stadium

ย้อนรอยการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกครั้งแรก เกิดขึ้นได้อย่างไร

7 มีนาคม 2563

 

เมื่อวันที่ 12 มีนาคมปีที่แล้ว ไฟที่เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการเริ่มต้นมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ หรือ โอลิมปิก เกมส์ ได้ถูกจุดขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ วิหารแห่งเทพีเฮร่า ในเมืองโอลิมเปียโบราณ ก่อนที่จะส่งต่อผ่านมือผู้ทรงเกียรติ วิ่งไปทั่วประเทศกรีซ และมอบให้กับทีมงานของฝ่ายจัดการแข่งขัน โตเกียว เกมส์ นำไปวิ่งต่อที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปจุดยังกระถางคบเพลิงที่สนามโอลิมปิก สเตเดี้ยม ในพิธีเปิดการแข่งขันวันที่ 23 กรกฏาคมนี้

 

อย่างไรก็ตามรู้หรือไม่ว่า ถึงแม้การวิ่งคบเพลิงจะมาจากแนวคิดที่ต้องการให้เหมือนกับการแข่งโอลิมปิกยุคเก่า แต่กว่าจะมีผู้ริเริ่มนำมาใช้กับโอลิมปิกสมัยใหม่อย่างจริงจัง ก็ต้องรอถึงการแข่งขันครั้งที่ 9 ในปี 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน ภายใต้การจัดการของพรรคนาซี

 

                

จุดเริ่มต้นของพิธี

 

ถึงแม้โอลิมปิกสมัยใหม่จะเริ่มต้นจัดการแข่งขันครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ ในปี 1896 แต่การจุดคบเพลิงหนแรกเริ่มต้นในปี 1928 ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยนำแนวคิดมาจากชาวกรีซยุคโบราณ ที่มีการจุดไฟศักดิ์สิทธิ์เอาไว้บนแท่นบูชาของวิหารแห่งเทพีเฮสเทียตลอดการเฉลิมฉลองการแข่งขันโอลิมปิกยุคเก่า ซึ่งฝ่ายจัดการแข่งขันของโอลิมปิก ปี 1928 จุดไฟบนกระถางคบเพลิงที่อยู่บนยอดหอคอย มาราธอน ทาวเวอร์ หน้าสนาม อัมสเตอร์ดัม โอลิมปิก สเตเดี้ยม เอาไว้ตลอดการแข่งขัน และสืบต่อมาถึงปัจจุบัน

 

 

ขณะที่การวิ่งคบเพลิง เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน โดยยังมีข้อถกเถียงกันว่าใครคือคนต้นคิด ซึ่งในรายงานบางฉบับระบุว่า หนึ่งในผู้บริหารของกระทรวงโฆษณาเป็นคนคิดค้นพิธีนี้ขึ้น เพื่อกระตุ้นความสนใจของสาธารณชนในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนเริ่มการแข่งขัน และได้สั่งให้ คาร์ล เดียม เลขานุการทั่วไปของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน เบอร์ลิน เกมส์ เป็นผู้ดูแลในเรื่องรายละเอียด อย่างไรก็ตาม เดียม อ้างว่า เรื่องทั้งหมดเป็นไอเดียของเขาล้วนๆ

 

ความศักดิ์สิทธิ์ หรือ โฆษณาชวนเชื่อ?

 

เดียม ระบุว่า ระหว่างที่เขาไปเข้าประชุมคณะกรรมการโอลิมปิก ที่ประเทศกรีซ ในปี 1934 พร้อมกับ ธีโอดอร์ เลวัลด์ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ก็ได้เกิดความคิดในการสร้างสัญลักษณ์ให้กับการแข่งขัน ซึ่งเกี่ยวโยงกับกรีกโบราณ นั่นคือการนำไฟโอลิมปิกจากกรีซ ไปยังกรุงเบอร์ลิน ด้วยการวิ่งคบเพลิง ซึ่งบางรายงานระบุว่าได้แนวคิดมาจากยุคโบราณที่เมื่อผู้แสวงบุญ เดินทางมาถึงเมืองโอลิมปิก เพื่อสักการะเทพซุส พวกเขามีการแข่งขันว่าใครจะเป็นคนได้รับเกียรติจุดไฟบูชามหาเทพ ซึ่งวิธีในการคัดเลือกคือวิ่งแข่งระยะประมาณ 200 เมตร ไปยังจุดที่นักบวชระดับสูงถือคบเพลิงรออยู่ จากนั้นคบเพลิงจะถูกส่งต่อให้ผู้ชนะนำไปจุดที่แท่นบูชา

 

 

ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า แนวคิดดังกล่าวทำขึ้นตามความต้องการของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำสูงสุดของพรรคนาซี ที่เชื่อว่าชาวกรีกโบราณก็คือชาวอารยัน ดังนั้นการวิ่งคบเพลิงคือการแสดงออกถึงการเติบโตของอิทธิพลและอำนาจของอาณาจักรไรซ์ที่ 3

 

ขณะที่ เดียม และฝ่ายจัดการแข่งขัน รู้ดีว่าพวกเขาต้องลงลึกทุกรายละเอียดเพื่อให้การวิ่งคบเพลิงประสบความสำเร็จตามมาตรฐานที่จะทำให้พวกเขาและบรรดาผู้นำของพรรคนาซีพึงพอใจ ณ เวลานั้น พวกเขายังไม่แน่ใจว่าจะใช้แสงอาทิตย์จุดไฟได้อย่างไร เช่นเดียวกับการสร้างคบเพลิงที่รักษาไฟเอาไว้ได้ในทุกสถานการณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีถูกเรียกตัวมาทำการวิจัย ส่วนเส้นทางการวิ่งจากเมืองโอลิมเปียก็จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา ซึ่งสุดท้ายฝ่ายจัดการแข่งขันตัดสินใจสร้างถนนขึ้นมาใหม่เพื่อให้แน่ใจว่าพิธีการจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

 

คบเพลิงแรกของโอลิมปิก

 

คบเพลิงที่นำมาใช้เป็นครั้งแรกออกแบบโดย วอลเตอร์ เลมช์เค่อ ประติมากรชื่อดังชาวเยอรมัน โดยมีความยาว 27 ซม. ประกอบด้วยไม้และโลหะ โดยมีฟิวส์สองตัวเพื่อรองรับสภาพอากาศที่แตกต่างกัน และสามารถอยู่ได้นานกว่า 10 นาที ซึ่งเพียงพอต่อการวิ่งในแต่ละช่วง

 

ทั้งนี้ ครุปป์ บริษัทผู้ผลิตโลหะรายใหญ่ ผลิตคบเพลิงออกมากว่า 3,840 ชิ้น ซึ่งมากกว่าจำนวนนักวิ่งถึง 500 ชิ้น

 

 

เส้นทางแรก

 

ด้วยความที่พรรคนาซีต้องการแสดงอำนาจและอิทธิพลต่อนานาประเทศ พวกเขาจึงตัดสินใจให้วิ่งคบเพลิงโอลิมปิกผ่าน กรีซ, บัลแกเรีย, ยูโกสลาเวีย, ฮังการี, ออสเตรีย และเชโกสโลวาเกีย ก่อนเข้าเยอรมนี ซึ่งประเทศเหล่านี้ต่างตกอยู่ในการปกครองของนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่กี่ปีหลังจากนั้น

 

หลังจากไฟโอลิมปิกถูกจุดขึ้นในประเทศกรีซ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 1936 คบเพลิงทั้งหมดก็ได้เดินทางรวมระยะกว่า 3,187 กม. ด้วยนักวิ่ง 3,331 คน ภายในระยะเวลา 12 วัน 11 คืน จากมือ คอนสแตนตินอส คอนดีลิส ตัวแทนจากกรีซผู้วิ่งคบเพลิงไม้แรก สู่ ฟริตซ์ ชิลเก้น นักวิ่งชาวเยอรมันผู้ได้รับเกียรติเป็นไม้สุดท้าย ไฟโอลิมปิกก็ไปถึงสนาม โอลิมปิก สเตเดี้ยม ในวันที่ 1 สิงหาคม 1936


stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator

stadium olympic