stadium

เหตุใดจีนถึงยืนหนึ่งในกีฬาปิงปอง

18 มีนาคม 2564

"ในจีนนั้น มีเรื่องที่พูดกันขำ ๆ อยู่อย่างหนึ่งคือ อย่าได้เที่ยวเอาไปพูดว่าตัวเองตีปิงปองเก่ง เพราะในวงสนทนาอาจจะมีบางคนที่เคยเป็นนักกีฬาระดับมณฑลนั่งฟังอยู่ด้วยก็เป็นได้"

 

นี่อาจจะเป็นมุกตลก แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดไปจากความเป็นจริงสักเท่าไรนัก เพราะในแดนมังกรนั้นคุณสามารถพบเจอนักตบลูกเด้งฝีมือดีได้ง่ายพอ ๆ กับการหาร้านสะดวกซื้อในบ้านเรา

 

และนับตั้งแต่กีฬาเทเบิลเทนนิส หรือ ปิงปอง ได้รับการบรรจุในโอลิมปิก เกมส์ ตั้งแต่ปี 1988 จีนคว้าไป 28 เหรียญทอง จากทั้งหมด 32 เหรียญในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

 

นี่ยังไม่นับนักกีฬาจีนที่โอนสัญชาติ โดยใน ริโอ 2016 มีนักกีฬาปิงปองอย่างน้อย 44 คนที่เกิดในประเทศจีน แม้มีแค่ 6 คนที่ได้เล่นให้ชาติบ้านเกิดของตัวเอง

 

ทั้งที่ไม่ได้เป็นชาติต้นกำเนิดของกีฬาชนิดนี้ แล้วทำไมจีนถึงครองตำแหน่งเจ้ายุทธจักรวงการลูกเด้งยาวนานหลายสิบปี ร่วมหาคำตอบได้ที่นี่

 

จากคำว่ากีฬาแห่งชาติสู่การครองโลก

 

ก่อนที่ เหมา เจ๋อตุง จะสถาปนา "สาธารณรัฐประชาชนจีน" ในช่วงปี 1950 นั้น จีนยังไม่เคยได้แชมป์โลกแม้แต่สมัยเดียว รวมทั้งยังถูกชาติอื่น ๆ มองเป็นหมูในอวยด้วยซ้ำ

 

แต่หลังการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ เหมา เจ๋อตุง เรียกร้องให้มีการ "พัฒนาวงการกีฬาเพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกายของคนในประเทศ" และปิงปองถูกเลือกให้เป็นกีฬาแห่งชาติด้วยตรรกะง่าย ๆ คือ เป็นกีฬาที่เล่นได้ทุกชนชั้น, ไม่ต้องใช้พื้นที่มากนัก และไม่ค่อยได้รับความนิยมในตะวันตก

 

นับจากวันนั้น ทั้งการทุ่มงบประมาณจากรัฐบาลและความร่วมมือของคนในประเทศ ความนิยมในกีฬาปิงปองของจีนเติบโตขึ้นอย่างพรวดพราด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจาก หรง กั๊วะต้วน คว้าแชมป์โลกสมัยแรกในปี 1959 ทำให้ทั่วโลกหันมาจับตามองจีนมากขึ้น พร้อมกับการตื่นตัวของคนในประเทศ

 

ทุกวันนี้ว่ากันว่า คุณจะพบโต๊ะปิงปองอยู่ในทุกสวนสาธารณะของจีน และเกือบทุกโรงเรียนมีทีมที่ฝึกซ้อมอยู่เป็นประจำ ขณะที่แชมป์ปิงปองจะมีชื่อเสียงอย่างมาก เหมือนกับที่แฟนบอลทั่วโลกยกย่อง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ และลิโอเนล เมสซี่ เลยทีเดียว

 

 

ทำไมจีนถึงไร้เทียมทานในกีฬาปิงปอง?

 

ตรงส่วนนี้ต้องแยกออกเป็นหัวข้อย่อยเพื่อให้เข้าใจชัดเจนขึ้น

 

1.ความนิยม  

แม้จำนวนประชากรจีนที่มีทั้งหมดกว่า 1,400 ล้านคน ซึ่งมากที่สุดในโลกจะเป็นหนึ่งในปัจจัยบวก เพราะยิ่งตัวเลือกเยอะ ก็มีโอกาสได้หัวกะทิฝีมือดีมากยิ่งขึ้น แต่เรื่องนี้ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นความจริงไปซะหมด เพราะช่วงที่จีนดร็อปลงไปในยุคปี 1980 สวีเดนที่มีประชากรน้อยกว่าเป็นร้อยเท่ากลับสามารถสร้างนักกีฬาที่ขึ้นมาแย่งความยิ่งใหญ่ได้ โดยเฉพาะ แยน โอเว่ วอลด์เนอร์ ที่ถูกยกให้เป็นหนึ่งในนักปิงปองที่เก่งที่สุดตลอดกาล

 

ดังนั้นจำนวนประชากรจึงไม่ได้ส่งผลกับความยอดเยี่ยมของนักกีฬา เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจีนคงเก่งทุกชนิดกีฬาบนโลกใบนี้ แต่เป็นความนิยมในกีฬาปิงปองต่างหากที่ทำให้พวกเขาครองบัลลังก์ต่อเนื่องและยาวนาน

 

ด้วยความที่การเล่นปิงปองไม่ได้มีเงื่อนไขยุ่งยากมากมายอะไรนัก คนทุกเพศทุกวัยทุกชนชั้นสามารถเล่นได้ รวมทั้งยังไม่เกี่ยงสภาพอากาศเพราะเล่นได้ทั้งกลางแจ้งและในร่ม

 

ถ้าคุณมีกำลังทรัพย์มากพอก็สามารถซื้อหาโต๊ะปิงปองจริง ๆ มาเล่นได้ แต่ต่อให้ไม่มีเงินซื้อคุณก็ยังมีโต๊ะซีเมนต์หรือคอนกรีตให้เล่นตามสวนสาธารณะ แล้วถ้าไม่มีโต๊ะปิงปอง ก็ยังสามารถนำโต๊ะทั่วไปมาต่อเพื่อทดแทนได้เช่นกัน

 

ที่ยิ่งไปกว่านั้น ปิงปองคือการออกกำลังกายทุกส่วนที่ดีต่อสุขภาพกายและใจ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกีฬายอดนิยมทั่วโลกอย่างฟุตบอลหรือบาสเกตบอลแล้ว ปิงปองไม่มีการปะทะกันระหว่างนักกีฬาโดยตรง ดังนั้นจึงลดโอกาสที่จะทำให้ได้รับอาการบาดเจ็บ

 

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ปิงปองถูกจริตกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวจีนที่มีพื้นที่ใช้งานอย่างจำกัดเพราะประชากรหนาแน่น ทุกคนจึงหันมาเล่นปิงปองเพื่อออกกำลังกาย และเมื่อคนเล่นมากขึ้นก็ย่อมมีการประชันขันแข่งเพื่อความเป็นเลิศ ก่อให้เกิดนักกีฬาฝีมือดีจำนวนมาก  

 

ขณะเดียวกันปิงปองยังไม่ต้องใช้ความแข็งแกร่งและความทรหดอดทนมากนัก แต่ต้องมีความยืดหยุ่นและความคล่องตัวสูงซึ่งเหมาะกับคนเอเชีย การจะเป็นผู้ชนะก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเร็ว และความแข็งแกร่ง ดังนั้นทุกคนจึงสามารถฝึกฝนจนเป็นนักปิงปองที่เก่งกาจได้ หากใช้ความพยายามมากพอ เข้ากับลักษณะนิสัยของคนจีนที่มีความมุมานะเพื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็จ

 

และเมื่อเห็นว่าการเป็นนักกีฬาปิงปองสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว รวมทั้งได้มีชื่อเสียงหรือได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในฐานะนักกีฬาทีมชาติ ทำให้ทุกคนอยากเจริญรอยตามมากยิ่งขึ้น

 

 

2.การแข่งขันภายในที่ดุเดือด

ด้วยระดับความคลั่งไคล้ในปิงปองทำให้พวกเขามีคนเล่นกีฬาชนิดนี้เกือบ 100 ล้านคนในประเทศ ซึ่งเป็นสัดส่วน 1:3 ของคนเล่นปิงปองทั้งโลก และยังแยกเป็นนักปิงปองระดับสูงถึง 10 ล้านคน โดยมีเพียง 40,000 คนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบ

 

จากจำนวนที่ว่ามา ทำให้การแข่งขันภายในจึงดุเดือด เพราะมีนักกีฬาแค่ 96 คนเท่านั้นที่จะได้เป็นตัวแทนทีมชาติ แบ่งออกเป็นชาย 24 คน, หญิง  24 คน, เด็กหญิง 24 คน และ เด็กชาย 24 คน ทุกคนจึงมีฝีมือขั้นเทพ แต่ขณะเดียวกันพวกเขารู้ดีว่าหากฟอร์มตกก็มีสิทธิ์ถูกแทนที่ได้ทุกเมื่อ ดังนั้นนักกีฬาทุกคนจึงฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อรักษาตำแหน่งของตัวเอง ส่วนคนที่เหลือก็พยายามพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่องเพื่อสอดแทรกเข้าไปเป็นหนึ่งในนั้นให้ได้ ซึ่งคนที่รอโอกาสไม่ไหวก็อาจโอนสัญชาติไปเล่นให้กับประเทศอื่น ๆ อย่างที่เห็นอยู่มากมายในปัจจุบัน

 

พูดถึงการแข่งขันภายในที่เข้มข้นแล้ว ยกตัวอย่างง่าย ๆ แค่ในกรุงปักกิ่งอย่างเดียว ก็มีทัวร์นาเมนต์ที่แข่งยาวทั้งปีอย่างรายการ ฮาร์โมนี่ คัพ รายการนี้เริ่มต้นในเดือนมกราคมของทุกปี มีผู้เข้าร่วมกว่า 2.8 ล้านคน ซึ่งการมีคนลงแข่งมากทำให้ปิงปองมีโครงสร้างพื้นฐานที่ยอดเยี่ยมในการเฟ้นหานักกีฬาพรสวรรค์ และการแข่งขันที่ดุเดือดยังทำให้ได้ผู้เล่นที่ดีที่สุดโดยธรรมชาติ

 

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

 

3.ระบบการเฟ้นหาและพัฒนานักกีฬาอย่างเป็นขั้นตอน

จีนไม่ได้รอให้นักกีฬาแจ้งเกิดจากการแข่งขันระดับท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว แต่ลงพื้นที่เพื่อหานักกีฬาแววดีตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบเพื่อส่งเข้าศูนย์ฝึกให้ได้รับการดูแลจากมืออาชีพ โดยพวกเขามีระบบการจำแนกผู้เล่นพรสวรรค์อายุน้อย ซึ่งมีการคัดกรองจากรัฐบาลหลายชั้น ครอบคลุมจากหัวเมืองใหญ่ไปถึงหมู่บ้านห่างไกลที่สุด ด้วยเป้าหมายหลักคือการเฟ้นหานักกีฬามาสร้างเพื่อให้ก้าวไปถึงการเป็นแชมป์โลกในอนาคต

 

ระบบเฟ้นหานักกีฬาของรัฐบาลเป็นประโยชนอย่างมากต่อวงการปิงปองจีน โดยพวกเขาแบ่งนักกีฬาออกเป็น 3 ระดับ ระดับแรกคือ โรงเรียนกีฬา ระดับที่สองคือทีมประจำมณฑล และระดับสุดท้ายคือทีมชาติ ดังนั้นนักกีฬาเก่ง ๆ ของจีนจึงไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่จู่ ๆ ก็เกิดขึ้น แต่มาจากการเลี้ยงดูอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อทำให้ความสำเร็จของพวกเขาค่อย ๆ เป็นรูปเป็นร่าง

 

ขณะเดียวกันจีนยังมีวิทยาลัยกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งชาติตั้งอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นสถานศึกษาแห่งเดียวในโลกที่ค้นคว้าและศึกษากีฬาชนิดนี้โดยตรงอีกด้วย

 

ระบบอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจีนนี้ ทำให้เกิดนักกีฬามากมายที่สมาคมเทเบิลเทนนิสจีนต้องดูแล จากโรงเรียนกีฬาสมัครเล่น ไปถึงทีมระดับมณฑล และระดับทีมชาติจนถึงทีมชาติชุด เอ รวมทั้งใครก็ตามที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกโอลิมปิกและชิงแชมป์โลก นี่คือการบูรณาการไปสู่เส้นทางความสำเร็จระดับสูง

 

 

4.นวัตกรรม, การฝึกซ้อม และการวิเคราะห์คู่ต่อสู้อย่างจริงจัง

การคิดค้นเทคนิค, แท็กติก และนวัตกรรมใหม่ ๆ ของกีฬาปิงปอง คือหัวใจหลักของจีนมาตลอดนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งในช่วงยุคปี 2000 นั้น ผลการสำรวจพบว่า นวัตกรรมรวมถึงเทคนิคและแท็กติกของกีฬาปิงปองทั่วโลกกว่า 61 เปอร์เซ็นต์มีที่มาจากจีน

 

"เราไม่เคยหยุดการคิดค้นสิ่งใหม่ และพยายามผลักดันให้ตัวเองก้าวข้ามขีดจำกัดอยู่เสมอเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นกบในกะลา จิตวิญญาณแห่งนวัตกรรมจึงเป็นแก่นของวัฒนธรรมในการฝึกซ้อมของเรา เราคิดและสนับสนุนสิ่งใหม่อยู่เสมอ" ติง หนิง เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ปี 2016 เปิดเผยถึงการพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้งของจีน  

การจับแบบไม้จีนหรือ pen-hold หรือเทคนิคการตีลูกตัดเหล่านี้ ล้วนมาจากการคิดค้นของจีนทั้งสิ้น ซึ่งในปัจจุบันเมื่อพบว่าการจับไม้แบบดังกล่าวมีจุดอ่อน พวกเขาก็พร้อมสละและพัฒนานักกีฬารุ่นหลังด้วยการจับแบบเชคแฮนด์แทนที่

 

ขณะเดียวกันจากการที่นักกีฬาต้องรักษาตำแหน่งของตัวเองในทีมชาติ รวมทั้งต้องเหนือกว่านักกีฬาทั่วโลก ทำให้นักปิงปองจีนซ้อมหนัก และยาวนาน ปกติแล้วพวกเขาจะซ้อมวันละ 7 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์ แต่สิ่งที่เหนือกว่าชาติอื่น ๆ คือ นักกีฬาแต่ละคนจะมีคู่ซ้อมโดยเฉพาะเพื่อเน้นพัฒนาขีดความสามารถเป็นหลัก โดยคู่ซ้อมนั้นอาจถูกสั่งให้ไปศึกษาการเล่นของคู่แข่งสำคัญเพื่อเลียนแบบสไตล์การเล่นทำให้นักกีฬาคุ้นชิน อย่างเช่นในตอนที่ แยน โอเว่ วอลด์เนอร์ โด่งดัง คู่ซ้อมหลายคนต้องฝึกเล่นตามแบบเขา เพื่อให้นักกีฬาที่ตัวเองจับคู่ด้วยสามารถรับมือได้

 

การที่ให้นักกีฬาตีกับคู่ซ้อมที่มีสไตล์แบบคู่แข่ง ไม่ได้ทำให้มีความคุ้นชินอย่างเดียว แต่ยังทำให้พวกเขาได้วิเคราะห์รูปแบบการเล่น เพื่อหาวิธีเอาชนะอีกด้วย

 

ที่ยิ่งไปกว่านั้น หากนักกีฬาคนใดมีฝีมือสูงกว่าคู่ซ้อมมากเกินไป เขาก็จะต้องเจอกับคู่ซ้อม 2 คนพร้อมกันเพื่อเพิ่มความยากให้มากขึ้น ซึ่งไม่มีชาติอื่นเลียนแบบวิธีนี้ได้โดยง่าย

 

 

5.การพัฒนากีฬาปิงปองอย่างยั่งยืน

ถึงแม้กีฬาปิงปองจะได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่แล้วสิ่งนี้คือปัญหาที่น่ากังวลเช่นกัน เพราะหากคนสนใจเล่นปิงปองน้อยลง ก็ยากที่พวกเขาจะครองความยิ่งใหญ่เอาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม จีนตระหนักถึงปัญหานี้เป็นอย่างดี  

 

อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่ได้ใส่ใจแค่ปัญหาในประเทศของตัวเองเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงวงการปิงปองทั่วโลกอีกด้วย จีนเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กีฬาปิงปองทั้งภายในและภายนอกประเทศมากยิ่งขึ้น รวมทั้งข้ามไปยังทวีปแอฟริกา, อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ ที่มีการส่งนักกีฬาและโค้ชไปจับคู่แข่งและฝึกซ้อม เพื่อให้กีฬาชนิดนี้เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น อีกทั้งยังเปิดรับนักกีฬาต่างชาติให้เข้ามาฝึกในจีนอีกด้วย

 

เรื่องนี้ ดร.จาง เสี่ยวเผิง รองเลขาสมาคมเทเบิลเทนนิสจีน เปิดเผยว่า "สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับประเทศที่เป็นเจ้าแห่งกีฬาสักชนิดคือต้องใจกว้าง เราไม่สามารถปิดประตูอยู่แต่ในบ้านตัวเอง เก็บงำความสามารถของนักกีฬาเอาไว้เพื่อครองโลก นั่นเป็นการกระทำที่แย่"

 

"เราอยากจะสร้างศูนย์กลางปิงปองของโลกในจีน เราอยากดึงดูดผู้เล่นระดับสูงจากทั่วโลกให้มาที่นี่มากขึ้น ผมต้องการทำเหมือนกับเอ็นบีเอที่ดึงดูดนักบาสเกตบอลชั้นนำทั่วโลกเกือบทั้งหมดเข้าไปที่สหรัฐฯ ซึ่งหลังจากพวกเขาได้รับประสบการณ์ในเอ็นบีเอแล้ว พวกเขาก็จะพัฒนาขึ้นโดยอัตโนมัติ จากนั้นก็จะกลับไปเป็นตัวแทนประเทศของตัวเองลงแข่งโอลิมปิก"

 

ดูเผิน ๆ การทำแบบนี้เหมือนเป็นการยื่นดาบให้ศัตรู เพราะจะทำให้คู่แข่งแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่งแล้ว การที่พวกเขานำองค์ความรู้ของตัวเองไปแบ่งปันก็เพื่อให้ชาติอื่น ๆ สามารถต่อกรได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ กดดันให้จีนไม่หยุดพัฒนาตัวเอง อีกทั้งยังเพิ่มความน่าสนใจให้การแข่งขัน และทำให้กีฬาปิงปองได้รับความนิยมแบบยั่งยืน


stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator

100 day to go olympic 2024
stadium olympic