stadium

6 สุดยอดการวิ่งคบเพลิง ที่แฝงด้วยเรื่องราวน่าประทับใจ

9 มีนาคม 2563

สัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของการแข่งขันโอลิมปิกคงหนีไม่พ้นเปลวเพลิง ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1928 ในการแข่งขันที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศฮอลแลนด์ อย่างไรก็ตามการวิ่งคบเพลิงกำเนิดขึ้นครั้งแรก ในอีก 8 ปีต่อมา หรือการแข่งขันเบอร์ลินเกมส์ ที่ประเทศเยอรมนี ค.ศ. 1936 ภายใต้แนวคิดของลัทธิเผด็จการ ที่นำโดยผู้นำแห่งประวัติศาสตร์อย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งมีการตีความว่าอาจเป็นการวางกลยุทธ์ในการโฆษณาชวนเชื่ออีกทางหนึ่งผ่านมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

 

หากเรานับเฉพาะการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกฤดูร้อนนับตั้งแต่ ค.ศ. 1936 – 2016 ก็มีการวิ่งมาแล้ว 19 ครั้ง และในแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นเจ้าภาพก็มักเนรมิตเสน่ห์ของทั้งคบเพลิง เรื่องราว และ กลยุทธ์ในการวิ่งคบเพลิงให้มีความน่าสนใจแตกต่างกันออกไป เรามาย้อนดูว่า 6 อันดับแรกที่เป็นสุดยอดการวิ่งคบเพลิงที่น่าจดจำโดยทีมงานสเตเดี้ยม คือครั้งไหนบ้าง

 

 

เบอร์ลิน เกมส์ ปี 1936 : ครั้งแรกย่อมคือที่สุดเสมอ

 

การวิ่งคบเพลิงครั้งแรกมีระยะทางทั้งสิ้น 3075 กิโลเมตร จากผู้ถือคบเพลิงทั้งหมด 3075 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เท่ากันพอดิบพอดี โดยเป็นการวิ่งผ่านกรีซ , บัลแกเรีย , ยูโกสลาเวีย , ฮังการี , ออสเตรีย , เชคโกสโลวาเกีย และเยอรมนี ตั้งแต่ 20 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 1936

 

แม้จุดกำเนิดการวิ่งคบเพลิงอาจมีเรื่องการเมือง หรือ ลัทธิเผด็จการเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ท้ายที่สุดกิจกรรมดังกล่าวได้กลายเป็นประเพณีที่เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของการแข่งขัน และถูกจัดขึ้นในทุกๆ 4 ปีของโอลิมปิกฤดูร้อน และแผ่ขยายไปถึงโอลิมปิกฤดูหนาว รวมถึงกีฬาเยาวชนโอลิมปิกทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว

 

ย้อนรอยการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกครั้งแรก เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

 

เฮลซิงกิ เกมส์ 1952 :  จุดเริ่มต้นของประกายไฟที่ส่งผ่านทั่วโลกอย่างแท้จริง

                

หลังผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้ไม่นาน ฟินแลนด์ก็ได้สิทธิ์เป็นเจ้าภาพต่อจาก ลอนดอน 1948 ความน่าสนใจครั้งนี้คือการเดินทางของ คบเพลิงโอลิมปิก ที่ต่างชาติยกให้ว่าเป็นครั้งแรกที่เปลวไฟได้ส่งผ่าน ไปยังทั่วโลกอย่างแท้จริง

 

คบเพลิงมีการเดินทางเป็นระยะ 7,492 กิโลเมตร โดยระยะทางราวๆ 3,125 กิโลเมตรที่อาศัยเครื่องบิน จากกรุงเอเธนส์มาถึงอัลบอร์กในเดนมาร์ก และยังเดินทางผ่านพรมแดนระหว่างประเทศสวีเดนและฟินแลนด์

 

 

โตเกียว เกมส์ 1964 : สัมผัสแรกแห่งดินแดนเอเชีย

 

หนึ่งในความน่าประทับใจคงหนีไม่พ้นการที่ประเทศจากดินแดนเอเชียได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก และในครั้งนั้นประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในเส้นทางที่คบเพลิงโฉบผ่านร่วมกับอีก 13 ประเทศ

 

แน่นอนว่าการเตรียมการของญี่ปุ่นในการเป็นเจ้าภาพครั้งแรกได้รับคำชมอย่างมาก โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ฮ่องกง ซึ่งมีพายุไต้ฝุ่นที่ส่งผลให้เครื่องบินลำเลียงคบเพลิงได้รับความเสียหาย แต่พวกเขาใช้เวลาเพียงน้อยนิดในการนำเครื่องบินอีกลำมาทำหน้าที่ส่งมอบคบเพลิงต่อไปไทเป ล่าช้าไปเพียง 1 วัน

 

เรื่องสุดท้ายคงเป็นการวางสตอรี่และหาบุคคลที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการวิ่งขึ้นจุดคบเพลิงวันพิธีเปิด นั่นคือ โยชิโนริ ซากาอิ เด็กหนุ่มที่ได้รับสมญานามว่า “Hiroshima Baby” เพราะเขาเกิดวันที่ 6 สิงหาคม 1945 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ฮิโรชิมาโดนระเบิดนิวเคลียร์ถล่ม โดยเขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพและความหวังของประเทศญี่ปุ่น

 

อ่านเรื่องราวของ โยชิโนริ ซากาอิ ผู้ส่งสารสันติภาพผ่านคบเพลิงโอลิมปิก

 

 

แอตแลนต้า เกมส์ 1996 : คบเพลิงที่สั่นในมือของชายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการกีฬา

            

นอกจากตัวคบเพลิงที่ยาวที่สุดและมีด้ามจับอยู่ตรงกลาง รวมถึงเรื่องราวการเชื่อมโยงระหว่างสวรรค์โลก และ ไฟแห่งโอลิมปิก ที่มาจากวัสดุไม้ซึ่งได้รับการบริจาคโดยชาวนาท้องถิ่น ก็คงหนีไม่พ้นการครบรอบ 100 ปี ของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ซึ่งแสงสีในสมัยนั้นถือว่าจัดเต็มอย่างมาก

 

อีกไฮไลท์คือการได้เห็นควันจากเปลวเพลิงโอลิมปิก ลอยขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรก และไฮไลท์ที่คนทั่วโลก ณ เวลานั้นจำขึ้นใจคงหนีไม่พ้นฉากที่ มูฮัมหมัด อาลี ตำนานมวยตลอดกาลของโลก ทำหน้าที่จุดไฟกระถางเพลิงโอลิมปิกนั่นเอง

 

อ่านเรื่องราวของ มูฮัมหมัด อาลี กับช่วงเวลาแห่งความทรงจำในโอลิมปิก

 

 

การวิ่งคบเพลิงปี 2008 ส่วนร่วมของชาวไทย และ การเปิดเสรีในครั้งสุดท้าย

 

แม้ว่าในปี 2004 ไทยจะได้สิทธิ์เข้าร่วมวิ่งคบเพลิงที่ประเทศกรีซ ซึ่งก็นับว่าเป็นการมีส่วนร่วมที่น่าประทับใจมากแล้ว แต่ในโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่งประเทศจีนนั้น ประเทศไทยได้ถูกบรรจุให้เป็นเส้นทางนึง ที่จะมีการวิ่งคบเพลิงผ่าน โดยครั้งนี้ยังเป็นการวิ่งส่งต่อคบเพลิงที่มีระยะทางไกลมากที่สุดของโอลิมปิกอีกด้วย

 

แถมยังมีเหตุการณ์น่าสนใจเมื่อ คริสโตเฟอร์ เบญจกุล หนึ่งในผู้วิ่งคบเพลิงโอลิมปิก 2008 ของไทย ถูกฉกคบเพลิงไปต่อหน้าต่อตา แต่ภายหลังก็สบายใจกันได้เพราะทีมงานได้พบคบเพลิงถูกเก็บเอาไว้ที่รถบัส โดยคาดว่าจังหวะที่ คริสโตเฟอร์ โดนรุม ได้มีเจ้าหน้าที่มาดึงคบเพลิงเพื่อรีบเอาไปเก็บรักษาความปลอดภัยไว้ให้

 

 

การวิ่งคบเพลิงปี 2012 : ไอเดียจากเด็ก 5 ขวบ

 

ความพร้อม การมีบุคคลชื่อดัง บรรยากาศ ความคึกคัก และ แสงสีตลอดการวิ่งคบเพลิงที่ลอนดอน ถูกยกให้เป็น 1 ในครั้งที่ดีที่สุดอยู่แล้ว แต่เรื่องที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ เด็กอายุ 5 ขวบ กับคบเพลิงกระดาษที่เขาสร้างขึ้นมา

 

นี่คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนว่าโอลิมปิกสร้างแรงบันดาลใจ เพราะมันทำให้ โลแกน แมคเคอร์โรว์ คิดการประดิษฐ์คบเพลิงกระดาษขึ้นมาและส่งประมูลขายออนไลน์จนท้ายที่สุดสามารถสร้างรายได้กว่า 32,000 ปอนด์ เพื่อบริจาคเข้ามูลมิธิสุนัขเพื่อคนหูหนวก


stadium

author

นวพล เกียรติไพศาล

StadiumTH Content Creator

stadium olympic