5 มีนาคม 2563
โตเกียว 2020 และ คบเพลิงโอลิมปิกฤดูร้อนที่ 20 แห่งประวัติศาสตร์
เมื่อไล่เรียงกันมาสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ที่มีการวิ่งคบเพลิงครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ถือว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือเปล่าก็ไม่รู้แต่เราได้มีโอกาสเห็นความงดงามของ คบเพลิงของกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนมาแล้ว 19 ครั้ง (หากนับว่าที่เม็กซิโก ปี 1968 เป็น 1 ครั้ง) และสำหรับการแข่งขันที่โตเกียว 2020 เราก็จะได้โอกาสเห็นคบเพลิงโอลิมปิกที่ถูกสร้างขึ้นมาในแบบที่ 20 พอดิบพอดี
ความสำคัญของการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก
ตั้งแต่สมัยกีฬาโอลิมปิคโบราณ ก่อนมีกีฬาโอลิมปิกหลายเดือน จะมีผู้วิ่งถือคบเพลิงโอลิมปิกจากเขาโอลิมปัสมาสู่พิธีเปิด เพื่อเป็นสัญญาณประกาศให้คนทั่วไปได้ทราบว่า การเฉลิมฉลองได้เริ่มขึ้นแล้ว พิธีการจุดไฟนั้น จะมีการจุดไฟกองใหญ่ขึ้นบนยอดเขาโอลิมปัสเพื่อให้ความสว่างไสว โดยใช้แว่นรวมแสงอาทิตย์ไปยังเชื้อเพลิง เมื่อติดไฟแล้ว จึงนำตะเกียงต่อเอาไว้ ไฟกองใหญ่จะคงลุกโชติช่วงต่อไปจนตลอดงานฉลอง ส่วนตะเกียงนั้นจะมีการวิ่งถือไปทั่วทุกนครรัฐ ด้วยการส่งต่อกันไปเป็นทอด ๆ จากนักวิ่ง คนละ 2 ไมล์ หากผ่านทะเลหรือแม่น้ำก็จะลงเรือข้ามฟากโดยไฟไม่ดับไฟนี้ชาวกรีกถือว่าเป็นไฟศักดิ์สิทธิ์ และความสงบสุขของชาวกรีก ซึ่งพระเจ้าจะทรงพิโรธต่อบุคคลที่ไม่สนใจในกิจการนี้
โอลิมปิกในปัจจุบัน ยังคงรักษาประเพณีเรื่องการจุดไฟไว้ โดยก่อนจะมีการแข่งขันจะมีพิธีจุดไฟ ณ เขาโอลิมปัส ผู้จุดคือ สาวพรหมจารีบริสุทธิ์ เป็นผู้ต่อไฟจากแว่นรวมแสงของดวงอาทิตย์ด้วยคบเพลิง และไฟนี้จะถูกแจกจ่ายไปยังประเทศสมาชิกทั่วโลก และข้ามน้ำข้ามทะเลไปสู่ประเทศเจ้าภาพ และมีการวิ่งถือคบเพลิงส่งต่อกันไปจุดที่กระถางใหญ่บริเวณงานในวันแรกของพิธีเปิดการแข่งขัน ไฟจะต้องไม่ดับตั้งแต่เริ่มจุด ณ ภูเขาโอลิมปัส จนกว่าจะสิ้นสุดการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนั้นๆ
หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์บ้านเมืองในระดับโลกของเรา ... สงครามหรือการสาดโคลนคือมหกรรมแห่งความสกปรก เปลวเพลิงที่อาจเกิดจากการทำลายล้างคงไม่ใช่เรื่องเรื่องที่ดีนัก
แตกต่างไฟคบเพลิงที่เกิดขึ้นใน 'กีฬาโอลิมปิก' ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องมือแห่งสันติภาพ การเผาไหม้ที่สื่อถึงพลังแห่งความสามัคคีที่ถูกต้องส่งต่อตั้งแต่ระดับเมือง ประเทศ ทวีป และ ทั่วโลก และมหกรรมกีฬาโอลิมปิกก็เป็นเหมือนพื้นที่สงครามที่ห้ำหั่นกันด้วยเกมกีฬา ที่จบลงด้วยมิตรภาพที่แสนอบอุ่นอยู่เสมอ
คบเพลิงที่สร้างโอลิมปิกยุคใหม่อย่างแท้จริง
เว็บไซต์ OLYMPIC GAMES ได้เปิดเผยถึงดีไซน์ของตัวคบเพลิงและเบื้องหลังการทำสิ่งนี้ได้อย่างน่าสนใจ โดยพวกเขานำเอาสังกะสีที่เป็นขยะจากความเสียหายที่เกิดขึ้นตามพื้นที่อยู่อาศัยในเหตุการณ์สึนามิ 2011 มาหลอมทำเป็นคบเพลิง โดยใช้เทคนิคการผลิตที่เหมือนกับการผลิตรถไฟหัวกระสุนชินกันเซน ซึ่งสะท้อนถึงการเป็นประเทศที่มีความเป็นเลิศในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนและแสดงออกถึงการรักษ์โลกตามกับกระแสโลกได้อย่างสมดุล
คบเพลิงนี้มีการออกแบบให้มีลักษณะเป็นดอกซากุระ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำประเทศญี่ปุ่น ภายใต้แนวคิด เส้นทางแห่งความหวัง (Hope Lights Our Way) รูปทรงของคบเพลิงเป็นกระบอกคบเพลิง 5 ด้าน เปรียบได้ดั่ง "กลีบดอกซากุระ 5 กลีบ" แต่ละอันจะเชื่อมต่อกันโดยจุดศูนย์กลางของคบเพลิงจะทำหน้าที่ให้เกิดแสงสว่างเป็นเปลวไฟขึ้นจากปฏิกิริยาทางเคมี ลักษณะเดียวกับไฟฉาย โดยเกิดจากสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดเล็กๆ ที่อยู่ตรงกลางซึ่งจะให้ความสว่างเป็นโทนสีสองสีจากเทคนิค "ukiyo-e" ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม "Fukibokashi" ทั้งนี้งานออกแบบดังกล่าวเป็นผลงานของ Tokujin Yoshioka นักออกแบบชาวญี่ปุ่นที่โด่งดังคนหนึ่งของโลก นอกจากนั้นในส่วนของการผลิตตัวแท่งคบเพลิงยังเป็นการสื่อสารถึงการ “ชุบชีวิต” เพราะวัสดุเหล่านี้เคยได้ช่วยคนในการสร้าง “ชีวิตใหม่” ด้วยการสร้างบ้านพักชั่วคราวให้ผู้ประสบภัยพิบัติหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวสึนามิครั้งใหญ่ (Great East Japan Earthquake) เมื่อปี 2011 โดยนำอลูมิเนียมจากซากบ้านพักดังล่าวมาใช้ถึง 30% ของวัสดุทั้งหมดในการทำคบเพลิงอีกด้วย
ผู้ออกแบบ โทคุจิน โยชิโอกะ กล่าวว่า "ดอกซากุระที่เด็กๆ วาดในพื้นที่ประสบภัยที่ฟูกูชิมะคือแรงบันดาลใจของผม" ทำให้การออกสตาร์ทวิ่งคบเพลิงจะเริ่มที่ฟูกูชิมะด้วยสำหรับเส้นทางการวิ่งคบเพลิงจะเริ่มวันที่ 26 มีนาคม 2020 ก่อนมุ่งลงใต้ไปยังเกาะโอกินาว่า เพื่อรำลึกถึงการจัดโอลิมปิกเมื่อปี 1964 ก่อนจะมาทางเหนือและมาถึงเมืองหลวงของญี่ปุ่นในวันที่ 10 กรกฎาคม 2020
5 ความหมายที่ซ่อนอยู่ของคบเพลิงโอลิมปิก 2020
1. ให้ความหวังนำทางเรา
“Hope lights our way” หรือ “ความหวังนำทางเรา” เป็นคอนเซปต์การออกแบบเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวญี่ปุ่นในการสนับสนุน และยอมรับซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นไฟในคบเพลิงยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังและสันติสุขที่สาดส่องไปทั่วโลกอีกด้วย
2. ซากุระ 5 กลีบ
หากมองจากด้านบนของคบเพลิงลงมาจะเห็นลายโค้งรวมตัวกันเป็นดอกไม้ประจำชาติของญี่ปุ่น นั่นคือ ดอกซากุระ ซึ่งจะเริ่มเบ่งบานในช่วงเดือนมีนาคม และตรงกับช่วงที่เริ่มต้นการวิ่งเชิญคบเพลิงสู่วันพิธีเปิดโอลิมปิคพอดี
3. เจ้าแห่งเทคโนโลยี
นอกจากดีไซน์ที่สวยงามเรียบง่ายตามแนวคิดแบบชาวอาทิตย์อุทัยแล้ว เจ้าแห่งเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่นได้ประยุกต์ใช้อะลูมิเนียมเนื้อพิเศษเช่นเดียวกันกับที่ใช้ในการผลิตรถไฟชิงกังเซนในการการผลิตคบเพลิงนี้ด้วย
4. ซากปรักหักพังสู่ความหวังแห่งอนาคต
โครงสร้างหลักของคบเพลิงนี้เป็นอลูมีเนียมที่นำมาจากซากบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างที่เหลือจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในปีค.ศ. 2011 ซึ่งซากปรักหักพังเหล่านี้กำลังจะส่งพลังแห่งความหวังสู่คนทั่วโลก
5. ใช้ง่ายในแบบญี่ปุ่น
เพื่อให้เข้าถึงแก่นแท้ของการแข่งขันกีฬาระดับโลก นั่นคือความสามัคคี และเป็นหนึ่งเดียวกัน เจ้าภาพได้ออกแบบคบเพลิงนี้ออกมาให้มีน้ำหนักเบา มีด้ามจับถนัดมือ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะชายหรือหญิง มือเล็กหรือมือใหญ่ ก็สามารถวิ่งเชิญคบเพลิงนี้ได้
ครั้งแรกที่ผู้หญิงได้ถือคบเพลิงเป็นคนแรก
แอนนา โกรากากี นักกีฬายิงปืนหญิงชาวกรีก จะเป็นผู้ถือคบเพลิงคนแรกในการวิ่งและส่งต่อคบเพลิงไปยังประเทศเจ้าภาพ โดยแอนนาจะส่งต่อคบเพลิงให้แก่มิซูกิ โนกูชิ นักวิ่งมาราธอนหญิงชาวญี่ปุ่น เจ้าของเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์
โดย โกรากากี ซึ่งได้เหรียญทองจากกีฬายิงปืนในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่จัดขึ้นที่กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล เป็นผู้ถือคบเพลิงคนแรกหลังจากทำพิธีจุดคบเพลิงที่เทือกเขาโอลิมเปีย ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในวันที่ 12 มีนาคมนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การจัดการแข่งขันแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ตั้งแต่ปี 1896 ที่ให้นักกีฬาหญิงเป็นผู้ถือคบเพลิงคนแรก ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นนักกีฬาชายมาโดยตลอด
เช็คลิสต์ที่น่าสนใจของวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก 2020
TAG ที่เกี่ยวข้อง