stadium

ณัชฐานันตร์ : นักว่ายน้ำมืออาชีพที่เด็กรุ่นหลังควรยึดเป็นแบบอย่าง

25 พฤษภาคม 2563

13 เมษายน ของทุกปีช่วงนี้จะเป็นเทศกาลที่มีความสุขมากที่สุดของคนไทย แต่กับครอบครัว จันทร์กระจ่าง 13 เมษายน ในปี พ.ศ. 2529 นั้นพิเศษกว่าทุกปี ความสุขของครอบครัวนี้นั้นทวีคูณขึ้นเป็นหลายเท่า เมื่อเด็กหญิง “อุ้ม” ณัชฐานันตร์ จันทร์กระจ่าง ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเทศกาลแห่งสายน้ำของไทย เหมือนโชคชะตาได้กำหนดมาแล้ว เพราะบังเอิญแบบไม่น่าเชื่อว่าอีก 34 ปีต่อมา เด็กสาวที่เกิดในช่วงเทศกาลแห่งสายน้ำของไทย ได้กลายเป็นตำนานนักกีฬาว่ายน้ำที่ดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย และเธอเป็นนักว่ายน้ำคนแรกที่ก้าวเข้าใกล้คำว่า นักว่ายน้ำมืออาชีพมากที่สุด ในวันที่กีฬาว่ายน้ำยังไม่เข้าใกล้คำว่า กีฬาอาชีพแม้เพียงสักนิด

 

 

Take your Mark

ถึงในวัยเด็กจะชอบเล่นน้ำมากขนาดไหน แต่ชีวิตของ “อุ้ม” ณัชฐานันตร์ จันทร์กระจ่าง ก็ไม่เฉียดใกล้ที่จะได้เริ่มต้นการเป็นนักว่ายน้ำเลย จนกระทั่งในวัย 8 ปี ถึงได้เริ่มเรียนว่ายน้ำเป็นครั้งแรกในชีวิต เธอรอจนถึงอายุ 10 ปี ถึงได้เริ่มออกแข่งขัน ซึ่งในช่วงแรกของการแข่งขันเธอก็ไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในระดับนักว่ายน้ำแถวหน้าของรุ่นเลยด้วยซ้ำ จุดพลิกผันคือตอนขึ้นชั้น มัธยม 3 อุ้มที่มีพัฒนาการด้านการว่ายน้ำอย่างต่อเนื่อง เริ่มได้ขึ้นมามีชื่อติดธงเป็นตัวแทนนักว่ายน้ำเยาวชนทีมชาติไทยแต่ยังคงอยู่ในระดับมือ 2 เท่านั้น และเธอมาผงาดขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของประเทศในรุ่นอายุของตัวเองจริง ๆ ก็ตอนขึ้นชั้นมัธยม 5 ไปแล้วซึ่งถือว่าค่อนข้างช้ากว่ามาตรฐานนักว่ายน้ำหญิงทีมชาติไทยโดยทั่วไปอยู่พอสมควร แต่นั้นเป็นแค่เรื่องราวในขั้นเตรียมตัวออกสตาร์ทในเส้นทางชีวิตการว่ายน้ำของเธอ ซึ่งเรื่องราวความสำเร็จของเธอหลังจากเริ่มต้นออกตัวจาก บล็อกสตาร์ท ไปแล้วนั้นน่าสนใจกว่านี้มาก

 

 

มุมมองของนักว่ายน้ำ 3 ยุค

ณัชฐานันตร์ จันทร์กระจ่าง ติดทีมชาติชุดใหญ่ครั้งแรกในซีเกมส์ ปี 2003 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่วงการว่ายน้ำไทยครองบัลลังก์จ้าวอาเซียน หลังจากนั้นเธอติดทีมชาติมาอย่างต่อเนื่อง จนผ่านเข้าสู่ยุคที่ว่ายน้ำไทยมีผลงานระดับปานกลาง ๆ และติดทีมต่อเรื่อยมาจนกระทั่งใน 3-4 ปี หลังสุดที่คนทั่วไปมองว่าเป็นยุคตกต่ำแบบเต็มตัวของว่ายน้ำไทย 

เธอเล่าถึงความรู้สึกในการแข่งขันแต่ละยุคว่ามันต่างกันไปหมด ตอนเป็นนักว่ายน้ำตัวหลัก ตัวความหวัง จะมีทั้งความเครียด ความกดดัน เพราะอาจต้องแบกความหวังของคนทั้งชาติ แต่ในช่วงหลัง เธอเปรียบเสมือนพี่ที่คอยดูแลน้อง คอยให้คำปรึกษา คอยจัดการเรื่องต่าง ๆ และพยายามสนุกไปกับการแข่งขันมากว่า แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยไม่ว่ายุคไหนก็คือ เธอทำเต็มที่ทุกครั้งที่ลงสนามในนามทีมชาติไทย 

 

ส่วนความเห็นของเธอต่อวงการว่ายน้ำไทยเราในปัจจุบัน เธอเชื่อว่าเราอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ผลัดใบ เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านหลายประเทศที่ประสบปัญหาเดียวกัน ซึ่งทีมว่ายน้ำไทยเราเองก็มีดาวรุ่งที่เปี่ยมศักยภาพที่ยังคงต้องใช้เวลาบ่มเพาะอีกสักระยะ เพื่อที่จะก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จเหมือนรุ่นพี่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราเองก็ยังต้องพัฒนาในเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่บางจุดเรายังล่าช้าอยู่ควบคู่ไปด้วย ซึ่งปัจจุบันทางสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทยเองก็พยายามพัฒนาตรงจุดนี้อยู่แล้วเช่นเดียวกัน

 

 

นักว่ายน้ำผู้ประสบความสำเร็จมากที่สุด

ในยุคปัจจุบันการได้เข้าแข่งซีเกมส์ และได้รับเหรียญรางวัลสักเหรียญก็ถือว่าน่าดีใจแล้วแต่ ณัชฐานันตร์ จันทร์กระจ่าง ผ่านซีเกมส์มาแล้วทั้งหมด 9 ครั้ง คว้าเหรียญซีเกมส์รวม 40 เหรียญ แบ่งเป็นเหรียญทอง 15 เหรียญ เหรียญเงิน 17 เหรียญ และเหรียญทองแดง 8 เหรียญ โดยเฉพาะซีเกมส์ปี 2011 ที่อินโดนีเซีย ครั้งนั้นเธอคว้าคนเดียวได้ถึง 5 เหรียญทอง 

 

ล่าสุดในปี 2019 ที่ผ่านมาในวัย 33 ปี เธอลงแข่งขันรายการเอเชียน เอจ กรุ๊ป ที่ประเทศอินเดีย และสามารถคว้าได้ถึง 10 เหรียญทอง กับ 1 เหรียญทองแดง และสามารถคว้ารางวัลนักว่ายน้ำยอดเยี่ยมของกลุ่ม A มาครองได้สำเร็จอีกด้วย อีกหนึ่งความมหัศจรรย์ และเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จในตัวเธอได้เป็นอย่างดีก็คือ 89 เหรียญทอง 18 เหรียญเงิน และ 10 เหรียญทองแดง ในกีฬาแห่งชาติ ที่เธอเริ่มต้นแข่งขันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2561 มันช่างเป็นความสำเร็จที่ต่อเนื่องยาวนานระดับปรากฎการณ์ ชนิดที่หาคนที่จะลอกเลียนแบบได้ยากจริง ๆ

 

เงือกสาว 3 โอลิมปิกเกมส์

ณัชฐานันตร์ จันทร์กระจ่าง ลงแข่งโอลิมปิกมาแล้วทั้งหมด 3 สมัย ใน 3 ทวีป ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของนักว่ายน้ำหญิงไทย โดยโอลิมปิก 3 สมัยของเธอเกิดขึ้นที่ ปักกิ่ง ปี 2008 ลอนดอน ปี 2012 และริโอเดอจาเนโร ปี 2016 เธอเล่าว่าตื่นเต้น และกดดัน ทุกครั้งที่ลงแข่งในโอลิมปิกเกมส์ เพราะมันเป็นรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งบรรยากาศในโอลิมปิกทั้ง 3 ครั้ง ไม่เหมือนกันเลย ให้ประสบการณ์ที่ต่างออกไปทุกครั้ง ทั้งระบบการจัดการแข่งขัน การปรับตัวให้เข้ากับเวลาในท้องถิ่นนั้น ๆ ทำให้เธอต้องปรับสภาพร่างกายให้พร้อมกับการแข่งขันทุกครั้ง ซึ่งประสบการณ์จากการแข่งขันในแต่ละครั้ง มีส่วนช่วยให้เธอเรียนรู้ พัฒนาตนเอง ให้ใกล้เคียงกับนักกีฬาระดับมืออาชีพมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

 

นักว่ายน้ำมืออาชีพ

ถ้านับรวมในสมัยเป็นเยาวชนทีมชาติด้วยแล้ว ณัชฐานันตร์ จันทร์กระจ่าง ติดทีมชาติมาแล้วเกินครึ่งชีวิต กีฬาว่ายน้ำซึ่งไม่เคยเป็นกีฬาอาชีพเลยในเมืองไทย แต่ถ้าจะมีใครใกล้เคียงกับคำว่า “นักว่ายน้ำมืออาชีพ”มากที่สุดก็คงเป็นตัวเธอนี่แหละ เพราะตั้งแต่ติดทีมชาติครั้งแรกสุดมาจนถึงทุกวันนี้ เธอดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการว่ายน้ำแทบจะอย่างเดียวเลย ว่ากันว่าเงินอัดฉีดรวมทุกรายการที่เธอรับใช้ชาติ และต้นสังกัดต่าง ๆ มาตลอดเกือบ 20 ปีนั้น มีผู้สัดทัดกรณีในวงการว่ายน้ำเคยคำนวนเอาไว้ว่าอยู่ในหลักสิบล้านบาท เพราะความสำเร็จของเธอนั้นต่อเนื่องยาวนานจริง ๆ ไม่รวมกับเงินเดือนของนักกีฬาทีมชาติที่ก็มีให้อยู่ตลอด อีกทั้งเธอยังควบตำแหน่งเป็นทั้งนักกีฬา และผู้ฝึกสอนให้กับสังกัดอย่าง ชมรมว่ายน้ำสิงห์อีกด้วย ซึ่งในส่วนนี้ก็มีเงินเดือนให้อีกเช่นกัน นอกจากเงินเดือนแล้ว ต้นสังกัดยังมีการส่งฝึกซ้อม และแข่งขันในต่างประเทศเป็นการสนับสนุนอีกทาง 

 

อีกหนึ่งงานพิเศษของเธอ คือการรับเป็น Part-Time Coach ให้กับโรงเรียนนานาชาติชื่อดังอย่าง บางกอกพัฒนา ในส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็แทบไม่มีปัญหาเพราะว่าเธอมีผู้สนับสนุนเป็น SPEEDO แบรนด์ว่ายน้ำระดับโลกคอยช่วยเหลือมาตลอด กระทั่งในเรื่องเรียน เธอก็ยังเป็นนักกีฬาทุนมาตลอดได้เรียนมหาวิทยาลัยดี ๆ โดยที่ไม่ต้องรบกวนเงินที่บ้านเลย จากความสำเร็จทั้งหมดที่กล่าวมามันเกิดจากความเป็นมืออาชีพ และความรักในกีฬาว่ายน้ำของเธออย่างแท้จริง ทำให้เธอสามารถยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้น สามารถซื้อบ้าน และรถใหม่ให้ คุณพ่อ คุณแม่ อยู่สบายมากขึ้น รวมถึงซื้อรถ และคอนโดให้กับตัวเอง ซึ่งทั้งหมดมันเกิดจากอาชีพ นักว่ายน้ำที่รักของเธอ

 

เป้าหมายปัจจุบัน และอนาคต

ณัชฐานันตร์ จันทร์กระจ่าง ไม่เคยจินตนาการตัวเองในแบบที่ไม่ใช่นักว่ายน้ำมาก่อนเลย แต่เธอก็แอบชอบอยากลองทำงานเบื้องหลังเกี่ยวกับด้านนิเทศศาสตร์อยู่เหมือนกัน เพราะถึงแม้มันจะเหนื่อยแต่เธอก็คิดว่ามันน่าจะสนุกดี  ในศึกว่ายน้ำชิงแชมป์โลก 2019 ที่กวางจู ประเทศเกาหลีใต้ เหมือนเป็นรายการที่นำพาโลกปัจจุบัน และโลกอนาคตของเธอมาบรรจบกัน 

 

เธอลงแข่งทั้งในประเภทการแข่งขันปกติ และประเภท Master (รุ่นการแข่งขันแบบกลุ่มอายุเริ่มต้นที่ 25 ปีขึ้นไป) ซึ่งทั้ง 2 ประเภทมันต่างกันอย่างสิ้นเชิงในการแข่งขันปกติมันยังคงมีความกดดันอยู่บ้าง เพราะเป็นรายการใหญ่ มีความจริงจังที่เธอยังต้องการทำเวลาให้บรรลุเป้าหมายข้ามผ่านกำแพงเวลา 2 นาที ในท่าฟรีสไตล์ 200 เมตรไปให้ได้ แต่กับการแข่งขันในรุ่น Master เป็นคนละเรื่องกันเลย มันเป็นเกมแห่งมิตรภาพ ถึงจะแข่งกันเต็มที่แต่บรรยากาศก็สนุกสนาน นั้นทำให้เธอเริ่มเห็นภาพตัวเองในอนาคต ที่สามารถทำงานอย่างอื่นแบบที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ฝึกสอน หรืองานด้านนิเทศศาสตร์ โดยที่ยังสามารถแวะกลับมาหา และเล่นกีฬาว่ายน้ำที่รักได้อย่างแบบมีความสุขอยู่เสมอในรูปแบบการแข่งขันแบบ Master ซึ่งครั้งที่ผ่านมาเธอ เพื่อน และรุ่นน้อง น่าจะสนุกกันมาก เพราะแบกเหรียญทอง พร้อมทำลายสถิติโลก Master กลับบ้านกันถ้วนหน้าแบบชื่นมื่นสุด ๆ   

 

 

เกิดมาเพื่อรู้และเป็นผู้ให้ความรู้

ณัช แปลว่า เกิดมาเพื่อความรู้ และผู้ให้เกิดความรู้ ฐานันตร์ แปลว่าตำแหน่ง สถานะ หรือลำดับชั้น คงไม่มีคำไหนอธิบายความเป็นตัวเธอได้ดีกว่าชื่อของเธอเองอีกแล้ว เพราะวันนี้ตัว ณัชฐานันตร์ จันทร์กระจ่าง ดำรงตำแหน่งอยู่ในทั้ง 2 สถานะทั้งนักกีฬา และผู้ฝึกสอน ในการเป็นนักว่ายน้ำ เธอมักบอกอยู่เสมอว่า ว่ายน้ำสอนเธอให้ได้เรียนรู้ถึงสิ่งใหม่แบบไม่เคยจบสิ้น ซึ่งเธอเองก็ยังคงสนุกที่ได้เรียนรู้มันต่อไปเรื่อย ๆ แบบไม่เคยเบื่อ ในขณะเดียวกันอีกหนึ่งบทบาท หรือตำแหน่งในปัจจุบันอีกอย่าง ที่เธอได้เริ่มทำมาตลอดในหลายปีหลัง ก็คือเป็นผู้ให้ความรู้ หรือผู้ฝึกสอนว่ายน้ำนั้นเอง ซึ่งเธอได้ใช้ความรู้ และประสบการณ์กว่า 20 ปี ในการรับใช้ชาติของเธอ ถ่ายทอดความรู้ให้กับนักว่ายน้ำเยาวชนรุ่นหลัง เพื่อพัฒนานักว่ายน้ำรุ่นใหม่ให้ขึ้นมาสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย เหมือนที่เธอเคยได้ทำมาแล้วในอดีต


stadium

author

ฉลามหนุ่มไทยแลนด์

StadiumTH Content Creator

stadium olympic