stadium

รามณรงค์ เสวกวิหารีย์ : ไฟเตอร์ที่พร้อมบวกทุกปัญหาและอุปสรรค

18 พฤษภาคม 2563

"เด็กคนนี้ใจมันได้จริง" นี่คือความคิดแรก หลังจากได้พูดคุยสำรวจความคิดของ จูเนียร์ รามณรงค์ เสวกวิหารี ซึ่งทุกสิ่ง ทุกอย่าง ที่เขาเปลือยความคิดเห็นออกมา มันช่างตรงกับสไตล์เทควันโด ไฟท์เตอร์ ที่ตัวเขามักแสดงออกมายามลงแข่งขันอย่างแท้จริง ชอบบุกทำคะแนน โดนเตะมาต้องเตะสวนกลับไป สู้ไม่ถอยชอบความท้าทาย และมันก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก กับวิธีที่เขาใช้ต่อสู้กับอุปสรรคในชีวิตจริงนอกสังเวียน

 

ยกที่ 1 ใส่เกราะกำบังที่เรียกว่าเทควันโด

รามณรงค์ เสวกวิหารี ออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำมาก่อน แต่เริ่มหันมาเล่นกีฬาเทควันโดในวัย 5 ขวบ เนื่องจากการโดนเพื่อนในละแวกแถวบ้านแกล้ง การได้มีวิชาต่อสู้ติดตัวไว้น่าจะเป็นเกราะกำบัง และแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ดีที่สุดตามแบบฉบับไฟท์เตอร์อย่างเขา ซึ่งมันก็จริงตามนั้น เพราะหลังจากนั้นเพื่อนคนนั้นก็ไม่กลับมาแกล้งเขาอีกเลย 

 

จูเนียร์ เรียนและฝึกซ้อมเทควันโดได้เพียง 2 เดือน เวทีแรกในชีวิตการแข่งขัน เทควันโดของเจ้าตัวก็มาถึง แม้ว่าจะต้องแบกน้ำหนักตัวเยอะ แต่ในท้ายที่สุดก็ได้เหรียญทองแดงติดมือกลับบ้านเป็นเหรียญแรกในชีวิต หลังจากนั้นชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไป จากเด็กที่ถูกเพื่อนแถวบ้านแกล้ง กลายเป็นจอมเตะที่คอยไล่เตะคู่แข่งในระดับชาติแทน และคราวนี้เทควันโด ไม่ได้เป็นแค่เกราะกำบังจากการถูกเพื่อนแกล้งอีกแล้ว แต่มันยังมอบหลายสิ่ง หลายอย่างอีกมากมายให้กับชีวิตเขา

 

 

ยกที่ 2 เดินหน้าล่าความสำเร็จกับ ทีมชาติไทย

รามณรงค์ เสวกวิหารี ติดทีมชาติไทยครั้งแรกด้วยวัย 15 ปี ในรายการเทควันโดเยาวชนชิงแชมป์โลกปี 2012 ที่ประเทศ อียิปต์ ถึงแม้จะไม่ได้เหรียญรางวัลแต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี เพราะแค่ปีถัดมาเจ้าตัวก็มาได้เหรียญทองในรายการ เอเชียนยูธเกมส์ปี 2013 ที่หนานจิง ประเทศจีน และในซีเกมส์ปีเดียวกันที่ประเทศเมียนมาร์ ความสำเร็จแรกของเขาในนามทีมชาติชุดใหญ่มาถึงในรายการแรกที่เขาลงแข่งขันเลย เมื่อสามารถคว้าเหรียญทองซีเกมส์มาครองได้สำเร็จเป็นสมัยแรก จาก 3 สมัยที่เจ้าตัวทำได้ทั้งหมดในกีฬาซีเกมส์ 

 

หลังจากนั้นเจ้าตัวยังเดินหน้าไล่ล่าความสำเร็จในรายการระดับนานาชาติทั่วโลก อาทิ เหรียญทองแดงชิงแชมป์โลก 2 สมัย, 2 เหรียญเงินชิงแชมป์เอเชีย, 1 เหรียญทองแดงเอเชียนเกมส์ และ 1 เหรียญทองแดง กีฬามหาวิทยาลัยโลก ซึ่งตัวเขายังคงไม่หยุดการล่าความสำเร็จไว้เพียงเท่านี้แน่ ๆ แต่กว่าจะทำได้ขนาดนี้ มันเกิดจากการเคี่ยวกรำในการฝึกซ้อมมาอย่างหนัก และผ่านบททดสอบมามากมายหลาย ๆ ด้าน

 

 

ยกที่ 3 วิชาชีวิตเทควันโด

เมื่อการแข่งขันเทควันโดดำเนินมาถึงยกที่ 3 แน่นอนยกนี้ต้องเหนื่อยหนักแน่ ๆ และส่วนใหญ่นี่คือ ยกตัดสิน เทควันโดสอนอะไรให้กับชีวิตของ รามณรงค์ เสวกวิหารี หลาย ๆ อย่างเช่นการเสียสละ, การรอคอย และการทำเพื่อชาติ แน่นอนกีฬาเทควันโด เป็นหนึ่งชนิดกีฬาที่ขึ้นชื่อเรื่องความโหดหินในการซ้อม และต้องทุ่มเทเสียสละเวลาในการใช้ชีวิตไปอย่างมากทีเดียว เพราะเมื่อถึงช่วงซ้อมโอกาสปลีกตัวไปทำอย่างอื่นนั้นแทบไม่มี ยิ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของโค้ชเช ชเว ยอง ซอก และโค้ชแม็ก ชัชวาล ขาวละออ จอมเตะรุ่นพี่ขวัญใจของเจ้าตัวด้วยแล้ว ยิ่งรับประกันความโหดหินได้เลย 

 

ในช่วงปกติ เจ้าตัวจะซ้อม 2 ช่วง เช้าเริ่มตี 5 ครึ่ง ถึง 8 โมงเช้า ตอนเย็น 5 โมงถึง 2 ทุ่ม ถ้าเป็นช่วงแข่งหรือปิดเทอม ดีกรีความเข้มข้นจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 3 ช่วง เพิ่มรอบบ่าย 3 โมง ถึง 6 โมงเย็น และช่วงเย็นเริ่ม 1 ทุ่ม ไปจบ 3 ทุ่มโน่นเลย แน่นอนว่าฝึกหนักขนาดนี้ก็เพราะ เพื่อที่จะต้องการให้ทนกับการแข่งขันสุดโหดยกละ 2 นาที ทั้งหมด 3 ยก รวมเป็น 6 นาทีให้ได้ และต้องแข่งรอบแรก จนถึงรอบชิงชนะเลิศให้จบภายในวันเดียวอีกด้วย

 

นั้นเป็นเหตุผลที่โค้ชต้องสวมบทโหด กระตุ้น เร่งเร้า นักกีฬา เพื่อให้ไปถึงจุดที่เหนื่อยที่สุดให้ได้  ก้าวข้ามขีดจำกัดของร่างกายไปให้พ้นซึ่งบางครั้งตัว รามณรงค์ ก็ถึงกับออกอาการท้อ ถึงขั้นขนาดอยากเลิกอยู่เหมืนกัน แต่เมื่อผ่านการซ้อมหนักแบบนั้นมาได้ เจ้าตัวก็ได้เรียนรู้มากมาย และชัยชนะที่ได้มาจากการฝึกซ้อม ทุ่มเทอย่างหนัก รวมถึงเสียสละชีวิตส่วนตัวไป ก็ทำให้ตัวเขามีความสุข และความภูมิใจกับมันมากทุกครั้ง 

 

 

Golden Point Round ซัดเดนเดธ โอลิมปิกดรีม

แน่นอน รามณรงค์ เสวกวิหารี ก็เหมือนนักกีฬาทุกคนจากทั่วโลกที่มีฝันอยากเข้าแข่งขันกีฬา โอลิมปิกเกมส์สักครั้ง ซึ่งการรอคอยของเขามันน่าจะจบลงตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เหมือนดังเช่น การแข่งขันเทควันโดทั่วไปที่จบลงที่ยก 3 แต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตัวเขาไม่มีแม้กระทั่งโอกาสได้โชว์ฝีมือด้วยซ้ำ ถึงแม้จะเสียใจ, ผิดหวัง และเสียดายมาก ๆ แต่ตัวเขาก็ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ค่อย ๆ ฝึกซ้อมอย่างตั้งใจ ลงทำการแข่งขันไปทีละรายการ 

 

เผลอแป็บเดียว 4 ปีที่รอคอยมันก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ปีนี้เขาได้โอกาสแบบเต็ม ๆ ที่จะลงไปทำการแข่งขันยกตัดสิน ว่าคราวนี้เขาจะดีพอ หรือไม่ที่จะได้สิทธิเข้าแข่งขันโอลิมปิกเกมส์อย่างที่ฝัน รอโรค COVID-19 ที่กวนใจเหมือนเป็นการประท้วงของโค้ชเพื่อดู IVR (วีดีโอ รีเพลย์) คลี่คลาย เจ้าตัวคงได้ใช้ท่าเก่ง หมุนตัวเตะเข้าศรีษะคู่ต่อสู้ หรือ อุปสรรค คว้า 4 คะแนนเต็ม ๆ เพื่อจบการรอคอย 4 ปี และถ้าทุกอย่างมันเป็นใจ บางทีแค่สิทธิเข้าแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ มันคงเป็นเป้าหมายที่เล็กเกินไปสำหรับเขาด้วยซ้ำไป

 


stadium

author

ฉลามหนุ่มไทยแลนด์

StadiumTH Content Creator

stadium olympic