15 กรกฎาคม 2567
มวยสากลสมัครเล่น ถือเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่เก่าแก่ และถูกบรรจุแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่มาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่โอลิมปิก เกมส์ ครั้งที่ 3 เมื่อปี ค.ศ.1904 ณ เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา
นับแต่นั้นเป็นต้นมา กีฬาต่อสู้ชนิดนี้ อยู่คู่กับมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติมาโดยตลอด พร้อมกับมีวิวัฒนาการ ในการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของกฏกติกาการแข่งขัน
สาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงกติกาบ่อย มีเหตุผลหลักมาจากการตัดสิน ที่มักจะค้านสายตาอยู่บ่อยครั้ง จนเกิดเรื่องอื้อฉาวเป็นประจำ
บทความชิ้นนี้ จะพาทุกท่านไปดูกันว่า นับตั้งแต่กีฬามวยสากลสมัครเล่น ถูกบรรจุในโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรก จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลง กฎ กติกา และด้านอื่นๆ อย่างไรบ้าง
โอลิมปิกครั้งแรกของมวยสากลสมัครเล่น เมื่อปี 1904 เมื่อ 116 ปีที่แล้ว การแข่งขันถูกกำหนดให้มีการชก 3 ยก ยกละ 3 นาที และมีกรรมการให้คะแนน 2 คน โดยยึดการตัดสินแบบมวยสากลอาชีพเป็นหลัก
จากนั้นในโอลิมปิกครั้งถัดมาเมื่อปี 1908 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้มีการเปลี่ยนกติกาเล็กน้อย โดยกรรมการให้คะแนนยังมี 2 ท่านเหมือนเดิม ทว่าสิ่งที่แตกต่างจากเดิมก็คือ ยก 1 กับยก 2 จะชกกัน 3 นาที โดยกรรมการจะให้คะแนนนักชกที่เหนือกว่า 5 คะแนนต่อยก ส่วนคนที่เป็นรองจะได้ 4 คะแนนต่อยก(หากโดนนับก็จะโดนหักคะแนนอีก)
ส่วนยกที่ 3 จะชก 4 นาที และกรรมการจะให้คะแนนนักชกที่เหนือกว่า 7 คะแนน ส่วนคนที่เป็นรองจะได้ 6 คะแนน(หากโดนนับก็จะโดนหักคะแนนอีก)
หากคะแนนรวมทั้ง 3 ยกเท่ากัน กรรมการผู้ชี้ขาดจะใช้ดุลยพินิจเลือกผู้ชนะ หรืออาจจะเพิ่มการชกยกที่ 4 อีก 1 ยก
กติกานี้ ได้ใช้มาอย่างต่อเนื่อง แม้ในบางช่วง กีฬาโอลิมปิกจะเว้นวรรคจากการแข่งขันก็ตาม เนื่องจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
จนกระทั่งในโอลิมปิก 1952 ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ได้มีการเปลี่ยนกติกากันอีกครั้ง โดยเพิ่มให้มีกรรมการให้คะแนนจาก 2 เป็น 3 คน และได้เปลี่ยนวิธีให้คะแนนมาเป็นคะแนนระบบ 10 แต้มเหมือนมวยสากลอาชีพ
จากนั้นในโอลิมปิก 1960 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นครั้งที่ แคสเซียส เคลย์ หรือ มูฮัมหมัด อาลี คว้าเหรียญทองในรุ่นไลท์เฮฟวีเวต ได้มีการเพิ่มจำนวนกรรมการให้คะแนนจาก 3 เป็น 5 คน เพื่อต้องการให้กรรมการให้คะแนน เห็นเหตุการณ์ชัดเจนทั่วเวที
ในโอลิมปิก 1984 แม้จะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องกติกา ทว่าได้มีการนำอุปกรณ์เฮดการ์ดมาให้นักมวยได้สวมใส่ เพื่อป้องกันไม่ให้นักชกแต่ละคน ได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองมากจนเกินไป จนทำให้นักมวยสากลสมัครเล่น ต้องสวมเฮดการ์ดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของกีฬาชนิดนี้
ถัดมาในโอลิมปิก 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ นับเป็นโอลิมปิกที่มีเหตุการณ์อื้อฉาวเกิดขึ้นในกีฬามวยสากลสมัครเล่น มากที่สุดครั้งหนึ่งเลยทีเดียว เพราะมีการประท้วงการตัดสินเกิดขึ้นมากมาย บางเหตุการณ์ถึงขั้นขึ้นเวทีไปทำร้ายผู้ตัดสิน
สำหรับเหตุการณ์ที่แฟนกีฬารุ่นเก่า ยังคงจำกันได้ดี ก็คือไฟต์ที่ รอย โจนส์ จูเนียร์ จากสหรัฐฯ ที่ในเวลาต่อมาคือตำนานยอดนักชกเจ้าของเข็มขัดแชมป์โลก 5 รุ่น แพ้คะแนนอย่างน่ากังขาต่อ ปาร์ค ซี ฮุน นักชกเจ้าภาพ 2-3 คะแนน ทั้งที่ตลอด 3 ยก นักชกอเมริกันเดินหน้าไล่ชกแทบจะฝ่ายเดียว จนกลายเป็นเหตุการณ์ที่อื้อฉาวไปทั่วโลก
นับจากนั้น จึงทำให้ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในโอลิมปิกเกมส์ครั้งต่อมา ที่นครบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เมื่อปี 1992 โดยเปลี่ยนจากการให้คะแนนระบบ 10 แต้มเหมือนมวยอาชีพ มาให้คะแนนตามจำนวนหมัดที่เข้าเป้า นับเป็นการปฏิวัติกติกาให้คะแนนครั้งใหญ่ ของมวยสากลสมัครเล่นเลยทีเดียว
โดยจะให้กรรมการให้คะแนนทั้ง 5 คน ที่นั่งในแต่ละด้านของเวทีมวย กดปุ่มทุกครั้งที่มีการชกเข้าเป้า และกรรมการให้คะแนน จะต้องกดปุ่ม 3 คนขึ้นไปเท่านั้น ถึงจะได้แต้มจากการชกในครั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีการตัดสินที่ค้านสายตาเกิดขึ้น จึงทำให้ครั้งต่อมา ในโอลิมปิกเกมส์ 1996 ที่แอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ครั้งที่ประเทศไทยได้เหรียญทองประวัติศาสตร์จาก สมรักษ์ คำสิงห์ ได้มีการแสดงคะแนนบนจอโทรทัศน์ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
กติกานับแต้มตามจำนวนหมัดที่เข้าเป้า พร้อมกับแสดงบนหน้าจอให้คนทั้งโลกได้เห็น ได้ช่วยให้มวยสากลสมัครเล่น เป็นเกมที่แฟร์มากขึ้น ทว่าก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาตัดสิน โดยเฉพาะในยามที่นักชกเจ้าภาพขึ้นเวที หากได้โอกาสคลุกวงในปล่อยหมัดชุดรัวคู่ต่อสู้เมื่อไหร่ กรรมการให้คะแนนก็สบโอกาสกดคะแนนให้แบบไม่ยั้ง ไม่ว่าหมัดรัวดังกล่าว จะเข้าเป้าหรือไม่ก็ตาม
นอกจากนี้ มีแฟนมวยจำนวนไม่น้อยที่วิจารณ์ว่า การให้คะแนนตามจำนวนหมัด แล้วแสดงบนจอตลอดเวลา ไม่ค่อยสนุกมากนัก เพราะมีนักชกหลายคน ที่พอรู้ว่าตัวเองมีคะแนนนำ จะหนีทันที โดยไม่คิดที่จะชกแต่อย่างใด
จึงทำให้โอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้มีการเปลี่ยนกติกาอีกครั้ง โดยยังนับแต้มตามจำนวนหมัดเหมือนเดิม แต่จะแสดงคะแนนให้ผู้ชมและนักกีฬาได้เห็นเฉพาะตอนพักยกเท่านั้น ซึ่งโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่มีมวยหญิงชิงชัยด้วย
ทว่า ปัญหาการตัดสินก็ยังไม่จางหายไป โดยเฉพาะแมตช์การชิงเหรียญทองระหว่าง แก้ว พงษ์ประยูร กับ โจว ซื่อ หมิง จากจีน ซึ่งไฟต์ดังกล่าว นักชกไทยเหนือกว่ามาก แต่พอหมดยกทีไร มีคะแนนตามหลังตลอด จนกระทั่งจบการแข่งขัน กรรมการชูมือให้ โจว ซื่อ หมิง เอาชนะ แก้ว ไปอย่างน่ากังขา ท่ามกลางเสียงโห่จากแฟนมวยทั้งฮอลล์แข่งขัน พร้อมกับมีข่าวฉาวเล็ดลอดออกมาว่า บางประเทศได้ซื้อเหรียญทองล่วงหน้านานหลายเดือน
จากนั้น ในโอลิมปิก 2016 ที่ริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล สหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ ได้เปลี่ยนกติกาอีกครั้ง เพื่อให้มวยสากลสมัครเล่นดูสนุกเร้าใจมากขึ้น ด้วยการกลับไปใช้ระบบการให้คะแนน 10 แต้มต่อยก เหมือนมวยสากลอาชีพเหมือนเดิม พร้อมกับให้นักชกชายถอดเฮดการ์ด ส่วนนักชกหญิงยังใส่เฮดการ์ดเหมือนดิม
สำหรับการให้คะแนนนั้น จะมีกรรมการให้คะแนน 5 คน แต่คอมพิวเตอร์จะทำการสุ่มเอาคะแนนเพียง 3 คนเท่านั้น
สาเหตุที่เปลี่ยนกติกา เนื่องจาก ชิง กั๊วะ วู ประธานสหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติในขณะนั้น ต้องการให้มวยสากลสมัครเล่น มีรูปแบบใกล้เคียงมวยสากลอาชีพมากขึ้น พร้อมกับเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้นักชกอาชีพ มาชกโอลิมปิกเกมส์ได้ ทว่ามีไม่กี่คนที่สนใจมาชก
การเปลี่ยนกติกาในครั้งนี้ ก็ไม่ได้ช่วยให้มีความขาวสะอาดแต่อย่างใด มวยสากลสมัครเล่น ยังคงมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการตัดสินเหมือนเดิม
จะเห็นได้ว่า ตลอดการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น ในเวทีโอลิมปิกเกมส์ มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการตัดสินมาโดยตลอด จนคณะกรรมการโอลิมปิกสากล(IOC) ได้ตัดสินใจลงโทษแบน ด้วยการขู่จะตัดกีฬาชนิดนี้ออกจากโอลิมปิกเกมส์ จนกระทั่งสามารถล้างบางคณะกรรมการบริหารสหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ ชุดที่มี ชิง กั๊วะ วู เป็นประธาน ออกไปจากตำแหน่งได้ พร้อมกับเข้ามาดูแลเรื่องการตัดสินเอง ในการแข่งขันโอลิมปิกรอบคัดเลือกทุกรายการ รวมไปถึงโอลิมปิก 2020 รอบสุดท้าย และปารีส 2024 ในปีนี้
TAG ที่เกี่ยวข้อง