14 กุมภาพันธ์ 2563
เป็นที่ทราบกันดีว่า โอลิมปิก 1964 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถูกยกให้เป็นมหกรรมโอลิมปิกครั้งประวัติศาสตร์ นอกจากจะจัดการแข่งขันที่ทวีปเอเชียเป็นครั้งแรกแล้ว เทคโนโลยีมากมายไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายทอดสด หรือกล้องบันทึกวีดีโอ และรถไฟความเร็วสูงก็ออกสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรกที่นี้อีกด้วย แต่ใครจะรู้ว่ากว่าธงห้าสีห้าห่วงแห่งมวลมนุษยชาติจะมาโบกสะบัดที่เมืองหลวงของแดนซามูไร ต้องผ่านอุปสรรคนานา และบุคลากรอันทรงคุณค่าของญี่ปุ่นต่างต้องเสียสละร่างกายและชีวิตเพื่อเกียรติยศของประเทศ อย่างไรก็ตามยังมีบุคคลหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังเส้นทางอันยาวนาน เขาคือมิตรแท้ของปรมาจารย์ คาโน่ จิโกโร่ ชื่อของเขาคือ อเวรี่ บรันเดจ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลคนที่ 5
หนุ่มมิชิแกนผู้รักกีฬา
อเวรี่ บรันเดจ เกิดที่เมืองดีทรอยท์ รัฐมิชิแกน ในครอบครัวชาวอเมริกันชนชั้นกลาง ครอบครัวของเขาย้ายไปอยู่ที่ชิคาโก รัฐอิลินอยส์ เมื่อตอน บรันเดจ อายุได้ประมาณ 5 ขวบ เขาเป็นคนรักในการเล่นกีฬาและพลังเหลือล้น ช่วงที่เรียนระดับไฮ-สคูล โรงเรียนที่เขาเรียนนั้นไม่มีชมรมกีฬา บรันเดจ ก็ยังหาทางประดิษฐ์อุปกรณ์กีฬาขึ้นมาใช้ด้วยตัวเองเป็นค้อนจักรสำหรับขว้าง เพราะตัว บรันเดจ นั้นชอบเล่นกรีฑาประเภทลานและขว้างจักร
บรันเดจ เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาที่ มหาวิทยาลัย อิลินอยส์ โดยเลือกเล่นกีฬาบาสเก็ตบอลและกรีฑา และได้เป็นนักกรีฑาตัวแทนมหาวิทยาลัย และด้วยความชอบกีฬาอย่างยิ่ง บรันเดจ ก็มีส่วนร่วมในการทำวารสารกีฬาให้กับทางมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งเมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัยในปี 1909 ก็ได้ไปทำงานในสายของวิศวกรใน ชิคาโก ในขณะเดียวกันก็ยังคงจริงจังกับเส้นทางนักกีฬาโดยเจาะจงไปที่กีฬากรีฑา ซึ่งทำให้ บรันเดจ ได้มีโอกาสไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ปี 1912 ที่กรุงสต็อคโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในฐานะตัวแทนของประเทศสหรัฐอเมริกา
เส้นทางสู่ IOC และตัวตนของความยุติธรรม
นอกจากจะทำงานเป็นวิศวกร โดยเปิดบริษัทของตัวเอง ทำให้ บรันเดจ ถือว่ามีฐานะและมีหน้ามีตาพอสมควรในเมืองชิคาโก บรันเดจ ขึ้นชื่อในเรื่องของการบริหารจัดการและมีนิสัยรักยุติธรรมและต่อต้านการคอร์รัปชั่น ในส่วนของสายกีฬาเขายังคงลงแข่งขันกรีฑาในนามของสมาคมกีฬากรีฑาของชิคาโก (Chicago Athletic Association) ซึ่งผลงานของเขาทำให้เจ้าตัวมีโอกาสได้ติดทัพสหรัฐอเมริกาไปแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ ปี 1912 แม้สุดท้ายจะไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือมาเลยก็ตาม
หลังจากผ่านโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกมา บรันเดจ ก็แทบจะเรียกจะเข้าสู่วงการกีฬาเต็มตัว โดยเขาได้เริ่มต้นด้วยการทำงานกับสหพันธ์นักกีฬาสมัครเล่นหรือ AAU (Amateur Athletic Union) ด้วยชื่อเสียงและฐานะที่เขาสะสมมาในแวดวงสังคมทำให้ในปี 1925 บรันเดจ ก็ได้รับเลือกเป็นประธานบริหารของ AAU และเริ่มสร้างสัมพันธ์กับคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NOC (National Olympic Committee) ซึ่งนี่เป็นการปูเส้นทางสู่การเข้าไปเป็นร่วมกับ IOC ในอนาคตอันใกล้
บรันเดจ ทำงานกับ NOC อย่างใกล้ชิดและได้รับโอกาสเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ในฐานะตัวแทนของโอลิมปิกสหรัฐฯ แต่สิ่งที่ทำให้ บรันเดจ มีตัวตนอย่างยิ่งคือการที่เขายืนยันเสียงแข็งสนับสนุนการจัดโอลิมปิกฤดูร้อน ปี 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน จักรวรรดิเยอรมัน และต่อต้านการบอยคอตของนานาชาติเยอรมัน ในช่วงทศวรรษที่ 1930 อยู่ในการปกครองของจักรวรรดินาซี ที่นำโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ การที่เยอรมันหรือที่ทั่วโลกรู้จักกันว่า ไรช์ (German Reich) ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดมหรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ถูกมองว่ามาจากความเกรงกลัวอำนาจของ ฮิตเลอร์ รวมถึงสัมพันธ์ที่ดีกับชาติที่เป็นคอมมูนิสต์ซึ่งในเวลานั้นถือว่ากระจายอยู่ทั่วยุโรปและแอฟริกา แน่นอนว่าก็มีอีกหลายชาติประชาธิปไตยที่ต่อต้านและไม่ยินดีที่จะลงแข่งขันกีฬาในอาณาจักรที่ไม่เป็นมิตรกับโลก
อย่างไรก็ตาม บรันเดจ ที่ในปี 1936 ได้ขึ้นมาเป็นประธานของคณะกรรมการโอลิมปิกของสหรัฐฯ ได้ยืนยันว่าเขาสนับสนุน นาซีเยอรมัน ในการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเกมส์ เหมือนเดิม โดยประกาศกร้าวว่า การเมืองกับกีฬา ไม่ควรเอามารวมกัน และ บรันเดจ ก็ให้สหพันธ์นักกีฬาสมัครเล่นหรือ AUU ลงคะแนนโหวตสนับสนุนให้นักกีฬาสหรัฐฯ เข้าร่วมแข่งโอลิมปิก ทำให้สุดท้าย โอลิมปิกฤดูร้อน ที่กรุงเบอร์ลินก็ได้เกิดขึ้นกลายเป็น มหกรรมโอลิมปิกที่มีชาติเข้าร่วมมากที่สุดที่ 49 ประเทศและกลายเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายก่อนโลกเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเต็มตัว
มิตรของญี่ปุ่นและสัมพันธ์กับ คาโน่ จิโกโร่
ในช่วงเวลาเดียวกันอีกฝั่งหนึ่งของแผนที่โลก จักรวรรดิญี่ปุ่นในปลายยุคโชวะ ก็อยากมีหน้าตามีตาในเวทีโลกเช่นกัน ญี่ปุ่นได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลิน และมิหนำซ้ำยังสนับสนุนเยอรมันอย่างเต็มที่ในฐานะแนวร่วมฝ่ายอักษะ
ญี่ปุ่นมีบุคลากรอันทรงคุณค่าที่ทางรัฐบาลมอบหมายในการสร้างสัมพันธ์และเป็นตัวแทนในเวทีโลกนั่นคือปรมาจารย์ คาโน่ จิโกโร่ ที่เดินสายเข้าร่วมประชุมในฐานะสมาชิก IOC ชาวเอเชียคนแรกในประวัติศาสตร์ บรันเดจ ได้พบกับ จิโกโร่ ในระหว่างการพบกันในการประชุมที่นครลอสแองเจลิส เมื่อปี 1932 ซึ่งบุคลิกของอาจารย์ชาวญี่ปุ่นที่มีแนวคิดแน่วแน่และเป็นนักการศึกษาที่มีปรัชญา ทำให้ บรันเดจ ถูกชะตากับปรมาจารย์ จิโกโร่ อย่างมาก
ไม่แปลกเลยที่ บรันเดจ จะสนับสนุนในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ ปี 1940 ของญี่ปุ่น เพราะเขาเองก็สนับสนุนให้กีฬานั้นแยกออกจากการเมือง และเป็นกีฬาที่คนทุกชาติทุกทวีปสามารถมีส่วน แต่สถานการณ์ในช่วงก่อนปี 1940 นั้นต่างจากปี 1936 มาก ประกอบกับการที่ จิโกโร่ ล้มป่วยและเสียชีวิตบนเรือโดยสารเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมปี 1938 ทำให้ โอลิมปิก ที่ทวีปเอเชียแทบจะกลายเป็นความฝัน
บรันเดจ ส่งจดหมายแสดงความเสียใจให้กับทางรัฐบาลญี่ปุ่น เขาเสียดายในแนวคิดและความตั้งใจของ จิโกโร่ ที่อุทิศกายกว่า 28 ปีเพื่อประเทศญี่ปุ่น แม้ตัว จิโกโร่ จะจากไปแต่ บรันเดจ ยังคงพร้อมจะเดินหน้าสนับสนุนโอลิมปิกครั้งแรกในเอเชียอยู่อย่างไรก็ตาม จักรวรรดิญี่ปุ่นของประธานาธิบดิ ฮิเดกิ โตโจ ตัดสินใจเปลี่ยนเป้าหมายจากมหกรรมกีฬาเป็นแผนการถล่มท่าเรือ เพิร์ลฮาร์เบอร์ พร้อมประกาศตัวเป็นศัตรของทั่วโลกในอีก 41 เดือนถัดมา
สานต่อเป้าหมายของเพื่อนสนิท
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง บรันเดจ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลคนที่ 5 ในประวัติศาสตร์ เขายังคงมีความตั้งใจในการนำธงห้าห่วงห้าสีไปยังทั่วทุกทวีปทั่วโลก ในปี 1959 โอลิมปิก ฤดูร้อน ก็ได้เกิดขึ้นที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และโอลิมปิก โตเกียว ปี 1940 ที่เคยถูกยกเลิกไปยังคงติดอยู่ในใจของ บรันเดจ และยังอยากจะสานต่อความตั้งใจของเพื่อนสนิทอย่าง จิโกโร่ ที่จะนำ โอลิมปิก ไปยังทวีปเอเชีย
จนในปี 1959 ในการประชุม IOC ที่กรุงมิวนิค ก็ได้มีมติในการเลือกกรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพ โอลิมปิกเกมส์ 1964 นอกจากนี้ในอีก 2 ปีถัดมาก็ยังสนับสนุนในการบรรจุกีฬายูโดที่ปรมาจารย์ คาโน่ จิโกโร่ เป็นผู้คิดค้นศาสตร์กีฬานี้ขึ้นมาให้เป็นกีฬาสาธิตใน โอลิมปิก ครั้งนี้ด้วย
โอลิมปิกปี 1964 คือจุดเปลี่ยนหลายอย่างของมหกรรมกีฬาระดับโลก บางทีการที่ โตเกียว 1940 ไม่เกิดขึ้นอาจเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง สุดท้ายแล้วแม้ว่า อเวรี่ บรันเดจ จะลงจากตำแหน่งในปี 1972 ด้วยเส้นทางที่ไม่สวยหรูนัก แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้วหากไม่มีชายอเมริกันคนนี้ที่คอยสนับสนุนและเชื่อในแนวคิดการแบ่งแยกกีฬาและการเมืองออกจากกัน โอลิมปิก บนทวีปเอเชียคงไม่มีทางเกิดขึ้นเลยก็เป็นได้
TAG ที่เกี่ยวข้อง