตั้งแต่เด็ก แต่แล้วก็เป็น บ็อบ เคอร์ซี โค้ชของเธอตั้งแต่สมัยคอลเลจที่เกลี้ยกล่อมจนเธอกลับมาลงแข่งจนได้
ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ กลับมาฝึกซ้อมอย่างจริงจังในปี 1987 ซึ่งในปีเดียวกันนี้ เธอได้แต่งงานกับ อัล จอยเนอร์ เจ้าของเหรียญทองเขย่งก้าวกระโดดโอลิมปิกปี 1984 และพี่ชายของ แจ็คกี้ จอยเนอร์ อีกหนึ่งตำนานนักกรีฑาหญิงของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นภรรยาของ บ็อบ เคอร์ซี โค้ชคู่บุญของเธอนั่นเอง ทำให้กลายเป็น ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ จอยเนอร์ ที่มาของชื่อเล่นว่า โฟล-โจ อันโด่งดัง
โฟล-โจ ทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมอย่างหนัก หลังจากปล่อยเนื้อปล่อยตัวในช่วงหยุดพัก ขณะที่ เคอร์ซี ก็เคี่ยวเข็ญเธออย่างหนักหน่วงจนกลับมาเข้ารูปเข้ารอย และพัฒนาผลงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนคว้าเหรียญเงินวิ่ง 200 เมตร ศึกชิงแชมป์โลกปี 1987 และเหรียญทองผลัด 4x100 เมตรรายการเดียวกัน
เมื่อผลงานดีขึ้นถึงขั้นไปสู้กับระดับโลกได้แล้ว เป้าหมายต่อไปของเธอคือการติดทีมชาติสหรัฐฯ ไปล่าฝันเหรียญทองโอลิมปิกที่กรุงโซล แต่ไม่มีใครรู้ว่าเธอกำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้น
ในบ่ายที่ร้อนอบอ้าวของวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 1988 ณ สนามกรีฑาของมหาวิทยาลัยอินเดียนา การคัดเลือกตัวแทนทีมชาติสหรัฐฯ กลายเป็นเทศกาลทำลายสถิติโลก คาร์ล ลูอิส ทำสถิติโลกในประเภท 100 เมตรชาย (9.78 วินาที แบบมีลมหนุน), วิลลี่ แบงก์ส ทำลายสถิติโลกเขย่งก้าวกระโดด 2 หนซ้อน, แจ็คกี้ จอยเนอร์ เคอร์ซี ทำลายสถิติโลกสัตตกรีฑาจากการเก็บได้ 7,215 คะแนน ก่อนที่เธอจะทำลายสถิติของตัวเองในโอลิมปิกที่กรุงโซล แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการทำลายสถิติโลก 100 เมตรหญิงของ ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ จอยเนอร์ ในรอบก่อนรองชนะเลิศ
อันที่จริงแล้ว ไม่มีใครเคยจับตามอง โฟล-โจ ในประเภท 100 เมตรมาก่อน เนื่องจากไม่ใช่ระยะที่เธอถนัด และไม่เคยลงแข่งในระดับสูง สถิติที่ดีที่สุดของเธอก่อนหน้านี้คือ 10.96 วินาที ซึ่งห่างไกลจากระดับโลก แต่แค่ในรอบแรกเธอก็ทำให้ทุกคนต้องตะลึง เมื่อวิ่งได้ 10.60 วินาทีแบบมีลมช่วย เร็วกว่าสถิติโลก 10.76 วินาที ที่ เอฟเวอลีน แอชฟอร์ด ทำเอาไว้นาน 4 ปี ก่อนที่จะสร้างเรื่องช็อกไปกว่านั้นในรอบก่อนรองชนะเลิศ เมื่อวิ่งได้ 10.49 วินาที ทำลายสถิติโลกได้อย่างเหลือเชื่อ
หลังจากตัวเลขสถิติปรากฏ หลายคนไม่มีใครเชื่อสิ่งที่ตัวเองเห็น เพราะไม่คิดว่าจะมีใครวิ่งได้เร็วขนาดนั้น บางคนวิจารณ์ว่าแรงลมอาจมีส่วนช่วย แต่เครื่องวัดยืนยันว่าไม่มีลมหนุนแม้แต่น้อย ทำให้กลายเป็นสถิติใหม่ของโลกอย่างเป็นทางการ
ในรอบรองชนะเลิศ และรอบชิงชนะเลิศ โฟล-โจ แสดงให้เห็นอีกครั้งว่าเธอคือของจริง เมื่อทำเวลาได้ 10.70 วินาที และ 10.61 วินาทีตามลำดับ นั่นหมายถึงเธอวิ่งได้เร็วกว่าสถิติโลกเดิมอย่างเป็นทางการถึง 3 หน ภายใน 24 ชั่วโมง นอกจากนั้นเธอยังทำลายสถิติสหรัฐฯ ในประเภทวิ่ง 200 เมตร จากรายการเดียวกันอีกด้วย
ทุกคนต่างตกตะลึงกับสถิติที่เธอทำได้ เพราะไม่มีใครคิดว่าคนที่เลิกวิ่งไปทำงานธนาคารและปล่อยเนื้อปล่อยตัวจนน้ำหนักเกินเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จะกลายมาเป็นเจ้าของสถิติโลกคนใหม่
มีแค่ โฟล-โจ เท่านั้น ที่ไม่แปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะรู้ถึงสิ่งที่ตัวเองทุ่มเทในการฝึกซ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเข้ายิมเสริมกล้ามเนื้อที่เธอเอาแบบอย่างมาจาก เบน จอห์นสัน นักวิ่งชาวแคนาดาที่เคยครองสถิติโลก 100 เมตรชาย (ก่อนถูกริบเพราะใช้สารกระตุ้น)
"ถ้าอยากวิ่งเหมือนผู้ชาย ก็ต้องฝึกเหมือนผู้ชาย" โฟล-โจ อธิบายความตั้งใจของตัวเอง
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
จากผลงานที่ฮือฮาในศึกคัดตัว โฟล-โจ เดินทางไปแข่งโอลิมปิกที่กรุงโซลในฐานะตัวเต็ง ซึ่งนอกจากแฟน ๆ จะรอดูการวิ่งของเธอ สายตาทั่วโลกยังให้ความสนใจเรื่องแฟชันของสตรีผู้วิ่งเร็วที่สุดในโลกอีกด้วย
100 เมตร, 200 เมตร, 4x100 เมตร และ 4x400 เมตร คือรายการที่เธอลงแข่งในโอลิมปิกปี 1988 ก่อนจะโชว์ฝีเท้าสมราคาตัวเต็งเมื่อคว้า 3 เหรียญทองจาก 3 รายการระยะสั้น และ 1 เหรียญเงินจากผลัด 4x400 เมตร โดยในประเภท 100 เมตร เธอทำลายสถิติโอลิมปิก 10.97 วินาทีที่ แอชฟอร์ดทำเอาไว้ ถึง 2 ครั้ง (10.88 วินาที และ 10.62 วินาที) ก่อนจะวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกในรอบชิงชนะเลิศด้วยสถิติ 10.54 วินาที คว้าเหรียญทองได้สำเร็จ (สถิติในรอบชิงไม่ถูกบันทึกเป็นสถิติโอลิมปิกเนื่องจากมีแรงลมช่วยมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด) ซึ่งเธอวิ่งนำคู่แข่งสบาย ๆ ถึงขั้นฉีกยิ้มกว้างตั้งแต่ระยะ 40 เมตรก่อนถึงเส้นชัย
ส่วนในประเภท 200 เมตรรอบรองชนะเลิศ เธอทำลายสถิติโลกที่ตัวเองทำไว้ 0.15 วินาที ซึ่งไม่ถึง 2 ชั่วโมงต่อมา โฟล-โจ ก็ทำสถิติใหม่อีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศ ด้วยเวลา 21.34 วินาที และในประเภทผลัด 4x100 เมตร เธอก็แสดงให้โค้ชเห็นว่าเล็บยาวหลายนิ้วที่เป็นเอกลักษณ์ของเธอนั้น ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการรับส่งไม้ผลัด เหมือนอย่างที่เขากังวลจนตัดเธอออกจากทีมผลัดเมื่อปี 1984 แต่อย่างใด หลังทำหน้าที่ไม้ 3 ได้อย่างยอดเยี่ยม และช่วยให้สหรัฐฯ คว้าเหรียญทองสำเร็จ
อย่างเดียวที่น่าเสียดายคือในประเภทผลัด 4x400 เมตร ซึ่งเธอถูกดึงเข้าทีมโดยแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเพียง 48 ชั่วโมง แต่ก็เกือบพาทีมคว้าเหรียญทองจากการทำหน้าที่ไม้สุดท้าย และไล่จี้นักวิ่งจากรัสเซียจนถึงเส้นชัย
แม้จะประสบความสำเร็จอันท่วมท้นขนาดนี้ แต่ก็ไม่วายที่ ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ จอยเนอร์ จะตกเป็นขี้ปากชาวบ้านอีกครั้ง คราวนี้ด้วยข้อกล่าวหาที่หนักกว่าเดิม นั่นก็คือการใช้สารกระตุ้น
อย่างไรก็ตาม เธอไม่สะทกสะท้าน หลังจากผ่านการตรวจมาแล้วถึง 11 ครั้ง ในปีดังกล่าว
"ฉันรู้ดีว่าคนอื่นพูดถึงฉันอย่างไร และก็เห็นได้ชัดเลยว่าไม่ใช่เรื่องจริง ฉันไม่จำเป็นต้องใช้ยา ถ้าพวกเขาอยากมาตรวจฉันที่นี่ทุกสัปดาห์ตลอดทั้งปีก็มาได้เลย เพราะฉันไม่มีอะไรต้องปิดบัง"
หลังจบการแข่งขันที่กรุงโซล โฟล-โจเปิดเผยว่าเธอวางแผนจะป้องกันแชมป์ในโอลิมปิกครั้งต่อไปที่บาร์เซโลน่า ในปี 1992 รวมทั้งการลงแข่งวิ่ง 400 เมตร และความตั้งใจที่จะทำลายสถิติโลกของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม นักกรีฑาหญิงที่มีสีสันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ กลับประกาศรีไทร์แบบช็อกโลกในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1989 หรือ 4 เดือนหลังจากโอลิมปิก ขณะที่มีอายุ 29 ปี โดยให้เหตุผลว่าอยากหันไปคว้าโอกาสอื่น ๆ ในชีวิต นอกเหนือจากกรีฑา
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการตรวจหาสารกระตุ้นแบบสุ่มที่กำลังจะบังคับใช้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจครั้งนี้ อีกทั้งยังเสริมว่า ความจริงแล้ว โฟล-โจ ไม่ผ่านการตรวจโด๊ปตั้งแต่กรุงโซล แต่ไม่มีการเปิดเผยเพื่อรักษาหน้าของวงการกรีฑาอีกด้วย
ขณะที่ ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ จอยเนอร์ ไม่สนใจคำครหาเหล่านั้น และใช้ชีวิตหลังจากรีไทร์ตามที่เธอวาดฝันเอาไว้ ทั้งการออกแบบเสื้อผ้า, เขียนนิยายรัก, ออกหนังสือเด็ก, ตั้งบริษัทเครื่องสำอาง ทำวิดีโอสอนการออกกำลังกาย, เป็นนักแสดง รวมทั้งการเป็นแม่คน
ไม่กี่ปีต่อมา เธอก็ทำเรื่องช็อกโลกอีกครั้ง เมื่อประกาศว่าอยากกลับมาแข่งกรีฑา แต่คราวนี้เป็นวิ่งระยะไกลอย่างมาราธอน โดยตั้งเป้าลงแข่งโอลิมปิกปี 1996 อีกด้วย
สิ่งที่โฟล-โจประกาศนั้น กลายเป็นเป้าหมายสุดท้ายในชีวิตที่ไม่มีวันเป็นจริง หลังจากเธอมีอาการลมชักในปี 1996 จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายแรง จนมาถึงเดือนกันยายนปี 1998 ขณะที่มีอายุ 38 ปี ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ จอยเนอร์ เสียชีวิตกะทันหันระหว่างนอนหลับ โดยเจ้าที่ชันสูตรพลิกศพสรุปว่า เธอสลบไปบนหมอนระหว่างที่มีอาการลมชัก
สิ่งที่สะเทือนใจมากกว่านั้นคือ อัล จอยเนอร์ สามีของเธอ ร้องขอให้นำร่างภรรยาผู้ล่วงลับไปตรวจสารกระตุ้นอย่างเข้มงวดเพื่อหาร่องรอยการใช้สารสเตียรอยด์ ซึ่งก็ไม่พบแต่อย่างใด ก่อนที่เจ้าตัวจะเปิดเผยว่า
"ภรรยาของผมเข้ารับการตรวจสารกระตุ้นขั้นสูงสุดเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งผลตรวจเป็นอย่างที่เราพูดมาตลอด นั่นก็คือมันไม่มีอะไร เพราะฉะนั้นช่วยกรุณาปล่อยให้ภรรยาของผมได้พักผ่อนอย่างสงบด้วย"
ไม่ว่าจะเป็นการทำลายสถิติโลกในโอลิมปิก หรือสไตล์ชุดแข่งและการแต่งตัวที่โดดเด่นจนเกินมองข้าม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ จอยเนอร์ มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของคนรุ่นหลังไม่น้อย เพราะไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงแฟชันในสนามแข่งเท่านั้น แต่ยังช่วยกรุยทางให้นักกีฬากล้าแสดงความเป็นตัวเองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนอีกด้วย
ขณะเดียวกัน เธอยังแสดงให้เห็นว่าเสียงวิจารณ์ไม่มีค่าอะไรหากมั่นใจในความสามารถของตัวเองมากพอ เหมือนอย่างที่หลาย ๆ คนต่างวิเคราะห์กันว่า เครื่องประดับมีแต่จะทำให้เธอช้าลงหรือดึงสมาธิของเธอไปจากการแข่ง แต่เธอตอกกลับคำพูดเหล่านั้นด้วยการคว้า 4 เหรียญโอลิมปิกจากการลงแข่งปีเดียวกัน โดยปล่อยผมยาวสยายเต็มที่, แต่งหน้าแบบจัดเต็ม และทำเล็บที่ยาวเกือบครึ่งไม้บรรทัดด้วยลวดลายสีสันดึงดูดทุกสายตา นอกจากนั้นยังมีชุดรัดรูปติดฮูด และชุดวิ่งรัดรูปขายาวข้างเดียวอันโด่งดังอีกด้วย
แม้ ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ จอยเนอร์ จะลาโลกไปอย่างกะทันหันในปี 1988 แต่สถิติของเธอก็ยังไม่ถูกทำลาย รวมทั้งเซนส์ด้านแฟชันที่ยังยากจะหาใครเทียบในโลกกีฬา ไม่ว่าจะเป็นชุด "แคทสูต" ของ เซเรน่า วิลเลี่ยมส์ ยอดนักเทนนิสหญิงในยูเอสโอเพ่น ไปถึง บียอนเซ่ นักร้องชื่อดังที่แต่งตัวเลียนแบบ โฟล-โจ ในวันฮาโลวีน หรือแม้แต่การแต่งหน้าระยิบระยับของ ซิโมน ไบลส์ ยอดนักยิมนาสติก อิทธิพลของ โฟล-โจ ยังคงสะท้อนไปถึงนักกีฬาทั่วทุกมุมโลก สมกับเป็นตัวแม่ผู้รันทุกวงการ
TAG ที่เกี่ยวข้อง