stadium

5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ญี่ปุ่นนำมาใช้ในการแข่งกีฬาโอลิมปิก 2020

9 มีนาคม 2563

ไม่เพียงจะเป็นการแสดงศักยภาพด้านกีฬา และการบริหารจัดการต่างๆ ของประเทศเจ้าภาพเท่านั้น แต่การแข่งกีฬาโอลิมปิกทุกครั้งยังเป็นโอกาสที่ผู้นำประเทศนั้นๆ จะได้แสดงเทคโนโลยีและจุดเด่นต่างๆ ให้นานาประเทศได้รับรู้อีกด้วย และในการแข่งโอลิมปิก 2020 ที่จะมาถึงนี้ ประเทศญี่ปุ่นในฐานะเจ้าภาพยังได้ขนของดีต่างๆ ออกมาใช้อย่างเต็มสูบ ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ด้วยตัวแทนวัฒนธรรมอย่างเหล่าตัวการ์ตูนที่เข้าถึงคนทั่วโลกในมากที่สุด ไปจนถึงเทคโนโลยีที่ตั้งใจใส่เข้าไปในฟังก์ชั่นต่างๆ ของการจัดงานได้อย่างลงตัวอย่างมาก

 

ทีมหุ่นยนต์ผู้ช่วยภาคสนาม

ญี่ปุ่นนั้นมีชื่อเสียงในการผลิตและพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้งานร่วมกับมนุษย์มายาวนาน และในโอลิมปิก 2020 หุ่นยนต์ก็ได้มีบทบาทมากขึ้นในฐานะผู้ช่วยภาคสนามถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทำงานร่วมกับทั้งมนุษย์และหุ่นยนต์ตัวอื่นๆ โดยที่แต่ละตัวก็มีหน้าที่แตกต่างกันไป เช่น หุ่นยนต์ผู้ช่วย ที่ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายสิ่งของต่างๆ ข้างสนาม  หุ่นยนต์มาสคอต ที่ถูกออกแบบมาให้มีลักษณะคล้ายกับสิ่งมีชีวิต ยิ้มแย้มและเป็นมิตรกับผู้คน หุ่นยนต์ภาคสนาม ที่ตรวจความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยมีรูปร่างคล้ายรถประจำทาง แต่มีขนาดเล็ก เดินทางได้เร็วถึง 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หุ่นยนต์ตัวนี้มีการติดตั้งกล้องสามตัวและเซ็นเซอร์พิเศษที่ช่วยให้มองเห็นสภาพแวดล้อมโดยรอบ

 

 

นอกจากนี้ยังมี หุ่นยนต์ยังสามารถช่วยเสิร์ฟอาหาร เครื่องดื่ม พูดภาษาอังกฤษแทนที่สตาฟฟ์ญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และยังสามารถนำทางคนพิการไปยังที่นั่งเพื่อชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้อีกด้ว

 

สนามป้องกันแผ่นดินไหว

ในโอลิมปิก 2020 มีการแข่งขันกว่า 300 รายการ จาก 33 ประเภทกีฬา ทำให้ต้องจัดการแข่งขันที่สนามกีฬาหลายแห่งในกรุงโตเกียว เช่น สนามกีฬาแห่งชาติใหม่ (New National Stadium) ตั้งอยู่ชานเมืองชินจูกุ เป็นสนามกีฬาเอนกประสงค์ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ใช้สำหรับจัดพิธีเปิดและปิดมหกรรม และการแข่งขันกรีฑา รองรับผู้เข้าชมได้มากถึง 60,000 คน

 

 

และเพื่อรับมือกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้ง จึงได้มีการสร้างนวัตกรรมเพื่ออำนวยความปลอดภัยและความอุ่นใจกับผู้ร่วมงาน โดยเฉพาะสนามโตเกียว อควอติก เซ็นเตอร์ (ว่ายน้ำ), อาริอาเกะ อารีนา (วอลเลย์บอล) และสนามกีฬาแห่งชาติใหม่ ได้รับการก่อสร้างที่มีมาตรฐาน โดยผู้ผลิตยางรถยนต์ชื่อดังอย่างบริดจ์สโตน ที่ออกแบบตลับลูกปืนแบบพิเศษ ติดตั้งอยู่ใต้หลังคา เพื่อให้สนามทนต่อแรงสั่นสะเทือนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

 

รถบัสพลังงานสะอาด

เพื่อความสะดวกในการเดินทางไปยังสนามต่างๆ ในกรุงโตเกียว เจ้าภาพญี่ปุ่นจึงเตรียมรถบัสสำหรับอำนวยความสะดวกให้กับทั้งนักกีฬาและนักท่องเที่ยว โดยอาศัยรถบริการที่ออกแบบให้ใช้พลังงานไฮโดรเจนแทนน้ำมัน ซึ่งเคยทดลองใช้กับกิจกรรมต่าง ๆ มาแล้วในคอนเสิร์ตของศิลปินดังหลายวง ซึ่งไม่ได้มีเพียงรถบัสขนาดใหญ่ไว้ให้บริการเท่านั้น ยังมีรถกอล์ฟและรถสำหรับผู้พิการที่เตรียมไว้บริการทั้งหมดกว่า 100 คัน ที่รับรองว่าเป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแน่นอน

 

 

เหรียญรางวัลรีไซเคิล

เหรียญรางวัลอันทรงเกียรติอย่างเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ที่มอบให้กับนักกีฬา เป็นผลงานการออกแบบโดยจูนิจิ คาวานิชิ  เน้นความเรียบง่าย เพิ่มจุดเด่นตรงส่วนโค้งของเหรียญ หากมองจากหลายมุมทำให้เหรียญมีลักษณะ 3 มิติ และมีความแวววาว แต่สิ่งพิเศษกว่านั้นที่ตอกย้ำความใส่ใจสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น คือเหรียญผลิตจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากการบริจาคของชาวญี่ปุ่น เช่น โทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์, แท็ปเล็ต ฯลฯ รวมกว่า 80,000 ตัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระบวนการรีไซเคิลขยะเป็นเหรียญจึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับประเทศที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม

 

 

3D Athlete Tracking

ในการแข่งขันกรีฑา ญี่ปุ่นได้มีการนำเทคโนโลยี 3DAT หรือ 3D Athlete Tracking ที่สามารถไฮไลท์ระดับความเร็วของนักวิ่งในแต่ละลู่ได้อย่างมีสีสัน พัฒนาโดยบริษัท Intel และ Alibaba ผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก

 

 

ซึ่งความล้ำของ 3DAT นั้นคือการใช้กล้องวิดีโอที่มีระบบ AI เพื่อเก็บสถิติต่าง ๆ วิเคราะห์การเคลื่อนไหว หรือท่วงท่าที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของนักกีฬาโดยไม่ต้องติดเซ็นเซอร์ตามตัวอีกต่อไป ข้อมูลเหล่านี้จะถูกแสดงผลแบบเรียลไทม์ให้โค้ชและผู้ชมได้เห็นในระหว่างการแข่งขัน เช่น ความเร็วของนักกีฬา, ผู้แข่งขันคนไหนที่กำลังนำอยู่ ระยะทางปัจจุบัน และระยะทางที่เหลืออยู่คือเท่าไหร่ และสำหรับผู้ชมทางบ้านที่มีชุดหูฟัง VR ที่ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง ก็สามารถดื่มด่ำกับประสบการณ์การแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ได้มากกว่าการดูทีวีแบบปกติ


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

StadiumTh Team Content

StadiumTH Content Creator

stadium olympic