stadium

รวมตัวตึง 31 ฮีโร่ 35 เหรียญโอลิมปิกไทย

22 เมษายน 2567

นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันไทยส่งนักกีฬาลงแข่งโอลิมปิก 18 สมัย รวมทั้งหมด 638 คน คว้า 10 ทอง 8 เงิน 17 ทองแดง รวม 35 เหรียญ จาก 3 ชนิดกีฬาคือ ยกน้ำหนัก 5 ทอง 2 เงิน 7 ทองแดง, มวย 4 ทอง 4 เงิน 7 ทองแดง และเทควันโด 1 ทอง 2 เงิน 3 เหรียญทองแดง เป็นอันดับที่ 57 ตลอดกาลเมื่อรวมกับทุกชาติ

 

แล้วฮีโร่โอลิมปิกของไทยมีใครบ้าง เรื่องราวของเขาและเธอเป็นอย่างไร คลิกลิงค์ที่ชื่อของพวกเขาเพื่อทำความรู้จักตำนานนักกีฬาไทยในโอลิมปิกไปด้วยกัน

 

 

1. พเยาว์ พูนธรัตน์ เหรียญทองแดงโอลิมปิก 1976 มวยสากลสมัครเล่น

 

ประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์หนแรกในปี 1952 ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ และต้องรอถึง 24 ปีก่อนที่นักกีฬาไทยคนแรกจะจารึกชื่อใน ทำเนียบนักกีฬาที่ได้เหรียญโอลิมปิกเกมส์ 

“จ้อน” พเยาว์ พูนธรัตน์ เกิดเมื่อ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภูมิลำเนาเดียวกับ โผน กิ่งเพชร จึง พยายามเจริญรอยตาม ไอดอลในวัยเด็ก เข้าสู่วงการหมัดมวยในเชิงมวยไทยนาม "เพชรพเยาว์ ศิษย์ครูทัศน์" ฝีไม้ลายมือในระดับภูธร และพระนคร จากนั้นเบนเข็มชกมวยสากลสมัครเล่น ติดทีมชาติจนได้แชมป์มาประดับบารมีหลายรายการไม่ว่าจะเป็น แชมป์มวยคิงส์คัพ, แชมป์ โกลเด้นคัพ ที่เคนยา, เหรียญเงินมวยสมัครเล่นชิงแชมป์โลก ที่สหรัฐฯ และโด่งดังสุดขีดเมื่อติดธงไตรรงค์ในรุ่น ไลต์ฟลายเวต ร่วมศึก โอลิมปิก เกมส์ "มอนทรีออล 1976" ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ในปี 2519 อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

2. ทวี อัมพรมหา เหรียญเงิน โอลิมปิก 1984 มวยสากลสมัครเล่น

 

“ขาวผ่อง สิทธิชูชัย” หรือ ชื่อจริงว่า ทวี อัมพรมหา เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 ที่ตำบลบ้านแลง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เป็นบุตรของนายสง่า - นางถวิล อัมพรมหา เข้าสู่วงการมวยเมื่อปี 2514 เนื่องจากพ่อสง่า เป็นคนที่ชอบกีฬามวยมาก และปลูกฝังเชิงมวยให้ตั้งแต่เด็ก แต่พ่อมาด่วนจากไปตั้งแต่ ทวี เพิ่งอยู่ป. 4 เมื่อขาดเสาหลัก ความเป็นอยู่ในบ้านที่มีแม่และลูกอีก 6 คนเริ่มขัดสน หาเลี้ยงชีวิตด้วย การทำสวนเล็กๆ ครอบครัวไม่มีแม้แต่เงินจะซื้อเสื้อนักเรียนใหม่ ขาวผ่อง ต้องใส่เสื้อขาดๆไปโรงเรียน เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต และมีมวยกีฬาที่พ่อเคยฝังไว้ในสายเลือดเป็นสะพาน อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

3. ผจญ มูลสัน เหรียญทองแดง โอลิมปิก 1988 มวยสากลสมัครเล่น

 

ในแวดวงหมัดมวยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักชายที่ชื่อ "ผจญ มูลสัน" ดีกรีเหรียญทองแดง โอลิมปิกเกมส์ 1988 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เขาเป็นเพียงนักมวยตัวเล็กๆ จากจังหวัดนครสวรรค์ เป็นคนเดียวของบ้านจากพี่น้อง 6 คน ที่เอาจริงเอาจังกับการชกมวย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ผันตัวมาจากการเป็นนักฟุตบอลของโรงเรียนมาก่อน อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

4. อาคม เฉ่งไล่ เหรียญทองแดง โอลิมปิก 1992 มวยสากลสมัครเล่น

 

อาคม เฉ่งไล่ สุดยอดนักมวยที่สร้างชื่อคว้าเหรียญทองแดงในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 1992 ที่ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน และยังเป็นนักมวยอีกคนที่ไต่เต้ามาจากการชกมวยไทย จุดเริ่มต้นของ อาคม ในการเข้าสู่วงการหมัดมวยนั้น คงต้องบอกว่ามันอยู่ในสายเลือดที่ไหลพล่านอยู่ในร่าง เพราะ "พ่อแวก" บิดาของ อาคม เฉ่งไล่ เป็นนักมวยเก่ามาก่อน แม้แรกเริ่มเดิมที่เด็กหนุ่มวัยกลัดมัน จะชื่นชอบกีฬาฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจก็ตาม อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

5. วิชัย ราชานนท์ เหรียญทองแดง โอลิมปิก 1996 มวยสากลสมัครเล่น 

 

ประวัติศาสตร์ที่ “โม้อมตะ” สมรักษ์ คำสิงห์ สร้างขึ้นในโอลิมปิกเกมส์ 1996 ด้วยการคว้าเหรียญทองแรกให้กับประเทศไทย อีกมุมหนึ่งยังมีนักชกตัวเล็กๆจากขอนแก่นที่ประสบความสำเร็จในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันด้วย นั่นก็คือ วิชัย ราชานนท์ หรือวิชัย ขัดโพธิ์

 

วิชัย ขัดโพธิ์ เกิดเมื่อ 31 มีนาคม 2511 ที่ ต.บ้านบึง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น จังหวัดที่สร้างนักกีฬาระดับประเทศมากมาย ครอบครัวค่อนข้างขัดสน แต่พ่อเคลื่อนและแม่สมัยก็สู้เต็มที่เพื่อส่ง “วิชัย” เรียนหนังสือ ซึ่งเจ้าตัวก็ตั้งใจเรียน แถมหัวดี ทางบ้านทุ่มกำลังทรัพย์ส่งอย่างสุดความสามารถ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

6. สมรักษ์ คำสิงห์ เหรียญทอง โอลิมปิก 1996 มวยสากลสมัครเล่น

 

เมื่อ 28 ปีก่อน โอลิมปิก 1996 แอตแลนตาเกมส์ ที่สหรัฐอเมริกา ไม่มีใครไม่รู้จัก สมรักษ์ คำสิงห์ นักชกไทยคนแรกที่ปลดล็อคความสำเร็จเดียวที่คนไทยรอมาตลอด เป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก ความสำเร็จในวันนั้น ทำให้เขาโด่งดังในชั่วข้ามคืน และเป็นโอลิมปิกที่อยู่ในความทรงจำของคนไทยมาตลอด จนถึงปีนี้ครบรอบ 28 ปี เรามาทบทวนความทรงจำในวันนั้นไปกับ สมรักษ์ คำสิงห์ กัน คลิกที่นี่

 

 

7. เกษราภรณ์ สุตา เหรียญทองแดง โอลิมปิก 2000 ยกน้ำหนัก

 

เกษราภรณ์ สุตา จอมพลังสาวทีมชาติไทยเกิดเมื่อ 12 ธันวาคม  2514 ที่ อำเภองาว จ.ลำปาง เป็นลูกสาวเจ้าของโรงสีสุตา แรกเริ่มเดิมทีเล่นกีฬาวอลเลย์บอล ที่ ร.ร.ดอนชัย ที่จ.เชียงราย และพอมัธยมต้นและปลายเล่นกีฬาหลากหลายมากขึ้น เอาดีทังบาสเกตบอล, วิ่งระยะสั้น 100 ม. ถึงขั้นเป็นแชมป์โรงเรียน แถมด้วยเหรียญทอง ทุ่มน้ำหนักอีกต่างหาก


เกษ มีพื้นฐานร่างกายที่ดี เพราะช่วยงานโรงสีที่บ้านเป็นประจำ หนักเอาเบาสู้ทำงานทุกแขนงรวมทั้งแบกกระสอบข้าวสารอยู่บ่อยๆ ทำเอาคนในบ้านถึงกับตะลึงกับความแข็งแรงของเธอ กระทั่งชีวิตเดินทางมาเจอกับกีฬายกน้ำหนักที่วิทยาลัยพลศึกษาเชียงใหม่ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

8. พรชัย ทองบุราณ เหรียญทองแดง โอลิมปิก 2000 มวยสากลสมัครเล่น

 

ขนาดตัวเองยังไม่เชื่อและแทบไม่มีใครคาดคิดเลยว่า พรชัย ทองบุราณ จะกลายมาเป็นหนึ่งในฮีโร่คว้าเหรียญโอลิมปิกให้แก่ทัพนักกีฬาไทย จากนักมวยโนเนมคนหนึ่งที่ก้าวขึ้นไปคว้าเหรียญทองแดงในโอลิมปิก 2000 ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เรียกได้ว่าหักปากกาเซียนเป็นแถบๆ แม้ในโอลิมปิก 2000 ที่ออสเตรเลีย คนที่สร้างชื่อมากที่สุดจะเป็น วิจารณ์ พลฤทธิ์ ที่คว้าเหรียญทองในรุ่นฟลายเวทมาครองแบบพลิกความคาดหมาย ทั้งที่ก่อนขึ้นชกไม่ได้ตั้งเป้าเอาไว้สูงถึงเพียงนั้นเช่นเดียวกับ พรชัย ทองบุราณ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

9. วิจารณ์ พลฤทธิ์ เหรียญทอง โอลิมปิก 2000 มวยสากลสมัครเล่น

 

ก่อนโอลิมปิกครั้งแรกของศตวรรษใหม่ "ซิดนีย์ 2000" แทบไม่มีใครรู้จัก "อิคคิวซัง" วิจารณ์ พลฤทธิ์ มากสักเท่าไร แม้เขาจะเคยคว้าเหรียญทองในซีเกมส์ ครั้งที่ 20 ที่บรูไน มาแล้ว แถมนักชกหนุ่มจากศรีสัชนาลัยยังไปโอลิมปิกในฐานะมวยแทนอีกต่างหาก

 

วิจารณ์ แทบจะหายเข้ากลีบเมฆไปเลยหลังกระแสโอลิมปิกเกมส์เริ่มซาลง ย้อนหลังไปตั้งแต่ต้น “วิจารณ์ พลฤทธิ์” เกิดเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2519 ที่ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เป็นลูกคนที่ 3 จากทั้งหมด 4 คนของพ่อจิ้มและแม่ทองม้วน พลฤทธิ์ ทางบ้านฐานะปานกลางไม่ถึงขั้นปากกัดตีนถีบ พ่อจิ้มทำงานเป็นควาญช้างลากซุง ซึ่งความชื่นชอบกีฬาหมัดมวยและพยายามฝังดีเอ็นเอนักมวยให้ลูกชายทุกคน อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

10. อุดมพร พลศักดิ์ เหรียญทองโอลิมปิก 2004 ยกน้ำหนัก

 

หลังจาก “สมรักษ์ คำสิงห์” และ “วิจารณ์ พลฤทธิ์” สามารถคว้าเหรียญทอง โอลิมปิกเกมส์ 1996 และ 2000 ได้ตามลำดับ ในปี 2004 ก็ถึงคิวของประวัติศาสตร์นักกีฬาหญิงบ้าง 15 สิงหาคม ปีพ.ศ. 2547 ช่วงเวลาราวๆ 2 ทุ่มในประเทศไทย เป็นช่วงเวลาดีที่แฟนกีฬาสามารถดูการถ่ายทอดสดโอลิมปิกเกมส์ “เอเธนส์ 2004” ได้โดยไม่ต้องอดตาหลับขับตานอน ซึ่งเวลานั้น เป็นเวลาของ “อร สู้โว้ย” อุดมพร พลศักดิ์ จอมพลังสาวจากเมืองย่าโม อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

11. ปวีณา ทองสุก เหรียญทอง โอลิมปิก 2004 ยกน้ำหนัก

 

นักกีฬาหญิงที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์วงการกีฬาไทยคงจะต้องมีชื่อของ “ไก่” ปวีณา ทองสุก จอมพลังสาวไทยรวมอยู่ด้วยแน่นอน ร้อยตรีหญิง ปวีณา ทองสุก  เกิดเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2522 ที่อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ แรกเริ่มสัมผัสกีฬาในฐานะนักวิ่งก่อนที่จะมีการเผยแพร่กีฬายกน้ำหนักเข้ามาในโรงเรียนศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ตอนม. 2  อาจารย์วินัย คำจีนศรี ตามตื๊อ ปวีณา ให้มาเป็นนักกีฬายกน้ำหนักของโรงเรียนถึง 1 ปี แต่ “ไก่” แบ่งรับแบ่งสู้ เพราะว่า เหล็กมันหนัก และต้องช่วยแม่ทำงานบ้าน อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

12. มนัส บุญจำนงค์ เหรียญทอง โอลิมปิก 2004 มวยสากลสมัครเล่น

 

ถ้าจะบอกว่า “วิจารณ์ พลฤทธิ์”เหรียญทองมวยสากลสมัครเล่นโอลิมปิกเกมส์ 2000 เป็นนักกีฬาที่มีข่าวคราวเงียบที่สุดในจำนวนฮีโร่โอลิมปิกแล้ว อีก 4 ปีต่อมา “มนัส บุญจำนงค์” คงเป็นนักกีฬาที่มีข่าวคราวนอกสนามอื้อฉาวที่สุด ถึงขั้นทำให้กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติต้องปรับเปลี่ยนระเบียบการสนับสนุนเงินรางวัลจากเงินก้อนเดียวเป็นการแบ่งจ่ายในรูปเงินเดือนเลยทีเดียว อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

13. วรพจน์ เพชรขุ้ม เหรียญเงิน โอลิมปิก 2004 มวยสากลสมัครเล่น

 

การเตรียมขึ้นสังเวียนชิงแชมป์โลกรุ่นสตรอเวต สภามวยโลกที่ว่างอยู่ กับฮิโรกิ อิโอกะ ของ ใหม่ ธนบุรีฟาร์ม แม้จะไม่ประสบความสำเร็จแต่ก็เป็นแรงกระเพื่อมให้ในอีก 17 ปีต่อมา ทัพนักกีฬาไทยที่คว้าเหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์ 2004 ชื่อ “วรพจน์ เพชรขุ้ม” 

 

วรพจน์ เพชรขุ้ม เกิด 18 พฤษภาคม 2524 เป็นชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรของนายทวีป และนาง บุญสงค์ เป็นลูกคนที่ 5 จากจำนวน 7 คน เริ่มเข้าสู่วงการหมัดมวยตั้งแต่อายุ 9 ขวบ หลังเห็นพี่ชายไปฝึกซ้อมมวยกับ “ลุง” ซึ่งก็คือใหม่ ธนบุรี ฟาร์ม แล้วทำให้เจ้าตัวเกิดอยากชกมวยขึ้นมาและเริ่มหัวหน้าเข้าสู่เส้นทางนี้อย่างจริงจัง ฝึกซ้อมได้เพียง 4 เดือนเศษก็ขึ้นเวทีขึ้นชกมวยไทยเป็นครั้งแรกในงานวันพ่อ "5 ธันวามหาราช" หน้าอำเภอพนม และเอาชนะได้ รางวัลเป็นผ้าขนหนู 1 ผืน อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

14. สุริยา ปราสาทหินพิมาย เหรียญทองแดง โอลิมปิก 2004 มวยสากลสมัครเล่น

 

สุริยา ปราสาทหินพิมาย ชื่อนี้คงคุ้นหูแฟนหมัดมวยยุคก่อนไม่มากก็น้อยเพราะเขาคือหลานแท้ๆของ คุณปู่สุข ปราสาทหินพิมาย อดีตครูมวยในตำนานของไทย แม้จะเป็นรุ่นหลานแล้วแต่ สุริยา ก็ได้รับสายเลือดนักสู้มาเต็มๆ

 

สุริยา เกิดเมื่อวันที่ 2  เมษายน พ.ศ. 2522 เขาเกิดมาในครอบครัวของนักมวย โดยมีคุณปู่ เป็นแบบอย่าง แม้เรื่องราวของหลายๆคนอาจจะสุดทางที่โอลิมปิกเกมส์ แต่สำหรับ สุริยา โอลิมปิกเกมส์คือเวที ที่สร้างชื่อให้กับเขา ย้อนกลับไปเมื่อโอลิมปิกเกมส์ 2004 กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ปีดังกล่าวกำปั้นไทยที่ถูกแสงสปอร์ตไลต์ส่งหามากที่สุดคงหนีไม่พ้น มนัส บุญจำนงค์ ที่ขึ้นชกในสไตล์ เอ็นเตอร์เทนคนดู จนคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้สำเร็จ แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน ในอีกมุมที่ไม่เป็นที่จับตานัก สุริยา ปราสาทหินพิมาย ผู้มีดีกรีเหรียญเงินเอเชียนเกมส์ 2002 ที่ปูซาน เกาหลีใต้ ก็ถือเป็นหนึ่งในนักชกประวัติศาสตร์ที่ควรแก่การยกย่องเช่นกัน อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

15. เยาวภา บุรพลชัย เหรียญทองแดง โอลิมปิก 2004 เทควันโด

 

สาวน้อยที่ทำให้กีฬาเทควันโดอยู่ในสังคมไทยจนถึงทุกวันนี้ “วิว” เยาวภา บุรพลชัย จอมเตะสาวในวัย 20 ปี เธอก้าวขึ้นมาเป็นฮีโร่หญิงอีกคนจากโอลิมปิกเกมส์ในกีฬาที่ยังไม่เป็นที่คุ้นหูของคนไทยด้วยซ้ำ นางสาวเยาวภา บุรพลชัย นักเทควันโดสาวทีมชาติไทย เกิดเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2527 เป็นบุตรีของ ร้อยตรีธำรง นักกีฬาเพาะกายตัวยง และนางสมศรี บุรพลชัย แม่ค้าขายปาท่องโก๋ในเวลานั้น

 

เธอเล่นกีฬาหลายชนิด เนื่องจากบ้านพักของครอบครัวอยู่ในค่ายทหาร ทั้งบาสเกตบอล, แบดมินตัน และ วิ่งระยะไกล กับพ่อที่เป็นนักกล้าม ทำให้เธอมีพื้นฐานร่างกายที่ยอดเยี่ยมเป็นทุนอยู่แล้ว กระทั่งเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่เข้ามาเติมเชื้อไฟให้ “วิว” เยาวภา ต้องการที่จะเป็น “ทีมชาติ” แต่กีฬาทีจุดประกายให้ วิว กลับกลายเป็น มวยสากลสมัครเล่น ที่หนนั้นคว้าไปถึง 5 เหรียญทอง 3 เหรียญทองแดง อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

16. อารีย์ วิรัฐภาวร เหรียญทองแดง โอลิมปิก 2004 ยกน้ำหนัก

 

"รี" อารีย์ วิรัฐถาวร ฮีโร่เหรียญทองแดง โอลิมปิกเกมส์ ถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญควรค่าแก่การยกย่อง เพราะเกือบตลอดชีวิตที่ผ่านมาเธออุทิศตนเพื่อวงการยกน้ำหนักไทยอย่างแท้จริง

 

"รี" อารีย์ เกิดวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 ที่ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เริ่มเล่นกีฬายกน้ำหนักมาตั้งแต่อายุได้ 12 ปีเศษ ที่โรงเรียนกีฬาจังหวัดชลบุรี โดยมี ศักดิ์ชัย ธิตะจารี เป็นผู้ขัดเกลาและเสริมกำลังวิชา อารีย์ เติบโตขึ้นเป็นนักยกน้ำหนักที่หน่วยก้านดี โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง อุดมพร พลศักดิ์ ซึ่งจอมพลังสาวจากกาญจนบุรี ได้รับเลือกให้ติดทีมชาติครั้งแรกในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 21 ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

17. วันดี คำเอี่ยม เหรียญทองแดง โอลิมปิก 2004 ยกน้ำหนัก

 

กว่าที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาหญิงไทยคนแรกที่ได้เหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2 สมัยอย่างเป็นทางการ "แบ๋น" วันดี คำเอี่ยม นักยกเหล็กสาวไทย รุ่น 58 กก. ต้องใช้เวลารอนานกว่า 9 ปี หลังจากที่เธอเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2 สมัย เมื่อปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ และปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ย้อนกลับไปในโอลิมปิกเกมส์ 2004 วันดี เข้าร่วมการชิงชัยเป็นครั้งแรก และสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองแดงแรกของตัวเองได้สำเร็จ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

18. สมจิตร จงจอหอ เหรียญทอง โอลิมปิก 2008 มวยสากลสมัครเล่น

 

“ผมเจ็บมาเยอะ”  สมจิตร จงจอหอ นักชกลูกอีสานให้สัมภาษณ์พร้อมหลั่งน้ำตาลูกผู้ชาย เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2551 เหตุใดกำปั้นจากบุรีรัมย์คนนี้ถึงร้องไห้ออกมาขนาดนั้น เราลองมาดูชีวิตของสมจิตร นักชกที่เกือบจะเลิกไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง ร้องไห้ผิดหวังโดดเด่นท่ามกลางความสำเร็จของคนอื่นมาครั้งแล้วครั้งเล่า อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

19. ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล เหรียญทอง โอลิมปิก 2008 ยกน้ำหนัก

 

หลายคนคงจดจำชื่อของ “เก๋” ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล กับการเป็นจอมพลังสาวฮีโร่เหรียญทองกีฬายกน้ำหนัก ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่ากว่าที่จะเธอจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้จะต้องอดทนฝ่าฟันกับอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตมากมาย อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

 

 

20. มนัส บุญจำนงค์ (2) เหรียญเงิน โอลิมปิก 2008 มวยสากลสมัครเล่น

 

มนัส ไปโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 2 ในชีวิตด้วยสภาพร่างกายที่ไม่เหมือนเดิม แต่เชิงชกอัจฉริยะของเขายังช่วยให้เอาตัวรอด และสามารถคว้าเหรียญเงินได้สำเร็จ เป็นนักกีฬาคนแรกที่สามารถคว้าเหรียญโอลิมปิกเกมส์ได้จากสองโอลิมปิกเกมส์ มนัส ยังคงมีข่าวฉาวเป็นระยะๆ ระหว่างที่เตรียมตัวจะไปโอลิมปิกเกมส์ 2012 ที่ลอนดอน จนสุดท้ายมนัส ไม่เข้ารายงานตัวจนลูกพี่อย่าง สมรักษ์ คำสิงห์ ต้องออกมารับประกันกับ สมาคมมวยสากลฯ เพื่อให้โอกาสน้องอีกหน อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

21. บุตรี เผือดผ่อง เหรียญเงินโอลิมปิก 2008 เทควันโด

 

พ.ศ.นี้ ในวงการเทควันโดอาจจะยกให้กับ "เทนนิส" พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ จอมเตะสาวเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2020 คือเบอร์ 1 แต่หากย้อนไปไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ "สอง" บุตรี เผือดผ่อง จอมเตะสาวเขี้ยวสเน่ห์ เป็นหนึ่งในนักเทควันโดทีมชาติไทยที่เก่งที่สุดในช่วงเวลาของเธอ ชนิดที่ว่าหากจะวัดกันปอนด์ต่อปอนด์แล้วยังเลือกลำบากว่า ระหว่าง พาณิภัค กับ บุตรี สองคนนี้ใครแกร่งกว่ากัน อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

22. เพ็ญศิริ เหล่าศิริกุล เหรียญทองแดง โอลิมปิก 2008 ยกน้ำหนัก

 

ฝ่ามรสุมชีวิตมายาวนานกว่าจะขึ้นทำเนียบเกียรติยศเป็นนักกีฬาเหรียญทองแดงโอลิมปิกเกมส์ สำหรับ “เอ” เพ็ญศิริ เหล่าศิริกุล จอมพลังสาวไทยสู้ชีวิตอีกคนหนึ่ง จนกระทั่งถูกเลื่อนจากอันดับ 5 มาเป็นอันดับ 3 พร้อมคว้าเหรียญทองแดง รุ่น 48 กก.หญิง ย้อนหลังจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่ 

 

 

23. วันดี คำเอี่ยม (2) เหรียญทองแดง โอลิมปิก 2008 ยกน้ำหนัก

 

"แบ๋น" วันดี คำเอี่ยม นักยกเหล็กสาวไทย รุ่น 58 กก. ในโอลิมปิกเกมส์ 2004 วันดี เข้าร่วมการชิงชัยเป็นครั้งแรก และสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองแดงแรกของตัวเองได้สำเร็จ ก่อนที่ในโอลิมปิกเกมส์อีก 4 ปีต่อมา เธอทำผลงานจบเพียงอันดับ 4 และชวดคว้าเหรียญรางวัลอย่างน่าเสียดาย แต่เมื่อเวลาผ่านไป 9 ปี คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) มีหนังสือมายังเมื่อปี 2018 มายังคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ระบุว่า วันดี ได้เลื่อนจากอันดับ 4 ขึ้นมาเป็นอันดับ 3 และคว้าเหรียญทองแดง จากการตรวจพบสารต้องห้ามในนักกีฬารัสเซีย อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

24. แก้ว พงษ์ประยูร เหรียญเงิน โอลิมปิก 2012 มวยสากลสมัครเล่น

 

“แม่ครับผมทำได้แล้ว ผมเอาเหรียญโอลิมปิกกลับไปฝากแม่ได้แล้ว” แก้ว พงษ์ประยูร กล่าวด้วยความดีใจหลังจากลงเวทีในรอบ 8 คนสุดท้าย ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศมวยสากลสมัครเล่นโอลิมปิกเกมส์ 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้สำเร็จ

 

แก้ว พงษ์ประยูร เกิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2523 บ้านเกิดอยู่ที่ ต.วังทอง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ซึ่ง แก้ว พงษ์ประยูร เป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 6 คน เริ่มต้นจากสังเวียนมวยไทย ตั้งแต่อายุ 12 โดยใช้ชื่อว่า เกตุแก้ว ว.ถิ่นทัพไทย ผ่านการชกมากกว่า 100 ไฟต์ จนอายุได้ 17 ปี อาจารย์ กามนิต นารีรักษ์ โค้ชมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยในขณะนั้นเห็นแวว เลยทาบทามให้มาชกมวยสากลสมัครเล่น ก่อนจะใช้เวลา 3 ปี ติดทีมชาติไทย อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

25. พิมศิริ ศิริแก้ว เหรียญเงิน โอลิมปิก 2012 ยกน้ำหนัก

 

การคว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์ว่ายากแล้ว แต่การเอาเหรียญที่นักกีฬาทั่วโลกอยากได้มาคล้องคอถึง 2 สมัยติดกันนั้นยากกว่า สาวหล่อที่ชื่อ "แต้ว" พิมศิริ ศิริแก้ว ทำได้ และยังเป็นเหรียญเงินทั้งสองสมัยอีกด้วย

 

"แต้ว" พิมศิริ อีกหนึ่งฮีโร่ที่นำความสำเร็จและความภาคภูมิใจมาสู่ชาวไทย เกิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2533 พื้นเพอยู่ที่ อ.มัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น แรกเริ่มเดิมทีนั้นแต้ว ออกสตาร์ตการเล่นกีฬาด้วยการเป็นนักวิ่งประจำโรงเรียน ซึ่งจัดได้ว่าเป็นผู้ที่ยืนหนึ่งในการวิ่งระยะสั้น แต่หลังจากที่ได้เข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนกีฬาจังหวัดชลบุรี ช่วงมัธยมศึกษา ทั้งคู่แข่งและขีดจำกัดทางร่างกายที่สูงไม่มาก ก็ทำให้เธอเริ่มจะรู้ตัวว่าบางทีเส้นทางนี้อาจจะไม่เหมาะสำหรับเธอ ประจวบเหมาะกับ ครูผู้สอนชักนำให้มาลองยกน้ำหนัก นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานฮีโร่เหรียญโอลิมปิก อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

26. ชนาธิป ซ้อนขำ เหรียญทองแดง โอลิมปิก 2012 เทควันโด

 

ถือเป็นนักเทควันโดหนึ่งเดียวที่คว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์ 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาครองได้สำเร็จสำหรับ "เล็ก" ชนาธิป ซ้อนขำ จอมเตะรุ่น 49 กิโลกรัม ที่ภายหลังกลายมาเป็นต้นแบบให้กับนักเทควันโดหญิงไทยหลาย ๆ คน

 

"เล็ก" ชนาธิป เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2534 จังหวัดพัทลุง เป็นลูกสาวคนสุดท้องของนายคำนึง และนางณัฐชยา ซ้อนขำ จากบรรดาพี่น้องทั้งหมด 3 คน จุดเริ่มต้นในการเล่นเทควันโดของ ชนาธิป ต้องบอกว่าคล้ายกับนักเทควันโดคนอื่นๆทั่วไปคืออยากจะลองใส่ ยูนิฟอร์มเท่ๆดูสักครั้ง จนช่วงปิดเทอมมัธยมศึกษาปีที่ 1 กำลังจะขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ชนาธิป ก็ตัดสินใจฝึกซ้อมเทควันโดอย่างจริงจัง อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

27. ศิริภุช กุลน้อย เหรียญทองแดง โอลิมปิก 2012 ยกน้ำหนัก

 

ย้อนเวลากลับไปร่วม 10 ปี ชื่อของ "ปุ๊กลุก" รัตติกาล กุลน้อย จัดได้ว่าเป็นจอมพลังสาวที่น่าจับตามองและว่ากันว่านี่แหละคือความหวังเหรียญโอลิมปิกเกมส์ ที่ถือกำเนิดขึ้นอีกคนของวงการยกน้ำหนักไทย

 

"ปุ๊กลุก" รัตติกาล กุลน้อย เกิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2536  เป็นชาวตำบลตระแสง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เธอสร้างชื่อจากการคว้าเหรียญทองยกน้ำหนักยุวชนชิงแชมป์เอเชีย ต่อด้วยเหรียญเงินชิงชนะเลิศสโมสรเอเชีย และเหรียญทองแดงเยาวชนโลก ทำให้สมาคมกีฬายกน้ำหนักแห่งประเทศไทยรีบติดดาวที่ชื่อของเธอ พร้อมส่งลงแข่งขันในรุ่น 58 กิโลกรัม ศึกซีเกมส์ พ.ศ. 2554 ที่อินโดนีเซีย ทันที อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

28. โสภิตา ธนสาร เหรียญทองโอลิมปิก 2016 ยกน้ำหนัก

 

"พ่อจะตามดูหนูในทีวีทุกครั้ง เสียใจที่ครั้งนี้พ่อไม่ได้มาดูด้วย ไม่ได้มาแสดงความยินดี ตอนนี้ถ้าพ่อดูอยู่ หนูทำได้แล้วนะ หนูทำให้พ่อให้แม่มีความสุขได้แล้วนะ" โสภิตา ธนสาร กล่าวทั้งน้ำตา ถึง นายสุรศักดิ์ ธนสาร คุณพ่อที่ล่วงลับไปแล้ว หลังคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2016

 

"น้องแนน" โสภิตา ธนสาร จอมพลังสาวจากจังหวัดชุมพร เกิดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2537 เป็นลูกคนโตของ นายสุรศักดิ์ ธนาสาร และ นางสรารัตน์ ธนสาร สมัยยังเด็กนั้นเธอชื่นชอบการต่อยมวยตามคุณพ่อและหวังจะเป็นนักมวยให้ได้ แต่แล้วเส้นทางที่ต้องเลือกกลับไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจ เมื่อโสภิตา วัย 12 ปี ต้องเข้าไปเรียนที่โรงเรียนกีฬากรุงเทพมหานคร เจ้ากรรมที่โรงเรียนแห่งนี้ยังไม่มีมวยหญิง จึงต้องหันเหมายกเหล็กแทนที่จะใส่นวม โดยมี ดร.สิริลักษณ์ ทัดมั่น เป็นครูผู้ฝึกสอน อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

29. สุกัญญา ศรีสุราช เหรียญทอง โอลิมปิก 2016 ยกน้ำหนัก

 

"ฝ้าย" สุกัญญา ศรีสุราช คือจอมพลังสาว คนล่าสุดที่สร้างความสำเร็จให้กับทัพยกเหล็กทีมชาติไทยในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ เพราะเธอเป็นคนที่คว้าเหรียญทองเหรียญที่ 5 ของทัพยกเหล็ก และเป็นเหรียญที่ 9 ของทัพนักกีฬา หากนับรวมโอลิมปิกเกมส์ทุกยุคทุกสมัย 

 

"ฝ้าย" สุกัญญา เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2538 เป็นคนจังหวัดชลบุรี แต่ก่อนที่จะมายกน้ำหนักนั้นเธอเคยได้ชื่อว่าเป็นเจ้าลมกรดมาก่อน 

 

"หนูเคยเป็นนักกรีฑา วิ่ง 100 เมตร 200 เมตร ประมาณนั้น เคยได้แชมป์โรงเรียนด้วยช่วงประถมศึกษา ก็คิดว่าจะเอาดีทางด้านนี้จึงเข้าโรงเรียนกีฬาจังหวัดชลบุรีในเวลาต่อมา" อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

30. เทวินทร์ หาญปราบ เหรียญเงิน โอลิมปิก 2016 เทควันโด

 

เทควันโด คือหนึ่งในกีฬาความหวังคว้าเหรียญของทัพนักกีฬาไทยในโอลิมปิกเกมส์แทบจะทุกครั้ง แต่ส่วนใหญ่แล้วชื่อของคนที่ได้เหรียญกลับมานั้น จะเป็นนักกีฬาหญิงเสียส่วนใหญ่ จนเมื่อโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในที่สุดก็มีนักกีฬาเทควันโดชาย ได้ถูกจารึกว่าเป็นคนแรกของชาติคว้าเหรียญเงินในศึกครั้งนั้นได้สำเร็จ ชื่อของเขาคือ "เทม" เทวินทร์ หาญปราบ อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

31. พิมศิริ ศิริแก้ว (2) เหรียญเงิน โอลิมปิก 2016 ยกน้ำหนัก

 

เมื่อเวลาเดินทางมาถึงปี 2016 พิมศิริ กลับมายังเวทีที่รอคอย ในประเทศบราซิล เพียงแต่ครั้งนี้เธอไม่ใช่นักกีฬาโนเนมอีกต่อไป หากแต่พกดีกรีเจ้าของเหรียญเงินครั้งก่อนมาด้วย

 

ศึกครั้งนี้ นอกจากจะต้องคว้าเหรียญให้ได้แล้ว "แต้ว" ยังได้รับมอบหมายหน้าที่อันสำคัญอีกหนึ่งอย่างนั่นคือการเรียกน้ำหนักกดดัน กั้ว ซิง ชุน จอมพลังสาวจากไต้หวัน และปล่อยให้ "น้องฝ้าย" สุกัญญา ศรีสุราช ทำน้ำหนักของตัวเองแบบที่ไม่ต้องห่วงหน้าห่วงหลัง

 

ด้วยประสบการณ์และความใจกว้างของ "แต้ว" เธอทำหน้าที่และเป้าหมายที่ได้รับมอบหมายมาอย่างดีเยี่ยม ทำน้ำหนักรวม 232 กิโลกรัม คว้าเหรียญเงินมาครองอีกสมัย อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

 

 

32. พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เหรียญทองแดง โอลิมปิก 2016 เทควันโด

 

“เทนนิส” คว้าแชมป์เทควันโด ยูธโอลิมปิกเกมส์ เป็นพาดหัวข่าวที่อาจจะสร้างความงุนงงได้ไม่น้อยทีเดียว แต่วันนี้ “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ จอมเตะสาวก้านยาวจากสุราษฎร์ธานี กลายเป็นที่รู้จักและกลายเป็นนักกีฬาเทควันโดเบอร์ 1 ของโลกไปแล้ว อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

33. สินธุ์เพชร กรวยทอง เหรียญทองแดง โอลิมปิก 2016 ยกน้ำหนัก

 

“ผมคิดถึงยาย ผมรักยาย อยากจะกลับไปกอดยาย” นี่คือคำพูดของ “ดุ่ย” สินธุ์เพชร กรวยทอง หลังจากคว้าเหรียญทองแดงโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล แต่สุดท้ายเขาก็ไม่สามารถกลับไปกอดยายได้อย่างที่ตั้งใจ

 

“ดุ่ย” สินธุ์เพชร เกิดเมื่อวันที22 สิงหาคม พ.ศ. 2538 ที่บ้านโพนม่วง ตำบลไพลขลา อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ เป็นชาว จังหวัดสุรินทร์ โดยกำเนิด ตอนเด็กๆ “ดุ่ย” และน้องชาย มักจะใช้ชีวิตอยู่กับยาย เป็นหลัก เนื่องจากคุณแม่ ต้องออกไปทำงาน เพื่อหาเงินส่งเสียพวกเขาสองพี่น้อง อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

 

34. พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ (2) เหรียญทอง โอลิมปิก 2020 เทควันโด

 

หลังจบโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่บราซิล “เทนนิส” ค่อย ๆ ยกระดับความสามารถตัวเองขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมกราคม 2018 เธอขึ้นครองมือ 1 ของโลกเป็นครั้งแรก และรักษาตำแหน่งไว้ได้นานถึง 6 เดือนก่อนจะเสียตำแหน่งให้กับ คิม โซ ฮุย จากเกาหลีใต้ หลังจากนั้นทั้งคู่ก็สลับกันขึ้นลงอยู่อย่างนั้น 

 

จนกระทั่งจบปี 2018 เป็นจอมเตะจากเกาหลีใต้ที่ครองมือ 1 ของโลก แต่พอเข้าปี 2019 เทนนิส กลับขึ้นไปครองมือ 1 ของโลกได้ตั้งแต่เดือนแรก ยาวนานต่อเนื่องนับปีพร้อมกับสถิติไม่แพ้ใครจนคว้าเหรียญทอง โอลิมปิก "โตเกียว 2020" อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่

 

35. สุดาพร สีสอนดี เหรียญทองแดง โอลิมปิก 2020 มวยสากลสมัครเล่น

 

“ลองดูมั้ย” วลีสั้น ๆ เป็นคำถามถึงลูกสาววัย 11 ปี จากชายหนุ่มวัยกลางคนเจ้าของค่ายมวย สุดยอดการช่าง ในอำเภอ ไชยวาน จังหวัด อุดรธานี เด็กหญิงในวันนั้นตกปากรับคำเชิญชวน และตัดสินใจลองชกมวยดู เนื่องจากเติบโต คลุกคลีกับกลิ่นเหงื่อ และเสียงต่อยกระสอบทรายในค่ายมวยมาตลอดตั้งแต่เล็ก ผ่านมาเกือบ 20 ปี บนเส้นทางแห่งผืนผ้าใบ วันนี้ สุดาพร สีสอนดี ไม่ใช่เด็กหญิงนักมวยไทยตัวน้อยที่มีค่าตัว 500 บาทอีกแล้ว แต่ตอนนี้เธอ คือ นักมวยสากลสมัครเล่นหญิงทีมชาติไทย ผู้คว้าเหรียญทองแดง โอลิมปิกเกมส์ 2020 อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่


stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

stadium olympic