27 มกราคม 2563
"มันน่ามหัศจรรย์ที่ตัวเองกลายเป็นที่จดจำจากความสำเร็จทั้งหมดที่ผ่านมา (แต่) ฉันไม่ใช่ ยูเซน โบลต์ หรือ ไมเคิล เฟลป์ส คนต่อไป ฉันคือ ซิโมน ไบลส์ คนแรก" นั่นคือถ้อยคำจากสาวน้อยว่าที่ตำนานในวงการยิมนาสติก รวมไปทั้งวงการกีฬาโลก หลังเธอกอบโกยความสำเร็จจากทุกเวทีที่ลงชิงชัย เจ้าของ 4 เหรียญทองโอลิมปิก และ 19 เหรียญทองจากศึกชิงแชมป์โลก แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้นั้น เด็กสาวจากโอไฮโอต้องเผชิญอะไรมามากมายจนกว่าจะเชื่อได้ว่าที่คือประสบการณ์ของคนที่มีอายุเพียง 24 ปี
วัยเด็ก : บ้านอุปถัมภ์, พรสวรรค์ฉายแสง, คุณตารับเป็นลูกบุญธรรม
"ฉันโตขึ้นมาโดยมีแม่แท้ๆ ที่ติดยาและแอลกอฮอล์รวมทั้งยังเข้าออกคุกอยู่เสมอ"
"ฉันไม่เคยมีแม่ให้กลับไปหาที่บ้าน. ฉันจำได้ว่าตัวเองทั้งหิวและหวาดกลัวอยู่เสมอในเวลานั้น และเมื่ออายุ 3 ขวบ ฉันก็ถูกส่งตัวไปอยู่บ้านอุปถัมภ์"
ซิโมน ไบลส์ เกิดที่เมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ โดยเป็นลูกคนที่ 3 ในบรรดาพี่น้อง 4 คน อย่างไรก็ตาม แชนอน แม่ผู้ให้กำเนิดมีปัญหาเรื่องการใช้สารเสพติดทำให้ไม่สามารถดูแลลูกๆ ของตัวเองได้ และทำให้เด็กๆ ต้องไปอยู่ในการดูแลของบ้านอุปถัมภ์ ก่อนที่ รอน ไบลส์ คุณตาแท้ๆ และ เนลลี่ ภรรยาคนที่ 2 ของเขาจะรับ ซิโมน และ อาเดรีย พี่สาว เป็นลูกบุญธรรม หลังจากไปเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ ซึ่งทั้งคู่ยังให้พวกเธอเรียกว่าพ่อและแม่อีกด้วย เพื่อไม่ให้เด็กๆ รู้สึกว่าตัวเองมีครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์
"พ่อแม่สำคัญอย่างมากในชีวิตของฉัน พวกท่านเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับวิธีการดูแลผู้อื่น และยังคอยอยู่เคียงข้างฉันนับตั้งแต่วันแรก ฉันคงไม่สามารถหาคำใดมาขอบคุณพวกท่านได้เพียงพอ"
ชีวิตในวัยเด็กของ ซิโมน คงไม่มีใครอยากประสบด้วยตัวเอง แต่ช่วงเวลานี้เองที่ทำให้เธอได้เจอกับจุดเปลี่ยนสำคัญของโชคชะตา เมื่อได้ไปทัศนศึกษากับบ้านอุปถัมภ์ที่ศูนย์ฝึกยิมนาสติก และขณะที่เด็กน้อยวัย 6 ขวบกำลังพยายามทำท่าทางตามอย่างนักยิมนาสติกคนอื่นๆ นั้น พรสวรรค์ของเธอก็ไปเตะตาโค้ชเข้าอย่างจัง จนถึงกับต้องส่งเทียบเชิญให้เธอไปเข้าร่วมการฝึกในเวลาต่อมา
ก้าวขึ้นสู่การเป็นดาวดังแห่งวงการยิมนาสติก
ซิโมน ไบลส์ เริ่มต้นการฝึกฝนอย่างจริงจังรวมทั้งตระเวนลงแข่งขันตั้งแต่อายุ 8 ขวบ และในปี 2011 ด้วยพรสวรรค์บวกพรแสวง รวมทั้งการสนับสนุนที่ดีจากครอบครัว เธอก็ครองบัลลังก์ในรุ่นจูเนียร์ หลังจากกวาดแชมป์เป็นว่าเล่น เช่นเดียวกับในปีต่อมา จนทำให้ได้ติดทีมชาติสหรัฐฯ ชุดเยาวชน ก่อนจะขยับขึ้นไปลงแข่งรุ่นซีเนียร์ในปี 2013
ซิโมน ไม่ต้องรอความสำเร็จนานนักในรุ่นซีเนียร์ เมื่อคว้าเหรียญทองประเภทบุคคลรวมอุปกรณ์ได้ตั้งแต่การเข้าร่วมศึกชิงแชมป์โลกเป็นหนแรกในชีวิต กลายเป็นนักกีฬาแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกที่ได้แชมป์จากประเภทนี้ นอกจากนั้นเธอยังได้เหรียญทองในประเภทฟลอร์ เอ็กเซอร์ไซส์, เหรียญเงินจากม้ากระโดด และเหรียญทองแดงจากคานทรงตัว ซึ่ง ซิโมน หวังว่าชัยชนะของเธอจะเป็นแรงกระตุ้นชั้นดีให้กับเด็กๆ รุ่นต่อไป
ขณะที่ปีถัดมา ซิโมน กวาดไปถึง 4 เหรียญทองหลังป้องกันแชมป์ในประเภทบุคคลรวมอุปกรณ์บวกด้วยคานทรงตัว, ฟลอร์ เอ็กเซอร์ไซส์ และประเภททีม รวมด้วยเหรียญเงินจากม้ากระโดด
จากนั้นในปี 2015 ซิโมน ไบลส์ ก็ครองแชมป์โลกบุคคลรวมอุปกรณ์เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน เช่นเดียวกับการป้องกันแชมป์คานทรงตัวและฟลอร์ เอ็กเซอร์ไซส์ รวมทั้งแชมป์ประเภททีม บวกกับอีก 1 เหรียญทองแดงจากม้ากระโดด ทำให้ยอดรวมเหรียญรางวัลในศึกชิงแชมป์โลกของเธอกลายเป็น 14 เหรียญ เป็นตัวเลขสูงสุดในประวัติศาสตร์ของนักยิมนาสติกอเมริกัน และยิ่งไปกว่านั้น การได้ 10 เหรียญทองยังทำให้เธอเป็นนักยิมนาสติกหญิงที่คว้าแชมป์โลกได้มากที่สุดอีกด้วย
ริโอ 2016 พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด
ความสำเร็จตลอดช่วงที่ผ่านมาทำให้ ซิโมน กลายเป็นความหวังของสหรัฐฯ ในโอลิมปิก เกมส์ ปี 2016 ที่นคร ริโอ เดอ จาเนโร และเธอก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เมื่อร่วมกับ ลอรี่ เฮอร์นานเดซ, เอลี่ ไรส์แมน, แก๊บบี้ ดักลาส และ แมดิสัน โคเซียน ที่รู้จักกันในชื่อ "เดอะ ไฟนัล ไฟฟ์" ทำผลงานยอดเยี่ยม คว้าเหรียญทองประเภททีมไปครอง
ส่วนในประเภทบุคคล ซิโมน คว้าเหรียญทองในประเภทรวมอุปกรณ์กลายเป็นนักยิมนาสติกหญิงคนแรกในรอบ 2 ทศวรรษที่คว้าแชมป์โอลิมปิกและแชมป์โลก 2 รายการติดต่อกัน นอกจากนั้นเธอยังได้อีก 2 เหรียญทองจากม้ากระโดด และฟลอร์ เอ็กเซอร์ไซส์ รวมทั้งเกือบกลายเป็นนักยิมนาสติกหญิงที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกมากที่สุดในครั้งเดียว แต่พลาดได้เหรียญทองแดงในประเภทคานทรงตัว อย่างไรก็ตามซิโมนก็ยังกลายเป็นนักยิมนาสติกหญิงคนที่ 5 ในประวัติศาสตร์ที่ได้ถึง 4 เหรียญทอง และยังทำให้เธอได้รับเกียรติถือธงชาติสหรัฐฯ ในพิธีปิดการแข่งขันอีกด้วย
การหยุดพัก, การตกเป็นเหยื่อ และการคืนสังเวียน
หลังประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามใน ริโอ 2016 ซิโมน ไบลส์ ตัดสินใจหยุดพักเกือบตลอดทั้งปี 2017 แต่ในปลายปีดังกล่าว วงการยิมสหรัฐฯ ก็เกิดเรื่องอื้อฉาวครั้งใหญ่ เมื่อ แลร์รี่ นาสซาร์ แพทย์ประจำทีมชาติถูกเปิดโปงว่าก่อเหตุคุกคามทางเพศมาอย่างต่อเนื่องโดยมีเหยื่อนับร้อยราย ทำให้เกิดการสืบสวนในวงกว้างเนื่องจากผู้เคราะห์ร้ายต่างให้การในทำนองเดียวกันว่า สมาคมปิดหูปิดตาต่อพฤติกรรมดังกล่าว และทำให้มีการล้างบางฝ่ายบริหารขององค์กร ซึ่ง ซิโมน ยอมรับในเดือนมกราคมปี 2018 ว่าเธอเองก็ตกเป็นเหยื่อด้วยเช่นกัน แต่ตัดสินใจไม่ไปฟังการพิจารณาคดีที่ศาลในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถมองหน้าคนที่เคยทำร้ายเธอได้
ทัศนคติและความมุ่งมั่น คือจุดแข็งอีกอย่างหนึ่งของ ซิโมน ไบลส์ เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวนอกสนาม หรือแม้แต่อุปสรรคที่เกิดขึ้นกับตัวเธอเอง ก็ไม่เคยทำให้นักยิมนาสติกรายนี้ย่อท้อ ซิโมน คืนสังเวียนด้วยการโกยแชมป์ในประเทศ ตามด้วยศึกชิงแชมป์โลกที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ซึ่งเธอคว้าไป 4 เหรียญทอง ทั้งที่ก่อนแข่งรอบคัดเลือกต้องเข้าโรงพยาบาลจากอาการนิ่วในไต แต่มันก็ทำให้เธอสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นนักยิมนาสติกที่คว้าแชมป์โลกมากที่สุด จากตัวเลข 14 เหรียญทอง ทำลายสถิติเดิมของ วิตาลี เชอร์โก้ ตำนานนักยิมนาสติกชายของสหภาพโซเวียตที่ทำเอาไว้ 12 เหรียญทอง
2019 เดินหน้าสร้างประวัติศาสตร์ แม้เจอปัญหานอกสนามอีกระลอก
ในปี 2019 ที่เป็นช่วงเวลาสำคัญของการเตรียมตัวสู่ โอลิมปิก เกมส์ ปี 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซิโมน ไบลส์ ก็เจอปัญหานอกสนามอีกครั้ง เมื่อ เทวิน ไบลส์-โธมัส พี่ชายของเธอถูกจับกุมในข้อหาฆาตกรรมชาย 3 ราย แต่หลังจากที่ได้แสดงความเสียใจต่อเหยื่อและครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่างจริงใจ เธอก็หันกลับมาตั้งสมาธิกับการแข่งขันอีกครั้ง ก่อนคว้า 5 เหรียญทองจากศึกชิงแชมป์โลกที่เมืองสตุ๊ตการ์ท ประเทศเยอรมนี จากประเภททีม, บุคคลรวมอุปกรณ์, ม้ากระโดด, คานทรงตัว และฟลอร์ เอ็กเซอร์ไซส์ ทำให้เธอมีจำนวนเหรียญรวมในรายการนี้มากที่สุดในประวัติศาสตร์จากสถิติ 25 เหรียญ
มุ่งสู่โตเกียว 2020 เวทีสุดท้ายก่อนอำลาวงการ
แน่นอนว่าจากความสำเร็จที่ผ่านมา รวมทั้งทักษะความสามารถที่แสดงให้เห็นว่าเธอเหนือชั้นกว่าคู่แข่งแบบขาดลอยมาตลอด รวมถึงศึกชิงแชมป์แห่งชาติสหรัฐฯ หนล่าสุดที่เธอคว้าแชมป์บุคคลรวมอุปกรณ์สมัยที่ 7 ได้อย่างขาดลอย เป็นสถิติสูงสุดตลอดกาล หลายฝ่ายย่อมคาดว่าโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวในปีนี้ ย่อมเป็นเวทีที่ ซิโมน ไบลส์ จะได้ฉายแสงอีกครั้ง แต่เธอยืนยันว่าชื่อเสียงและความโด่งดังไม่เคยเป็นสิ่งที่เธอคิดเอาไว้ในสมองแต่อย่างใด
"ฉันแค่พยายามออกไปทำในสิ่งที่ตัวเองต้องทำ มันคงบ้ามากๆ ถ้าฉันจะกลายเป็นคนดังที่นั่น เพราะแค่ออกไปแข่งและทำได้ตามที่ซ้อมเอาไว้ฉันก็มีความสุขพอแล้ว"
อย่างไรก็ตาม โตเกียว 2020 คือครั้งสุดท้ายที่โลกจะได้เห็นลีลาของหนึ่งในสุดยอดนักกีฬาแห่งยุค เมื่อ ซิโมน ไบลส์ ประกาศเอาไว้แล้วว่าเธอจะอำลาวงการหลังจบการแข่งขัน ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดาย แต่มันก็หมายความว่าเธอจะทุ่มเทสุดความสามารถเพื่อทิ้งทวนอย่างยิ่งใหญ่ ให้สมกับเป็นผู้ที่จะได้ชื่อว่ายอดเยี่ยมตลอดกาลอย่างแน่นอน
TAG ที่เกี่ยวข้อง