stadium

ญี่ปุ่นกับการปฏิวัติห้องสุขารองรับโตเกียว 2020

19 พฤศจิกายน 2563

เมื่อมีกิจกรรมที่ผู้คนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก ห้องสุขาคือสิ่งสำคัญที่ผู้ดูแลพื้นที่จะปล่อยปละละเลยไม่ได้ เพราะเกี่ยวเนื่องไปถึงความสะอาด และสุขลักษณะของผู้ร่วมกิจกรรม ที่หากปล่อยทิ้งขว้างอาจเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคและก่อให้เกิดโรคระบาดต่าง ๆ

 

ในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติหรือ โอลิมปิก เกมส์ เรื่องนี้ก็นับว่ามีความสำคัญลำดับแรก ๆ ที่ฝ่ายจัดการแข่งขันหรือประเทศเจ้าภาพต้องเอาใจใส่ เพราะคงไม่มีใครอยากปล่อยให้เป็นจุดด่างพร้อยแม้จะดูแลในส่วนอื่นได้ดีแค่ไหนก็ตาม

 

และแน่นอนว่า ประเทศที่ใส่ใจทุกรายละเอียดอย่างญี่ปุ่น เจ้าภาพ โอลิมปิก เกมส์ ครั้งที่ 32 ย่อมพินิจพิเคราะห์เรื่องนี้ ไม่น้อยไปกว่าชาติเจ้าภาพทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ดินแดนอาทิตย์อุทัย จัดเต็มความพร้อมในเรื่องนี้แค่ไหนนั้น ติดตามได้ที่นี่

 

 

รื้อส้วมแบบเก่าทั่วประเทศ

ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ยังมีส้วมซึมแบบดั้งเดิมตามสถานที่สาธารณะ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งนักท่องเที่ยวจากฝั่งยุโรปหรืออเมริกาจะมีปัญหาในการใช้งาน เนื่องจากไม่คุ้นชิน อีกทั้งยังโดนวิจารณ์เรื่องความถูกสุขลักษณะ

 

และเมื่อได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก รัฐบาลก็ไม่นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ และเริ่มดำเนินการทันที โดยในการสำรวจเมื่อปี 2016 เปิดเผยว่า ห้องน้ำสาธารณะทั่วประเทศยังมีการใช้ส้วมซึมอยู่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นรัฐบาลจึงเริ่มต้นแคมเปญโดยให้ความช่วยเหลือเทศบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานที่ยอดนิยมอย่างเกียวโต โดยการให้เงินทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงมาเป็นส้วมแบบนั่ง รองรับนักท่องเที่ยวในช่วงแข่งขันโอลิมปิกที่จะเดินทางไปทั่วประเทศนอกจากโตเกียว

 

สถิติจากสำนักงานท่องเที่ยวญี่ปุ่นเปิดเผยว่า มีห้องน้ำถึง 332 แห่งที่ได้รับการปรับปรุงระหว่างปี 2017 ถึง 2019

 

นอกจากนั้น รัฐบาลยังใช้วิธีรณรงค์ให้ทุกคนสร้างสุขอนามัยที่ถูกต้อง ด้วยการใช้ตัวการ์ตูนอนิเมะที่มีหัวเป็นก้น และ อุนโกะ มิวเซียม (พิพิธภัณฑ์อุจจาระ???) มาเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่น่ารักในการเข้าห้องน้ำสาธารณะ เช่นเดียวกับการใช้อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง

 

อย่างหลังดูแลโดย TOTO ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสุขภัณฑ์ชั้นนำ รวมทั้งเป็นพาร์ทเนอร์กับ โตเกียว 2020 อย่างเป็นทางการ

 

ฝารองนั่งแบบมีระบบอุ่นในตัว, ฝาที่เปิด-ปิดได้แบบอัตโนมัติ บวกด้วยระบบขจัดกลิ่นในตัว กลายเป็นมาตรฐานของสุขาในกว่า 10 ล้านครัวเรือนของญี่ปุ่น นับตั้งแต่ TOTO จำหน่ายส้วมที่มีหัวฉีดทำความสะอาดก้นตัวแรกในช่วงปลายยุค 1980

 

เรื่องวิวัฒนาการส้วมของ TOTO นั้น หาดูได้จากพิพิธภัณฑ์ของพวกเขาที่ คิตะคิวชู ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ซึ่งไล่ตั้งแต่ส้วมซึมแบบกระเบื้องไปจนถึงรุ่นล่าสุดที่ออกแบบให้ฉีดน้ำได้หลายระดับความแรง พร้อมกับละอองน้ำเพื่อความสะอาดยิ่งขึ้นในราคา 604,000 เยน (ราว 176,500 บาท)

 

 

ไม่ใช่แค่อุปกรณ์ รูปลักษณ์ภายนอกก็สำคัญ

นอกจากปรับเปลี่ยนในเรื่องสุขภัณฑ์แล้ว ภาพลักษณ์โดยรวมของห้องน้ำสาธารณะก็ได้รับการดูแลไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ตัวอย่างเช่นที่เกาะมิยาจิมะทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ TOTOร่วมกับเทศบาลท้องถิ่นสรรสร้างอาคารห้องน้ำสาธารณะขนาดกว้างขวางถึง 183 ตารางเมตร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน บวกด้วยภาพลักษณ์ที่ล้ำสมัยแต่ยังกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นหนึ่งในนับร้อยอาคารที่สร้างขึ้นทั่วประเทศ ก่อนถึงการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว

 

หรืออย่างที่สนามบินนาริตะ นอกจากจะมีการปรับปรุงภาพลักษณ์แล้ว ยังเสริมด้วยอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ ทั้งระบบให้คำแนะนำด้วยเสียงสำหรับคนตาบอด และสถานที่คอยของสุนัขนำทาง

 

ขณะที่กรุงโตเกียว สถานที่หลักในการแข่งขัน ก็ทุ่มเทในเรื่องนี้ไม่แพ้กัน โดยมีโครงการ THE TOKYO TOILET ที่เชิญสถาปนิก 16 คนทั่วโลก มาออกแบบห้องน้ำสาธารณะ 16 แห่งรอบชิบูย่า กลายเป็นห้องน้ำที่มีความสวยงาม มีเอกลักษณ์ ดูปลอดภัย และน่าเข้าใช้บริการ อย่างเช่นผลงานของ ชิเงรุ บัน ที่ออกแบบให้ห้องน้ำโปร่งแสงสามารถมองเห็นคนใช้งานได้จากภายนอก แต่กำแพงจะกลายเป็นสีทึบทันทีหากมีการล็อกประตูจากด้านใน ซึ่งชูเรื่องของความสะอาดที่ผู้ใช้สามารถมองเห็นได้จากภายนอก รวมถึงความปลอดภัยจากการที่ได้รู้ว่าใครกำลังใช้ห้องน้ำอยู่นั่นเอง

 

นี่เป็นเพียงความใส่ใจคร่าว ๆ ในเรื่องสุขลักษณะของฝ่ายจัดการแข่งขัน โตเกียว 2020 ซึ่งเชื่อได้เลยว่า หากเราไปสัมผัสสถานที่จริงจะประทับใจกับความเป็นเจ้าภาพที่ดีของประเทศญี่ปุ่นได้มากกว่านี้แน่นอน


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator

stadium olympic