31 มกราคม 2563
ระวี อินทพรอุดม คือนักว่ายน้ำหญิงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาลของประเทศไทยในกีฬาซีเกมส์ จากซีเกมส์ทั้งหมด 5 สมัย เธอสามารถคว้าไปได้ถึง 17 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน และ4 เหรียญทองแดง รวมถึงยังเคยเกือบคว้าเหรียญเอเชียนเกมส์ มาครองได้อีกด้วย และก็ไม่พลาดโอกาสในการไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ที่ แอตแลนต้า ในปี 1996 เส้นทางการต่อสู้ ฝึกฝนของเธอเป็นเช่นไร รวมถึงโอลิมปิกเกมส์ ในความทรงจำของเธอเป็นแบบไหน เรามาร่วมหาคำตอบไปพร้อมๆกันเลย
จุดเริ่มต้นที่ เขมะสิริอนุสสรณ์ แหล่งผลิตเงือกสาวทีมชาติ
ระวี อินทพรอุดม เริ่มหัดว่ายน้ำครั้งแรกในวัย 4 ปีที่สระ YWCA ตามพี่ๆ โดยตอนแรกคุณพ่อหวังเพียงให้ว่ายน้ำเป็นเอาตัวรอดได้ก็พอ เพราะตัวคุณพ่อของระวี มีประสบการณ์เฉียดตายจากการจมน้ำมาแล้ว แต่การพาเธอไปเรียนว่ายน้ำในครั้งนั้นได้เปลี่ยนชีวิตของ ระวี และครอบครัวอินทพรอุดม รวมถึงประวัติศาสตร์ของวงการว่ายน้ำไทยไปตลอดกาล
หลังจากนั้นปีเศษ ชีวิตเธอก็เดินหน้าสู่เส้นทางแห่งสายน้ำแบบเต็มตัว เมื่อได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ โรงเรียนที่สนับสนุนว่ายน้ำแบบสุดๆ และเหมือนเป็นแหล่งผลิตนักว่ายน้ำสาวป้อนทีมชาติในสมัยนั้น เมื่อพรสวรรค์ และความมานะของเธอบวกรวมเข้ากับ การดูแลของเหล่ายอดโค้ชที่โรงเรียน ทำให้ฝีมือของเธอรุดหน้าไปไกล เธอเดินหน้าเก็บชัยชนะทั้งในระดับยุวชน เยาวชน รวมถึงระดับประชาชนทั่วไป พัฒนาฝีมือขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้เธอก้าวไปติดทีมชาติชุดใหญ่ ด้วยวัยเพียง 12 ปี 10 เดือน
สุดยอดคุณพ่อของนักกีฬา สวัสดิ์ อินทพรอุดม
บนเส้นทางความสำเร็จของเธอ คนสำคัญผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จก็คือ คุณพ่อสวัสดิ์ อินทพรอุดม ผู้ที่คอยดูแล และสนับสนุนเธอทุกๆอย่าง โดยกิจวัตรประจำวันของคุณพ่อก็คือ ตื่นเช้ามาดูแลเรื่องอาหาร ซึ่งเมนูหลักคือ การตุ๋นข้าวรวมกับเนื้อสัตว์, ตับ, ไข่, ผัก เพื่อให้กินง่าย และกินได้เยอะขึ้น รวมถึงได้สารอาหารครบ 5 หมู่โดยที่ไม่มีปริมาณไขมันมากเกินไป ก่อนให้ลูกสาววิ่งข้ามสะพานซังฮี้ไปซ้อมว่ายน้ำที่โรงเรียน พร้อมขับรถตามเพื่อดูแลความปลอดภัยให้ จากนั้นเวลา 6.30 น.ระวี ถึงจะเริ่มซ้อมเช้า และตัวคุณพ่อจะไปทำงานตอน 9 โมง หลังระวีซ้อมเช้าเสร็จ ก่อนที่ช่วงบ่ายคุณพ่อต้องรีบไปรอรับลูกตั้งแต่ บ่าย 2 โมงครึ่ง เพราะที่จอดรถแถวโรงเรียนหายากมาก เพื่อรับระวี มากินข้าวมื้อบ่าย และให้ลูกสาวได้นอนพักเอาแรงอีก 1 ชั่วโมง
ก่อนที่จะเฝ้าลูกสาวซ้อมเย็นช่วง 6 โมงเย็นถึง 2 ทุ่มทุกวัน จันทร์ ถึง ศุกร์ โดยในวันเสาร์- อาทิตย์ คุณพ่อก็จะพาระวี ไปฝึกซ้อมว่ายน้ำเพิ่มเติม รวมถึงให้ออกกำลังกายเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายอีกด้วย โดยเราต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่คุณพ่อทำทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วในยุคที่ปราศจาก อินเตอร์เนต และความรู้เรื่องโภชนาการ รวมถึงวิทยาศาสตร์การกีฬายังเป็นสิ่งที่ไกลตัวนักกีฬาในบ้านเรามากๆ เรียกได้ว่าไม่ใช่แค่ทุ่มเท เสียสละ เฉยๆ แต่เป็นการศึกษาเรียนรู้ และหาข้อมูลมาอย่างดีของคุณพ่อสวัสดิ์ อินทพรอุดม
ทุ่มเท, เสียสละ, โอกาส และการสนับสนุน = ความสำเร็จ
นอกจากความทุ่มเทของคุณพ่อแล้ว ตัวระวี อินทพรอุดม ก็ยังต้องเสียสละสิ่งต่างๆ หลายสิ่งที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งควรจะได้ เรื่องเที่ยวเล่น หรือกิจกรรมสมัยวัยรุ่นเป็นสิ่งที่เธอแทบไม่เคยได้สัมผัส เวลาในวัยรุ่นของเธอถูกใช้ไปกับการฝึกซ้อมอย่างหนัก บางครั้งความเก่งของเธอก็ทำให้เธอเองต้องเสียน้ำตา จากว่ายแบบสนุกสนานมันกลับกลายเป็นความจริงจังเข้ามาแทนที่ เมื่อต้องถูกจับแยกซ้อมจากเพื่อนร่วมทีมที่ เขมะสิริอนุสสรณ์ เพราะเธอติดทีมชาติจึงต้องแยกซ้อมด้วยโปรแกรมที่หนักขึ้นกว่าเดิมเพื่อเตรียมแข่งขัน
หลังจากความทุ่มเท และเสียสละอย่างหนัก เธอก็ประสบความสำเร็จคว้าเหรียญทองซีเกมส์ด้วยวัยเพียงแค่ 12 ปีกับ 10 เดือน ซึ่งเป็นสถิติอายุน้อยสุดของนักว่ายน้ำไทยมาจนถึงทุกวันนี้ ความสำเร็จระดับปรากฎการณ์ในช่วงนั้น นำมาซึ่งโอกาส และการสนับสนุนด้วยเม็ดเงินระดับ 7 หลักต่อปีจากสปอนเซอร์ รวมถึงสมาคมว่ายน้ำในการส่งตัวเธอไปฝึกซ้อมยังประเทศ ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นที่ที่เธอได้เจอยอดโค้ชระดับโลกอย่าง Denis Cotterell ผู้ปลุกปั้นนักว่ายน้ำไปสู่เหรียญทองโอลิมปิกมากมาย อาทิเช่น Sun Yang ของจีน และGrant Hackett ของออสเตรเลีย ไม่ใช่แค่เจอโค้ชเก่ง แต่การได้ซ้อมกับนักว่ายน้ำทีมชาติออสเตรเลียระดับเหรียญทองโอลิมปิก ในช่วงนั้นทำให้เธอได้เรียนรู้หลายสิ่ง หลายอย่าง จนทำให้เธอประสบความสำเร็จอีกมากมายในภายหลัง
โอลิมปิกในความทรงจำ แอตแลนต้าปี 1996
ในวัยเพิ่งทำบัตรประชาชน ระวี อินทพรอุดม ก็มีโอกาสสัมผัส มหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิก แบบไม่ทันตั้งตัว ถึงจะเป็นระดับเจ้าของเหรียญทองซีเกมส์มาแล้ว แต่การไปแข่งระดับโลกในครั้งนั้นเป็นเหมือนการเปิดโลกให้กับนักว่ายน้ำสาวดาวรุ่งวัย 15 ปีอย่างเธอ “มันเป็นอะไรที่อลังการสุด ๆ” ระวีกล่าวสั้นๆถึงความยิ่งใหญ่ของโอลิมปิกเกมส์ มันเป็นปีที่ยอดเยี่ยม และอบอุ่น เพราะนอกจากนักว่ายน้ำไทยที่สมัยนั้นได้ไป โอลิมปิกเกมส์กันหลายคนมากๆ ยังเป็นปีแรกที่ประเทศไทยได้เหรียญทองโอลิมปิกจาก สมรักษ์ คำสิงห์ ถึงแม้เธอจะไม่ได้รับเหรียญรางวัลใดๆติดมือ
แต่การจบอยู่ในอันดับ 21 ของการแข่งขันก็ไม่ได้แย่อะไรเลยสำหรับสาวน้อยวัย 15 ปี และได้ไปสัมผัสการแข่งขันโอลิมปิก มันก็ได้สอนอะไรเธอหลายๆอย่าง ทั้งความยากที่เธอไม่คิดมาก่อนว่ามันจะยากขนาดนี้ ทั้งความทุ่มเทของนักว่ายน้ำระดับโลกที่ต้องเสียสละเยอะมากๆ และแน่นอนประสบการณ์ในครั้งนั้น มันจะติดตัวเธอไปตลอด เพื่อถ่ายทอดให้นักว่ายน้ำรุ่นใหม่ของไทยไว้ต่อสู้ในระดับโอลิมปิก เพราะในวันนี้เธอก้าวมาสู่การเป็นผู้ฝึกสอนว่ายน้ำ และผู้บริหารสโมสรว่ายน้ำ อย่างเต็มตัวแล้ว
TAG ที่เกี่ยวข้อง