stadium

แตกต่างอย่างลงตัว เคล็ดลับคู่หูทองคำ มิสตี้ เมย์-เทรเนอร์ และ เคอร์รี่ วอลช์ เจนนิ่งส์

30 มกราคม 2563

หนึ่งในปัจจัยสำคัญของการเล่นกีฬาประเภทเดี่ยวให้ประสบความสำเร็จ นั่นก็คือการชนะใจตัวเอง แต่เมื่อกลายเป็นประเภทคู่หรือทีม นอกจากจะต้องชนะใจตัวเองแล้ว ยังต้องทำความเข้าใจในตัวคู่หูหรือเพื่อนร่วมทีมด้วยเช่นกัน ดังนั้นกับการเป็นแชมป์วอลเลย์บอลชายหาดในโอลิมปิก เกมส์ 3 สมัยติดต่อกัน และเก็บชัย 21 แมตช์ต่อเนื่องโดยไม่เพลี่ยงพล้ำ การจับคู่กันของ มิสตี้ เมย์-เทรเนอร์ และ เคอร์รี่ วอลช์ เจนนิ่งส์ ย่อมไม่ใช่แค่ความเข้าใจซึ่งกันและกันในระดับสามัญ


ตัวเลขความสำเร็จของทั้งคู่เรียกได้ว่าเข้าขั้นไร้เทียมทาน นอกจากจะคว้าเหรียญทองโอลิมปิก 3 สมัยติดช่วงปี 2004-2012 โดยเสียเพียงแค่เซตเดียวจาก 21 แมตช์แล้ว พวกเธอยังคว้าแชมป์โลกได้ 3 ครั้งซ้อนในปี 2003-2007 ครองมงกุฎทีมยอดเยี่ยมแห่งปีของสมาคมวอลเลย์บอลอาชีพสหรัฐฯ 5 สมัย และเคยสร้างผลงานอันน่าตกตะลึงด้วยการลงแข่ง 112 แมตช์ ใน 19 ทัวร์นาเมนต์โดยไม่แพ้ใคร ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ เมย์-เทรเนอร์ ยอมรับว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เธอจะมาใส่ใจมากนัก


"ทุกวันนี้ฉันก็ไม่รู้ว่าเราเก็บชัยชนะหรือคว้าแชมป์ไปแล้วกี่ครั้ง" สตรีหมายเลขหนึ่งของวอลเลย์บอลชายหาดพูดถึงเรื่องนี้พร้อมด้วยเสียงหัวเราะ "เราไม่เคยพูดถึงมันและไม่เคยใส่ใจว่าจะเป็นชัยชนะครั้งที่เท่าไหร่แล้ว"

 



แม้ทัศนคติที่สบายๆ และไม่ค่อยอินังขังขอบของเธอ จะเป็นสิ่งที่พอเข้าใจได้ แต่ เมย์-เทรเนอร์ คงต้องใช้นักสถิติเป็นกองทัพถึงจะสามารถจดบันทึกตัวเลขอันน่าทึ่งได้ทั้งหมด ซึ่งหากเราขุดลึกลงไปถึงเบื้องหลังความอัฉริยะของเธอ ก็จะพบดาวอีกดวงที่คอยส่องสว่างเคียงข้างกัน


"ถ้ามีจังหวะที่การรับบอลแรกออกมาแย่ ฉันรู้ดีว่า เคอร์รี่ จะพุ่งเข้าไปและทำให้มันเป็นเพลย์ที่ดีที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้" เมย์-เทรเนอร์ อธิบาย "เพราะเราต่างต้องการให้อีกคนรับช่วงต่อ และทำให้คู่ของเราผ่อนคลายในยามก่อความผิดพลาด เพราะรู้ว่าอีกคนจะเข้ามาช่วยอยู่เสมอ"


"หากคุณเล่นด้วยกันมานานหลายปี คุณก็จะสัมผัสถึงมัน วอลเลย์บอลก็คือการเต้นรำ ดูอย่างพวกนักเต้นมืออาชีพสิ พวกเขารู้ดีว่าจะออกท่าทางอย่างไรในจังหวะต่อไปโดยไม่ต้องใช้คำพูด เหมือนที่ฉันกับเคอร์รี่เป็นในตอนลงสนาม เราเล่นด้วยกันมานาน ดังนั้นย่อมเคยชินกับการเคลื่อนไหวและทำให้คิดเหมือนๆ กัน ซึ่งหากคุณลงแข่งโดยมีแผนการอยู่ในหัวแบบเดียวกัน มันก็เหมือนกับการเต้นรำนั่นแหละ"

 

 

จากในร่มสู่ชายหาด เวลาและความอดทนทำให้เกิดคำว่าลงตัว

กว่าที่ทั้งคู่จะเล่นกันได้อย่างเข้าขาต้องใช้เวลาในการพัฒนาความเข้าใจ แต่เรื่องทักษะฝีมือไม่ต้องพูดถึง เพราะทั้ง เมย์-เทรเนอร์ และ วอลช์ เจนนิ่งส์ ต่างเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลในร่มระดับคุณภาพคับแก้วมาก่อน โดย เมย์-เทรเนอร์ ก้าวออกมาสู้แสงแดดและสายลมในปี 1999 ก่อนที่ วอลช์ เจนนิ่งส์ จะเจริญรอยตามในปีต่อมา หลังจากที่คว้าอันดับ 4 กับทีมวอลเลย์บอลในร่มของสหรัฐฯ ใน โอลิมปิก เกมส์ ที่ซิดนีย์ ปี 2000


ความอดทนเป็นสิ่งสำคัญในช่วงเริ่มแรก แม้ทั้งคู่จะมีแรงขับเคลื่อนและความมุ่งมั่นอย่างมากก็ตาม "ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นกับพวกเราในปีแรก ในปีต่อมาก็เช่นกัน" เมย์-เทรเนอร์ รำลึกความหลัง "บางคู่จะไม่มาเสียเวลารอคอยความสำเร็จแบบพวกเธอ คุณจะเจอทีมแบบที่เมื่อไม่ชนะมา 3 รายการ ก็จะรู้สึกว่า 'โอ้ เราควรมีการเปลี่ยนแปลง' แต่หนทางเดียวที่จะดีขึ้นได้คือการฝึกซ้อมอย่างหนัก ฉันรู้ดีว่าจะมีความสำเร็จรออยู่ข้างหน้า แต่เคอร์รี่ออกจะกังวลมากกว่าเล็กน้อย ฉันรู้ว่าหากเราให้เวลากับมันก็จะได้บางอย่างที่แสนวิเศษกลับมา ซึ่งในปีแรกเราเก็บชัยชนะได้เพียงรายการเดียวเท่านั้น"


ทั้งนี้ ตอนจับคู่กันครั้งแรก เมย์-เทรเนอร์ ที่มีอายุ 23 ปี และ วอลช์ เจนนิ่งส์ ที่อายุ 22 ปีในขณะนั้น ต่างทุ่มเทเวลาไปกับบางอย่างที่มีค่ามากกว่าแค่ชัยชนะ นั่นก็คือการเติบโตไปพร้อมกัน ซึ่ง เมย์-เทรเนอร์ ยอมรับว่าช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่สนุกที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต และเมื่อทุกอย่างลงตัว พวกเธอก็สร้างยุคสมัยของตัวเองขึ้นมาในที่สุด

 

 

 

ยิ่งใหญ่แต่ไม่หยุดยั้ง

เมื่อถึง โอลิมปิก เกมส์ ที่กรุง เอเธนส์ ในปี 2004 เมย์-เทรเนอร์ และ วอลช์ เจนนิ่งส์ ไม่ได้กลายเป็นแค่ชื่อที่คู่แข่ง ต่างต้องการเอาชนะ แต่พวกเธอยังมีความเชื่อมั่นในกันและกัน ที่นับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น


"ฉันเชื่อว่าเมื่อเคอร์รี่ก้าวออกจากสนามหลังจบแมตช์ เธอจะรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองได้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อเรามาประชุมกันอีกครั้งในเช้าวันถัดมา เธอก็จะอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด คุณต้องมีความเชื่อมั่นในคู่หูของตัวเองแบบนั้นเมื่อลงแข่ง"


นอกจากเรื่องของความเชื่อใจกันแล้ว การเข้าใจจุดเด่น-จุดด้อยของตัวเองและเพื่อนร่วมทีม ก็ทำให้ทั้งคู่ประสบความสำเร็จเช่นกัน เดิมที เมย์-เทรเนอร์ เล่นเป็นตัวบล็อกตอนจับคู่กับ ฮอลลี่ แม็คพีค ลงแข่งที่ซิดนีย์ ในปี 2000 ซึ่งเธอคว้าอันดับ 5 แต่พอเปลี่ยนมาจับคู่กับ วอลช์ เจนนิ่งส์ ที่มีส่วนสูง 188 ซม. เธอก็ถอยไปยืนในแดนหลังแทน และให้คู่หูใช้ความสูงใหญ่คุกคามคู่แข่ง ผลที่ได้ทำพวกเธอกลายเป็นคู่ไร้เทียมทานที่เอเธนส์ โดยชนะ 7 นัดรวดแบบไม่เสียแม้แต่เซ็ตเดียว ส่วนเรื่องราวหลังจากนั้นคือประวัติศาสตร์

 

 

ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น มาจากนิสัยที่แตกต่าง

คงเป็นเรื่องง่ายที่จะบอกว่าทั้งสอง คือคู่ที่เข้ากันอย่างสมบูรณ์แบบทั้งในสนามและนอกสนาม ขณะที่ความเป็นจริงน่าประทับใจยิ่งไปกว่านั้น เพราะ เมย์-เทรเนอร์ และ วอลช์ เจนนิ่ง ต่างทำให้แน่ใจว่าความเข้าขากันของพวกเธอลงลึกไปในทุกอณู


"หลายๆ คน ต้องเจอปัญหาเมื่อต้องการทำให้พวกเราแตกแยกกัน เพราะเรามีพลังงานที่ต่างกัน เคอร์รี่ เป็นพวกเอะอะมะเทิ่ง เป็นผู้นำประเภทโหวกเหวกโวยวาย ส่วนฉันจะสงบนิ่งมากกว่า เป็นพวกทำตามคำสั่ง และเป็นผู้นำประเภททำให้ดูเป็นตัวอย่าง ดังนั้นเราจึงสร้างสมดุลให้กันและกัน" เมย์-เทรเนอร์ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬาวอลเลย์บอลของ ลอง บีช ซิตี้ คอลเลจ อธิบาย ก่อนจะเสริมว่า "เราไม่เคยต้องการที่จะยอมแพ้ เราเล่นเพื่อกันและกันอยู่เสมอ"


อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าความสำเร็จจากเหรียญทองที่ปักกิ่งในปี 2008 และกรุงลอนดอนในปี 2012 จะราบรื่นตามอย่างที่เอเธนส์ เพราะพวกเธอก็ยังเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ย่อมมีกระทบกระทั่งกันตามประสา แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือทั้งคู่เลือกที่จะเรียนรู้จากมัน


"เราก็มีทะเลาะกันบ้างนะ แม้จะไม่บ่อย แต่ก็มี" เมย์-เทรเนอร์ คุณแม่ลูกสาม กล่าวพร้อมรอยยิ้ม "เราจะบอกอีกฝ่ายถึงสิ่งที่ตัวเองไม่พอใจ และก้าวต่อไปข้างหน้าจากเรื่องนั้น เพราะคุณต้องให้ความเคารพความต่างของกันและกัน รวมทั้งเรียนรู้วิธีการถ่ายทอดความรู้สึกให้ดีที่สุด"

 

 

ครั้งสุดท้ายที่ลอนดอน กับอนาคตที่ต่างกัน

ทัวร์นาเมนต์สุดท้ายของทั้งคู่ คือ โอลิมปิก เกมส์ ปี 2012 ที่กรุงลอนดอน แชมป์ 2 สมัย ฟื้นตัวจากความช็อกที่เสียเซ็ตในโอลิมปิกเป็นครั้งแรกแก่ ออสเตรีย ในรอบแบ่งกลุ่ม ก่อนจะผ่านคู่แข่งที่แข็งแกร่งอย่างจีนไปได้ในรอบรองชนะเลิศ ขณะที่รอบชิงฯ ต้องดวลกับเพื่อนร่วมชาติคือ เอพริล รอสส์ และ เจนนิเฟอร์ เคสซี่ย์ แต่ไม่มีใครสามารถที่จะหยุดยั้ง เมย์-เทรเนอร์ และ วอลช์ เจนนิ่งส์ จากการคว้าเหรียญทองไปคล้องคอเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกันได้สำเร็จ ส่งผลให้ เมย์-เทรเนอร์ อำลาวงการได้อย่างสมบูรณ์แบบ


ปัจจุบันในวัย 42 ปี ขณะที่ เมย์-เทรเนอร์ ยุ่งอยู่กับการส่งต่อความรู้ของตัวเองให้กับเด็กรุ่นใหม่ แต่ วอลช์ เจนนิ่งส์ ยังคงตระเวนลงแข่งขันด้วยเป้าหมายคว้าสิทธิ์ลงแข่ง โอลิมปิก เกมส์ ครั้งที่ 6 ในชีวิต แม้จะอายุ 41 ปีเข้าไปแล้ว โดยจับคู่กับ บรู๊ก สเวท ที่อายุต่างกันเกือบ 10 ปี เมื่อถามว่า เธอคิดถึงคู่หูของตัวเองหรือไม่ เมย์-เทรเนอร์ ก็ให้คำตอบที่ทำให้เราได้รู้ว่าทำไมพวกเธอถึงเป็นคู่หูที่ดีที่สุดคู่หนึ่งเท่าที่โลกกีฬาเคยมี


"ฉันคิดถึงการซ้อมร่วมกับเคอร์รี่จริงๆ นั่นเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อคุณทุ่มเทตัวเองถึงขีดสุด ทั้งในการฝึกกล้ามเนื้อหรือการซ้อมบนพื้นทราย"

 

ความเข้าใจและเชื่อใจ เป็นบ่อเกิดของความสำเร็จในการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะมาในรูปแบบคู่หรือทีม ซึ่งเรื่องราวของ มิสตี้ เมย์-เทรเนอร์ และ เคอร์รี่ วอลช์ เจนนิ่งส์ น่าจะเป็นตัวอย่างของคำว่า ทีมเวิร์ก ทั้งต่อนักกีฬารุ่นหลัง และแฟนกีฬาอย่างเราๆ ได้เป็นอย่างดี


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator

100 day to go olympic 2024
stadium olympic