stadium

เชลลี่-แอนน์ เฟรเซอร์-ไพรซ์ แก่ไม่กลัว แต่กลัวช้า

22 กุมภาพันธ์ 2563

เหรียญทองโอลิมปิก จากวิ่ง 100 เมตร 2 สมัยซ้อน, แชมป์โลก 4 สมัยจากระยะเดียวกัน, เจ้าของ 6 เหรียญโอลิมปิก, 11 เหรียญจากชิงแชมป์โลก ซึ่ง 9 ในนั้นคือเหรียญทอง รวมทั้งแชมป์จากประเภท 200 เมตร และ ผลัด 4x100 เมตร ชื่อของ เชลลี่-แอนน์ เฟรเซอร์-ไพรซ์ ย่อมเป็นหนึ่งในลมกรดสาวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์

 

นอกจากความสำเร็จที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สิ่งที่เหลือเชื่อยิ่งไปกว่านั้นคือ หลังพักจากลู่วิ่งเพื่อไปทำหน้าที่แม่กว่า 2 ปี เธอกลับมาประกาศศักดาด้วยการคว้า 2 เหรียญทองในศึกชิงแชมป์โลกที่กรุงโดฮา เมื่อปีที่ 2019 ซึ่งน่าสนใจเหลือเกินว่า เชลลี่-แอนน์ เฟรเซอร์-ไพรซ์ จะกลับมาทวงบัลลังก์ของตัวเองในโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวปีนี้หรือไม่

 

 

เพราะซ้อมหนักถึงกลับมามีวันนี้

เชลลี่-แอนน์ เฟรเซอร์-ไพรซ์ ฉลองแชมป์โลกสมัยที่ 4 ของเธอเมื่อวันที่ 29 กันยายนปี 2019 ในวัย 32 ปี ที่คาลิฟา สเตเดี้ยม โดยขึ้นนำตั้งแต่ออกสตาร์ท ก่อนจะเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 10.71 วินาที ทิ้งห่างอันดับ 2 เป็นช่วงตัว ซึ่งเป็นสถิติที่ดีที่สุดของเธอในฤดูกาลที่ผ่านมา และเป็นตัวเลขเดียวกับสมัยที่เธอคว้าแชมป์โลก ณ กรุงมอสโก 6 ปีก่อนหน้านั้น และเป็นเวลาที่ช้ากว่าสถิติดีที่สุดในอาชีพของเธอเพียง 0.01 วินาที นอกจากนั้นยังทำให้เธอเป็นคนแรกที่คว้าแชมป์โลก ในประเภท 100 เมตร ได้ถึง 4 สมัย ซึ่งแม้แต่ ยูเซน โบลต์ ตำนานลมกรดชายเพื่อนร่วมชาติยังทำได้เพียง 3 สมัยเท่านั้น

 

"ฉันไม่อยากจะเชื่อตัวเอง ฉันซ้อมอย่างหนักเพื่อให้กลับมาแข่งได้อีกครั้ง คู่แข่งล้วนแข็งแกร่งดังนั้นฉันต้องทำผลงานให้ดี โดยเฉพาะการออกสตาร์ทซึ่งฉันทำได้ ส่วนในตอนสุดท้ายฉันแค่ต้องทำให้แน่ใจว่าตัวเองจะเข้าเส้นชัย รวมทั้งไม่ปล่อยให้มีอะไรมาขัดขวาง ซึ่งฉันตื่นเต้นมากๆ ที่ตัวเองคว้าชัยได้สำเร็จ" เชลลี่-แอนน์ เฟรเซอร์-ไพรซ์ กล่าวหลังคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 4

 

นอกจากจะกลับมาคว้าเหรียญทองในประเภท 100 เมตรแล้ว เฟรเซอร์-ไพรซ์ ยังคว้าเหรียญทองจากผลัด 4x100 เมตรหญิง ในสัปดาห์ถัดมา โดยเธอรับหน้าที่เป็นไม้ 2 และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทีมขึ้นนำ ก่อนพารุ่นน้องที่อายุน้อยกว่าร่วม 10 ปี คว้าแชมป์โลกได้สำเร็จ

 

จากผลงานล่าสุด เรียกได้ว่า เฟรเซอร์-ไพรซ์ กลับไปยังจุดที่เธอเคยเป็นในช่วงปี 2008-2015 นั่นก็คือผู้ที่อยู่บนจุดสูงสุดของวงการลมกรดหญิง โดยในช่วงเวลานั้นเธอกอบโกยคว้าสำเร็จมากมาย ไล่ตั้งแต่การเป็นหญิงชาวจาเมกาคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก จากประเภท 100 เมตรในปี 2008 ก่อนจะได้แชมป์ 100 เมตร และ 4x100 เมตร ในศึกชิงแชมป์โลกที่กรุงเบอร์ลินในปี 2009 จากนั้น เฟรเซอร์-ไพรซ์ โกย 3 เหรียญทองจาก 100 เมตร, 200 เมตร และ 4x100 เมตร ในโอลิมปิกที่กรุงลอนดอน ปี 2012 ตามด้วย 3 แชมป์เดียวกันในชิงแชมป์โลกปี 2013 ที่กรุงมอสโก เหมือนกับที่ ยูเซน โบลต์ ทำได้ ก่อนที่เธอจะมาได้อีก 2 เหรียญทอง จาก 100 เมตร และ 4x100 เมตร ในศึกชิงแชมป์โลกที่กรุงปักกิ่งในปี 2015

 

 

ปีที่ไม่น่าจดจำ, การตั้งครรภ์ และรูปปั้นสำริด

เจ้าของฉายา "พ็อกเก็ต ร็อกเก็ต" หรือจรวดฉบับกระเป๋า จากการที่มีส่วนสูงเพียง 152 เซนติเมตร และหนัก 52 กิโลกรัม เจอกับช่วงเวลายากลำบากในอาชีพช่วงต้นปี 2016 เนื่องจากอาการบาดเจ็บหัวแม่เท้า ซึ่งทำให้ฝันของเธอในการคว้าเหรียญทอง 100 เมตร จาก โอลิมปิก 3 สมัยซ้อน ต้องพังทลาย หลังเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 3 ที่ ริโอ เดอ จาเนโร ขณะที่ อีไลเน่ ธอมป์สัน เพื่อนร่วมชาติคว้าแชมป์ไปครอง โดย เฟรเซอร์-ไพรซ์ เปิดเผยในภายหลังว่า เธอยกให้ ริโอ เกมส์ เป็นการแข่งขันครั้งเดียวที่ตัวเองวิ่งไม่ได้สถิติ 10.7 วินาที

 

ในปีต่อมา เฟรเซอร์-ไพรซ์ ใช้เวลาส่วนใหญ่นอกลู่วิ่ง หลังจากประกาศว่าตั้งครรภ์ในเดือนมีนาคม ก่อนที่จะให้กำเนิดลูกน้อยนาม ไซออน ในเดือนสิงหาคม ขณะที่เพื่อนร่วมทีมลงแข่งชิงแชมป์โลกที่กรุงลอนดอน ซึ่ง เฟรเซอร์-ไพรซ์ นั่งดูธอมป์สัน คว้าแชมป์ 100 เมตรหญิง ผ่านหน้าจอโทรทัศน์

 

ด้วยความสำเร็จในอาชีพที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาล จาเมกา สร้างรูปปั้นสำริดเพื่อเชิดชูเกียรติให้กับ เฟรเซอร์-ไพรซ์ และมีพิธีเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในเดือนตุลาคม ปี 2018 โดยตั้งอยู่ที่หน้าสนามกีฬาแห่งชาติในกรุงคิงส์ตัน เคียงข้างกับตำนานนักกีฬาคนอื่นๆ ของ จาเมกา และมี แอนดรูว์ โฮลเนสส์ นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมในพิธีอีกด้วย ซึ่งเจ้าตัวทวีตข้อความว่า "ขอให้รูปปั้นนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับชาวจาเมกา รวมทั้งเป็นเครื่องเตือนใจว่าการทำงานหนักและการอุทิศตนจะทำให้คุณครองโลกได้"

 

 

กลับมาเพื่อเป้าหมาย โตเกียว 2020

เฟรเซอร์-ไพรซ์ โฟกัสถึงการกลับมาลงแข่งอีกครั้ง ตั้งแต่หลังจากคลอด ไซออน ได้เพียง 10 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามเธอต้องให้เวลาในการดูแลลูกน้อย รวมทั้งฟื้นฟูร่างกายอย่างเต็มที่ ซึ่งกว่าจะพร้อมลงแข่งก็ต้องรอจนถึงต้นปี 2019 แต่ใช้เวลาไม่นานทุกคนก็ได้รู้ว่า เธอพร้อมที่จะกลับมายืนบนสังเวียนรายการใหญ่อีกครั้ง หลังทำเวลาได้ 10.73 วินาที ในการลงแข่งคัดตัวแทนจาเมกาไปศึกชิงแชมป์โลกในเดือนมิถุนายน ซึ่งสองเดือนถัดมาเธอก็ประกาศศักดาต่อหน้าสายตาคนทั่วโลกในการแข่งที่กรุงโดฮา ก่อนที่จะการันตีความสามารถของตัวเองอีกครั้ง หลังทำเวลา 10.63 วินาที ในการแข่งอุ่นเครื่องเดือนมิถุนายนปี 2021 ก่อนถึงศึกคัดตัวทีมชาติจาเมกาที่กรุงคิงส์ตัน กลายเป็นผู้หญิงที่วิ่งเร็วที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ เป็นรองแค่ ฟลอเรนซ์ กริฟฟิธ-จอยเนอร์ ตำนานชาวอเมริกันที่ครองสถิติโลกมาตั้งแต่ปี 1988 ด้วยเวลา 10.49 วินาทีเพียงคนเดียวเท่านั้น

 

และอีกสัปดาห์ข้างหน้า ณ กรุงโตเกียว ทุกคนก็จะได้รู้ว่า ความฝันถึงการคว้าเหรียญทอง 100 เมตร ในโอลิมปิก 3 สมัยของเธอ จะเป็นจริงหรือไม่

 

"ฉันเชื่อสุดใจเลยว่ามันเป็นไปได้ เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาที่เหลือในอาชีพ และช่องว่างที่ฉันยังไต่ระดับไปได้มากกว่านี้ ช่วงเวลาที่หยุดพักไป ทำให้ฉันได้มีเวลาตั้งสมาธิไปยังเป้าหมายที่ตัวเองต้องการทำให้สำเร็จ ซึ่งฉันจะมุ่งหน้าต่อไป และแน่นอนว่าฉันต้องการทำมันให้ได้ในการลงแข่งโอลิมปิกหนที่ 4 ของตัวเอง"

 

อายุ คือหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของอาชีพนักกีฬา เพราะไม่มีใครเอาชนะสังขารได้ แต่หากคุณมีวินัยและจิตใจที่มุ่งมั่นอย่างแรงกล้า อุปสรรคที่ว่านั้นก็อาจจะเป็นเพียงแค่ตัวเลข เหมือนอย่างที่ เชลลี่-แอนน์ เฟรเซอร์-ไพรซ์ ทำให้เห็นไปแล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่การเอาชนะอายุของตัวเองเท่านั้น แต่เธอยังแสดงให้เห็นว่าการกลายเป็นแม่คนไม่ได้ลดทอนความมุ่งมั่นและประสิทธิภาพในฐานะนักกีฬาของเธอแต่อย่างใด


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

stadium olympic