stadium

ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี : นักมวยที่เชื่อมั่น 2 กำปั้นตัวเองมากกว่าโชคชะตา

26 พฤษภาคม 2563

เวลา 15 ปี ถ้าเปรียบเป็นชีวิตคน เด็กทารกที่เพิ่งออกจากท้องแม่ วันนี้คงโตพอที่จะใช้คำนำหน้าว่านายแทนเด็กชายได้พอดี ตัวเลขเดียวกันนี้คือจำนวนปีในการรับใช้ชาติของ ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี ในฐานะนักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย วันนี้เขาเติบโตเต็มที่ในเส้นทางผืนผ้าใบจากนักมวยดาวรุ่งในแคมป์ทีมชาติ สู่นักมวยรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์มากที่สุดคนหนึ่งของทัพเสื้อกล้ามไทย และวันนี้เขาพร้อมแล้วที่จะใช้ประสบการณ์ 15 ปี ในการไล่ล่าความฝันในโอลิมปิกครั้งสุดท้ายในชีวิต

 

 

ยกที่ 1 นักมวยค่าตัว 50 บาท

"จำไม่ค่อยได้ครับ เพราะเด็กมาก"  คำตอบของ ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี เมื่อถูกถามถึงความรู้สึกแรกในการใช้กำปั้นกระแทกหน้าคู่ต่อสู้ และรสชาติของการถูกกำปั้นของคู่ต่อสู้ปะทะร่างกาย ความทรงจำในวันนั้นเลือนรางสุด ๆ แต่สัมผัสหนึ่งที่เขาจำได้ดีคือ ความนุ่มของเวทีในวันนั้น ที่ตัวเขาถือโอกาสนอนเล่นต่อบนเวที หลังจากถูกคู่ต่อสู้เหวี่ยงล้ม เรื่องราวในไฟต์แรกของเขาไม่ได้สวยงามเหมือนนักมวยคนดังคนอื่น แน่นอนเขาแพ้ สิ่งดี ๆ สิ่งเดียวในวันนั้น ที่ทำให้เขาได้ไปต่อในเส้นทางผืนผ้าใบ คือค่าตัว 50 บาท 

 

เงิน 50 บาทในวันนั้นทำให้เจ้าตัวคิดได้ในทันที ว่าเขาสามารถหาเงินได้จากการชกมวยเพื่อช่วยเหลือครอบครัวได้อีกทาง ถึงมันจะไม่ได้ถูกใจคุณพ่อ และคุณแม่มากนัก ทั้ง 2 เพียงอยากให้เจ้าตัวชกมวยเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นเท่านั้น แต่วันนั้นเจ้าตัวกลับตัดสินใจชกมวยอย่างจริงจัง ด้วยแรงผลักดัน ที่อยากจะยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้น เพียงพริบตาเดียว 27 ปีแล้วที่เขาอยู่ในเส้นทางค้ากำปั้น วันนี้ถึงเวทีมวยจะนิ่มเหมือนเดิม แต่เขาไม่กลับลงไปนอนเล่นอีกแล้ว

 

 

ยกที่ 2 มวยไทยสู่มวยสากล

ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี ชกมวยไทยอยู่นานทีเดียว ก่อนจะแบนเข็มหันมาต่อยมวยสากลเต็มตัว เพราะว่าชอบ และหลงไหลในความท้าทายของมวยสากลสมัครเล่น ประกอบกับช่วงนั้นถือว่าเป็นยุคบูมสุด ๆ ของมวยสากลสมัครเล่นไทยเลยก็ว่าได้ เพราะทัพเสื้อกล้ามไทยสามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ต่อเนื่องกันทั้งสมรักษ์ คำสิงห์ ในปี1996 และวิจารณ์ พลฤทธิ์ ในปี2000 และหลังจากเปลี่ยนมาชกมวยสากลไม่นาน เจ้าตัวก็เริ่มมีผลงานที่ดีในระดับชิงแชมป์ประเทศไทย จนถูกเรียกตัวเข้าแคมป์ทีมชาติไทยในที่สุด

 

แต่อย่างที่บอกมวยสากลสมัครเล่นไทยในยุคนั้นคึกคักจริง ๆ และอุดมไปด้วยยอดฝีมือ ฉัตร์ชัยเดชา ถึงจะอยู่ในแคมป์ทีมชาติมาตลอด แต่กว่าจะได้ขึ้นชกในนามทีมชาติไทยชุดใหญ่ครั้งแรกก็ปาเข้าไปในปี 2009 ในรายการคิงส์คัพ ซึ่งเป็นรายการที่เจ้าตัวภูมิใจที่สุดมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะสามารถหักปากกาเซียนทุกสำนักด้วยการชนะ ฮวน ทิปปอน นักมวยมากประสบการณ์ชาวฟิลิปปินส์ ดีกรีเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2006 ได้ในรอบแรก ก่อนจะตะลุยไปจนถึงเหรียญทองในท้ายที่สุด พร้อมคว้ารางวัล เบสบ็อกเซอร์ของรายการอีกด้วย 

 

รายการนั้นถือว่าเป็นรายการตัดสายสะดือ แจ้งเกิดแบบเต็มตัวของเจ้าตัวเลยก็ว่าได้ หลังจากวันนั้นเขาคือหนึ่งในกำลังหลักของทัพเสื้อกล้ามไทยเข้าแข่งซีเกมส์ 6 สมัย คว้าไปได้ 4 เหรียญทอง ลงแข่งเอเชียนเกมส์ 3 สมัย และโอลิมปิก เกมส์ 2 สมัย รวมถึงได้แชมป์เอเชียในปี 2015 และเหรียญทองแดงชิงแชมป์โลกปี 2013 อีกด้วย

 

 

ยกที่ 3 เกมเปลี่ยน จังหวะ และโอกาส

ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี เข้าแข่งโอลิมปิกเกมส์มาแล้ว 2 สมัย ซึ่งทั้ง 2 สมัยมีการเปลี่ยนแปลงกติกาการให้คะแนน ทำให้ตัวเขาต้องเปลี่ยนสไตล์การชกไปโดยปริยาย จากมวยที่ถูกฝึกมาให้ออกหมัดเน้นทำคะแนนแบบจะแจ้ง มีจุดเด่นที่ออกหมัดคมและหนักหน่วงอย่างเขา ต้องกลายมาเป็นมวยไฟท์เตอร์ที่ต้องเดินหน้าชนออกหมัดมากกว่าเดิมเพราะการให้คะแนนแบบใหม่ที่เน้นการเข้าทำออกหมัดเยอะๆ ซึ่งการให้คะแนนแบบนี้ค่อนข้างจะไม่ชัดเจนและคลุมเครือในความคิดของเจ้าตัว เพราะไม่ได้ให้คะแนนเป็นหมัดต่อหมัดอีกแล้ว แต่ให้คะแนนเป็นภาพรวมทั้งยกแทน ซึ่งทำให้ยิ่งมีโอกาสในการโกงมากขึ้นไปอีก ทำให้ภาพลักษณ์ของวงการมวยสากลสมัครเล่นยิ่งดูแย่มากขึ้นไปอีกในวงการกีฬาโลก

 

"ผมไม่เคยตกรอบแรกในโอลิมปิก"  อย่างน้อย ๆ คนไทยก็ยังได้มีความสุขกับผลงานของผม 1 ครั้ง แต่ที่มากกว่านั้น นักมวยที่เอาชนะ ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี ได้ทั้ง 2 สมัยในโอลิมปิก ทั้งคู่ล้วนก้าวไปถึงเหรียญรางวัลได้สำเร็จในท้ายที่สุด คนแรกในปี 2012 โรไบซี่ รามิเรส ตัวเต็งเหรียญทองจากคิวบา เอาชนะตัวเขาในรอบ 16 คนสุดท้ายด้วยคะแนน 22-10 ก่อนก้าวไปถึงเหรียญทองโอลิมปิกในปีนั้น คนที่ 2 ในปี 2016 วันที่เกมการแข่งขันเปลี่ยนไปเป็นการให้คะแนนแบบทั้งยก ฉัตร์ชัยเดชา พ่ายนักมวยรัสเซีย วลาดิเมียร์ นิคิติน ไป 1-2 ยกแบบค้านสายตา และเป็นข่าวดังไปทั่วโลกซึ่งตัวเขาเองก็ยอมรับว่านี่เป็นการแข่งขันที่เขาผิดหวังที่สุดในชีวิต และวลาดิเมียร์ นิคิติน ก็ก้าวไปถึงเหรียญทองแดงในปีนั้นอีกเช่นกัน 

 

ส่วนเหรียญทองปีนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหนเป็น โรไบซี่ รามิเรส ที่ชนะเจ้าตัว และเป็นแชมป์เก่าเจ้าของเหรียญทองเมื่อ 4 ปีที่แล้ว สรุปคือเจ้าตัวค่อนข้างจะโชคร้ายในเวทีโอลิมปิก เจอทั้งคู่แข่งที่เก่ง และเจอกฎการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลง ไม่รวมถึงผลการตัดสินที่ค้านสายตา ทำให้โอลิมปิก 2 ครั้งแรกของเขาไปไม่ถึงฝั่งฝัน

 

 

ยกพิเศษ ตามฝันโอลิมปิกครั้งสุดท้าย

"ผมเฉย ๆ กับเรื่องนี้ครับ ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา" คำตอบของ ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี ต่อความเชื่อเรื่อง Third Time Lucky ในโอลิมปิกหนที่ 3 ที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าถ้าล้มเหลวมา 2 ครั้ง ครั้งที่ 3 จะสมหวัง แน่นอนเขาเฉย ๆ ต่อเรื่องนี้ เพราะถ้าครั้งนี้เขาจะประสบความสำเร็จ มันน่าจะมาจากประสบการณ์ในโอลิมปิก 2 ครั้งแรกมากกว่าที่ให้บทเรียนมากมายกับเจ้าตัว 

 

"เวทีระดับนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ เราต้องมีสมาธิตลอดเวลา" แน่นอนครั้งนี้คงเป็นครั้งที่เจ้าตัวพร้อมที่สุดที่จะล่าความฝันสูงสุดในการเป็นนักมวยสากลสมัครเล่น ซึ่งก็คือเหรียญรางวัลในโอลิมปิก กีฬามวยให้ทุกอย่างกับชีวิตของเขา แต่ก็พรากเวลาในการทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวที่สมบูรณ์ไปจากเขาพอสมควร ครั้งนี้คือครั้งสุดท้ายที่เขาจะทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อตามฝันสุดท้ายในโอลิมปิกเกมส์ ก่อนกลับมาทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวให้สมบูรณ์แบบ และเป็นโค้ชให้ความรู้กับน้อง ๆ ต่อไป

 

"ความพยายามไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง" คติประจำใจของ ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี ครั้งสุดท้ายนี้ไม่ว่าจะจบลงแบบไหน ครั้งนี้เจ้าตัวคงไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน เพราะตัวเขาได้พยายามจนถึงที่สุดแล้ว


stadium

author

ฉลามหนุ่มไทยแลนด์

StadiumTH Content Creator

stadium olympic