stadium

10 นวัตกรรมใหม่ ที่ญี่ปุ่นภูมิใจนำเสนอใน โตเกียว 2020

4 กุมภาพันธ์ 2563

หลังต้องเลื่อนการแข่งขันเพราะไวรัสแพร่ระบาด โอลิมปิก เกมส์ 2020 กำลังจะได้ฤกษ์อุบัติขึ้นอย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าที่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมืองที่ภูมิใจนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกเหมือนที่ครั้งหนึ่ง โตเกียว 1964 เคยสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับชาวโลก และนี่คือตัวอย่าง 10 นวัตกรรมเด่นที่ประเทศญี่ปุ่นเตรียมนำมาใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว

 


สนามแข่งขันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โอลิมปิกเกมส์หนนี้ มีสังเวียนแข่งขันทั้งหมด 43 แห่ง โดยมี 8 สนามที่สร้างขึ้นใหม่ หากเป็นการก่อสร้างธรรมดาหรือปรับปรุงก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่สนามที่ประเทศญี่ปุ่นสร้างใหม่ย่อมพิเศษกว่าปกติแน่นอน สนามหลายแห่งสร้างโดยเน้นแนวคิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นสนามโออิ ฮ็อกกี้ สเตเดี้ยม ที่มีความจุประมาณ 15,000 ที่นั่ง จุดเด่นของสนามแห่งนี้คือพื้นสนามสีฟ้าที่ทำมาจากเศษซากอ้อยเหลือทิ้ง เพื่อลดการเผาไหม้ที่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนสีฟ้านั้นก็เพราะต้องการสื่อถึงสีของน้ำทะเลในอ่าวโตเกียวซึ่งติดกับสนามนั่นเอง


อีกแห่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือสนาม อาริอาเกะ ยิมเนเซี่ยม เซ็นเตอร์ ที่สร้างขึ้นมาเป็นสนามชั่วคราว จุดเด่นของสนามแห่งนี้คือสร้างจากไม้ธรรมชาติจากป่าทั่วประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้รายละเอียดที่สำคัญที่สุดคือวิธีการสร้างด้วย “ทักษะงานประกอบไม้” ที่สืบทอดกันมาในแดนซามูไรเป็นเวลาเกินกว่า 1,000 ปี ซึ่งไม้ทั้งหมดถูกนำมาขัดกันโดยไม่มีการใช้เหล็กหรือน็อตมาใช้เลยแม้แต่ชิ้นเดียว ซึ่งเมื่อหลังจบการแข่งขัน ไม้ทั้งหมดจะถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะต่อไป

 

เครื่องนอนในหมู่บ้านนักกีฬาที่ย่อยสลายได้

หมู่บ้านนักกีฬาที่สร้างขึ้นมาใหม่มีเตียงนอนสำหรับนักกีฬาอยู่ที่ 18,000 ชุด ความพิเศษของเครื่องนอนเหล่านี้คือวัสดุทุกอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงเตียงนั้นทำมาจากกระดาษที่รับน้ำหนักสูงสุดได้ถึง 200 กิโลกกรัม ยืดขยายได้มากที่สุดถึง 210 เซนติเมตร เพื่อรองรับร่างกายของนักกีฬาตะวันตก ซึ่งหลังจบการแข่งขันโครงเตียงทั้ง 18,000 ชุด จะถูกนำไปรีไซเคิลกลับไปเป็นกระดาษสำหรับอุตสาหกรรมอื่นต่อไป นอกจากนี้ตัวหมู่บ้านนักกีฬาในเขตฮารูมิ จะถูกเปลี่ยนกลายเป็นเขตชุมชนใหม่ของนักเรียนนักศึกษาและวัยรุ่นจบใหม่ ที่ต้องเรียนและทำงานในเขตโอไดบะและเขตชินางาวะ ซึ่งห้องทั้งหมดจะถูกปล่อยเช่าและปล่อยขายสำหรับผู้ที่สนใจ

 

แสงสว่างในสนามจากพลังงานสะอาด 100%

พลังงานทางเลือกเป็นอีกหนึ่งทางที่สามารถลดมลภาวะทางอากาศได้อย่างดี ซึ่งกรุงโตเกียวก็ได้นำเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมาใช้ในโอลิมปิกเกมส์ โดยหวังให้มหกรรมกีฬาครั้งนี้เป็นอีเวนท์กีฬาที่ปราศจากก๊าซคาร์บอน ซึ่งพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่จะใช้ในสถานที่สำคัญต่างๆในโอลิมปิกครั้งนี้ จะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสนามแข่งขันชั่วคราวหรือถาวร เช่น หมู่บ้านนักกีฬา, ศูนย์กระจายสัญญาณถ่ายทอดสดนานาชาติ หรือ IBC (International Broadcasting Center) และศูนย์กลางแถลงข่าว หรือ MPC ( Main Press Center ) จะใช้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาดทั้งสิ้น

 

นอกจากนั้น 7 สนามแข่งขันใหญ่เช่น โอลิมปิก สเตเดี้ยม แห่งใหม่, อาริอาเกะ อารีน่า, โตเกียว อควอติก เซ็นเตอร์ ต่างมีการติดตั้งระบบพลังงานรีไซเคิลทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด, ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้เช่น ระบบพลังงานโซลาร์, ระบบพลังงานให้ความเย็นจากใต้พิภพ (Geothermal Energy Cooling System) 

 

 

เหรียญรางวัลที่ทำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ 100%

โตเกียว โอลิมปิก 2020 จะกลายเป็นมหกรรมกีฬาประวัติศาสตร์ที่จะมอบเหรียญรางวัลสำหรับผู้ชนะทั้ง เหรียญทอง, เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ซึ่งทำมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบ 100% ซึ่งเมื่อ 4 ปีก่อนแม้จะเป็นวัสดุเหมือนกันแต่ก็นำมาใช้แค่บางส่วนเท่านั้น เหรียญรางวัลทั้งหมดประมาณ 5,000 ชิ้น ถูกทำมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 78,000 ตันที่ เอ็นทีที โดโคโมะ บริษัทเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือของประเทศญี่ปุ่นได้เปิดรับบริจาคจากชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2017 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2019 ที่ผ่านมา

 

โพเดี้ยมมอบรางวัลสร้างจากขยะพลาสติก

ประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นชาติที่ก่อขยะพลาสติกมากที่สุดมากเป็นอันดับ 3 ของโลก นั่นทำให้ฝ่ายจัดการแข่งขันอย่าง JOC (Japan Olympic Committee) ร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นในการนำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งทำให้ โอลิมปิกเกมส์ และ พาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียวจะเป็นครั้งแรกของกีฬาโอลิมปิกที่โพเดี้ยมมอบเหรียญรางวัลจะทำจากวัสดุรีไซเคิล โดยขยะพลาสติกทั้งหมดก็ได้รวบรวมจากห้างร้านทั่วญี่ปุ่นกว่า 2,000 แห่ง 

 

ชุดนักวิ่งและคบเพลิงที่ทำจากขวดพลาสติก

ชุดของนักวิ่งคบเพลิงทั้งหมดในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้มีเนื้อผ้าบางส่วนผลิตจากขวดพลาสติก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท โคคา-โคล่า ที่ร่วมกับฝ่ายจัดการแข่งขันที่ต้องการให้ชุดนักวิ่งคบเพลิงที่เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของ โตเกียว โอลิมปิก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในขณะเดียวกับตัวคบเพลิงเองก็มีส่วนประกอบของวัตถุดิบอลูมิเนียมที่เหลือใช้จากงานบูรณะบ้านเมืองในภูมิภาคโทโฮคุที่เคยโดยมหาภัยพิบัติแผ่นดินไหวเล่นงานเมื่อปี 2011

 

ระบบยืนยันตัวตนแบบใหม่และระบบการเก็บข้อมูลนักกีฬาแบบ 3 มิติ

เทคโนโลยีระบบจัดการแข่งขันของโอลิมปิกเกมส์ จะก้าวขึ้นไปอีกขั้นใน โตเกียว 2020 เมื่อจะได้ความร่วมมือจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง อินเทล เข้ามาร่วมสนับสนุนในครั้งนี้ ด้วยสัญญาณเครือข่ายแบบ 5G ที่ทางประเทศญี่ปุ่นนั้นมีคุณภาพอยู่แล้ว ยิ่งทำให้ระบบการสื่อสารและการจัดการในรอบนี้จะทันสมัยยิ่งกว่าทุกครั้ง


อินเทล จะนำเอาระบบการยืนยันตัวตนแบบสแกนใบหน้าที่เรียกกันว่า “Neo-Face” ซึ่งจะใช้สำหรับการระบุตัวตนและจดจำใบหน้าของผู้ที่เกี่ยวข้องในการแข่งขันทั้งหมดกว่า 300,000 คนตั้งแต่นักกีฬา, โค้ช, ผู้สื่อข่าว, ฝ่ายจัดการแข่งขัน, เจ้าหน้าที่ รวมไปถึงอาสาสมัครระดับนักเรียนนักศึกษาโดยจะมีจุดสแกนครบทุกสนามแข่งขันและจุดศูนย์รวมอื่นๆ เช่นหมู่บ้านนักกีฬา, ศูนย์กลางแถลงข่าว หรือศูนย์ถ่ายทอดสด โดยระบบนี้จะช่วยลดขั้นตอนและเวลาในการยืนยันตัวตนและทำให้เกิดความโปร่งใสอีกด้วย


นอกจากนี้ยังมีระบบการเก็บข้อมูลนักกีฬาแบบ 3 มิติหรือที่เรียกกันว่า 3D Athlete Tracking (3DAT) ซึ่งจะใช้ระบบประมวลผลในการเก็บข้อมูลของนักกีฬาซึ่งไม่ใช่แค่ข้อมูลเชิงสถิติและตัวเลขเท่านั้นแต่ยังรวมถึงการจดจำลักษณะ, การขยับตัว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ชมได้มีประสบการณ์ร่วมไปกับนักกีฬาในการแข่งขันบางชนิดกีฬาด้วย

 

 

เทคโนโลยียานพาหนะเพื่อโอลิมปิกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ประเทศญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีความสามารถในการพัฒนารถยนต์เป็นอันดับต้นๆ ของโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่การกลับมาเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์อีกครั้งของกรุงโตเกียว ญี่ปุ่นจึงภูมิใจนำเสนอเทคโนโลยีรถยนต์สำหรับอนาคตซึ่งใช้งานได้จริงและจะนำมาเป็นพาหนะหลักในการอำนวยความสะดวกแก่นักกีฬาและผู้เกี่ยวข้องในรายการนี้


การเดินทางรับส่งนักกีฬากว่า 12,000 คนสำหรับ โอลิมปิก และอีกราว 8,000 คนใน พาราลิมปิก จะได้รับการอำนวยความสะดวกจากรถไร้คนขับ CES 2018: E-Palette ที่ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ซึ่งรถคันดังกล่าวมีขนาดประมาณรถกระบะขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าจุผู้โดยสารได้ครั้งละประมาณ 12 คน รถคันนี้จะทำหน้าที่รับส่งนักกีฬาจากหมู่บ้านนักกีฬาไปยังสนามแข่งขันด้วยความเร็วสูงสุดเต็มที่ 19 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งในอนาคตรถคันนี้จะถูกพัฒนาให้กลายเป็นรถบรรทุกขนของในช่วงเวลากลางคืนและสามารถเป็นรถส่งอาหารในช่วงเวลากลางวัน


นอกจากนี้ในส่วนของเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันและแขกระดับ VIP จะได้รับการดูแลโดยรถยนต์ที่ญี่ปุ่นยกให้เป็นนวัตกรรมยานยนต์แห่งโอลิมปิกเกมส์ 2020 นั่นคือรถยนต์ โตโยต้า มิราอิ ที่ทางฝ่ายจัดการแข่งขันได้รับมอบจาก โตโยต้า มาจำนวน 3,000 คันเพื่อใช้งาน จุดเด่นของรถรุ่นนี้คือเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงาน ไฮโดรเจน และจะใช้เวลาในการเติมเชื้อเพลิงเพียงแค่ไม่กี่นาทีเท่านั้น เมื่อเทียบกับพลังงานไฟฟ้าที่ใช้เวลาชาร์จระดับหนึ่งชั่วโมงขึ้นไป
 

หุ่นยนต์ HSR ดูแลผู้เข้าชมการแข่งขัน

ความหวังที่จะเห็นหุ่นยนต์มีบทบาทในการเข้ามาดูแลมนุษย์ในมหกรรมกีฬากำลังจะเป็นจริงใน โตเกียว 2020 เมื่อหุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า HSR หรือ Human Support Robot จะเข้ามารับหน้าที่นี้ใน โอลิมปิกเกมส์ และ พาราลิมปิกเกมส์ 2020 โดยเบื้องต้นทางฝ่ายจัดการแข่งขันจะนำหุ่น HSR ประจำการที่สนาม โอลิมปิก สเตเดี้ยม โตเกียว ไว้อย่างน้อย 10 ตัวเพื่ออำนวยความสะดวกผู้เข้าชมด้วยคำสั่งง่ายๆ เช่นนำทางไปยังประตูเข้า, เสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม หรือแปลภาษา 3 ภาษาเบื้องต้นได้แก่ จีนกลาง, ญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตามข้อมูลเพิ่มเติมของหุ่น HSR ยังไม่ได้รับการเปิดเผย 100% เป็นที่คาดว่าเจ้าหุ่น HSR อาจจะมีเพื่อนมาร่วมงานอีกหนึ่งรุ่นนั่นคือ FSR หรือ Field Support Robot ซึ่งจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในสนามแข่งขัน

 

 

มิไรโทวะ มาสค็อตมีชีวิต

และนวัตกรรมที่น่าจะสร้างความตื่นตาให้สายตาคนทั้งโลกมากที่สุดอาจจะเป็นการนำตุ๊กตามาสค็อตประจำการแข่งขันอย่างเจ้า มิไรโทวะ และ โซเมตี้ ให้มีชีวิตและเคลื่อนไหวได้จริงๆ ไม่ใช่แค่ตุ๊กตายักษ์ถอดหัวได้แล้วมีคนอยู่ข้างใน (แต่คงมีหุ่นมาสค็อตตามสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไปอยู่แล้ว)


หุ่นยนต์ มิไรโทวะ และ โซเมตี้ น่าจะมีความสูงราว 1-2 ฟุตเพื่อให้สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ โดยหุ่นทุกตัวจะมีกล้องอยู่บริเวณหน้าผากเพื่อให้สามารถจดจำใบหน้าและลักษณะของคนที่มีปฎิสัมพันธ์ด้วย ส่วนการเคลื่อนไหวพื้นฐานเช่นการขยับแขนขาและคอก็สามารถทำได้ตามปกติ หน้าที่หลักของมาสค็อตทั้ง 2 ตัวคือการต้อนรับแขกและผู้เข้าชมการแข่งขัน อย่างไรก็ตามทางฝ่ายวิจัยและฝ่ายจัดการแข่งขันยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม เพียงแค่บอกว่าหุ่นทั้ง 2 ตัวจะสร้างสีสันและสร้างเซอร์ไพรส์ให้คนทั่วโลกอย่างแน่นอน


stadium

author

Kapeebara

StadiumTH Content Creator

stadium olympic