stadium

จากวงจรปิดสู่ 8k วิวัฒนาการถ่ายทอดสดโอลิมปิก

20 พฤศจิกายน 2563

ปัจจุบัน เรื่องชมถ่ายทอดสดการแข่งขัน กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปแล้ว เราสามารถหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเพื่อดูกีฬาโปรดของตัวเองได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่ต้องมีขั้นตอนยุ่งยากอะไรนัก ขณะเดียวกันคุณภาพยังคมชัดประดุจพาตัวเองไปนั่งอยู่ในสนาม

 

แต่รู้หรือไม่ว่า การถ่ายทอดสดครั้งแรก เกิดขึ้นในมหกรรมกีฬาอย่าง โอลิมปิก เกมส์ ในปี 1936 ที่ประเทศเยอรมนี เป็นเจ้าภาพ ซึ่งแม้จะเป็นการถ่ายทอดด้วยระบบวงจรปิด แต่ก็ถือเป็นการเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของโลกไปตลอดกาล

 

แล้วนับจากการถ่ายทอดสดไปยังสถานที่จำกัดไม่กี่แห่งในครั้งนั้น ก้าวไปสู่สายตาหลายพันล้านคนทั่วโลกด้วยคุณภาพคมชัดแบบในปัจจุบันได้อย่างไร ติดตามได้ที่นี่

 

 

จุดเริ่มจาก Propaganda ของนาซี

ถึงแม้สารตั้งต้นของการเริ่มถ่ายทอดสดจะไม่ใช่จุดประสงค์ที่น่าชื่นชมเท่าใดนัก แต่เราก็ต้องยอมรับความจริง พรรคนาซีใช้โอลิมปิกเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ และแสดงศักยภาพของชาวอารยัน ซึ่งการถ่ายทอดสดก็คือการอวดให้เห็นว่าพวกเขามีเทคโนโลยีที่ซับซ้อน แม้จะเป็นการใช้แค่ระบบวงจรปิดเท่านั้นก็ตาม โดยผู้ชมสามารถดูการถ่ายทอดสดได้จากห้องพิเศษที่จัดไว้จำนวน 28 แห่งในกรุงเบอร์ลินเท่านั้น

 

12 ปีต่อมา หลังจากผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้าภาพการแข่งขันปี 1948 คือกรุงลอนดอนทำให้การถ่ายทอดการแข่งขันก้าวขึ้นไปอีกระดับ หลังจากส่งสัญญาณไปถึงทุกครัวเรือนผ่านเครือข่ายภาคพื้นดิน แต่ก็ยังจำกัดพื้นที่แค่ในเมืองหลวงเท่านั้น  

 

ส่วนการถ่ายทอดสดโอลิมปิกข้ามประเทศครั้งแรก เกิดขึ้นในปี 1964 ที่กรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพ หลังจากที่มีการปล่อยดาวเทียมโคจรรอบโลกตัวแรกซึ่งทันเวลาถ่ายทอดสดพอดี ทำให้พื้นที่ 1 ส่วน 3 ของโลกได้ชมการแข่งขัน ก่อนจะต่อยอดไปครอบคลุมได้ถึง 5  ทวีปในช่วงปี 1970  

 

ด้านจำนวนผู้ชมก็เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณในแต่ละปีที่ผ่านมาไป โดยขณะที่ปี 1948 มียอดรวมผู้ชมทั้งหมด 5 แสนราย ในปี 2012 ยอดผู้ชมถ่ายทอดสดทั่วโลกมีมากกว่า 3,600 ล้านคน มีเนื้อหาออกอากาศรวมกว่า 1 แสนชั่วโมงทั่วโลกจากการช่วยเหลือของผู้ประกอบการดาวเทียมชั้นนำ

 

 

จากภาพ ขาว-ดำ สู่ UHD

ไม่ใช่เพียงแค่จำนวนผู้ชมที่มีพัฒนาการตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่คุณภาพของภาพที่นำออกสู่หน้าจอโทรทัศน์ก็มีวิวัฒนาการอันน่าทึ่ง และเพิ่มประสบการณ์ให้การรับชมได้อย่างก้าวกระโดด จากภาพขาว-ดำ ไปสู่ภาพสีแบบ SD (ความละเอียดมาตรฐาน) ในปี 1968 และ HD (ความละเอียดสูง) ในช่วงปี 1980 ซึ่งดาวเทียมมีบทบาทสำคัญที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นจริงขึ้นมาได้

 

ในช่วงปี 2010 เทคโนโลยีความคมชัดของภาพยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมีตัวต้นแบบและการทดลองใช้ระบบ UHD 4k (ความละเอียดเสมือนจริง) ซึ่งเทคโนโลยีใหม่นี้มีความคมชัดกว่าแบบ HD ถึง 4 เท่า โดยมีการทดสอบใน โอลิมปิก ปี 2012 นอกจากนั้นยังมีการทดลองใช้กล้องระดับ 8k (ชัดกว่า 4k สองเท่า) อีกด้วย

 

และใน โอลิมปิก เกมส์ ปี 2016 ที่นคร ริโอ เดอ จาเนโร ก็มีการถ่ายทอดสดในระบบ UHD เป็นครั้งแรก สำหรับช่องเชิงพาณิชย์ ซึ่งด้วยความที่โลกอุตสาหกรรมยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อมอบประสบการณ์การรับชมที่สมจริงยิ่งขึ้น บางส่วนของการแข่งขันถ่ายทอดสดในระบบ UHD แบบ High Dynamic Range (HDR)ที่ให้ความแตกต่างในด้านของมิติเพิ่มมากขึ้น

 

 

โตเกียว 2020 กับ 8k

NHK สถานีโทรทัศน์ของประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยแผนออกมาแล้วว่าพวกเขาจะถ่ายทอดสด โอลิมปิก เกมส์ และ พาราลิมปิก เกมส์ ในปี 2021 นี้ ด้วยระบบ 8k ซึ่งในโอลิมปิก NHK จะถ่ายทอดสด 7 ชนิดกีฬาคือ กรีฑา, ว่ายน้ำ, ยูโด, ฟุตบอล, เทเบิลเทนนิส, แบดมินตัน และวอลเลย์บอล

 

ส่วน พาราลิมปิก จะถ่ายทอดสด 4 ชนิดกีฬาในระบบ 8k คือ กรีฑา, ว่ายน้ำ, แบดมินตัน และวีลแชร์ รักบี้ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ใช้ระบบนี้ถ่ายทอดสดพาราลิมปิกอีกด้วย

 

นอกจากนั้น ยังจะมีการติดตั้งกล้อง 8k กับ เฮลิคอปเตอร์ เพื่อถ่ายทอดพิธีเปิดและพิธีปิดการแข่งขันในระบบ 8k UHD ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดในระบบดังกล่าวทุกวันของการแข่งขัน อย่างไรก็ตามจะรับชมได้ก็ต่อเมื่อมีโทรทัศน์ที่รองรับระบบ 8k เท่านั้น

 

นี่ยังไม่รวมแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่จะมีการถ่ายถอดผ่านเครือข่าย 5จี โดยที่ผู้ชมสามารถรับประสบการณ์แบบเสมือนจริงหรือ VR 360 องศาได้อีกด้วย

 

แล้วอีกหลายปีข้างหน้า เทคโนโลยีเหล่านี้ จะไปได้สุดมากแค่ไหน สุดท้ายกำไรก็ตกอยู่ที่ผู้ชมอย่างเรา ๆ นี่แหละครับ


stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator

stadium olympic