stadium

"โอลิมปิกฝันของพ่อคือเป้าหมายของเรา" เจนจิรา ศรีสอาด

1 กันยายน 2563

หากนึกถึงชื่อนักว่ายน้ำหญิงไทยสักคน ถ้าเป็นเมื่อก่อนชื่อของ ระวี อินทรพรอุม , ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร , ณัชฐานันตร์ จันทร์กระจ่าง คงจะแวบขึ้นมาในหัวเป็นชื่อแรก ๆ เพราะชื่อเหล่านี้ต่างก็ประสบความสำเร็จในซีเกมส์ และเคยผ่านโอลิมปิกเกมส์กันมาแล้ว

 

แต่ชั่วโมงนี้ชื่อของ “จอย” เจนจิรา ศรีสอาด กำลังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน เธอคือผู้หญิงที่ว่ายน้ำได้เร็วที่สุดของเมืองไทย ครองสถิติประเทศไทยถึง 3 รายการ และที่สำคัญเธอกำลังมีลุ้นไปโอลิมปิกเป็นครั้งแรก ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่อยู่กับว่ายน้ำ นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในเส้นทางนักกีฬาของเธอ

 

 

เกลียดการฝึกซ้อม

“ว่ายน้ำครั้งแรกตอน 9 ขวบ” เจนจิรา เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นในสายน้ำ

 

“ที่โรงเรียนลาซาลกรุงเทพ หลังเลิกเรียนทุกวันจะต้องนั่งรอคุณพ่อเลิกงานมารับกลับบ้าน ซึ่งเป็นเวลาว่างหลายชั่วโมง แต่มีอยู่วันหนึ่งพ่อเห็นว่าที่โรงเรียนมีสอนว่ายน้ำ เขาเลยให้เราไปซ้อมกับเพื่อนระหว่างรอพ่อมารับ”

 

“โรงเรียนจะขึ้นชื่อด้านกีฬาวอลเลย์บอล บาสเกตบอล แต่เราไม่คิดจะเล่นเพราะเป็นคนกลัวลูกบอลมาก ๆ ไม่มีทักษะ ไม่คิดจะมาทางด้านกีฬาเลย ถ้าแค่ให้เล่นสนุกกับเพื่อนเราโอเค แต่ถ้าให้ซ้อมลงคอร์สทุกวันเราไม่ไหว ไม่ชอบเลย ช่วงแรกที่ซ้อมเราใช้ลูกเล่นกับพ่อตลอด วันนี้ไม่พร้อมบ้าง มีข้อแม้บ้าง ขอเลื่อนเป็นวันหลังตลอด ช่วงแรก ๆ เขาก็ยอมนะ แต่สุดท้ายจบที่เราก็ต้องซ้อมอยู่ดี คล้าย ๆ กับโดนบังคับ (ขำ)”

 

หลังจากเรียนว่ายน้ำได้เพียง 2 เดือน เธอได้ลงแข่งรายการเล็ก ๆ และคว้าเหรียญรางวัลติดมือกลับบ้าน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณพ่อของเธอมองเห็นแววและตัดสินใจผลักดันลูกสาวคนเดียวเป็นนักกีฬาว่ายน้ำอย่างเต็มตัว พาเธอไปสมัครเรียนว่ายน้ำในคอร์สของนักกีฬากับสโมสรว่ายน้ำอย่างจริงจัง แต่ด้วยความเป็นเด็กทำให้เธอยังคงไม่เข้าใจว่าต้องฝึกซ้อมไปเพื่ออะไร

 

“พ่อเขาคิดว่าเรามีแววทางด้านว่ายน้ำ เพราะเราได้เหรียญตั้งแต่แข่งครั้งแรก เลยพาเราไปเรียนว่ายน้ำแบบจริงจัง เรียนคอร์สพื้นฐานของคนที่จะเป็นนักกีฬา ตอนกรอกใบสมัครจะมีช่องให้เขียนเป้าหมายความฝันของการเป็นนักกีฬา ซึ่งคุณพ่อเขียนให้เราว่า อยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ อยากไปคือโอลิมปิก”

 

“แต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้หรอกว่าโอลิมปิกคืออะไร เขาให้เราซ้อมเราก็ซ้อม แต่ในใจก็คิดนะว่าทำไมต้องซ้อมด้วย มาว่ายแบบนี้ทุกวันเพื่ออะไร น่าเบื่อมาก วันอาทิตย์แทนที่จะได้ไปเที่ยวเหมือนคนอื่น แต่เราต้องว่ายน้ำ โดนคลอรีนกัดจนผิวดำ เพื่อน ๆ จำแทบไม่ได้”

 

ภายใต้คำตาม ข้อสงสัยต่างๆว่าซ้อมแล้วได้อะไร แต่เด็กวัย 9 ขวบคนนี้หารู้ไม่ว่า ที่ปลายทางนั้นมีประตูทีมชาติไทยรอต้อนรับเธออยู่

 

 

จ่ายเงินหมื่นเพื่อแลกกับอนาคต

ความฝันตอนเด็ก ๆ ของ เจนจิรา คือการไปเที่ยวต่างประเทศ ได้ถ่ายรูปสวย ๆ บันทึกไว้เป็นความทรงจำ ซึ่งจุดเริ่มต้นเป็นเพราะเธอได้เห็นถ่ายภาพของคุณแม่เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ  จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจ แต่ทว่าในชีวิตจริงการไปเดินทางแต่ละครั้งนั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งหนทางเดียวที่จะทำให้เธอได้เปิดโลกกว้าง ก็คือการเป็นนักกีฬาตัวแทนทีมชาติ

 

ตอนอายุ 12 เจนจิรา มีชื่อติดเยาวชนทีมชาติไทยเป็นครั้งแรก เป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันซีเอจ กรุ๊ป ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยเธอมีชื่อเป็นมือ 2 ของท่าฟรีสไตล์และผีเสื้อ แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดและโอกาสในการคว้าเหรียญรางวัล ทำให้เธอถูกตัดชื่อออกในวินาทีสุดท้าย อย่างไรก็ตามเธอมีสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันเพียงแต่ต้องใช้งบส่วนตัวเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พัก

 

“พ่อยอมควักเงินประมาณ 22,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายแลกกับประสบการณ์ที่เราจะได้รับจากการแข่งระดับนานาชาติ แต่ครั้งนั้นเราไม่ได้เหรียญ แพ้สิงค์โปร์ในท่าผีเสื้อ 50 ม. ไป 0.03 วินาที จำขึ้นใจเลย ปีนั้นเพื่อนร่วมรุ่นได้เหรียญกันหมดทั้ง เบญจพร ศรีพนมธร , ชวัลนุช สลับลึก”

 

“ก็ผิดหวังนะ กลับมาเราซ้อมเหมือนเดิม แต่รอบนี้เราคิดมากขึ้น ทำไมเพื่อนได้เหรียญแล้วเราไม่ได้ เราตั้งปณิธานเลยว่าครั้งต่อจะต้องเป็นมือ 1 ของรุ่นไปแข่งต่างประเทศโดยไม่เสียเงินสักบาท แล้วต้องคว้าเหรียญรางวัลมาให้ได้”

 

ความผิดหวังในครั้งนั้นถูกเปลี่ยนเป็นแรงผลักดัน หลังจากนั้น เจนจิรา ลงแข่งซีเอจ กรุ๊ป อีก 5 ครั้ง คว้าเหรียญทองกลับมาได้ทุกปี เวลานี้ประตูสู่ทีมชาติชุดใหญ่เปิดรอเธออยู่แล้ว

 

 

ฆ่าได้ หยามไม่ได้

ถึงแม้ว่าจะติดเยาวชนทีมชาติไทยมาพร้อมกัน แต่เบญจพรและชวัลนุชได้ติดทีมชาติลุยศึกซีเกมส์กันก่อนแล้วในปี 2009 ส่วน เจนจิรา ก้าวขึ้นสู่ชุดใหญ่ในอีก 2 ปีให้หลัง

 

“มีช่วงนึงที่เพื่อนติดทีมชาติชุดใหญ่กันหมดแล้ว เหลือแต่เรา ถึงแม้ตอนเด็ก ๆ เราจะยังไม่รู้ว่าซ้อมไปทำไม แต่พอโตขึ้นมาก็ได้รู้คำตอบแล้วว่าเราอยากติดทีมชาติ”

 

“ทั้ง ๆ ที่แข่งมาด้วยกัน โตมาด้วยกัน แต่เรารู้สึกว่าทำไมเพื่อนเราเก่ง เราก็อยากเป็นทีมชาติเหมือนกันนะ แล้วพอเพื่อนติดทีมชาติแต่เราไม่ติด ก็ไม่รู้จะซ้อมไปทำไม ช่วงนั้นก็เลยปล่อยตัวไม่ตั้งใจซ้อม ร่างกายไม่ฟิตไปแข่งกีฬาแห่งชาติก็ไม่ได้เหรียญรางวัลเลยแม้แต่เหรียญเดียวเป็นครั้งแรกในชีวิต”

 

“แต่จุดที่ทำให้เรากลับมาตั้งใจอีกครั้ง เพราะกีฬาแห่งชาตินี่แหละ เราไม่ได้เหรียญก็จริง แต่ดันไปได้ยินคนพูดถึงเราว่า ถ้าเป็นแบบนี้เดี๋ยวลูกเขาแซงหน้าเราไปติดทีมชาติก่อนแน่นอน เพราะลูกเขาได้เหรียญกีฬาแห่งชาติ ตอนนั้นคิดเลยว่าไม่ได้การแล้ว จะยอมให้ใครแซงหน้าไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว”

 

คำถามที่เคยมีว่าซ้อมไปทำไม ซ้อมไปเพื่ออะไร ค่อย ๆ หายไป เจนจิรา คนเดิมแต่ความคิดใหม่ เธอมีเป้าหมายในการว่ายน้ำ และเป้าหมายที่ว่าไม่ใช่แค่การติดทีมชาติ ไม่ใช่แค่ติดทีมไปซีเกมส์ แต่คือการเป็นเป็นตัวแทนเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ ความฝันที่เคยเป็นของพ่อ ในตอนนี้กลายเป็นความฝันของเธอแล้วเช่นกัน

 

 

 

ฝันของพ่อคือเป้าหมายของเรา

จุดเด่นของ เจนจิรา เธอเป็นนักว่ายน้ำสายสปริ้นท์ ระยะสั้น 50 เมตร การันตีด้วยการเป็นเจ้าของสถิติประเทศไทยระยะนี้ทั้งหมด 3 ท่า ฟรีสไตล์ , ผีเสื้อและกบ เรียกได้ว่าถ้าวัดกันในระยะนี้ในประเทศไทยแทบไม่มีใครเร็วกว่าเธอ

 

นับตั้งแต่ขึ้นสู่ทีมชาติชุดใหญ่ในปี 2011 เธอผ่านซีเกมส์มาทั้งหมด 5 ครั้ง หากนับเฉพาะเหรียญประเภทบุคคล ยังไม่เคยได้ยืนอยู่บนโพเดี้ยมขั้นสูงสุด ทำผลงานได้ 4 เงิน 2 ทองแดง โดยเฉพาะครั้งล่าสุดที่ฟิลิปปินส์ในปี 2019 เธอได้ 3 เหรียญเงินจากระยะ 50 ม. ทั้ง ฟรีสไตล์ ผีเสื้อและกบ 3 รายการที่เธอเป็นเจ้าของสถิติประเทศไทย ใกล้เคียงกับความสำเร็จระดับภูมิภาคมากขึ้นทุกที

 

ขณะเดียวกันเธอยังขยับเข้าใกล้ความฝันโอลิมปิกเกมส์ เวลานี้สถิติฟรีสไตล์ 50 เมตร ของเธออยู่ที่ 25.32 วิ ผ่านเกณฑ์โอลิมปิก เกณฑ์บี ที่ตั้งไว้ 25.51 วินาทีไปแล้ว แต่เวลานี้ยังต้องลุ้นโควตาจากไวลด์การ์ดกับนักกีฬาคนอื่น ๆ แต่ถ้าจะเอาให้ชัวร์เธอต้องลดเวลาให้ต่ำกว่า 24.77 วินาที กับช่วงเวลายังพอมีความเป็นไปได้เช่นกัน 

 

“บอกตรง ๆ ไม่คิดว่าจะมาได้ไกลขนาดนี้เหมือนกัน จริง ๆ คิดว่าจะเลิกตั้งแต่ซีเกมส์ 2017 ตอนนั้นคิดว่าเหนื่อยแล้วอยากพัก เลิกตอนนั้นยังพอหางานทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่ว่ายน้ำทำได้บ้าง แต่พอไปเอเชียนอินดอร์เกมส์ เราดันทำเวลาได้ดีเลยคิดว่าตัวเองยังพัฒนาได้อยู่”

 

“เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เราได้ย้ายมาซ้อมที่สระใหม่กับ Bangkok Swim Academy (BEST) ทุกคนที่นี่ซ้อมกันอย่างจริงจัง ทุกคนมีเป้าหมายอยากเก่ง อยากพัฒนา มีแรงจูงใจ สภาพแวดล้อมดี ไซม่อน โจนส์ (อดีตโค้ชว่ายน้ำทีมชาติไทย) ก็คุยได้ทุกเรื่องเข้าใจนักกีฬา ทำให้เราอยากไปให้ถึงเป้าหมาย”

 

“อยากขอบคุณพ่อกับแม่ที่สนับสนุนมาตลอด ถ้าวันนั้นท่านไม่บังคับ เราคงมาไม่ได้ไกลขนาดนี้ วันนี้เป้าหมายเราชัดเจนมาก ๆ อยากติดโอลิมปิก , เข้ารอบรองชนะเลิศสระสั้นชิงแชมป์โลก (สระ 25 เมตร) , คว้าเหรียญทองซีเกมส์”


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

stadium olympic