13 มิถุนายน 2564
แม้ว่าโอลิมปิก 2016 จะเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ที่ทีมมวยสากลสมัครเล่นไทยต้องกลับบ้านมือเปล่า แต่ในยุคที่ว่ากันว่าวงการกำปั้นไทยนั้นขาดแคลนนักมวยฝีมือดี ก็ยังมีนักชกหน้าใหม่ที่ก้าวขึ้นมาเป็นความหวังได้ทันเวลา ชื่อของ “เหลิม” ธิติสรรณ์ ปั้นโหมด นักชกวัย 19 ปี เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี 2018 ด้วยผลงานการคว้าแชมป์เยาวชนโลก และรองแชมป์เยาวชนเอเชียในปีเดียวกัน จุดเด่นของนักชกดาวรุ่งรายนี้คือความไวและความแข็งแรง แถมยังกล้าได้กล้าเสียในจังหวะสำคัญ ทำให้เขายืนอยู่เหนือสุดขึ้นของนักมวยรุ่นราวคราวเดียวกัน
ความน่าสนใจอีกอย่างของนักมวยคนนี้ แม้ว่าเพิ่งจะอายุ 19 ปี แต่มีหลักคิดที่ดูจะโตเกินกว่าอายุ ไม่ชอบเป็นจุดเด่น ไม่ชอบเป็นจุดสนใจ รักในสิ่งที่ทำ มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน โฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ ไม่เกรงกลัวปัญหาและอุปสรรค จึงไม่น่าแปลกใจที่นักมวยดาวรุ่งจาก จ.พิจิตร คนนี้จะใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปี จากแชมป์เยาวชนโลกก้าวขึ้นมาสู่ทีมชาติชุดใหญ่และคว้าโควตาโอลิมปิก 2020 ได้แต่ตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
ชกมวยเพราะถูกเพื่อนแกล้ง
เสียงของกำปั้นที่กระแทกกับกระสอบทรายคล้ายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำของ ธิติสรรณ์ ตั้งแต่เด็ก เขาเกิดและโตมาโดยมีพ่อเป็นเจ้าของค่ายมวย ส.สายันต์ ค่ายมวยเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดพิจิตร ชีวิตในวัยเยาว์แม้ว่าจะวิ่งเล่นอยู่ในค่ายมวยเป็นประจำแต่เขาก็ไม่ได้มีความคิดที่จะเป็นนักมวยเลยแม้แต่น้อย ด้วยนิสัยใจคอที่รักสงบ ไม่ชอบใช้ความรุนแรง แถมยังมีรูปร่างที่เล็กกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน ทำให้เขามักจะถูกเพื่อนร่วมชั้นเรียนแกล้งอยู่เป็นประจำ
จนกระทั่งวันหนึ่ง ธิติสรรณ์ เริ่มทนไม่ไหว โดนเพื่อนกลุ่มเดิม 4-5 คน รุมรังแกร้องไห้จนต้องกลับไปบ้านขอให้พ่อช่วยสอนแม่ไม้มวยไทยให้ เพื่อที่จะได้มีทักษะด้านการชกมวยไปแก้แค้นเพื่อนกลุ่มนั้น
จากนั้นทุกวันหลังเลิกเรียน ธิติสรรณ์ ใช้เวลาฝึกซ้อมอยู่ในค่ายด้วยความมุ่งมั่นและไฟแค้นที่สุมอยู่เต็มอก ทำให้ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนฝีมือมวยเขาพัฒนาไปรวดเร็วมาก แต่ยังไม่ทันจะได้เอาวิชามวยไปแก้แค้น เขาก็ถูกพ่อพาขึ้นไปชกมวยไทยตามงานต่าง ๆ ต่อยได้ประมาณ 20 ไฟต์ ก็ได้ไปชกชิงแชมป์ภาคเหนือและเป็นแชมป์
“พอผมเป็นแชมป์ภาคเหนือ ผมกลับไปท้าพวกนั้นต่อย ไม่มีใครกล้าสู้ผมเลย หลังจากนั้นกลายเป็นผมที่เป็นฝ่ายไปแกล้งพวกนั้นแทน”
หลังจากนั้น 2 ปี ธิติสรรณ์ เริ่มมีความคิดที่อยากจะเอาดีทางหมัดมวย จึงเลือกมาเรียนต่อในระดับมัธยมที่โรงเรียนกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ที่แห่งนี้ภายใต้การดูแลของอ.ผดุงชัย พันนุมา ครูผู้สอน ทำให้เขาได้รู้จักกับมวยสากลเป็นครั้งแรก และใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวก็คว้าแชมป์กีฬาโรงเรียนกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นความสำเร็จก้าวแรก ก่อนจะต่อยอดไปสู่แชมป์เยาวชนประเทศไทยในปีต่อมา และถูกเรียกติดทีมชาติไทยไปแข่งเยาวชนชิงแชมป์เอเชียในปี 2015
อยากเก่งต้องซ้อม
เส้นทางนักมวยของ ธิติสรรณ์ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เขาใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปีหลังจากเริ่มชกมวยสากลก็ได้เป็นตัวแทนเยาวชนทีมชาติไทยไปแข่งที่ต่างประเทศ แม้ว่าช่วงแรกจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ทุก ๆ ความพ่ายแพ้ถึงจะน่าผิดหวัง แต่เขาก็ได้เรียนรู้และบอกตัวเองเสมอว่าจะต้องทำให้ดีกว่าเดิม
“ผมไม่มีพรสวรรค์ ทุกอย่างเกิดจากการฝึกซ้อม อยากเก่งก็ต้องซ้อม”
“ประสบการณ์จากการแพ้หลาย ๆ ครั้ง ทำให้ผมเริ่มศึกษาทุกอย่างจากข้างล่างเวที ดูเทปวีดีโอการชกของคู่แข่ง ดูว่ากรรมการบนเวทีชอบมวยแบบไหนก็ต่อยแบบนั้น จุดไหนที่เราต้องแก้ไข ก็ปรับปรุง”
ไม่น่าเชื่อว่าหลังจากนั้นความสำเร็จก็ถาโถมเข้ามาในชีวิตอย่างไม่ทันตั้งตัว เริ่มจากการได้เหรียญทองแดงเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย 2017 ที่เปรียบเสมือนใบเบิกทาง เพราะปีต่อมาเขาแจ้งเกิดแบบเต็มตัวในระดับนานาชาติ ได้ทั้งแชมป์เยาวชนโลกที่ฮังการี และรองแชมป์เอเชีย
ความสำเร็จของ ธิติสรรณ์ นั้นมาช่วงเวลาของการเปลี่ยนถ่ายนักมวยสายเลือดใหม่ จากความผิดหวังในโอลิมปิก 2016 ทำให้สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องพยายามผลักดันนักมวยดาวรุ่งขึ้นซ้อมมากับทีมชุดใหญ่เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และเตรียมความพร้อมสำหรับโอลิมปิก 2020 ช่วงเวลาที่ได้ซ้อมร่วมกับทีมขุดใหญ่เป็นเหมือนความฝัน ธิติสรรณ์ มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับ ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี ฮีโร่ในดวงใจและใช้โอกาสนี้ไปขอความรู้จากประสบการณ์ตรง พร้อมศึกษาสไตล์การชกรูปแบบต่าง ๆ จากนักมวยรุ่นพี่ก่อนจะนำมาปรับใช้กับตัวเอง
แม้ว่าในระดับเยาวชนจะเป็นถึงแชมป์โลก แต่เมื่อขยับมารุ่นในทั่วไปเขายังคงแค่เบอร์ 2 ในรุ่น 52 กก. เท่านั้น อย่างไรก็ตามการไปไม่ถึงเหรียญทองในซีเกมส์ 2019 ของ อมฤทธิ์ เยาว์ดำ ทำให้โอกาสในการไปลุยศึกโอลิมปิก 2020 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย/โอเชียเนีย เลยตกมาเป็นของ ธิติสรรณ์
“เป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตก็ว่าได้ โค้ชมาบอกผมก่อนเดินทางแค่ 3-4 วัน ว่าให้ผมเป็นตัวแทนรุ่นไปคัดโอลิมปิก”
“ไม่มีใครรู้ว่าโอกาสจะมาเมื่อไหร่ ผมทำได้แค่พยายามทำตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอ ตอนนั้นดีใจมากครับ คิดอย่างเดียวว่าจะทำยังไงไม่ให้โอกาสนี้หลุดลอยไปเพราะมันเป็นสิ่งที่เฝ้ารอมาตั้งแต่เริ่มชกมวย”
นี่คือประสบการณ์ในทีมชาติชุดใหญ่ครั้งแรกกับรายการใหญ่ที่สุดในชีวิต ด้วยความนิ่งที่เกินอายุ เขาจัดการเอาชนะคู่แข่งที่มีประสบกาณ์เหนือกว่าถึง 4 คน 1 ในเหยื่อที่เป็นบันไดให้เขาก้าวขึ้นไปคว้าตั๋วโอลิมปิก ก็คือการพลิกล็อกเอาชนะ ชาห์โคบิดิน ซอยรอฟ จากอุซเบกิสถาน เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2016 และเป็นแชมป์โลก 2019 ไปแบบขาดลอยชนิดที่กรรมการเทใจให้นักชกไทยหมดทุกคน
“ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร รู้แต่ว่าเก่งมาก ไล่อัดคู่แข่งรอบก่อนหน้านี้แบบขาดลอย แต่ที่น่าแปลกคือผมไม่ได้รู้สึกกลัวเลยด้วยซ้ำ คิดหาวิธีทำยังไงให้ชนะอย่างเดียว พอขึ้นเวทีไปก็เห็นจุดอ่อนแล้วว่าเขาลดน้ำหนักมาเยอะ ดูเหนื่อย แล้วเขามาชกในสไตล์ที่ผมถนัด พยายามจะเอาความเร็วมาสู้กับผม ยิ่งเข้าทาง”
สานต่อตำนานบทใหม่
ธิติสรรณ์ กลายเป็นนักชกไทยอายุน้อยที่สุดที่ได้ไปโอลิมปิกเกมส์ แต่นี่ยังเป็นเพียงก้าวแรกบนสังเวียนจริงเท่านั้น บนเวทียังมีอะไรให้เขาต้องพิสูจน์และท้าทายตัวเองอีกมาก หนึ่งสิ่งที่ทำให้เด็กคนนี้น่าสนใจก็คือทัศนคติอันยอดเยี่ยม ธิติสรรณ์ นั้นเป็นนักกีฬาที่พยายามคิดหาวิธีพัฒนาการตัวเองอยู่เสมอ มีความสุขกับการได้ชกมวยในแบบของตัวเอง ไม่ชอบเป็นที่สนใจ ไม่ชอบออกสื่อหรือถูกคาดหวัง ชอบที่จะเป็นม้ามืดที่พร้อมสร้างเซอร์ไพรส์ในทุก ๆ การแข่งขัน
ก่อนจะวางสายบอกลากันไป กำปั้นดาวรุ่งได้ทิ้งทวนกับเราไว้อย่างน่าสนใจ "ผมอยากได้เหรียญทองโอลิมปิกครับ บอกไปก็ไม่รู้จะมีใครหมันไส้ผมหรือเปล่า แต่ผมมั่นใจมากด้วยว่าผมจะทำสำเร็จ หรืออย่างน้อยก็ได้เหรียญใดเหรียญหนึ่งติดมือกลับมา"
น้ำเสียงของเขาที่เปล่งออกมา เราสัมผัสได้ว่าเป็นประโยคที่อัดแน่นไปด้วยความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริง น่าสนใจทีเดียวว่ายอดนักชกคนนี้จะสานต่อตำนานบทใหม่ของทีมกำปั้นไทยในโอลิมปิกได้หรือไม่
TAG ที่เกี่ยวข้อง