stadium

เป็นเอก การะเกตุ จอมเตะโนเนมสู่ตำนานเทควันโดไทย

29 มกราคม 2563

หลังจาก “วิว” เยาวภา บุรพลชัย สามารถสร้างประวัติศาสตร์ คว้าเหรียญทองแดงจากการแข่งขันเทควันโด ในกีฬาโอลิมปิก 2004 ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เมื่อ 16 ปีที่แล้ว เสมือนเป็นชนวนระเบิด ที่ทำให้กีฬาเทควันโด ศิลปะการต่อสู้ของประเทศเกาหลีใต้ เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทย จนก่อให้เกิดนักเทควันโดไทยสายเลือดใหม่ ขึ้นมาประดับวงการมากมาย

 

ซึ่งแต่จอมเตะไทยแต่ละคน ได้ช่วยกันสร้างความสำเร็จให้กับประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง จนทำให้กีฬาชนิดนี้ คือกีฬาความหวังอันดับต้นๆ ของแฟนกีฬาชาวไทยไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันมหกรรมกีฬารายการใดก็ตาม หากพูดถึงจอมเตะชื่อดัง ที่เคยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยจนนับครั้งไม่ถ้วน เชื่อว่าแฟนกีฬาคงจะนึกถึงหลายคน ซึ่งหนึ่งในนั้น ต้องมีชื่อของ “เจ้าไอ” เป็นเอก การะเกตุ อย่างแน่นอน

 

แม้จะเลิกเล่นไปแล้ว 5 ปี นับตั้งแต่กีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 17 ที่นครอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 2014 ทว่าความสำเร็จหลายครั้งบนสังเวียนการต่อสู้ ที่มาจากหยาดเหงื่อและแรงกายของเขา ได้ทำให้ตำนานจอมเตะเมืองไทยรายนี้  ยังอยู่ในใจแฟนกีฬามาจนถึงปัจจุบัน

 

 

ชอบการต่อสู้คือจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเทควันโด

จุดเริ่มของการเป็นนักเทควันโดนั้น ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจที่จะเป็นนักกีฬาชนิดนี้แต่อย่างใด ทว่าได้เกิดจากความรักสนุกที่จะต่อสู้ ตามประสาวัยเด็กในช่วงอายุระหว่าง 9-10 ขวบ อาจารยที่โรงเรียนโสมาภานุสสรณ์ ได้ให้นักเรียนทุกคน ได้เรียนวิชาเทควันโด  พอเรียนไปสักพัก ปรากฏว่าเด็กเกือบทุกคน รู้สึกไม่อยากเรียนต่อ เนื่องจากกลัวเจ็บ ทว่า เด็กชายเป็นเอก กลับรู้สึกสนุกที่ได้ต่อสู้ จึงทำให้อาจารย์เห็นแวว พร้อมกับชักชวนให้มาเป็นนักกีฬา ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้น บนเส้นทางการเป็นนักเทควันโด

 

คุณพ่อผู้สอนปรัชญาแห่งการต่อสู้

แน่นอนว่า บนถนนของการเป็นนักกีฬา ต่างเต็มไปด้วยขวากหนาวและอุปสรรค เมื่อเขาได้ตัดสินใจเป็นนักกีฬาอย่างเต็มตัว ต้องซ้อมหนักมากกว่าเดิมหลายเท่า และต้องเจอกับคู่ต่อสู้ที่เก่งๆ บนสังเวียนการแข่งขันมากมาย ตอนซ้อมก็ซ้อมอย่างหนัก แต่พอไปแข่งก็แพ้แทบทุกครั้ง สิ่งนี้ได้ทำให้เด็กน้อยวัยเพียง 10 กว่าขวบ เริ่มรู้สึกท้อแท้ จนทำให้เขาร้องไห้ฟูมฟายต่อหน้าคุณพ่อ พร้อมกับตัดสินใจ ที่จะยุติเส้นทางการเป็นนักกีฬาเทควันโด อย่างไรก็ตาม คุณพ่อผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน แม้จะเห็นอกเห็นใจลูกขนาดไหน แต่ไม่ต้องการให้ลูกชายคนนี้ ยอมแพ้ต่ออุปสรรคอย่างง่ายดาย จึงให้กำลังใจและบอกให้ลูกสู้ต่อไป
 

อีกทั้งยังให้ลูกชายตื่นมาวิ่งตอนตี 5 ทุกวัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแกร่งขึ้น ทำให้นับจากนั้น เป็นเอก เริ่มเอาชนะคู่แข่งได้มากขึ้น จนเริ่มคว้าแชมป์ในรายการต่าง ๆ การที่คุณพ่อให้เขาตื่นมาวิ่งแต่เช้าทุกวัน เสมือนเป็นการสอนปรัชญาแห่งการต่อสู้ให้บุตรชายได้รู้ว่า หากคิดจะเอาชนะคู่แข่ง ต้องซ้อมมากกว่าคู่แข่ง ซึ่งพอโตขึ้นมา เป็นเอก การะเกตุ ไม่ได้นำปรัชญานี้ มาใช้เฉพาะการแข่งขันเทควันโดเท่านั้น แต่ยังนำไปใช้กับทุกเรื่อง ในการดำเนินชีวิต
 

 

โค้ชเช เห็นแววดึงเข้าสู่แคมป์ทีมชาติ

เมื่อ เป็นเอก การะเกตุ เริ่มคว้าแชมป์รายการต่างๆ จึงได้เป็นตัวแทนจังหวัดกรุงเทพมหานครไปแข่งขันกีฬาใหญ่ระดับประเทศหลายรายการ โดยในกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ 21 “พญาแลเกมส์” ที่จังหวัดชัยภูมิเป็นเจ้าภาพ เมื่อปี พ.ศ.2548 เขาได้เป็นตัวแทนทัพนักกีฬาจากเมืองหลวงไปแข่งขันด้วย 


กีฬาเยาวชนแห่งชาติในครั้งนั้น สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า นักกีฬาที่คว้าแชมป์ในแต่ละรุ่น จะได้สิทธิ์ร่วมคัดตัดเพื่อติดทีมชาติ ปรากฏว่าในรุ่น 48 กิโลกรัมชาย “เจ้าไอ” ได้เพียงรองแชมป์เท่านั้น ทว่าโค้ช เช ยอง ซอก ผู้ฝึกสอนเทควันโดทีมชาติไทยชาวเกาหลีใต้ กลับมองเห็นแววในตัวเขา จึงถูกเรียกตัวมาร่วมคัดเลือกทีมชาติด้วย แม้จะไม่ได้แชมป์ในรุ่นนี้ก็ตาม ซึ่งนั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้เขากลายเป็นนักเทควันโดทีมชาติในเวลาต่อมา โดยในช่วงคัดตัวทีมชาติ ต้องไปเข้าแคมป์คัดตัวอย่างจริงจัง ภายใต้การคุมซ้อมที่เข้มงวดของโค้ชเช 


รูปแบบการซ้อมที่หนักหน่วง ด้วยบรรยากาศที่ตึงเครียดและจริงจัง ชนิดค่ายทหารเรียกพี่ เป็นบททดสอบที่สุดโหด จนทำให้นักเทควันโดที่มาเข้าแคมป์ร่วมคัดตัวทีมชาติหลายคน ถึงกับทนไม่ไหว จึงยอมยกธงขาวยอมแพ้ไป ด้วยการเก็บของออกจากแคมป์ทีมชาติ แต่ เป็นเอก กลับไม่รู้ท้อกับอุปสรรคเหล่านี้แต่อย่างใด ด้วยปรัชญาการต่อสู้ ที่พ่อของเขาถ่ายทอดให้ตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก จึงทำให้เขาได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักกีฬาทีมชาติในที่สุด

 

 

สุดประทับใจกับโมเมนต์คว้าโควตาไปแข่งโอลิมปิก

ตลอดการเป็นนักเทควันโดทีมชาติไทย เป็นเอก การะเกตุ ประสบความสำเร็จมากมาย ในการแข่งขันรุ่นฟลายเวต 58 กิโลกรัมชาย ทั้งการคว้าแชมป์เยาวชนเอเชีย 2005, แชมป์เยาวชนโลก 2006, แชมป์เอเชียนมาร์เชี่ยลอาร์ท 2009, แชมป์ซีเกมส์ 2009, แชมป์ศึกชิงแชมป์เอเชีย 2010, เหรียญเงินเอเชียนเกมส์ 2010 และอื่นๆอีกมากมาย 

 

แต่การแข่งขันที่ประทับใจที่สุดคือศึกคัดเลือกโอลิมปิก 2012 ที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน ก่อนที่เขาจะสามารถเข้าชิงได้อย่างยอดเยี่ยม โดยในรอบชิงยังสามารถเอาชนะเจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิก 2008 อย่าง ยูลิส เมอร์เซเดซ จากโดมินิกันได้อีกด้วย ก่อนจะคว้าแชมป์มาครอง พร้อมกับคว้าสิทธิ์แข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อย่างภาคภูมิใจ
 

ส่วนในการแข่งขันโอลิมปิก 2012 แม้จะเจ้าตัวจะไปไม่ถึงฝัน กับการคว้าเหรียญรางวัล ทว่าเกือบที่จะคว้าเหรียญทองแดงเช่นกัน เมื่อแพ้ต่อ ออสการ์ โอเวียโด จากโคลัมเบีย 4-6 คะแนนเท่านั้น ในรอบชิงเหรียญทองแดงรอบสุดท้าย


อย่างไรก็ตาม แม้จะพลาดการคว้าเหรียญโอลิมปิก แต่การได้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน ได้ทำให้จอมเตะทีมชาติไทยรายนี้ ประทับใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถทำตามความฝันของเขาในวัยเด็ก ที่เคยตั้งเป้าไว้ว่า จะต้องลงแข่งขันโอลิมปิกสักครั้งในชีวิตให้ได้

 

สร้างตำนานคู่รักเทควันโดกับ บุตรี เผือดผ่อง

ภายหลังจากเลิกเล่นเทควันโด เมื่อเสร็จสิ้นกีฬาเอเชียนเกมส์ 2014 เป็นเอก การะเกตุ ได้หันหลังให้กับวงการอย่างเต็มตัว เพื่อมุ่งหน้าเรียนให้จบปริญญาตรี พอเรียนจบ ได้เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างจนสามารถเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคง อีกทั้งยังสร้างครอบครัวที่อบอุ่นกับ “น้องสอง” บุตรี เผือดผ่อง นักเทควันโดทีมชาติไทย ฮีโร่เหรียญเงินโอลิมปิก 2008 โดยทั้งคู่ ได้เข้าพิธีวิวาห์กันไปเมื่อปี พ.ศ.2561 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

stadium olympic