stadium

คอนแลน-นิกิติน ไฟต์ที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์มวยโอลิมปิก

10 มิถุนายน 2567

ในกีฬามวยสากล มีหลายครั้งที่ผลการชกไม่เป็นไปตามความคิดของของกูรูหรือผู้ชม ซึ่งบางครั้งผลที่ออกมานั้นก็เป็นสิ่งที่พอเข้าใจได้ เพราะการตัดสินด้วยสายตาย่อมเป็นเรื่องยากที่จะมีมาตรฐานเดียวกัน แต่หากมีไฟต์ที่ฝ่ายหนึ่งเหนือกว่าอย่างชัดเจนจนแทบจะเรียกได้ว่าต้อนอยู่ฝ่ายเดียว แต่ฝ่ายที่เป็นรองกลับชนะคะแนนไปอย่างค้านสายตา ไฟต์นั้นคงต้องนำมาพิจารณาแล้วว่ามันมีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรที่ไม่ชอบมาพากลหรือไม่

 

เหมือนเช่นไฟต์ที่ ไมเคิล คอนแลน ยอดกำปั้นชาวไอริช แพ้คะแนน วลาดิเมียร์ นิกิติน คู่แข่งชาวรัสเซียในรอบก่อนรองชนะเลิศมวยสากลสมัครเล่น รุ่นแบนตั้มเวต ในโอลิมปิก เกมส์ ปี 2016 ที่นครริโอ เดอ จาเนโร ซึ่งทำให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ลงมือสอบสวนอย่างจริงจังจนขยายผลไปถึงการสั่งแบนสมาคมมวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ (ไอบา) ห้ามเป็นผู้จัดการแข่งขันในโอลิมปิกครั้งต่อมาที่กรุงโตเกียว และล่าสุดคือถอดกีฬามวยสากลจากโอลิมปิกปี 2028 ที่นครลอสแองเจลิส ขณะที่ปารีส 2024 ยังลูกผีลูกคน โดยบทความชิ้นนี้จะนำทุกคนย้อนไปดูว่าไฟต์ดังกล่าว มันสร้างจุดด่างพร้อยให้กับวงการกำปั้นโลกเพียงใด

 

 

พายุเริ่มก่อตัว

 

อันที่จริง คอนแลน ที่มีดีกรีเป็นแชมป์โลกและแชมป์ยุโรปปี 2015 รวมทั้งคว้าเหรียญทองแดงจากโอลิมปิกที่กรุงลอนดอน ได้ยินข่าวลือมาตั้งแต่ก่อนถึง ริโอ เกมส์ แล้วว่า เขาจะไม่ได้รับการตัดสินอย่างเป็นธรรม หรือถูกปล้นชัยชนะ และเมื่อถึงช่วงการแข่งขันข่าวลือยิ่งทวีความรุนแรง ผู้ที่บงการอยู่เบื้องหลังทั้งหมดดูจะรู้ดีว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น ขณะที่ทีมงานพยายามปิดข่าวไม่ให้รู้ไปถึงหูของนักชกชาวไอริช แต่การอยู่ในหมู่บ้านนักกีฬาทำให้เป็นเรื่องยากที่จะดับไฟซึ่งกำลังลามทุ่ง

 

พอถึงวันแข่ง คอนแลน ที่ถูกยกให้เป็นตัวเต็งทั้งจาก ฟอร์มการชก, ประสบการณ์ และโมเมนตัมในขณะนั้น ได้บายในรอบแรกหรือรอบ 32 คน ไปรอในรอบ 16 คนสุดท้ายเนื่องจากได้รับการจัดอันดับเป็นมือหนึ่งของรายการ ซึ่งเจ้าตัวก็เอาชนะ อาราม อาวาคยาน จาก อาร์เมเนีย ได้อย่างไม่มีปัญหา 3-0 เสียง ทะลุเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ ซึ่งหากเก็บชัยได้อีกไฟต์เดียวก็จะมีเหรียญทองแดงมาตุนอยู่ในมือพร้อมกับขยับเข้าใกล้ความฝันมากขึ้น แต่หารู้ไม่ว่ามีมือที่มองไม่เห็นกระชากสิ่งนั้นออกไปจากตัวเขาเรียบร้อยแล้ว

 

 

สัญญาณเตือนตั้งแต่ต้น

 

ในรอบก่อนรองชนะเลิศ คอนแลน ต้องเจอกับ วลาดิเมียร์ นิกิติน จากรัสเซีย ที่เคยชนะนักชกชาวไอริชมาแล้วในศึกชิงแชมป์โลกเมื่อปี 2013 แต่มาครั้งนี้ คอนแลน เป็นต่ออย่างมากทั้งฟอร์มและสภาพร่างกาย ขณะเดียวกัน นิกิติน ก็ขึ้นสังเวียนในสภาพบอบช้ำ มีรอยการเย็บจากแผลแตกที่ชัดเจน หลังจากในรอบที่ผ่านมาเจอศึกหนักกับ ฉัตร์ชัย บุตรดี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี) นักชกชาวไทย และชนะคะแนนมาแบบน่ากังขา

 

เมื่อถึงเวลาชก คอนแลนก็สัมผัสได้ทันทีว่าไฟต์นี้มีบางอย่างไม่ถูกต้อง หลังได้รับการเตือนจากกรรมการบนเวทีเรื่องศีรษะทั้งที่ระฆังเริ่มชกยังไม่ดังด้วยซ้ำ

 

"ผมไม่รู้ว่านั่นหมายความว่าอย่างไร" คอนแลน เอ่ยในตอนที่ได้ย้อนดูเทปการชกวันนั้นอีกครั้ง "ผมรู้จักกรรมการคนนี้ และเธอไม่เคยพูดอะไรทำนองนั้นมาก่อน"

 

 

                

ผลการชกที่ค้านสายตาคนทั้งโลก

 

ในยกแรก เรียกได้ว่าคอนแลนแทบไม่เจอปัญหาให้หนักใจ นักชกชาวไอริชเหนือกว่าทั้งความเร็วและความแม่นยำ ขณะที่ นิกิติน ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการจั่วลม ซึ่งพอถึงช่วงพักยก คอนแลนก็อยู่ในอาการผ่อนคลายรอคอยเสียงระฆังครั้งใหม่ แต่แล้วเพื่อนนักชกร่วมชาติก็แจ้งข่าวสุดช็อกให้ได้ยินว่า นิกิตินกลับได้คะแนนเหนือกว่าในยกแรก

 

"ผมรู้เลยในตอนนั้น" คอนแลน เผย ข้อมูลที่ได้รับทำให้เขาแน่ใจเรื่องข่าวลือ และรู้ดีว่าเส้นทางในโอลิมปิกของเขาจบลงแล้ว ความฝันในวัยเด็กของเขาต้องจากไปตลอดกาล

 

ถึงแม้ในใจจะผิดหวัง แต่ก็ต้องเดินหน้าต่อไป คอนแลนเปิดเกมบุกมากขึ้นในยกที่ 2 ซึ่งเจ้าตัวยิ่งแสดงให้เห็นถึงความต่างชั้นอย่างชัดเจนมากกว่ายกแรก

 

"ผมใส่ไม่ยั้งจนเขาออกอาการ แต่แล้วเธอ(กรรมการ) ก็ก้าวเข้ามาพร้อมกับคำเตือน แล้วผมจะเลือกอะไรได้ มันไม่มีทางที่พวกเขาจะปล่อยให้ผมเป็นผู้ชนะ"

 

ในยกสุดท้าย รูปเกมการชกไม่ได้ผิดแผกแปลกไปจากสองยกแรก คอนแลนโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยม ขณะที่นิกิตินอยู่ในสภาพยับเยิน ไม่ว่าใครได้เห็นก็มองออกว่าผู้ใดจะได้รับการชูมือในตอนจบ

 

อย่างไรก็ตาม ผลการชกที่เกิดขึ้นจริงฉีกสามัญสำนึกของเราจนขาดกระจุย นิกิตินได้รับการชูมือทั้งที่เลือดอาบทั่วใบหน้า ด้วยคะแนนอันเป็นเอกฉันท์ 3-0 เสียง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นเรียกความสนใจจากคนทั้งโลก เมื่อผู้ถูกปล้นชัยชนะถอดเสื้อกล้ามของตัวเอง ยืนหยัดอยู่บนเวทีด้วยอารมณ์โกรธเกรี้ยว พลางระบายความคิดของตัวเองที่มีต่อกรรมการให้คะแนน พร้อมกับชูนิ้วกลางเป็นของแถม ก่อนจะลงจากสังเวียนด้วยไฟแห่งความคับแค้น และปิดท้ายด้วยคำสัมภาษณ์อันดุดัน ซึ่งแม้จะเป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงความไม่มีน้ำใจนักกีฬา แต่มันกลับเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์โอลิมปิกไปตลอดกาล

 

 

จากหนึ่งไฟต์สู่การเปลี่ยนแปลงทั้งองค์กร

 

เรื่องราวที่ตามมาหลังจากนั้นกลายเป็นความยุ่งเหยิง คอนแลนที่โดนลงโทษเรื่องพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมออกจากหมู่บ้านนักกีฬาในคืนวันนั้นทันที และไล่แสดงความเห็นโจมตีเจ้าหน้าที่ของไอบาที่เป็นฝ่ายจัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทั่วโลกต่างประณามการตัดสิน มวยสากลสมัครเล่นในโอลิมปิกต้องพบกับความอับอายอีกครั้ง วิธีการชกนอกสังเวียนของคอนแลนได้ผล และทำให้กีฬาชนิดนี้ต้องได้รับการปฏิวัติทุกกระเบียดนิ้ว

 

จากสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ไอโอซีเริ่มต้นกระบวนการสอบสวนอย่างจริงจัง พร้อมกับชี้ว่าผลการตัดสินไฟต์ คอนแลน-นิกิติน เป็นตัวนำให้พวกเขาปฏิวัติองค์กร ไอบาซึ่งตกเป็นข่าวเรื่องคอร์รัปชันมาตลอดถูกลงโทษแบน เจ้าหน้าที่ขององค์กรตั้งแต่หัวถึงหางโดนล้างไพ่จนเกลี้ยง ถึงแม้จะยังมีการแข่งขันชกมวยในโตเกียว เกมส์ ปี 2020 แต่ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดจาก ริโอ เกมส์ ได้รับเลือกอีกครั้ง เพราะหากเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย เราก็อาจไม่ได้เห็นกีฬามวยในโอลิมปิกอีกต่อไป

 

 

บทสรุปไฟต์อัปยศ ปลดเปลื้องปมคาใจ

 

มาถึงตรงนี้อาจมีคำถามว่า แล้วนิกิตินไปได้ไกลแค่ไหนที่ริโอ เกมส์? คำตอบคือจากบาดแผลและความเจ็บปวดสะสมทำให้นักชกชาวรัสเซียต้องถอนตัวจากรอบรองชนะเลิศที่พบกับ ชาคูร์ สตีเวนสัน นักชกอเมริกัน ส่วนคอนแลนขยับเป็นนักมวยอาชีพในสังกัดของ บ็อบ อารัม ก่อนที่ นิกิติน จะเทิร์นโปรตามมาในค่ายเดียวกันเมื่อปี 2018

 

แน่นอนมันเป็นสิ่งที่อารัมวางแผนเอาไว้อยู่แล้วว่า จะจัดไฟต์ล้างตาให้ทั้งคู่ และมันก็เกิดขึ้นจริงในเดือนธันวาคมปี 2019

 

"ผมต้องเอาชนะเขา เพื่อให้ตัวเองก้าวต่อไปได้" คอนแลน กล่าวก่อนที่จะได้เจอกันบนสังเวียนอีกครั้ง หลังผ่านไป 3 ปี ซึ่งเจ้าตัวก็ทำได้สำเร็จหลังชนะคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์ ป้องกันแชมป์รุ่นเฟเธอร์เวตของ ดับเบิลยูบีโอ อินเตอร์-คอนติเนนตัล พร้อมกับรักษาสถิติไร้พ่ายในการชกมวยอาชีพได้ต่อไป

 

"ผมรู้สึกเหมือนแบกโลกไว้บนบ่า แต่ตอนนี้รู้สึกดีมากๆ ที่ทำมันได้สำเร็จ วลาดิเมียร์เป็นคนดีอย่างที่ผมเคยพูดมาตลอด ผมแค่ต้องการทำให้มันถูกต้อง เราทั้งสองไม่เคยบาดหมางอะไรกันเป็นการส่วนตัว"

 

"นั่นคือสิ่งที่มันเป็น ผมจบเรื่องนี้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2016 ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงไปได้ มันเป็นแค่ประวัติศาสตร์ ดังนั้นเราควรจะก้าวต่อไป"

 

 

อนาคตที่เลือนรางของมวยสากลในโอลิมปิก

 

แม้ไอบาจะได้รับโอกาสจากไอโอซีที่สั่งให้ปฏิรูปองค์กรโดยยึดหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส หากหวังได้คืนสถานะผู้รับชอบจัดแข่งมวยสากลในโอลิมปิก แต่สมาคมมวยนานาชาติภายใต้การบริหารของ อูมาร์ เครมเลฟ ดูไม่ได้ใส่ใจมากเท่าใดนัก ทำให้ไอโอซีไม่รับรองและต้องทำหน้าที่จัดแข่งกีฬาชนิดนี้ในปารีส 2024 ด้วยตัวเอง

 

อย่างไรก็ตามใน แอลเอ 2028 อนาคตของกีฬามวยยังคงไม่ชัดเจนว่าจะได้รับการบรรจุแข่งหรือไม่ เนื่องจากไอโอซีไม่สามารถแบกภาระตรงส่วนนี้ได้เนื่องจากเหตุผลด้านการกำกับดูแล พวกเขาจึงต้องถอดกีฬาชนิดนี้ออกจากการแข่งขัน จนกว่าจะได้องค์กรกีฬานานาชาติที่ได้รับการยอมรับและเชื่อถือได้เข้ามารับหน้าที่ดูแลแทน ซึ่งต้องได้รับการรับรองจากไอโอซีภายในต้นปี 2025


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

Hatari
stadium olympic