10 มิถุนายน 2567
ปัจจุบัน เรื่องชมถ่ายทอดสดการแข่งขัน กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปแล้ว เราสามารถหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเพื่อดูกีฬาโปรดของตัวเองได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่ต้องมีขั้นตอนยุ่งยากอะไรนัก ขณะเดียวกันคุณภาพยังคมชัดประดุจพาตัวเองไปนั่งอยู่ในสนาม
แต่รู้หรือไม่ว่า การถ่ายทอดสดครั้งแรก เกิดขึ้นในมหกรรมกีฬาอย่าง โอลิมปิก เกมส์ ในปี 1936 ที่ประเทศเยอรมนี เป็นเจ้าภาพ ซึ่งแม้จะเป็นการถ่ายทอดด้วยระบบวงจรปิด แต่ก็ถือเป็นการเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของโลกไปตลอดกาล
แล้วนับจากการถ่ายทอดสดไปยังสถานที่จำกัดไม่กี่แห่งในครั้งนั้น ก้าวไปสู่สายตาหลายพันล้านคนทั่วโลกด้วยคุณภาพคมชัดแบบในปัจจุบันได้อย่างไร ติดตามได้ที่นี่
ถึงแม้สารตั้งต้นของการเริ่มถ่ายทอดสดจะไม่ใช่จุดประสงค์ที่น่าชื่นชมเท่าใดนัก แต่เราก็ต้องยอมรับความจริง พรรคนาซีใช้โอลิมปิกเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ และแสดงศักยภาพของชาวอารยัน ซึ่งการถ่ายทอดสดก็คือการอวดให้เห็นว่าพวกเขามีเทคโนโลยีที่ซับซ้อน แม้จะเป็นการใช้แค่ระบบวงจรปิดเท่านั้นก็ตาม โดยผู้ชมสามารถดูการถ่ายทอดสดได้จากห้องพิเศษที่จัดไว้จำนวน 28 แห่งในกรุงเบอร์ลินเท่านั้น
12 ปีต่อมา หลังจากผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้าภาพการแข่งขันปี 1948 คือกรุงลอนดอนทำให้การถ่ายทอดการแข่งขันก้าวขึ้นไปอีกระดับ หลังจากส่งสัญญาณไปถึงทุกครัวเรือนผ่านเครือข่ายภาคพื้นดิน แต่ก็ยังจำกัดพื้นที่แค่ในเมืองหลวงเท่านั้น
ส่วนการถ่ายทอดสดโอลิมปิกข้ามประเทศครั้งแรก เกิดขึ้นในปี 1964 ที่กรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพ หลังจากที่มีการปล่อยดาวเทียมโคจรรอบโลกตัวแรกซึ่งทันเวลาถ่ายทอดสดพอดี ทำให้พื้นที่ 1 ส่วน 3 ของโลกได้ชมการแข่งขัน ก่อนจะต่อยอดไปครอบคลุมได้ถึง 5 ทวีปในช่วงปี 1970
ด้านจำนวนผู้ชมก็เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณในแต่ละปีที่ผ่านไป โดยขณะที่ปี 1948 มียอดรวมผู้ชมทั้งหมด 5 แสนราย ในปี 2012 ยอดผู้ชมถ่ายทอดสดทั่วโลกมีมากกว่า 3,600 ล้านคน มีเนื้อหาออกอากาศรวมกว่า 1 แสนชั่วโมงทั่วโลกจากการช่วยเหลือของผู้ประกอบการดาวเทียมชั้นนำ
ไม่ใช่เพียงแค่จำนวนผู้ชมที่มีพัฒนาการตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่คุณภาพของภาพที่นำออกสู่หน้าจอโทรทัศน์ก็มีวิวัฒนาการอันน่าทึ่ง และเพิ่มประสบการณ์ให้การรับชมได้อย่างก้าวกระโดด จากภาพขาว-ดำ ไปสู่ภาพสีแบบ SD (ความละเอียดมาตรฐาน) ในปี 1968 และ HD (ความละเอียดสูง) ในช่วงปี 1980 ซึ่งดาวเทียมมีบทบาทสำคัญที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นจริงขึ้นมาได้
ในช่วงปี 2010 เทคโนโลยีความคมชัดของภาพยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมีตัวต้นแบบและการทดลองใช้ระบบ UHD 4k (ความละเอียดเสมือนจริง) ซึ่งเทคโนโลยีใหม่นี้มีความคมชัดกว่าแบบ HD ถึง 4 เท่า โดยมีการทดสอบใน โอลิมปิก ปี 2012 นอกจากนั้นยังมีการทดลองใช้กล้องระดับ 8k (ชัดกว่า 4k สองเท่า) อีกด้วย
และใน โอลิมปิก เกมส์ ปี 2016 ที่นคร ริโอ เดอ จาเนโร ก็มีการถ่ายทอดสดในระบบ UHD เป็นครั้งแรก สำหรับช่องเชิงพาณิชย์ ซึ่งด้วยความที่โลกอุตสาหกรรมยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อมอบประสบการณ์การรับชมที่สมจริงยิ่งขึ้น บางส่วนของการแข่งขันถ่ายทอดสดในระบบ UHD แบบ High Dynamic Range (HDR)ที่ให้ความแตกต่างในด้านของมิติเพิ่มมากขึ้น
ในโตเกียว 2020 วิวัฒนาการถ่ายทอดสดโอลิมปิกเขยิบไปอีกระดับเมื่อ NHK สถานีโทรทัศน์ของประเทศญี่ปุ่น ถ่ายทอดสด โอลิมปิก เกมส์ และ พาราลิมปิก เกมส์ ด้วยระบบ 8k ซึ่งในโอลิมปิก NHK ถ่ายทอดสด 7 ชนิดกีฬาคือ กรีฑา, ว่ายน้ำ, ยูโด, ฟุตบอล, เทเบิลเทนนิส, แบดมินตัน และวอลเลย์บอล
ส่วน พาราลิมปิก ถ่ายทอดสด 4 ชนิดกีฬาในระบบ 8k คือ กรีฑา, ว่ายน้ำ, แบดมินตัน และวีลแชร์ รักบี้ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ใช้ระบบนี้ถ่ายทอดสดพาราลิมปิกอีกด้วย
นอกจากนั้น ยังมีการติดตั้งกล้อง 8k กับ เฮลิคอปเตอร์ เพื่อถ่ายทอดพิธีเปิดและพิธีปิดการแข่งขันในระบบ 8k UHD ซึ่งมีการถ่ายทอดสดในระบบดังกล่าวทุกวันของการแข่งขัน อย่างไรก็ตามผู้รับชมต้องมีโทรทัศน์ที่รองรับระบบ 8k เท่านั้น
นี่ยังไม่รวมแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่จะมีการถ่ายถอดผ่านเครือข่าย 5จี โดยที่ผู้ชมสามารถรับประสบการณ์แบบเสมือนจริงหรือ VR 360 องศาได้อีกด้วย ซึ่งจากความสำเร็จของ โตเกียว 2020 ทำให้ ปารีส 2024 รับไม้ต่อมาพัฒนา แน่นอนว่าสัญญาณถ่ายทอดสดจะผลิตขึ้นในรูปแบบ Ultra High Definition (UHD) High Dynamic Range (HDR) ซึ่งทำให้ผู้ชมสามารถเห็นรายละเอียดได้มากกว่าแบบ Full High Definition ถึง 4 เท่า นอกจากนี้ยังมีระบบเสียงแบบ 5.1.4 ที่ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสกับประสบการณ์เสียงสามมิติที่สมจริงยิ่งขึ้น และทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนกำลังอยู่ท่ามกลางการแข่งขัน
ขณะเดียวกันยังจัดเต็มนวัตกรรมทั้งการใช้เอไอเข้ามาช่วยในการถ่ายทอดสด การใช้ระบบคลาวด์เพื่อลดการใช้ทรัพยากร รวมถึงการใช้เลนส์ภาพยนตร์ในการถ่ายทำเพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชม และสร้างอารมณ์ร่วมกับการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
TAG ที่เกี่ยวข้อง