stadium

เจสซี่ โอเว่นส์ ชายผู้ฉีกหน้าฮิตเลอร์ถึงเบอร์ลิน

25 มิถุนายน 2567

“ผมไม่ได้ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องการเมือง และผมไม่ได้ไปที่เบอร์ลินเพื่อแข่งกับนักกีฬาคนอื่นๆ จุดมุ่งหมายของโอลิมปิกคือการทำผลงานของตัวเองให้ดีที่สุด เหมือนอย่างที่ผมเคยเรียนรู้เมื่อนานมาแล้วว่า ไม่มีชัยชนะใดยิ่งใหญ่เท่าการเอาชนะตัวเอง”

 

นั่นคือคำพูดของ เจสซี่ โอเว่นส์ ลมกรดชาวอเมริกันผิวสีเจ้าของ 4 เหรียญทองโอลิมปิกปี 1936 ที่บุกไปหักหน้า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำสูงสุดของนาซีที่มีแนวคิดสุดโต่งเรื่องเหยียดเชื้อชาติ ถึงกรุงเบอร์ลิน

 

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่ โอเว่นส์ ต้องเจอกับการเหยียดสีผิว เพราะแม้แต่ในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง เขายังไม่เป็นที่ต้อนรับเท่าไรนัก

 

 

เด็กขี้โรคในตระกูลชาวนาที่ยากจน

 

เจสซี่ โอเว่นส์ หรือชื่อเต็มคือ เจมส์ คลีฟแลนด์ โอเว่นส์ เกิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน ปี 1913 ที่เมืองโอ๊กวิลล์ รัฐอลาบามา โดยเป็นลูกคนที่ 10 และคนสุดท้องของ เฮนรี่ ชาวนารับจ้าง และ แมรี่ เอ็มม่า โอเว่นส์ ซึ่งในวัยเด็กนั้น คงไม่มีใครคิดว่า เจสซี่ จะโตมาเป็นนักกีฬาระดับเหรียญทองโอลิมปิก เนื่องจากเป็นเด็กขี้โรค และต้องต่อสู้กับอาการป่วยด้วยโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังรวมทั้งโรคปอดบวม

 

อย่างไรก็ตาม หนูน้อยเจสซี่ยังคงช่วยพ่อแม่ทำงานอย่างขยันขันแข็ง โดยในวัย 7 ขวบ เจ้าตัวขนฝ้ายได้ถึง 100 ปอนด์ต่อวัน เพื่อช่วยให้ครอบครัวมีอาหารตกถึงท้อง

 

จากนั้นชีวิตของเจสซี่ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อครอบครัวต้องย้ายไปอยู่ที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ ซึ่งทำให้ เจสซี่ หรือ “เจ.ซี.” ได้พบกับโลกที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันหรือด้านการศึกษาที่เปลี่ยนจากการเรียนที่อัดกันอยู่ในห้องเดียวของบ้าน มาเป็นโรงเรียนแบบจริงจัง พร้อมกับครูที่เข้มงวด

 

และที่โรงเรียนนี้เองที่ทำให้เขาได้รับชื่อเรียกที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต หลังจากหนึ่งในครูของเขาที่ไม่คุ้นกับสำเนียงทางใต้คิดว่าโอเว่นส์บอกว่าตัวเองชื่อ “เจสซี่” ทั้งที่ความจริงแล้วบอกว่า “เจ.ซี.” ตามชื่อย่อซึ่งครอบครัวเรียกมาตั้งแต่เกิด

 

 

จากดินสู่ดาว

 

“ผมรักการวิ่งมาตั้งแต่เด็ก ถึงแม้จะรู้สึกว่าตัวเองทำได้ไม่ดีนัก แต่ผมก็รักมัน เพราะมันเป็นสิ่งที่คุณสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับพละกำลังของตัวเองล้วนๆ คุณจะวิ่งไปทิศทางไหน เร็วหรือช้าก็ได้ตามที่ใจต้องการ”

 

ในวัยเด็ก โอเว่นส์ ทำงานหลายอย่างเพื่อช่วยหาเลี้ยงครอบครัว ทั้งเป็นเด็กส่งของให้ร้านขายของชำ, ขนของขึ้นรถบรรทุก รวมทั้งทำงานในร้านซ่อมรองเท้า ขณะที่พ่อและพี่ชายทำงานในโรงถลุงเหล็ก ซึ่งในช่วงนี้เองที่ทำให้เขาได้พบว่าตัวเองมีความหลงใหลในการวิ่งเป็นพิเศษ เพราะไม่มีอะไรอย่างอื่นให้ทำนอกจากการวิ่งเล่นตามไร่นา และความสามารถของโอเว่นส์ก็ไปเข้าตา ชาร์ลส์ ไรลี่ย์ โค้ชกรีฑาของ แฟร์เมาน์ต จูเนียร์ ไฮสคูล ทำให้ได้เข้ารับการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง ซึ่ง โอเว่นส์ ยอมรับว่า โค้ชไรลี่ย์ คือคนที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จในอาชีพของเขา

 

ความเก่งกาจของโอเว่นส์ เริ่มทวีมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป ก่อนจะมาดังเป็นพลุแตกในการแข่งขันกีฬานักเรียนแห่งชาติที่เมืองชิคาโก้ในปี 1933 เมื่อ เจสซี่  ที่ลงแข่งในนามตัวแทนของ อีสต์ เทคนิคัล ไฮสคูล ทำสถิติวิ่ง 100 หลา (91 เมตร) ได้ในเวลา 9.4 วินาที เทียบเท่าสถิติโลก รวมทั้งยังแข่งกระโดดไกลทำระยะได้ 7.56 เมตรอีกด้วย ซึ่งหลังจากจบการศึกษาระดับไฮสคูล เจสซี่ ก็ได้เข้าไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย โอไฮโอ สเตต ซึ่งชีวิตนักกีฬาของเขายิ่งเบ่งบานมากขึนกว่าเดิม

 

หลังจากสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ประจักษ์ในการแข่งระดับไฮสคูลแล้ว เจสซี่ ก็พุ่งทะยานต่อไปไม่หยุดยั้งในระดับมหาวิทยาลัย โดยในการแข่งขันรายการ บิ๊ก เทน แชมเปี้ยนชิพส์ หรือ ศึกชิงแชมป์ในกลุ่มมหาวิทยาลัยทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ปี 1935 โอเว่นส์ ทำสถิติโลกขึ้นมาใหม่ถึง 3 รายการคือ กระโดดไกล (8.13 เมตร ซึ่งยืนระยะยาวนานถึง 25 ปี), วิ่งระยะ 220 หลา (20.3 วินาที) และ วิ่งข้ามรั้วเตี้ย 220 หลา (22.6 วินาที) รวมทั้งยังทำสถิติเทียบเท่าสถิติโลกอีก 1 รายการคือวิ่งระยะ 100 หลา 

 

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในศึกบิ๊กเทน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปีที่ยิ่งใหญ่สำหรับโอเว่นส์ เมื่อเจ้าตัวคว้าแชมป์ได้อีก 4 ประเภทใน เอ็นซีเอเอ แชมเปี้ยนชิพส์, 2 แชมป์จาก เอเอยู แชมเปี้ยนชิพส์ และอีก 3 แชมป์จากการคัดนักกีฬาโอลิมปิกของสหรัฐฯ โดยรวมทั้งหมดแล้ว โอเว่นส์ ลงแข่ง 42 รายการในปีนั้น และกวาดชัยเรียบวุธ

 

 

ชายผู้ทำให้ฮิตเลอร์เสียหน้าในโอลิมปิกปี 1936

 

สำหรับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซีแล้ว โอลิมปิก เกมส์ ปี 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่างานแสดงศักยภาพของชาวเยอรมัน รวมทั้งเป็นการประกาศถึงความยิ่งใหญ่ของชาวอารยัน ดังนั้นชนชาติอื่นไม่อยู่ในสายตาของพวกเขาแม้แต่น้อย ซึ่งความจริงแล้วสหรัฐฯ เกือบจะบอยคอตต์โอลิมปิกหนนี้ แต่สุดท้ายก็ยินยอมส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน หลังได้รับคำยืนยันว่าโอลิมปิกเป็นสถานที่สำหรับนักกีฬาไม่ใช่เรื่องการเมือง

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนการแข่งขัน ผู้นำของพรรคนาซีประณามอเมริกาอย่างหนัก โทษฐานที่ส่งชื่อนักกีฬาผิวสีเข้าร่วมโอลิมปิกหนนี้ แต่ก็เป็นเพราะบรรดานักกีฬาเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันเหล่านั้น ที่ทำให้สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จ ณ กรุงเบอร์ลิน

 

ที่พูดอย่างนั้นได้ก็เป็นเพราะ 6 จาก 11 เหรียญทองทั้งหมดที่สหรัฐฯ ทำได้ มาจากผลงานของนักกีฬาผิวสี โดยเฉพาะโอเว่นส์ที่กวาดคนเดียวถึง 4 เหรียญทอง (วิ่ง 100 เมตร, กระโดดไกล, วิ่ง 200 เมตร และวิ่งผลัด 4x100 เมตร) ซึ่งเป็นการทำลายสถิติโอลิมปิกได้ 2 รายการ และกลายเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่คว้า 4 เหรียญทองจากการแข่งกรีฑาในโอลิมปิกหนเดียว ก่อนที่ คาร์ล ลูอิส จะทำได้เช่นกันในปี 1984

 

แน่นอนว่าผลงานของ โอเว่นส์ ฉีกหน้า ฮิตเลอร์อย่างจัง โดยมีเรื่องเล่าว่าหลังจากที่เจ้าของฉายาลูกกระสุนแห่งโอไฮโอคว้าแชมป์ 100 เมตรได้สำเร็จในวันที่สองของการแข่งขัน ผู้นำสูงสุดแห่งพรรคนาซีถึงกับหุนหันออกจากสนามแข่งด้วยความเดือดดาล แต่ความจริงแล้วฮิตเลอร์ตัดสินใจที่จะไม่แสดงความยินดีกับนักกีฬาคนใดต่อหน้าสาธารณชน หลังจากหนึ่งวันก่อนหน้านั้นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือไอโอซีไม่พอใจที่ฮิตเลอร์แสดงความยินดีแค่เพียงนักกีฬาเยอรมันและนักกีฬาฟินแลนด์บางราย รวมทั้งออกจากสนามทันทีหลังจากนักกีฬาในชาติตัวเองตกรอบรายการสุดท้ายของวัน เขาจึงยื่นคำขาดให้เจ้าตัวต้องแสดงความยินดีกับนักกีฬาทุกคนอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ต้องแสดงความยินดีกับใครเลย ซึ่งด้วยความที่สื่ออเมริกันไม่รู้สถานการณ์ดังกล่าวจึงรายงานไปว่าฮิตเลอร์ปฏิเสธ และก็กลายเป็นเรื่องเล่าที่เชื่อกันอย่างเป็นตุเป็นตะนับตั้งแต่นั้นมา

 

 

4 เหรียญทองโอลิมปิกที่ไม่ได้ทำให้อิ่มท้อง

 

“เมื่อผมกลับมาถึงประเทศบ้านเกิด ผมไม่สามารถนั่งที่ด้านหน้าของรถบัสได้ ผมต้องไปที่ประตูหลัง ผมไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการได้ ผมไม่ได้รับเชิญให้ไปจับมือกับฮิตเลอร์ แต่ผมก็ไม่ได้รับเชิญให้ไปจับมือกับประธานาธิบดีของตัวเองที่ทำเนียบขาวเช่นกัน”

 

ถึงแม้โอเว่นส์จะสร้างชื่อเสียงและผลงานโด่งดังไปทั่วโลก แต่เมื่อกลับมายังบ้านเกิดก็ต้องเจอกับความเป็นจริงอันโหดร้ายของการเป็นชาวผิวสีในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ นอกจากจะไม่ได้รับเชิญจากประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ให้ไปเยือนทำเนียบชาวเพื่อแสดงความยินดีเหมือนกับแชมป์คนอื่นๆ แล้ว โอกาสในเชิงพาณิชย์ของเขาก็ไม่สามารถก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ โอเว่นส์ ต้องไปวิ่งแข่งกับม้าและรถยนต์เพื่อหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว รวมทั้งต้องทำงานที่ไม่สมกับเกียรติยศของเขาอยู่นานหลายปี ก่อนที่จะได้หยุดพักจากการเป็นทูตของรัฐบาลในช่วงปี 1950 และไปเอาดีด้านประชาสัมพันธ์และเดินสายบรรยายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนทั่วประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 1976 เจสซี่ โอเว่น ก็ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในยุคของประธานาธิบดี เจอรัลด์ ฟอร์ด ก่อนที่เจ้าตัวจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดในอีก 4 ปีหลังจากนั้น

 

ถึงแม้ว่า โอเว่นส์ จะเอาชนะได้ในทุกรายการที่ลงแข่งขัน แต่สิ่งที่เขาทำไม่สำเร็จโดยสมบูรณ์คือการชนะใจกลุ่มคนที่มีความคิดแบ่งแยกผู้อื่น อย่างไรก็ตามผลงานของเขาที่ได้รับการกล่าวขานมาจนถึงปัจจุบัน ก็ช่วยกะเทาะเปลือกแห่งความเกลียดชังให้หลุดร่อน จนทำให้นักกีฬาแอฟริกัน-อเมริกันในรุ่นหลังได้รับความเคารพอย่างทัดเทียมกับคนอื่นๆ อีกทั้งยังช่วยแง้มบานประตูสำหรับสิ่งที่เรียกว่าการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนอีกด้วย


stadium

author

ณัฐกร ทองนพเก้า

StadiumTH Content Creator

stadium olympic