stadium

กมลวรรณ จันทร์ยิ้ม : "โอลิมปิก" ความฝันที่เป็นจริง

1 มิถุนายน 2564

กมลวรรณ จันทร์ยิ้ม สาวนักล่าฝันที่อยากติดทีมชาติมาตั้งแต่ 8 ขวบ ตัดสินใจเลือกเดินเส้นทางนักกีฬาเรือใบทีมชาติตามรอยเท้าผู้เป็นพ่อ แต่เมื่อเติบโตขึ้นก็พบว่าฝันของตัวเองนั้นใหญ่กว่าที่คิด การจะไปโอลิมปิกได้สักครั้งเธอต้องดิ้นรนไม่น้อยกว่าใคร ในวัย 15 เธอหอบแฟ้มผลงานส่วนตัวเข้าไปพรีเซนต์ความสามารถของตัวเองต่อหน้านายทุนทั้งหลาย เพื่อขอรับการสนับสนุนการเล่นกีฬา ก่อนจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาเรือใบหญิงไทยคนแรกที่ผ่านเข้าร่วมโอลิมปิกถึง 2 สมัย

 

 

กางใบเรือ

 

“ทะเล เป็นที่ที่เราอยู่แล้วรู้สึกมีความสุข เวลามีเรื่องทุกข์ใจสิ่งที่ทำให้แบมผ่อนคลายได้มากที่สุดก็คือการแล่นเรือใบออกไปบนท้องทะเลโดยที่ไม่ได้แข่งกับใคร"

 

"แบม เล่นเรือใบตั้งแต่อายุ 8 ขวบค่ะ เล่นตามพี่ชาย ตอนนั้นกลัวการเล่นเรือใบมากเพราะว่าเรายังเด็ก ใช้เวลาอยู่ 3 วันกว่าจะบังคับทิศทางเรือได้ ฟังดูเหมือนอาจจะใช้เวลาน้อยนะ แต่ถ้าเทียบกับเด็กคนอื่น ๆ เขาใช้เวลาแค่วันเดียวก็บังคับใบเรือได้แล้ว” นักแล่นใบสาว เริ่มเปิดใจถึงจุดเริ่มต้น

 

หลังจากหัดเล่นเรือใบได้ไม่นาน เธอก็เริ่มมีความฝันอยากเป็นตัวแทนทีมชาติไทยเหมือนนักกีฬาคนอื่น โดยมีชุดเบลเซอร์ที่มีตราธงชาติบนหน้าอกเป็นแรงบันดาลใจ ผลักดันทำให้เธอเพียรพยายามฝึกฝันตัวเองอย่างหนัก โดยมี พ.จ.อ. จุลพงษ์ จันทร์ยิ้ม บิดาซึ่งมีดีกรีเป็นถึงอดีตนักกีฬาเรือใบทีมชาติ ทำหน้าที่เป็นโค้ชให้ คอยดูแลเรื่องการฝึกซ้อมในทุกด้าน 

 

“จริง ๆ ตอนแรก แบม อยากติดทีมชาติเพราะอยากใส่ชุดเบลเซอร์ ซึ่งเป็นชุดสูทของนักกีฬาทีมชาติ ชุดมันดูสวยมากพี่ ไม่ว่าใครใส่แล้วก็ดูเท่ไปหมด ก็เลยเก็บมาเป็นแรงบันดาลใจในการเล่นกีฬา โชคดีที่พ่อหนูเป็นอดีตทีมชาติและเป็นโค้ชอยู่ด้วย ก็เลยได้ท่ายคอยเหลือดูแลการฝึกซ้อม"

 

"คุณพ่อเคี่ยวเข็ญให้เราซ้อมแบบจริงจังมาก ๆ เราจึงพัฒนาได้ไว แต่ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจเหมือนกันนะว่าทำไมต้องให้เราซ้อมหนักด้วย ถึงจะมีความฝันอยากติดทีมชาติแต่ก็ยังชอบที่เล่นกับเพื่อนแบบไม่แข่งกับใครมากกว่า"

 

จากนั้นไม่นานด้วยแรงปรารถนาอันแรงกล้าก็ส่งให้เธอผ่านการคัดเลือกเป็นตัวแทนเยาวชนทีมชาติไทยครั้งแรกในวัย 11 ปี เมื่อเริ่มโตขึ้นเธอก็เริ่มรู้ว่าตัวเองพอจะมีแววเอาดีทางด้านนี้ จึงทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับการเล่นเรือใบมากขึ้น จากความฝันที่อยากจะสวมใส่ชุดเบลเซอร์สักครั้ง เริ่มเปลี่ยนไปคิดถึงการคว้าแชมป์มากขึ้นเพื่อเติมเต็มความภาคภูมิใจในชีวิต

 

 

 

ดิ้นรนเพื่อความฝัน

 

เมื่อปรับเปลี่ยนความิดคิดและวิธีการ ผลลัพธ์ก็ออกมาในแง่บวก ความสำเร็จเริ่มหลั่งไหลเข้ามาในชีวิต เหรียญเงินซีเกมส์ คือความสำเร็จแรกในวัยเพียง 15 ปี ถัดจากนั้นแค่ปีเดียวเธอก็มีโอกาสได้เข้าร่วมการควอลิฟายโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกช่วงปี 2012 แต่ในเวทีระดับโลก ประสบการณ์คืออีกหนึ่งปัจจัยของความสำเร็จ สำหรับเด็กวัย 16 ปี ผู้ที่ผ่านโลกมาน้อยสุดในทัวร์นาเม้นท์ การได้ประสบการณ์กลับไปก็คือของขวัญล้ำค้าที่สุดแล้ว 

 

"เวลาไปแข่งที่ต่างประเทศจะได้พบกับคนเก่ง ๆ อยู่เป็นประจำ ช่วงเวลานี้เป็นเหมือนโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้ความเป็นมืออาชีพจากนักกีฬาระดับโลกที่เขาเจนเวทีมามากกว่า"

 

"เราจะสังเกตพวกหัวกะทิเป็นประจำ คอยมองดูว่าแต่ละคนเขามีวิธีการอย่างไรถึงได้ไปอยู่ในระดับโลก แล้วเอามาปรับใช้กับตัวเองเพื่อพัฒนาไปอยู่ในระดับเดียวกันกับเขา"

 

เพื่อพาตัวเองไปให้ถึงเป้าหมาย จำเป็นต้องมีเงินทุนสำหรับการเดินทางไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในต่างประเทศ เธอตัดสินใจหอบแฟ้มผลงานส่วนตัวที่รวบรวมไว้ เดินหน้าเข้าหาผู้สนับสนุนอยู่หลายเจ้าด้วยตัวเอง โดยหวังจะสร้างเชื่อมั่นต่อนักลงทุนว่าเธอจะสร้างชื่อเสียงกลับมาให้อย่างคุ้มค่า หลังจากพยายามอยู่นานนที่สุดเธอมีหน่วยงานที่เชื่อมั่นในความสามารถของเธอ พร้อมซัพพอร์ทเพื่อให้ได้ไปเฉิดฉายในระดับโลก แต่ว่าความสำเร็จใช่ว่าจะได้มาง่ายขนาดนั้น ในปีเดียวกันนั้นผลงานเธอกลับร่วงหล่นไม่เป็นท่า จนเกิดความรู้ท้อแท้ใจ ถึงขั้นไม่อยากจะเดินเรือออกจากฝั่งอีกเลย

 

"รอบควอลิฟายโอลิมปิกเกมส์ 2012 ที่ลอนดอน ตอนนั้นเราพลาดไปประมาณ 3 อันดับ ตอนนั้นคิดว่าเราพลาดเพราะเรายังเด็ก ก็เลยตั้งใจลุยต่อ หลังจากนั้นก็พยายามเรียนรู้จากคนอื่นให้มากขึ้น แล้วมาพัฒนาตัวเอง อย่างเช่น การหาสปอนเซอร์มาสนับสนุนเรา เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งต่างประเทศให้มากขึ้น แต่พอเราไม่ห่วงเรื่องเงินแล้ว ก็คิดว่าทุกอย่างมันจะเป็นไปได้สวย แต่ปรากฏว่าปีนั้นไม่มีอะไรที่ตรงตามเป้าหมายเลย ผลงานแย่ทุกรายการเลย ตอนนั้นก็อยากเลิกเล่นไปเลยนะ แต่มคิดได้ว่าคนอื่นเขายังไว้ใจเรา ยังเชื่อมั่นในตัวเราเลย แล้วทำไมเราถึงไม่เชื่อมั่นในตัวเองบ้าง”

 

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้ไตรตรองดูอย่างถีถ้วนแล้ว กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เธอก็เคยล้มมาไม่รู้กี่ครั้ง แต่ก็ยังลุกขึ้นยืนได้เสมอ หนนี้ก็เช่นเป็นอีกครั้งที่เธอตัดสินใจลุกขึ้นสู้แล้วนำกางใบเรือออกจากฝั่งอีกครั้ง

 

“กว่าแบมจะก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาทีมชาติ ต้องพบกับความผิดหวังมาหลายครั้งมาก เสียน้ำตาไม่รู้กี่หน แพ้เป็นประจำแต่ก็ไม่ยอมแพ้สู้มาเรื่อย ๆ เพราะสิ่งสำคัญคือเราคิดว่าต้องไม่เลิกพยายาม”

 

 

 

 

โอลิมปิก ท้องทะเลแห่งความฝัน

 

ความสำเร็จมีไว้ให้คนที่ไม่ยอมแพ้เท่านั้นเช่นเดียวกันกับแบม การตัดสินนำเรือออกจากฝั่งครั้งนี้มันทำพาชีวิตเธอลอยไปได้ไกลจนถึงโอลิมปิกเกมส์ที่ประเทศบราซิล 

 

“โอลิมปิก 2016 เป็นโอลิมปิกครั้งแรกในชีวิต เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามาก ๆ แค่ได้ก้าวเท้าเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านนักกีฬาก็ได้เห็นแล้วว่าพวกนักกีฬามืออาชีพเขาทำอะไรกันบ้าง เห็นแล้วรู้เลยว่าทำไมเราถึงตามเขาไม่ทัน ทุกคนเตรียมตัวมาเต็มที่มากกว่าที่เคยเจอกันกว่าเดิมอีก”

 

 

“ส่วนโอลิมปิกครั้งนี้แน่นอนว่ามันคงยากกว่าเดิม ตั้งแต่ก่อนควอลิฟายแล้วโชคดีที่ทางสมาคมฯก็ซัพพอร์ทเราทุกอย่างให้ไปเก็บตัวต่างประเทศ เราเองก็มีประสบการณ์มากขึ้น ฝีมือก็พัฒนาขึ้น การคัดเลือกโอลิมปิกหนนี้เลยทำผลงานได้ดีขึ้น ควอลิฟายผ่านเร็วกว่าเมื่อปี 2016 ซึ่งโอลิมปิกครั้งนี้ก็คาดหวังว่าจะทำผลงานได้ดีกว่าเดิม”

 

ผลในในโอลิมปิก 2016 แบมเข้าเส้นชัยลำดับที่ 32 จากทั้งหมด 37 คนที่เข้าร่วม เป็นประสบการณ์ที่ดีเลยสำหรับดาวรุ่งวัยแค่ 20 ปี แต่โอลิมปิกเกมส์หนนี้จะแตกต่างออกไป เพราะนอกจากจะเจนเวทีมากขึ้นเธอยังบอกว่ามันเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของเธอแล้ว

 

“โอลิมปิกครั้งนี้มันมีความหมายกับเรามากจริง ๆ เพราะคิดว่าคงเป็นครั้งสุดท้ายจึงอยากทำให้เต็มที่และดีกว่าเดิม เป้าหมายของคือติด 1 ใน 20 อันดับแรก ถ้าทำได้สำเร็จมันจะอยู่ในความทรงจำของเราไปตลอดชีวิต”

 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

100 day to go olympic 2024
stadium olympic