stadium

สุธาสินี เสวตรบุตร จอมสร้างประวัติศาสตร์แห่งวงการเทเบิลเทนนิสไทย

15 มีนาคม 2564

ในช่วง 5-6 ปี ที่ผ่านมาวงการเทเบิลเทนนิสไทยได้เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน มีเสาหลักต้นใหม่เกิดขึ้นแทนที่ของ “แป๋ว” นันทนา คำวงศ์ ตำนานเทเบิลเทนนิสของไทยที่ยังคงโลดแล่นอยู่ ชื่อของ “หญิง” สุธาสินี เสวตรบุตร เริ่มเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ การคว้าเหรียญทองหญิงเดี่ยวในซีเกมส์ 2015 แบบเหนือความคาดหมาย ไฮไลท์คือการเอาชนะ เฟิง เทียน เหว่ย มือ 4 ของโลก ดีกรี 2 เหรียญทองแดงโอลิมปิก 2012 จากสิงคโปร์ในรอบแรก กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอก้าวไปประสบความสำเร็จ จนได้รับการจับตามองในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้น หญิง ใช้เวลาไม่นานก็ก้าวผ่านความยิ่งใหญ่ของ แป๋ว พี่ใหญ่ในรั้วทีมชาติได้พร้อมครองแชมป์ประเทศไทยติดต่อกันในช่วง 2-3 ปีหลัง พร้อมกับก้าวขึ้นมาเป็นมือ 1 ของไทยอย่างเป็นทางการ

 

คู่แข่งเริ่มจับตา

ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้หากพูดถึงวงการเทเบิลเทนนิสของไทย ไม่ว่าจะเดินทางไปแข่งขันที่ไหน ชื่อแรกที่นักกีฬาต่างชาติหรือแฟนกีฬาไทยต้องนึกถึง เชื่อว่าชื่อของ นันทนา คำวงศ์ จะต้องหลุดออกจากปากคนๆนั้นออกมาเป็นชื่อแรก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านมา “แป๋ว” ถือเป็นเสาหลักของวงการลูกเด้งบ้านเรามาตลอด ผ่านซีเกมส์ 13 สมัย โอลิมปิกเกมส์อีก 5 ครั้ง มากที่สุดเหนือนักกีฬาไทยทุกชนิด แถมยังครองแชมป์ประเทศไทยมานับครั้งไม่ถ้วน 

 

แต่ว่าปัจจุบันชื่อของ สุธาสินี เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าด้วยสไตล์การตีของเธอเน้นความเหนียวแน่นทำให้คู่แข่งเอาชนะได้ยาก กว่าจะชนะได้ก็ต้องออกแรงเหนื่อยในแต่ละแต้ม หากแต่บางคนความอดทนต่ำผลีผลามบุกมักจะโดนทีเด็ดสวนกลับของหญิงเอาชนะไป ตัวอย่างมีให้เห็นแล้ว เฉิง ไอ ชิง จากไต้หวัน , ลี โฮ ชิน จากฮ่องกง , หยางฮา อึน เกาหลีใต้ , เฟิง เทียน เหว่ย จากสิงคโปร์ เป็นมือดังๆที่เคยโดน หญิง เชือดมาแล้ว นั่นจึงทำให้คู่แข่งมือสูงๆอยากเจอเพื่อล้างตาที่เคยแพ้

 

ครั้งหนึ่ง เฟิง เทียน เหว่ย จากสิงคโปร์ ดีกรี 1 เงิน 2 ทองแดงในโอลิมปิก เจ้าของแชมป์ซีเกมส์ 2 สมัยติด มาพลาดท่าให้กับ หญิง ตั้งแต่รอบแรกในปี 2015 ซึ่งในปีนั้นสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพซะด้วย ยิ่งทำให้ เฟิง เทียน เหว่ย รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก

 

ซีเกมส์ 2017 ทั้งคู่มีโอกาสได้เจอกันอีกครั้งในรอบรองชนะเลิศ เฟิง เทียน เหว่ย ตั้งตารอแมตช์นี้มานานถึง 2 ปี เกมนี้ หญิง เป็นฝ่ายตามหลังก่อน 1-3 เกม แต่ว่าด้วยความเหนียวแน่นและไม่ยอมแพ้ ไล่มาเสมอกันที่ 3-3 และในเกมที่ 7 หญิง ขึ้นนำ 10-7 มีโอกาสได้ปิดเกมและย้ำแค้นอีกรอบ แต่สุดท้ายทำไม่ได้ แพ้ความเด็ดขาดของ เฟิง เทียน เหว่ย แซงเอาชนะไปในเกมสุดท้าย

 

หลังจบแมตช์นั้น เฟิง เทียน เหว่ย ถึงกับระเบิดอารมณ์ดีใจออกมาอย่างเต็มที่ สะท้อนให้เห็นว่ายากลำบากขนาดไหนกว่าจะเอาชนะในการเล่นกับ สุธาสินี 

 

"ตอนที่ฉันนำ 3-1 หญิงเริ่มเล่นได้ดีและแข็งแกร่งมาก ในเกมสุดท้ายตอนที่เป็นฝ่ายตามหลัง ฉันก็บอกตัวเองอยู่เสมอว่า 'เฟิง เทียน เหว่ย เธอห้ามแพ้นะ เธอยังมีโอกาสชนะได้' ดังนั้นฉันจึงไม่ยอมแพ้และมีความสุขมากๆ เพราะเมื่อ 2 ปีก่อนที่ สิงค์โปร์ ฉันเสียเหรียญทองให้กับ สุธาสินี" เฟิง เทียน เหว่ย

นักเขียนประวัติศาสตร์

ฝีมือของ หญิง เป็นที่ยอมรับจากคู่แข่ง ไม่ใช่แค่การเล่นเดี่ยว แต่เธอยังเล่นได้ดีในประเภทคู่ด้วยเช่นกัน อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนต้น ซีเกมส์ 2015 เธอคว้าเหรียญทองในประเภทหญิงเดี่ยวได้เป็นครั้งแรก ซึ่งนั่นเป็นเหรียญทองแรกในรอบ 32 ปีของไทย นับตั้งแต่ พัชรินทร์ ลอยไสว เคยทำได้เมื่อซีเกมส์ ครั้งที่ 12 ปี 1983

 

2 ปี ต่อมาซีเกมส์ 2017 ที่มาเลเซีย แม้จะผิดหวังที่เข้าไปป้องกันแชมป์ประเภทหญิงเดี่ยวไม่ได้ แต่ในประเภทคู่ผสม หญิง จับคู่กับ “ไบร์ท” ภาดาศักดิ์ ตันติวิริยะเวชกุล นักกีฬาชายไทยที่ฟอร์มแรงมากๆในช่วงนั้น ถึงขั้นได้ไปโอลิมปิก 2016 มาแล้ว การจับคู่กันของทั้งสองคนลงตัวมาก พากันไปถึงรอบชิงชนะเลิศ และคว้าเหรียญทองได้ ซึ่งเป็นเหรียญทองแรกในรอบ 32 ปีของประเภทคู่ผสมไทย

           

ปี 2018 เธอจับคู่กับ "ทิพย์" อรวรรณ พาระนัง มือ 2 ของไทย ช่วยกันคว้าแชมป์หญิงคู่ "ไทยแลนด์ โอเพ่น" ซึ่งเป็นครั้งแรกของวงการลูกเด้งไทย ที่คว้าแชมป์รุ่นโอเพ่น ในรายการเก็บคะแนนสะสมโลก อันที่จริงแล้วก่อนหน้านี้ หญิง เคยเกือบทำได้มาแล้วเมื่อปี 2015 ตอนนั้นจับคู่กับ แป๋ว ได้รองแชมป์ "ไอทีทีเอฟ ชาลเลนจ์ บัลแกเรีย โอเพ่น"

 

จากนั้นซีเกมส์ 2019 ที่ฟิลิปปินส์ เป็นอีกครั้งที่เธอเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมา ดูเหมือนการจับคู่กันของ หญิง กับ ทิพย์ จงลงตัวมากๆ เพราะทั้งคู่ช่วยกันคว้าเหรียญทองได้เป็นครั้งแรกในรอบ 34 ปี

ก้าวสู่ ที-ลีก บทพิสูจน์การเป็นนักกีฬาระดับโลก

การเอาชนะนักกีฬามือระดับท้อปได้ แสดงให้เห็นแล้วว่า เธอเริ่มมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้มีหลายสโมสรในต่างแดนเริ่มให้ความสนใจดึงตัวไปร่วมทีม โอกาสที่เข้ามาหาเธอหลายๆครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นที่ สโมสรเอ็มเอสเค เบรสลาฟ ลีกอาชีพสาธารณรัฐเช็ก , เฟเนร์บาห์เช สปอร์ คูลูบู ในลีกสูงสุดของประเทศตุรกี , การได้ทุนไปฝึกที่สวีเดน เป็นต้น

 

เมื่อบ่มเพาะจนได้ที่ ทั้งอายุ (25) และประสบการณ์ ทำให้เวลานี้เธอมีทุกอย่างพร้อมแล้วที่จะก้าวขึ้นไปพิสูจน์ตัวเองในเวทีที่สูงขึ้น นี่คือสิ่งสำคัญที่สโมสรนิปปอน เพนต์ สโมสรใน “ที-ลีก” ลีกสูงสุดของญี่ปุ่น มองเห็นในตัวหญิง จึงได้รับการทาบทามให้มาร่วมทีมและตอบตกลงปลงใจกันเป็นเวลา 1 ฤดูกาล ทำให้เธอเป็นนักกีฬาหญิงไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ไปเล่นลีกอาชีพที่ญี่ปุ่น โดยอยู่ทีมเดียวกันกับ ลี โฮ ชิง มือ 41 ของโลก และ ซู เหวย ย่าม มือ 29 ของโลก 2 นักกีฬาจากฮ่องกง , เฟิง เทียนเหว่ย มือ 8 ของโลกจากสิงคโปร์ และ กาโตะ มิยุ มือ 23 ของโลกจากญี่ปุ่น

 

“เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เจอกับนักกีฬาระดับโลกมากขึ้นทั้งในทีมและคู่แข่ง ก็จะมุ่งมั่นตั้งใจซ้อมให้หนักขึ้นทุกๆวัน การได้เจอนักกีฬาระดับโลกทุกสัปดาห์เชื่อว่าจะได้ประสบการณ์ที่ดี ที่หาไม่ได้จากการซ้อมแค่ในไทย ”

 

ที-ลีก คืออะไร

ที-ลีก คือลีกอาชีพสูงสุดของกีฬาเทเบิลเทนนิสที่ประเทศญี่ปุ่น เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2018 โดยมีเป้าหมายพัฒนานักกีฬาของตัวเอง มี 4 สโมสรลงชิงชัย แต่ละทีมสามารถดึงนักกีฬาระดับท็อป 10 ของโลกมาร่วมทีมอย่างน้อย 1 คน มีระบบเลื่อนชั้นตกชั้น แข่งขันกัน 21 เกม ใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือนก็รู้ผล

แม้จะเป็นลีกน้องใหม่ แต่ก็เต็มไปด้วยนักกีฬาระดับมือท็อป 30 ของโลกอยู่ร่วมทีมมากมาย คาซูมิ อิชิกาว่า มือ 9 ของโลกจากญี่ปุ่น , ดู ฮอย เคม มือ 15 ของโลกจากฮ่องกง , จอง จีอี มือ 16 ของโลกจากเกาหลีใต้

MVP บันไดขั้นแรกสู่ระดับโลก

แม้จะเป็นเพียงฤดูกาลแรกในลีกอาชีพญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นชาติมหาอำนาจในวงการเทเบิลเทนนิสโลกที่รองจากจีน แต่ฟอร์มการเล่นของเธอต้องบอกเลยว่าเหมือนกับผ่านประสบการณ์เวทีระดับโลกมากแล้วนักต่อนัก ผลงานส่วนตัวในครึ่งฤดูกาลแรกกับ นิปปอน เพนต์ แข่งไป 10 แมตช์ ชนะ 8 แพ้ 2 หากนับกันเฉพาะผลงานส่วนตัวแบบเดี่ยวๆ หญิง มีผลงานดีที่สุดในลีก ทำให้เธอคว้ารางวัล MVP หรือผู้เล่นทรงคุณค่า ของลีก Nojima T-League 2019-2020 ในครึ่งซีซั่น ซึ่งเป็นรางวัลเดียวกับ คาซูมิ อาชิกาว่า มือ 2 ของญี่ปุ่นที่ทำได้เมื่อปีก่อน 

 

รางวัลนี้แสดงให้ถึงความพยายามในการพิสูจน์ตัวเองว่าดีพอที่จะยืนอยู่ในระดับโลก ซึ่งเราได้เห็นแล้วเสาหลักต้นนี้เติบโตและแข็งแกร่งขึ้นทุกๆวัน ในอนาคตเสาต้นนี้จะแข็งแกร่งมากขึ้นไปอีก และจะไม่หยุดที่รางวัล MVP และเหรียญทองซีเกมส์


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

stadium olympic