31 มีนาคม 2564
ซานเตียโก้ ลังเก้ : ผู้ใช้เวลา 12 เดือน ฟื้นตัวจากมะเร็งปอดสู่แชมป์โอลิมปิก
“กันยายน ปี 2015 ผมตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด ปอดซ้ายของผมใช้งานได้เพียง 20% และไม่ถึง 1 ปีต่อมา ผมได้เหรียญทองที่รอคอย” ซานเตียโก้ ลังเก้ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกที่มีอายุมากที่สุด (ณ เวลานั้น) ด้วยวัย 54 ปี … แต่สิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลกไม่ใช่อายุ เพราะสิ่งที่เขาเอาชนะมาได้ยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก นั่นคือ มะเร็งปอด และ นี่คือเรื่องราวของชายผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเรื่องราวของเขามอบพลังใจให้กับคนทั่วโลกมาแล้ว
อาการผิดปกติ การปล่อยผ่าน และ ยอมจำนน
ย้อนกลับไป ปี 2013 ลังเก้ เริ่มมีอาการป่วย เจ้าตัวมักจะรู้สึกไม่สบายทุกครั้งที่ขึ้นเครื่องบิน หรือ เจออุณหภูมิเย็นๆเมื่อรับประทานมื้อค่ำแล้วลมจากแอร์พัดมาโดนร่างกายของเขา แต่เจ้าตัวกลับมองข้ามสิ่งเหล่านั้น และฝืนอยู่กับอาการผิดปกตินับตั้งแต่ปี 2013 มาจนถึงช่วงปี 2015 แต่สาเหตุสำคัญที่เขาเงียบเพราะ ลังเก้ และ คู่หู ทำผลงานได้ดีในการแข่งขันชิงแชมป์โลกปี 2014 ซึ่งทั้งคู่คว้าตำแหน่งรองแชมป์โลกอันนำมาสู่การเป็นตัวแทนของประเทศในการลงแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ 2016
“ผมรู้สึกป่วยง่ายเสมอ และ อ่อนเพลียแบบไร้สาเหตุ หลายๆครั้งที่เราจะทำการแข่งขัน ผมก็รู้สึกได้เลยว่าสภาพร่างกายไม่เต็มร้อย แต่ในเมื่อทุกคนในทีมของคุณพร้อม … คุณก็คงพูดไม่ได้หรอกว่าคุณไม่พร้อม” ลังเก้ ซึ่งเลือกที่จะปกปิดอาการผิดปกติเหล่านั้นไว่กับตัวเพราะไม่ต้องการให้ภาพรวมของทีมสูญสลาย เขาอาศัยเพียงแค่การกินยาปฏิชีวนะไอบูโพรเฟนหรือพาราเซตามอลหรืออะไรก็ตามที่สามารถซื้อได้ในร้านขายยาเพื่อให้ภารกิจการแล่นเรือใบมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จต่อไป
แต่ท้ายที่สุด เขาก็ต้านทานอาการป่วยที่แวะมาเยียมเยียนอยู่เป็นประจำไม่ไหว และ นั่นทำให้เขาต้องยอมจำนนต่อโชคชะตาที่เหมือนจะเล่นตลกกับเขา และในเดือนมีนาคม 2015 … ลังเก้ ต้องนอนซมกับอาการป่วยเป็นสัปดาห์ สิ่งที่เขาคิดมีเพียงอย่างเดียวคืออาจจะพักผ่อนไม่พอ และถึงเวลาที่ร่างกายคงเพียงแค่สงสัญญาณเตือนให้เขาต้องพบแพทย์แบบจริงๆจังๆ
อย่างไรก็ตามหลังจากการบินกลับไปที่อาร์เจนติน่า และ ตรวจเลือดรวมถึงการสแกนปอด ซึ่งหนแรกไม่พบส่วนไหนที่ผิดปกติ แต่หลังจากที่เจ้าตัวส่งผลสแกนไปให้แก่หมอส่วนตัว เขากลับต้องรับข่าวร้าย
“หมอส่วนตัวแจ้งกับผมว่า มีก้อนเนื้อบริเวณปอดของผม และคาดว่านั่นเองจะเป็นมะเร็ง”
แชมป์โอลิมปิกที่โง่ และ ดื้อ ที่สุดในสายตาของหมอ
ลังเก้ แทบไม่เชื่อกับผลลัพธ์ที่ออกมา เพราะเขาเป็นคนที่ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ดูแลร่างกายและเล่นกีฬามากมาก ดังนั้นแล้วโรคร้ายเช่นนี้ไม่ควรจะมาเยือนเขา
“นี่มันไม่ถูกต้องสำหรับผม” คำให้สัมภาษณ์ของลังเก้ เมื่อนึกย้อนกลับไป ณ ช่วงเวลาที่รู้ผลวินิจฉัย “คำแนะนำแรกจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางคือ เขาต้องการให้ผมผ่าตัดก้อนเนื้อนั้นออก ซึ่งขั้นตอนเหล่านั้นจะทำให้ผมสูญเสียปอดไปข้างนึงราว 80% … 6 เดือนต่อจากนั้นผมพยายามค้นหาวิธีการต่างๆในการรักษาตัวเองโดยไม่ต้องผ่าตัด เพราะผลสรุปยังไม่คอนเฟิร์มว่านั่นคือก้อนเนื้อร้าย ผมแค่ไม่ต้องการเสียปอดของผมไป 80% แบบฟรีๆ”
ลังเก้ ดื้อสุดๆ เขาพยายามที่จะต่อต้านการผ่าตัด ซึ่งจะพรากชีวิตการแล่นเรือใบของเขาไปอีกหลายเดือน การต่อรองของเจ้าตัวกับทีมแพทย์คือการขอให้การส่องกล้องแล้วระบุผลได้แน่ชัด 100% ว่า ก้อนเนื้อดังกล่าวคือเนื้อร้าย และหลังจากผ่านพ้นการส่องกล้องไปทั้ง 3 ครั้ง ทีมแพทย์ยังไม่สามารถระบุผลลัพธ์ที่จะทำให้ ลังเก้ ยอมเปลี่ยนใจ … นั่นทำให้เดือนกันยายนปี 2015 เจ้าตัวกระโดดลงสู่การแข่งขันอีกครั้งในศึกชิงแชมป์ยุโรปที่เมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน
“หมอ 3 คนต้องจับผมไว้ และพูดกับผมว่า คุณมันโง่และดื้อเอามากๆ ไม่ว่ายังไงการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้อก็ต้องเกิดขึ้น ซึ่งมันทำให้ผมยอมในที่สุดและคิดว่าเส้นทางแห่งความดื้อคงต้องจบลงแต่เพียงเท่านี้”
ส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ ลังเก้ ปล่อยวางและเขามองคุณค่าของชีวิตมากกว่าการแล่นเรือใบ
“เดิมทีผมเอาแต่สนใจเรื่องการเล่นเรือใบ และ เป้าหมายต่างๆที่เกี่ยวกับการแข่งขัน แต่พอได้ทบทวนกับตัวเองก็พบว่ามีหลายสิ่งในชีวิตอยากทำทั้งการปั่นจักรยาน สควอร์ช หรือ เซิร์ฟ … ผมต้องมีชีวิตต่อไป”
ยอมรับ ไม่เท่ากับ ยอมแพ้ : 4 เดือนแห่งการไร้ซึ่งเสียง
หลังเข้ารับการผ่าตัด ลังเก้ ยอมรับว่าเขามีช่วงเวลา 4 เดือน ที่มีเพียงเสียงกระซิบ เพราะ ปอดของเขากำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟู ซึ่งต้องมีขั้นตอนการกายภาพบำบัดมากมาย … แต่สิ่งที่เจ้าตัวคิดมีเพียงอย่างเดียวหลังจากการตื่นขึ้นมาพบว่า ปอด 1 ข้างของเขาเหลือใช้งานได้เพียง 20% คือ
“ผมคิดว่า จะฟื้นตัวยังไงให้เร็วที่สุดหลังการผ่าตัด เพราะ ริโอ เกมส์ รอผมอยู่”
นั่นคือความคิดของ ซานเตียโก้ ลังเก้ เจ้าของเหรียญทองเรือใบคู่ผสม โอลิมปิกเกมส์ 2016 หลังการพักฟื้นเพียงแค่ 24 ชั่วโมง ในวันที่เจ้าตัวเข้ารับผ่านตัดมะเร็งปอดซึ่งส่งผลให้ปอดข้างซ้ายของเขาหายไป 80% และความตั้งใจที่จะร่วมแข่งขันโอลิมปิกสมัยที่ 6 ของเขา ทำให้เจ้าตัวต้องการฝึกซ้อมทันทีแม้ว่านั่นจะเป็นการฟื้นฟูร่างกายง่ายๆ ด้วยการเป่าให้ลูกบอล 3 ลูกลอยกลางอากาศอยู่ในหลอดแก้วได้ ซึ่งเป็นการบริหารปอดส่วนที่เหลืออยู่ให้มีความแข็งแรงและฟื้นตัวได้ดีพอหลังการผ่าตัดครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขา
“ทีมแพทย์ทราบดีว่าผมต้องการกลับไปฝึกซ้อมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังจากผ่านพ้นไป 24 ชั่วโมง ผมก็ขอย้ายออกจากห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน และบ่ายวันนั้นผมก็เริ่มกระบวนการฟื้นฟูพลังปอดของผมด้วยโจทย์ง่ายๆ นั่นคือการรวบรวมลมหายใจและเป่าให้ลูกบอลเล็กๆ 3 ลูก ให้สามารถลอยอยู่ในหลอดแก้วได้ แต่เชื่อมั้ยว่า ปอดของผมอ่อนแอมากผมสามารถประคองให้ลูกบอลลอยได้แค่เพียงลูกเดียวเท่านั้น ที่สำคัญคือผมไม่มีเสียงที่จะพูด ตลอดช่วงเวลา 4 เดือนแรกของการผ่าตัดผมทำได้เต็มที่แค่กระซิบเบาๆเท่านั้น”
เสียงไม่มีแต่ร่างกายยังฟิตได้ … นั่นคือสิ่งที่ ลังเก้ ตัดสินใจดำเนินต่อในกระบวนการฝึกซ้อมเร่งด่วน
“หลังการผ่าตัด สิ่งเดียวที่ผมนึกถึงคือ ริโอ เกมส์ … ไม่มีเรื่องเงินทอง หรือ สิ่งอื่นใดเข้ามาในหัวผมเลย สิ่งเดียวที่ผมแคร์ ณ ตอนนั้น คือการรักษาไว้ซึ่งโอกาสที่ทั้งทีมได้ช่วยการสร้างขึ้น และ เมื่มานั่งนึกถึงวันนั้น ก็รู้สึกถึงความบ้า และ ดื้อสุดๆ ของตัวเองอีกครั้ง”
ผ่านพ้นการพักฟื้นได้ราว 5 วัน … ลังเก้ คิดว่าเขาต้องทำอะไรได้มากกว่าการนอนเป่าลมบริหารปอด
1 เดือน กับ 5 วัน การคืนสู่ท้องทะเล และ การเตือนสติจากลูกชาย
ชายในวัย 54 ปี กับการผ่าตัดใหญ่เพื่อเอาก้อนเนื้อมะเร็งออกจากปอด ใช้เวลาเพียง 35 วัน ในการกลับไปแล่นเรือใบ ดูจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อแต่ทั้งหมดเกิดขึ้นกับ ลังเก้ ที่แอบวางแผนกับตัวเองเอาไว้แล้วว่า เขาจะต้องได้กลับไปฝึกซ้อมการแล่นเรือให้ได้เร็วที่สุด เท่าที่จะทำได้
“หลังจากที่ผมนอนกอดเครื่องเป่าลูกบอลไว้เหมือนถ้วยรางวัลประจำตัวได้ 4 วันเต็มๆ ผมก็คิดว่าต้องทำบางสิ่งที่มากขึ้น และในวันที่ 5 หลังจากผ่าตัดผมเริ่มเดินชัน 5 กิโลเมตรต่อวัน และเมื่อผ่านไปได้ 1 สัปดาห์ ผมปรับโปรแกรมเป็นการเดินชัน 10 กิโลเมตร แบ่งเป็นเช้า 5 กิโลเมตร และ เย็น 5 กิโลเมตร”
“จากนั้นในวันที่ 10 หลังการผ่าตัด ผมขยับไปที่การขี่จักรยาน ตลอดทั้ง 20 วันของการฟื้นฟูร่างกายด้วยการปั่นจักรยาน ผมตั้งเป้าไว้ที่ 450 กิโลเมตร และมีอยู่วันหนึ่ง (วันที่ 20 ของการฟื้นฟู) ในจังหวะที่ต้องปั่นขึ้นทางชัน ผมต้องหยุดพักกะทันหันเพราะหัวใจของผมเต้นแรงผิดปกติ ซึ่งทีมแพทย์ต้องรีบเข้ามาดูอาการ”
ทีแรก ลังเก้ ไม่เชื่อว่าร่างกายที่เหลือปอดเพียงข้างเดียวจะกลับมาอยี่ในสภาวะปกติได้ จนกระทั่งการฟื้นฟูผ่านพ้นไป 30 วัน และ เขาตัดสินใจบินจากสเปน กลับสู่อาร์เจนติน่า ประเทศบ้านเกิด และด้วยความคันไม้คันมือ หลังจากการผ่าตัดผ่านไปเพียงแค่ 1 เดือนกับอีก 5 วัน เขาตัดสินใจกระโจนลงสู่ทะเลอีกครั้งหนึ่ง
“การกลับมาบนเรืออีกครั้งเป็นเรื่องที่สาหัสเอามากๆ และเช่นเคยผมยังคงบ้าดีเดือดในการฝึกซ้อมเพราะต้องการนำตัวเองกลับไปสู่จุดที่ดีที่สุดให้ได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งลูกชายที่ซ้อมด้วยกันเตือนว่า ผมต้องเปลี่ยนนิสัยที่บ้าระห่ำและอาจจะไม่มีใครทนผมได้อีก สำหรับผมนั่นเป็นคำเตือนที่สะเทือนอารมณ์เอามากๆ แต่อีกมุมผมก็สัมผัสถึงความห่วงใยในฐานะพ่อลูก”
ไร้เสียง ไม่ไร้ใจ การกลับสู่ท้องทะเลอย่างยิ่งใหญ่ใน ริโอ เกมส์ 2016
ริโอ เกมส์ จัดขึ้นระหว่างสิงหาคม ปี 2016 … และหลังจากการฟื้นฟูผ่านไปเพียงแค่ 40 วัน เท่านั้น ลังเก้ ได้เรียกทั้งทีมมาที่บ้านเพื่อวางแผนการฝึกซ้อมให้หนักขึ้น หนักกว่าเดิมแบบสุดๆ เพราะเขาต้องการชดเชยช่วงเวลาที่เสียไป และ สำคัญกว่าคือการหาวิธีการสื่อสารระหว่างตัวเขากับคู่หูให้ได้ ในขณะที่เสียงของเขายังใช้การได้ไม่ปกตินัก
“มันยังคงเป็นหายนะและอุปสรรคในการแข่งขันช่วงแรกของทั้งผมและเซซิเลีย นอกเหนือจากเรื่องเสียงเพื่อใช้ในการสื่อสาร รวมถึงสภาพความฟิตร่างกายของผม ก็ยังมีเรื่องความเข้าขารู้ใจ เพราะเรามีเวลาฝึกซ้อมร่วมกันน้อยเอามากๆ แต่ทางเลือกก็มีไม่มากเช่นกัน ดังนั้นพวกเราจึงมุ่งเน้นการซ้อมหนักเท่าที่จะหนักได้”
แน่นอนว่า ความพยายามของคนเราย่อมไม่สูญเปล่า สำหรับลังเก้และคู่หูของเขาก็เช่นกัน
“พวกเราเริ่มขยับการฝึกไปเป็นการซ้อมเต็มรูปแบบ ซ้อมกับทีมอื่นๆ … จากจุดเริ่มต้นเดือนมีนาคม เราจบด้วยอันดับสุดท้าย และในเมษายนพวกเขาขยับเข้าป้ายเป็นอันดับ 10 กระทั่งในที่สุดเดือนพฤษภาคม พวกเราสามารถเอาชนะได้ในการฝึกซ้อมแข่งขัน มันเป็นวินาทีที่วิเศษมากๆ พวกเราสัมผัสได้แบบจริงๆจังๆเลยว่า ที่ ริโอ เกมส์ เหรียญรางวัลจะต้องมาคล้องที่คอแน่ๆ”
ซึ่งทุกอย่างเหมือนถูกลิขิตมา 16 สิงหาคม 2016 ชื่อของ ซานติอาโก้ ลังเก้ และ เซซิเลีย ซาร์รานซ่า คือผู้ชนะในการแข่งขัน พวกเขาเสียเพียงแค่ 77 แต้มในการแข่งขันเรือใบคู่ผสม
หากย้อนกลับไป ณ ช่วงเวลานั้น คงไม่มีใครเชื่อว่า ลังเก้ ในวัย 54 ปี จะกลับมาลงแข่งขันโอลิมปิก 2016 ได้ทัน อย่าว่าแต่เช่นนั้นเลย สำหรับบางคนอาจเลือกที่จะหันหลังให้กับเป้าหมายทันทีที่ทราบข่าวร้ายว่าตัวเองเป็นมะเร็ง … แต่ ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี หลังการผ่าตัด ลังเก้ ใช้ทุกช่วงเวลาของเขาฟื้นตัวอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
เรื่องราวของนักแล่นเรือใบชาวอาร์เจนติน่า ครองใจคนทั่วโลกมาแล้วหลังจากที่เขาต้องประสบกับปัญหาด้านสุขภาพด้วยการเป็นมะเร็งปอด และ ต้องรับการผ่าตัดก่อนการแข่งขันโอลิมปิก 2016 จะเริ่มด้วยระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 ปี ซึ่งเขาก้าวข้ามทุกความกลัวโดยมีเป้าหมายเดียวนั่นคือ การคว้าเหรียญทองให้ได้ หลังจากโอลิมปิก 5 สมัยก่อนหน้านั้น เขาทำได้ดีที่สุดเพียงแค่เหรียญทองแดง และที่โตเกียว 2021 ลังเก้ ยังเป้าลงแข่งขันโอลิมปิกเป็นสมัยที่ 7 ของตนเอง
ถึงตาของคุณ ที่สามารถมีหัวใจแบบฮีโร่โอลิมปิกได้
หากคุณได้อ่านเรื่องราวทั้งหมดของ ลังเก้ คุณจะพบว่าสิ่งสำคัญกว่าคำว่าดันทุรัง หรือ ดื้อรั้น คือการที่เขาพยายามทำทุกอย่างโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นที่ตั้ง เช่นเดียวกับทีมและคนรอบข้างที่พร้อมสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างสุดแรงเกิด … โดยลังเก้ กล่าวไว้ว่า กว่าที่ผลลัพธ์จะออกมาเป็นรูปแบบของเหรียญทองนั้นทั้งตัวเขาและทีม ต่างผ่านการต่อสู้ที่ดุเดือดทุกรูปแบบ มีการพูดคุย ถกเถียง กันอย่างหนักหน่วง แต่ทุกคนต่างมีความกระตือรือร้นและทุกเททุกอย่างที่มีเพื่อเป้าหมายที่ตรงกัน
“พลังและความหลงใหลทั้งหมดส่งผลให้เกิดทีมงานที่แข็งแกร่ง และสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ล้ำค่าได้เสมอ ที่สำคัญคือต้องไม่ลืมจุดมุ่งหมายในชีวิตว่าเป็นเรื่องสำคัญเพียงใด การที่หัวใจยังคงรักความท้าทาย แปลว่าชีวิตของคุณยังต้องการสัมผัสกับคำว่า คุณค่าแห่งความสำเร็จ”
เรื่องราวของลังเก้ ไม่ได้สะท้อนแค่ความยิ่งใหญ่ในฐานะนักกีฬา แต่ชายคนนี้คือตัวแทนของความยิ่งใหญ่ และ ความยิ่งใหญ่แบบนี้คนทุกคนสามารถมีได้ ขอเพียงอย่างเดียวว่า อย่าถอดใจกับเป้าหมายของตนเอง จนกว่าคุณจะได้ลงมือทำอย่างเต็มที่แล้ว
TAG ที่เกี่ยวข้อง