4 พฤษภาคม 2563
ชลธร วรธำรง คือหนึ่งในนักกีฬาไทย ที่หาเรื่องของเธออ่านยากมากที่สุดคนหนึ่ง เมื่อเทียบกับผลงานของกรรเชียงสาวผู้นี้ที่เคยได้ลงสนามรับใช้ทีมชาติไทยเมื่อในอดีต ในยุคหนึ่งเธอคือหนึ่งในนักว่ายน้ำระดับชั้นนำ ที่ไม่ใช่แค่เพียงกับประเทศไทย แต่อยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาคอาเซียนเลย
นักว่ายน้ำตัวเล็ก
ชลธร วรธำรง หรือ เงือกโอ เริ่มหัดว่ายน้ำในวัย 7 ปี เพื่อเป็นเพื่อนว่ายให้กับน้องชายที่ป่วยบ่อย จนคุณหมอต้องให้มาว่ายน้ำ ในสมัยก่อนวงการกีฬาในประเทศไทย นิยมที่จะแบ่งรุ่นการแข่งขัน ตามส่วนสูง และน้ำหนัก ชลธร ที่ตัวเล็ก และรูปร่างผอมบางมากในวัยเด็ก จึงดูเหนือชั้นเหลือเกิน ในรายการที่แบ่งรุ่นตามน้ำหนัก จนทำให้เธอเริ่มรู้สึกมั่นใจว่าสามารถเอาดีในด้านการว่ายน้ำได้เหมือนกัน แต่นั้นเหมือนกับเหรียญที่มี 2 ด้าน ด้วยรูปร่างที่เล็กมาก ๆ ของเธอ ทำให้คนรอบข้างต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า ให้เลิกว่ายเสียเถอะ เพราะตัวเล็กเกินไปไม่น่าจะมีอนาคต แต่ด้วยความเด็ดเดี่ยวของคุณแม่ที่ไม่ยอมให้เธอเลิกในวันนั้น นำเธอไปสู่การเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ ของวงการว่ายน้ำเมืองไทย
กรรเชียงสาวผู้ไร้เทียมทาน
ในวัย 14 ย่าง 15 ปี เด็กส่วนใหญ่คงรอเวลาในการไปทำบัตรประชาชน แต่กับ ชลธร วรธำรง เธอกลับได้ไปทำบัตรประจำตัวนักกีฬาทีมชาติไทยเพื่อไปแข่งซีเกมส์ก่อนเสียอีก ซีเกมส์ ปี 1995 คือการติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ครั้งแรกของเธอ ซึ่งเธอกลับจากเชียงใหม่สู่บ้านเกิด ด้วยเหรียญทองแดงท่ากรรเชียง 200 เมตร หลังจากปีนั้น เธอลงแข่งกีฬาซีเกมส์เพิ่มอีก 5 สมัย รวมเป็นทั้งหมด 6 สมัย คว้าเหรียญทองซีเกมส์มาคล้องคอได้ถึง 13 เหรียญทอง
แต่สิ่งที่ยอดเยี่ยมไปกว่านั้นคือ การได้แชมป์ท่ากรรเชียงระยะ 100 และ200 เมตรในซีเกมส์ถึง 4 สมัยติดต่อกัน (ปี 1997-2003) 8 เหรียญทองเน้น ๆ แบบไม่แบ่งใคร เรียกได้ว่าเป็นความสุดยอดที่ยากจะมีใครเลียนแบบได้จริง ๆ ในช่วงนั้น ชลธร วรธำรง คือผู้ครองบัลลังก์กรรเชียงย่านอาเซียนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เธอปิดฉากซีเกมส์ครั้งสุดท้ายในปี 2005 ที่ฟิลิปปินส์ด้วยเหรียญเงินกรรเชียง 200 เมตร แต่สถิติที่เธอทำได้ในการแข่งขันวันนั้น อยู่เป็นสถิติประเทศไทยต่อเนื่องมายาวนานถึง 14 ปี ก่อนที่นักว่ายน้ำรุ่นน้องอย่าง ฝนปราย แย้มสรวล จะมาทำลายได้สำเร็จเมื่อปีที่แล้วนี้เอง นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องการันตี ความยอดเยี่ยมของเธอในช่วงนั้น
ประสบการณ์ลุยโอลิมปิก 2 สมัย
ชลธร วรธำรง ได้มีโอกาสไปลุยโอลิมปิกทั้งหมด 2 สมัย ใน 2 ทวีป ที่ซิดนีย์ ปี 2000 และเอเธนส์ ปี 2004 ถึงเจ้าตัวจะไม่ค่อยพอใจในผลงานของตัวเองมากนัก ท่ากรรเชียง 100 เมตร ได้อันดับที่ 35 และท่ากรรเชียง 200 เมตร อันดับที่ 30 ในปี 2000 ส่วนปี 2004 ท่ากรรเชียง 100 เมตร ได้อันดับที่ 32 และท่ากรรเชียง 200 ได้อันดับที่ 29 แต่ประสบการณ์ที่ได้รับจากโอลิมปิก นั้นจะเป็นความทรงจำที่เธอจะไม่เคยลืมเลือน เธอเล่าถึงโอลิมปิก เกมส์ ว่ามันเป็นรายการที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ สนามแข่งขันอลังการใหญ่กว่ารายการอื่น 2-3 เท่า คนดูก็เยอะที่สุดเท่าที่เคยไปแข่งมา การได้ลงไปเดินพาเหรดในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาระดับโอลิมปิก ก็เป็นประสบการณ์ที่หาซื้อที่ไหนไม่ได้เลย นอกจากนั้นยังได้ไปเห็นความจริงจัง ความเครียดของนักกีฬาระดับโลกตัวความหวังของชาติต่าง ๆ ได้ไปอยู่หมู่บ้านนักกีฬาที่มีการจัดการที่ดี อาหารการกินไม่อั้น ร่วมกับนักกีฬาระดับโลก ทั้งหมดนี้มีแต่นักกีฬาที่เข้าร่วมโอลิมปิกเท่านั้นแหละที่จะได้สัมผัส
เคล็ดลับยืนระยะ
ชลธร วรธำรง ถือว่าเป็นหนึ่งในนักว่ายน้ำที่รับใช้ชาติได้อย่างยาวนานมากในสมัยนั้น เพราะเข้าแข่งซีเกมส์ถึง 6 สมัย และโอลิมปิกอีก 2 สมัย รวมระยะเวลากว่า 10 ปี เรียกได้ว่าติดทีมชาติตั้งแต่อยู่มัธยมต้น ยาวไปถึงจบปริญญาโท ทำงานแล้วก็ยังไม่เลิกว่าย ซึ่งความจริงมีอยู่บางช่วงเหมือนกันที่เธอคิดอยากจะเลิก อย่างเช่นช่วงที่ได้แชมป์ซีเกมส์ 3 สมัย แต่ติดที่ยังหานักว่ายน้ำรุ่นน้องขึ้นมาทดแทนไม่ได้สักที ซึ่งเคล็ดลับในการยืนระยะว่ายน้ำได้นาน คือการต่อสู้กับตนเอง ไม่ต่อสู้กับคนอื่น พยายามทำทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุด ทำเต็มที่กับทุกอย่าง นี่คือวิธีที่เธอใช้ยืนระยะ ในวงการว่ายน้ำ ที่หลายคนว่ายได้เพียงในช่วงสั้น ๆ เท่านั้น และผลที่เธอได้คืนจากความพยายามตั้งใจตลอดเวลาที่เป็นนักกีฬานั้น ก็ถือว่าคุ้มค่ามากสำหรับเธอ
โอกาสจาการว่ายน้ำ
ว่ายน้ำแล้วได้อะไร คงเป็นคำถามที่คนหลายคนถามหาคำตอบอยู่เสมอ สำหรับ ชลธร วรธำรง กีฬาว่ายน้ำฝึกเธอให้เป็นคนมีความรับผิดชอบ ไม่ยอมแพ้กับอะไรง่าย ๆ เพราะชีวิตการเป็นนักกีฬาที่หนักหนาสาหัสเธอก็ยังผ่านมาได้แล้ว ว่ายน้ำยังทำให้เธอได้มีโอกาสไปยังสถานที่แปลกใหม่ ทั้งในช่วงการแข่งขัน หรือการเก็บตัวฝึกซ้อม ครั้งหนึ่งเธอเกือบจะได้ไปเรียนต่อ และฝึกว่ายน้ำที่ Bolles School โรงเรียนชื่อดัง ที่สหรัฐอเมริกาแล้วด้วยซ้ำ แต่รายงานตัวไม่ทัน จึงเลือกรับทุน Olympic Solidarity Scholarship แล้วซ้อมที่เมืองไทยแทน จนจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ ในฐานะนักกีฬาทุนของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้กีฬาว่ายน้ำยังให้อาชีพการงานที่มั่นคงอย่าง อาชีพผู้ประกาศข่าว และพนักงาน บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยจำกัด
“ต้องมีความอดทน ตั้งใจ เพราะมันไม่มีทางลัดที่จะไปสู่ความสำเร็จ จงทำทุกวันให้เต็มที่ และมีความสุขกับทุกสิ่งที่ทำ” นี่คือสิ่งที่ ชลธร วรธำรง อยากฝากถึงน้อง ๆ นักกีฬาไทยสายเลือดใหม่ที่อยากไปให้ถึงเวทีโอลิมปิก เกมส์
TAG ที่เกี่ยวข้อง