stadium

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ 24 ปี ขี่ม้าไทยสู่โอลิมปิก

7 กุมภาพันธ์ 2563

ตั๋วโอลิมปิกเกมส์ 2020 ใบที่ 10 ของนักกีฬาไทย คือกีฬาม้า อีเว้นท์ติ้ง นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเภททีม และเป็นเพียงครั้งที่ 3 เท่านั้นของกีฬาขี่ม้าไทย ที่ได้ไปโอลิมปิก จาก 26 ครั้งที่ถูกบรรจุให้มีการแข่งขัน กีฬาขี่ม้าอาจไม่ได้แพร่หลายในไทย เพราะต้องใช้งบประมาณสูง ต้องมีพื้นที่สำหรับเลี้ยงดูม้า แต่รู้หรือไม่ว่ากีฬาชนิดนี้ถูกบรรจุในโอลิมปิกเกมส์มานานกว่าศตวรรษ รวมไปถึงปี 1998 เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จของไทยกับกีฬาชนิดนี้


โอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกเมื่อ 120 ปีก่อน

 

ในอดีตม้า มักถูกใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ด้วยรูปร่างที่ปราดเปรียวแข็งแรง และยังเป็นกำลังรบของทหารในยุคล่าอาณานิคม ต่อมารถยนต์ถูกสร้างขึ้น สะดวกในการสัญจรมากกว่า การขี่ม้าจึงกลายเป็นแค่ความเพลิดเพลินเท่านั้น ในปี 1900 โอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 2 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้บรรจุกีฬาขี่ม้าให้มีการชิงชัยครั้งแรก แต่ถูกตัดออกในโอลิมปิก 2 ครั้งถัดมา ปี 1904 ที่สหรัฐอเมริกา และ ปี 1908 ที่อังกฤษ ก่อนถูกจัดให้ชิงชัยกันอีกครั้งในปี 1912 ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน จนมาถึง โอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 29 ในปี 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น
 

 

ขี่ม้าเป็นกีฬาแห่งความเท่าเทียม ต้องใช้สองหัวใจผสานกัน

 

ขี่ม้าเป็นเพียงชนิดกีฬาเดียวในโอลิมปิก ที่ไม่แบ่งแยกเพศชายและหญิง เป็นกีฬาแห่งความเท่าเทียม นักกีฬาผู้หญิงแข่งกับผู้ชายได้ รูปร่างไม่เกี่ยว สู้กันด้วยฝีมือและประสบการณ์ ล้วนๆ ขณะเดียวกันยังเป็นกีฬาชนิดเดียวในโอลิมปิก ที่คนและสัตว์ถูกจัดให้ลงแข่งขันพร้อมๆกัน จะทำผลงานให้ดีได้ ทั้งคนและม้าต้องรวมใจเป็นหนึ่ง ดั่งเพื่อนที่รู้ใจ หากนักกีฬาไม่ใส่ความรู้สึกของม้า หรือดูแลได้ไม่ดีพอ ก็อาจจะประสบปัญหาระหว่างแข่งได้


ครั้งหนึ่ง “มิ้น” อาริย์ณัฎฐา ชวตานนท์ นักกีฬาขี่ม้าทีมชาติไทย เจ้าของ 2 เหรียญทองแดงเอเชียนเกมส์ 2018 เคยบอกไว้ว่า “กีฬาขี่ม้าไม่ใช่แค่เรื่องของคน การเอาใจใส่ม้าเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราดูแลเขาดีเหมือนคนสำคัญ เขาก็จะพร้อมสู้ไปกับเรา”


ด้าน สายลับและเสียงซอ เลิศรัตนชัย 2 พี่น้องนักกีฬาทีมชาติไทย กล่าวว่า ม้า เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ นักกีฬาต้องทำความเข้าใจกับม้าให้มากๆ เพื่อให้เข้าใจกันมากที่สุด

 

“สายลับว่าสิ่งที่สำคัญก็คือการดูแลม้า ถ้าเราดูแลเขาให้ดี เขาก็จะรักเรามากขึ้น อยากทำอะไรเพื่อเรามากขึ้น สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น เอาใจเราไปใส่ใจเขา แล้วเราก็จะได้ใจเขากลับมาค่ะ”


“เขาเป็นสิ่งมีชีวิต มีจิตใจ มีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนกับคน มีความคิดเป็นของตัวเอง นักกีฬาต้องใช้ประสบการณ์ ทำทุกๆอย่างเพื่อให้เข้าใจกันให้มากที่สุด ความสัมพันธ์ระหว่างม้ากับเราต้องมีให้มากที่สุด” เสียงซอ ปิดท้าย


 

1998 ปีแห่งจุดเริ่มต้นของประเภทอีเว้นท์ติ้งไทย

 

เอเชียนเกมส์ 1998 ที่ไทย ขี่ม้าจัดชิงชัย 6 เหรียญทอง ไทยทำได้ 1 ทอง 1 เงิน 2 ทองแดง โดยเหรียญทองเดียวนั้นได้จากอีเว้นท์ติ้ง ประเภททีม นักกีฬา 4 คน ประกอบด้วย  พันตรีเฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา,ร้อยเอกวิทัย ลายถมยา, ณกร กมลศิริ, สอ.มานะ สอนกระโทก (ยศในขณะนั้น) โดยเอาชนะ ญี่ปุ่น และอินดีย

ส่วนอีก 5 ทอง แบ่งเป็น ญี่ปุ่น 3 ทอง เกาหลีใต้ 2 ทอง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สอดแทรกขึ้นมาคว้าเหรียญทองได้อย่างเซอร์ไพรส์ และเป็นจุดเริ่มของกีฬาชนิดนี้ในเวทีนานาชาติ
 

 

ก้าวแรกของขี่ม้าไทยในโอลิมปิก

 

ในปี 2001 วงการขี่ม้าไทย มีดาวรุ่งพุ่งแรงอย่าง “ปูไข่” พงศ์สิรี บรรลือวงศ์ ซึ่งเป็นทั้งนักกีฬา และนักแสดง แต่ก้าวขึ้นมาติดทีมชาติชุดซีเกมส์ ที่มาเลเซีย ตั้งแต่อายุ 17 ปี แต่ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ได้ 2 เหรียญทอง พร้อมแจ้งเกิดแบบเต็มตัว กลายเป็นความหวังใหม่ของวงการขี่ม้าไทย


ปีต่อมา เขามีชื่อติดทีมไปลุยศึกเอเชียนเกมส์ 2002 ที่เกาหลีใต้ ในประเภทอีเวนท์ติ้ง บุคคลชาย ถูกจับตามองในฐานะม้ามืด เพราะม้าที่ ปูไข่ ใช้ในการแข่งขัน ราคาไม่ถึง 7 หลัก แต่ต้องแข่งกับม้าที่มีมูลค่ามาสิบล้านบาท ทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ซาอุดิอาระเบีย ยักษ์ใหญ่ของวงการขี่ม้าเอเชีย เขาไม่ต้องแบกรับความกดดันมากจนเกินไป ปูไข่ อาศัยความเข้าใจกับม้า คว้าเหรียญทองมาครองได้แบบเหนือความคาดหมาย เป็นเหรียญทองแรกของอีเว้นท์ติ้งบุคคล และทองที่ 2 ของขี่ม้าไทยในเอเชียนเกมส์  

ด้วยดีกรีมือ 1 ของเอเชีย ปูไข่ มีความหวังไปโอลิมปิกครั้งแรกของสมาคมขี่ม้าแห่งประเทศไทยทันที ปี 2003 เขาก็ทำสำเร็จผ่านควอลิฟายเข้าร่วมไปโอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์กีฬาขี่ม้าที่ได้ไปโอลิมปิก แม้ว่าใน เอเธนส์เกมส์ ปูไข่ จะทำผลงานจบอันดับที่ 51 ไม่มีเหรียญรางวัล แต่นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของวงการขี่ม้าไทยในเวทีระดับโลก นับตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมฯเมื่อปี 1976


 

ใช้เวลา 8 ปี กับโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 2

 

หลังจบโอลิมปิกเกมส์ 2004 ปูไข่ วางมือจากกีฬาขี่ม้า แล้วหันไปเอาดีทางด้านนักแสดงแบบเต็มตัว ทำให้ โอลิมปิก 2008 ปักกิ่งเกมส์ที่จีน ไม่มีนักกีฬาขี่ม้าไทยผ่านเข้าร่วมการหายไปของ ปูไข่ เป็นโจทย์ใหญ่ของสมาคมขี่ม้าฯ ที่ต้องหาตัวแทนมาให้ได้ ปี 2007 ปีเดียวกันกับที่ ปูไข่ รีไทร์ ชื่อของ “ณีนา” รุจิราภรณ์ ลิเกิ้น ล่ำซำ จ๊อกกี้สาวลูกครึ่งไทยอเมริกัน ก็พุ่งขึ้นมาเป็นความหวังใหม่ อายุเพียง 16 ปีเศษ เธอก้าวตามรอย ปูไข่ ด้วยการคว้า 2 เหรียญทองซีเกมส์ ที่โคราช  แต่ต่างกันตรงที่ ณีนา ได้เหรียญเงินเอเชียนเกมส์ 2010 กว่างโจวเกมส์ ที่ประเทศจีน จากประเภททีมอีเว้นติ้งท์ มีคะแนนดีที่สุดในทีม


นั่นทำให้การไปโอลิมปิกเกมส์ 2012 ครั้งแรกในรอบ 8 ปี เริ่มมีหวังอีกครั้ง ณีนา ตระเวนแข่งขันมากกว่า 100 สนาม เคยติดท็อป 50 ของโลก ปี 2011 คว้ารางวัลดาวรุ่งแห่งปีจากสหพันธ์ขี่ม้านานาชาติ (FEI) มีคะแนนโอลิมปิกแร้งกิ้งสูงสุดอันดับ 11 ของโลก โดยมีตั๋วโอลิมปิกเกมส์ 2012 ที่อังกฤษ ในประเภทอีเวิ้นติ้งท์ บุคคลหญิง เป็นรางวัลตอบแทนผลงานทั้งหมด


“ณีนา ไม่ใช่คนใจกล้า ไม่มั่นใจว่าในระดับสูงอย่างโอลิมปิกได้หรือไม่ แต่ความสำเร็จที่ผ่านมาทำให้ ณีนา เชื่อมั่นว่าในตัวเองมากขึ้น”


แม้ว่าในปี 2011 เธอจะทำผลงานได้ดี แต่ในลอนดอนเกมส์ ด้วยความยากของสนามและอายุที่ยังน้อย ทำให้เธอจบอันดับที่ 41 แต่ก็เป็นผลงานที่ดีที่สุดของขี่ม้าไทยในโอลิมปิก


 

8 ปีต่อมา โอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 3 กับปัญหาที่ต้องฝ่าฟัน

 

เป็นอีกครั้งที่จบโอลิมปิก ต้องเสียนักกีฬาฝีมือดีไป ณีนา ตัดสินใจหันหลังให้กับขี่ม้าไทย เป็นโจทย์ใหญ่อีกครั้ง เพราะจุดแข็งของขี่ม้าไทยตลอดอยู่ที่ประเภทอีเว้นท์ติ้ง ทั้งในประเภททีมและบุคคล เป็นเพียงประเภทเดียวที่ไทยสามารถคว้าเหรียญทองในเอเชียนเกมส์ และไปโอลิมปิกมาแล้ว


นับตั้งแต่หมดยุคของ “ปูไข่” และ “ณีนา” ก็ยังไม่มีนักกีฬาที่โดดเด่นในประเภทบุคคลแต่ถ้าเป็นในประเภททีมยังพอมีลุ้น เพราะในเอเชียนเกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซีย อีเว้นท์ติ้งประเภททีม ไทยได้เหรียญทองแดง ทีมในตอนนั้นประกอบด้วย อารีย์ณัฏฐา ชวตานนท์ , กรธวัช สำราญ , ปรีชา ขุนจัน และ “ผู้พันแซม” พ.อ.เฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา ที่โชคร้ายตกม้าขาหักระหว่างแข่งต้องพักยาวหมดสิทธิ์ช่วยทีมคัดเลือกโอลิมปิก
 

ปัญหาที่ตามมาคือ นักกีฬามีความสามารถที่ดีพออยู่ 2 คน คือ อารีย์ณัฏฐา ชวตานนท์ กับ กรธวัช สำราญ ไม่ครบทีมส่งแข่งไม่ได้ ต้องหาตามอีก 2 คนจากทั่วโลก ทำให้ต้องไปดึง "บอมบ์" วีรภัฎ ปิฏกานนท์ อดีตนักกีฬาที่อยู่ในชุดเหรียญเงินเอเชียนเกมส์ 2010 และคนสุดท้าย "กั๊ม" ศุภณัฐ วรรณกุล ซึ่งเป็นครูสอนขี่ม้า ทั้ง 2 คนที่อยู่อังกฤษ ปัญหาต่อมาคือม้าที่มีอยู่ความสามารถแค่ระดับ 2 ดาว การจะควอลิฟาย ม้าต้องระดับ 3 ดาวขึ้นไป ก่อนจะได้งบประมาณมาแก้ไข แต่ก็เป็นม้าที่มีคุณภาพต่ำสุด ใน 4 ชาติ ที่จะควอลิฟายกันด่านแรกที่ฝรั่งเศส ในเดือนพฤษภาคม 2019


ในด่านแรก จะนำทีม 2 อันดับแรกที่ดีสุด ซึ่งผลจบด้วย ญี่ปุ่นและจีน ส่วนไทยตามาเป็นที่ 3 ฮ่องกงจบที่ 4 แต่ญี่ปุ่นได้ใช้โควตาในฐานะเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ 2020 ทำให้สิทธิ์มาถึงไทย เงื่อนไขต่อมาของ FEI ม้า 3 ใน 4 ของนักกีฬาจะต้องผ่านระดับ 4 ดาว ซึ่ง กรธวัช สำราญ และ ศุภณัฐ วรรณกุล ไม่มีม้าส่วนตัวต้องหาใหม่ โดยใช้งบส่วนตัวสำรองจ่ายไปก่อน และต้องลงควอลิฟายด่านสุดท้ายโดยไม่มีเวลาทำความคุ้นเคยกับม้ามากนัก แต่นักกีฬาทุกคนอาศัยสปิริตที่ยอดเยี่ยม จนได้ตั๋วโอลิมปิกเกมส์ สมดั่งใจ และเป็นครั้งแรกของประเภททีม ของสมาคมกีฬาขี่ม้าฯ


 

เบื้องหลังเส้นทางสู่โตเกียวเกมส์ 2020

 

“เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกีฬาขี่ม้า อีเว้นท์ติ้งประเภททีม ถ้าญี่ปุ่นไม่ได้เป็นเจ้าภาพก็ไม่รู้จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่” “ผู้พันแซม” พ.อ.เฟื่องวิชช์ อนิรุทธเทวา อุปนายกสมาคมกีฬาขี่ม้าฯ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กของตัวเอง


ผู้พันแซม คือคนที่เป็นทั้งเบื้องหลังความสำเร็จ และเป็นผู้จุดประกายฝันให้กับขี่ม้าไทย ย้อนกลับไปในปี 1998 เอเชียนเกมส์ที่ไทย “ผู้พันแซม” เป็น 1 ใน 4 นักกีฬาประเภททีมอีเว้นท์ติ้ง ที่ได้เหรียญทอง ก่อนจะผันตัวไปเป็นทีมงานบริหารสมาคมกีฬาขี่ม้าฯ แต่ก็ยังคงดูแลร่างกายและฝึกซ้อมอยู่เสมอ เอเชียนเกมส์ 2014 ที่เกาหลีใต้ เมื่อรู้ว่าไม่มีหวัง จึงกระโดดลงมาคัดตัวร่วมกับนักกีฬารุ่นลูก และในวัย 56 ปี เชื่อว่าถ้าขาไม่หักในเอเชียนเกมส์ 2018 คงร่วมคัดตัวโอลิมปิกเกมส์ด้วยแน่นอน


เมื่อลงแข่งด้วยไม่ได้ แต่อยากจะสานฝันตัวเองต่อให้สำเร็จ จึงรับหน้าที่เป็นคนดูแลการคัดเลือกโอลิมปิก 2020 เฉพาะประเภทอีเว้นท์ติ้ง ทุกปัญหาที่ดูจะต้องแก้ไขด้วยความยุ่งยากตั้งแต่เริ่ม ทั้งม้าที่ระดับไม่ถึง นักกีฬาที่ครบทีม งบประมาณบางส่วนที่ต้องสำรองจ่ายก่อน ทั้งหมดนี้ถูกจัดการด้วยน้ำมือของผู้พันแซม


“30 ปี ที่อยู่ในวงการ ผมมีความฝันที่อยากพิสูจน์ ว่าคนไทยก็มีดีเหมือนกัน และตอนนี้เป็นจริงแล้ว นอนตายตาหลับแล้ว”


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

stadium olympic