stadium

โออิ ฮอกกี้ สเตเดี้ยม นวัตกรรมสนามแข่งจากเศษซากอ้อย

8 มีนาคม 2563

 

อ่าวโตเกียว หรือ Tokyo Bay สถานที่สำคัญทั้งในแง่อุตสาหกรรมและอุดมประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยุคเอโดะ ในวันนี้อ่าวโตเกียวจะได้เป็นบ้านแห่งใหม่ของสนามแข่งขันประวัติศาสตร์ในแง่นวัตกรรมของวงการกีฬานั่นคือสนาม โออิ ฮอกกี้ สเตเดี้ยม ซึ่งจะเป็นสนามแรกในโลกที่ใช้ซากพืชในการทำพื้นสนามแข่งขัน

 

พื้นสนามสีน้ำเงินสดใส เหมือนเป็นภาพสะท้อนของทิวทัศน์ทะเลสีครามของอ่าวโตเกียวตะวันออก สนามแห่งนี้ตั้งอยู่คาบเกี่ยวระหว่างเมืองชินางาวะเขตเศรษฐกิจสำคัญของกรุงโตเกียวกับเมืองโอตะเขตเศรษฐกิจเดิมของโตเกียว ซึ่งส่วนบริเวณสนามขยับไปทางริมอ่าวโตเกียวและอยู่ในพื้นที่ของสวนสาธารณะ โออิ โอเชี่ยน พาร์ค ซึ่งเป็นที่พักผ่อนรวมถึงศูนย์ออกกำลังกายประจำเมือง โออิ ฮอกกี้ สเตเดี้ยม เป็นสนามสร้างใหม่ประกอบไปด้วยสนามแข่ง 2 สนามคือสนามรองและตัวสนามหลักที่จุคนดูได้ราว 15,000 คน ซึ่งสิ่งที่ทำให้สนามแห่งนี้เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการกีฬาคือการใช้วัตถุดิบธรรมชาติมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักของพื้นสนามนั่นคือ ซากอ้อย 

 

แนวคิดดังกล่าวเกิดมาจากเป้าหมายของสภาเมืองโตเกียวที่ต้องการลดมลภาวะก๊าซคาร์บอนฯ ซึ่งก็ตรงกับความตั้งใจของสมาพันธ์กีฬาฮอกกี้นานาชาติที่ต้องการให้กีฬาฮอกกี้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการนำซากอ้อยมาใช้เป็นส่วนของวัสดุในการผลิตพื้นสนามถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากการทดสอบแล้ว สามารถลดการใช้น้ำในการดูแลพื้นแบบสังเคราะห์ที่เคยใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกในอดีตได้ถึง 2 ใน 3 

 

 

“เรากำลังอยู่ในช่วงของการโปรโมทกิจกรรมที่ชื่อว่า Gift of Hockey ครับ แต่สิ่งที่เราต้องการตอบแทนให้กับวงการกีฬากีฬาและทุกคนบนโลกคือความยั่งยืน และการสร้างสิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สิ่งนั้นคือสนามกีฬาแห่งนี้ครับ” ทายยับ อิคหาม เจ้าหน้าที่บริหารสมาพันธ์กีฬาฮอกกี้แห่งเอเชียให้สัมภาษณ์ชื่นชม

 

สนาม โออิ สเตเดี้ยม เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำซากพืชมาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด ซึ่ง ซากอ้อย นั้นเป็นวัตถุดิบที่ไม่สามารถนำไปแปรรูปเป็นอย่างอื่นต่อได้ วิธีการกำจัดทำลายมักใช้การเผาซึ่งทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศสูง ในขณะเดียวกัน อ้อย เป็นวัตถุดิบสำคัญที่นำมาใช้ในการผลิตน้ำตาลทั้งในรูปแบบ ไซรัป หรือสารให้ความหวานในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ซึ่งกระบวนการผลิตน้ำตาลโดยอ้อยกว่า 1,800 ล้านตันต่อปีนั้นสร้างมลภาวะทางอากาศจำนวนไม่น้อยทั้ง คาร์บอน มอน็อกไซด์ (Co2) และซัลเฟอร์ มอน็อกไซด์ ( Sox) ซึ่งเป็นตัวเกิดก๊าซเรือนกระจกและทำให้เกิดฝนกรดได้ 

 

 

ในช่วงวันที่ 17-21 สิงหาคมปี 2019 ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศญี่ปุ่นหรือ JOC ได้ร่วมกับสมาคมกีฬาฮอกกี้แห่งประเทศญี่ปุ่นจัดการแข่งขันฮอกกี้กระชับมิตรขึ้นที่สนาม โออิ ฮอกกี้ สเตเดี้ยม ในชื่อรายการ “Ready Steady Go Hockey Tournament 2019” ซึ่งเป็นการทดลองระบบการแข่งขันและสนามจริงโดยมีชาติที่เข้าร่วมอย่าง อินเดีย, ออสเตรเลีย, จีน และเจ้าภาพญี่ปุ่น แม้ว่าผลการแข่งขันจะเป็นอินเดียที่ได้แชมป์ไปทั้งประเภทชายและหญิง แต่สิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญคือการแสดงให้เห็นว่าพื้นสนามสีน้ำเงินที่ทำมาจากวัตถุดิบธรรมชาติสามารถใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพตามดังความตั้งใจของสภาเมืองโตเกียวและ JOC

 

โอลิมปิก โตเกียว 2020 อาจเป็นการแข่งขันเพื่อชิงความเป็นหนึ่งในด้านกีฬา แต่ในฐานะชาติเจ้าภาพอย่างญี่ปุ่น โอลิมปิก คราวนี้พวกเขาต้องการสร้างมาตรฐานใหม่ให้วงการกีฬาสามารถควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมไปถึงการแสดงออกถึงจิตใจทีเป็นมิตรกับธรรมชาติผ่านวิถีชีวิตแบบชาวอาทิตย์อุทัยที่คนทั่วโลกต่างเคยสัมผัสและกำลังจะได้เห็นด้วยตาตัวเองในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ โอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว


stadium

author

Kapeebara

StadiumTH Content Creator

100 day to go olympic 2024
stadium olympic