stadium

เคนชิน มิซูชิมา : นักไตรญี่ปุ่นสู่วงการวิ่งไทย

12 กุมภาพันธ์ 2567

กีฬามหาวิทยาลัย ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา รายการแข่งขันสำคัญของกรีฑา คือการวิ่ง 10,000 เมตร ที่รวมนักวิ่งรุ่นปัจจุบันและรุ่นใหม่เอาไว้มากมาย แบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 พวก และมีเซอร์ไพรส์ในพวกแรก ที่ม้ามืดจาก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เข้าเส้นชัยเป็นอันดับหนึ่ง

 

นั่นคือ เคนชิน มิซูชิมา นักไตรกีฬาสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเปิดตัวการแข่งขันในสนาม 400 เมตรเป็นครั้งแรก และสามารถคว้าเหรียญทองแดงกลับไปได้สำเร็จ ในโลกของการวิ่ง เคนชินอาจเพิ่งเป็นที่รู้จักจากการแข่งขันครั้งนี้ แต่สำหรับวงการไตรกีฬา เคนชินเป็นที่รู้จักมานานแล้ว
 

 

คนญี่ปุ่นที่ว่ายน้ำตั้งแต่เกิด

 

นี่คือหนุ่มวัย 22 ปีสัญชาติญี่ปุ่นแท้ 100% แต่อยู่เมืองไทยมานานกว่า 10 ปี "ผมเป็นคนญี่ปุ่นร้อยเปอร์เซ็นต์เลยครับ พ่อกับแม่มาทำงานที่ชลบุรี เลยย้ายตามมาตั้งแต่อายุ 12 ตอนนั้นเข้าใจว่ามาเที่ยว แต่ปรากฏว่าไม่ได้กลับ พอมาก็เจอเพื่อนคนไทยเยอะ มีชีวิตที่ดีกว่า รู้สึกดีกว่า เพราะคนที่นี่ใจดี"

 

เคนชินเล่าเหตุผลสนับสนุนความรู้สึกของเขาว่า มาจากความเข้มงวดและการแข่งขันที่สูงมากในญี่ปุ่น โดยเขาเริ่มต้นว่ายน้ำตั้งแต่เกิดและจำความได้ ในตอนนั้นว่ายช้าที่สุดในทีม และรู้สึกกดดัน แต่พอย้ายมาเมืองไทยสบายใจกว่า และพัฒนาขึ้นมาก "พอมาอยู่ ก็มีนักว่ายน้ำเยอะ คนที่นี่ใจดี พอมาอยู่ที่นี่ก็สบายใจกว่า พอสบายใจก็ว่ายน้ำดีขึ้นเยอะครับ"

 

คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะไม่เรียนภาษาต่างประเทศ ทำให้ช่วงแรกเคนชินเจอกับอุปสรรคกำแพงด้านภาษา แต่เนื่องจากมีความต้องการอยากอยู่เมืองไทยยาว ทำให้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษ จึงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนอินเตอร์ อีสเทิร์นซีบอร์ด ศรีราชา โดยยังว่ายน้ำอยู่แบบต่อเนื่อง กระทั่งย้ายสู่ระดับมหาวิทยาลัย เคยชินซึ่งมีความมุ่งมั่นเรื่องกีฬาอยากเรียนต่อระดับอุดมศึกษาจึงเลือกเรียนสาขากายภาพ ในมหาวิทยาลัยซึ่งสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษ นั่นคือแม่ฟ้าหลวง

 

"ตอนแรกไปเรียนปวดหัวทุกวัน (หัวเราะ) ตั้งแต่ช่วงที่ต้องเรียนภาษาอังกฤษแล้ว ปีแรกคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่องเลย แต่เพื่อนใจดี ก็ค่อยๆ ดีขึ้น จนจบ ม. 6 ก็มาแม่ฟ้าหลวง เพราะอยากเรียนกายภาพที่ไทย ที่นี่เรียนเป็นภาษาอังกฤษ" และกลายเป็นก้าวแรกสู่ชมรมกีฬาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย

 


แพสชั่นด้านกีฬาผลักดันเข้าสู่การเล่นไตร

 

ช่วงรอยต่อระหว่างเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย พ่อกับแม่ของเคนชินย้ายกลับไปทำงานที่ญี่ปุ่น แต่เคนชินยังอยากอยู่เมืองไทยต่อทำให้ต้องย้ายมาที่เชียงรายคนเดียว "ผมไม่เคยเหงาเลย เพราะชอบเล่นกีฬา ทุกอย่างสนุกตั้งแต่ย้ายมาเมืองไทย เริ่มเล่นไตรตั้งแต่อยู่ชลบุรี ซ้อมว่ายน้ำทุกวัน พอมาอยู่แม่ฟ้าหลวงก็เริ่มจริงจัง"

 

ตอนนั้นตรงกับช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้ เคนชินยังไม่ได้ลงสนามแข่งมากนัก จนขึ้นชั้นปีที่สามเริ่มมีงานแข่งระดับประเทศ คือกีฬามหาวิทยาลัยซึ่งต้องงดแข่งไปนานสองปี เคนชินเริ่มต้นจากแข่งว่ายน้ำ กีฬาซึ่งเล่นมาตั้งแต่เด็ก "กีฬามหาลัยตอนปีสามลงแข่งว่ายน้ำครับ เข้ารอบทุกรายการแต่ไม่ได้เหรียญ แพ้นักกีฬาทีมชาติไทย ตอนนั้นพอแข่งจบก็ไปเชียร์เพื่อนที่วิ่ง ดูสนุกมาก ก็ตั้งใจว่าปีหน้าจะมาวิ่งด้วย"

 

ช่วงเวลาระหว่างการรอคอย เคนชินเริ่มจริงจังกับการซ้อมไตรกีฬา และเริ่มลงแข่ง แพสชั่นเต็มเปี่ยม วินัยล้นเหลือ ซ้อมทุกวันแบบไม่มีพัก ทำให้ปี 2566 เคนชินเริ่มเดินตามเป้าหมายในการแข่งไตรกีฬา ประมาณ 3-4 ครั้งต่อปี และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม โดยได้รางวับ Overall 1 จาก Ironman 70.3 Phu Quoc ที่เวียดนาม และ Overall 1 งาน Ironman 70.3 Desaru Coast ที่มาเลเซีย 

 

รวมถึงสนามในไทย ที่ตาก ก็ได้รางวัล Overall 1 และงานใหญ่อย่าง โขงนที ไตรกีฬา ได้สร้างชื่อให้กับเคนชินในฐานะนักกีฬาที่เอาชนะมือโปรคนดังของเมืองไทยได้ "ตอนนั้นผมแข่งแบบโอลิมปิก ได้ชนะทีมชาติไทยเป็นงานแรก ในปี 2019 คือชนะพี่จเร เจียระไน นักไตรคนดังจากภูเก็ต ทำให้เริ่มมีคนรู้จักผมมากขึ้น ส่วนสนามใหญ่อย่างลากูน่าไตรก็ไปแข่ง และเป็นแชมป์รุ่นอายุมาตลอดครับ"

 


สู่สนามไตรกีฬาระดับโลก

 

เคนชินยังเริ่มลงแข่งในงานชิงแชมป์โลกในปี 2566 ได้ร่วมสนามแข่งขันที่ประเทศฟินแลนด์ Ironman 70.3 World Championship Lahti เข้าเส้นชัยเป็นอันดับหนึ่งของนักกีฬาในทวีปเอเชีย "เป็นสนามที่ ประทับใจมาก มีตัวแรง และได้ชาเลนจ์ เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยเจอคนอื่นนอกจากในเอเชีย คนละฟีล ทุกอย่างแตกต่างเลยครับ"

 

การแข่งขันในตอนนั้นตรงกับช่วงปิดเทอมพอดี เคนชินจึงมีเวลาเตรียมตัวมาดีและมั่นใจมาก แม้จะเป็นงานใหญ่ครั้งแรกแต่ก็ต่อสู้กับตัวเองจนทำเวลาได้ดีมาก นอกจากจะเป็นอันดับหนึ่งของนักกีฬาจากเอเชียแล้ว ยังเป็นอันดับที่ 21 ของโลกอีกด้วย

 

"ช่วงนั้นปิดเทอมครับเตรียมตัวดีสุดๆ มั่นใจมาก พอไปถึง ไปคนเดียวด้วยครับ เพราะไม่เคยลงงานใหญ่มาก่อน เจอแต่โปรที่เราเคยเจอในโซเชียล ผมก็ยังไม่ไม่คิดว่าจะได้มาแข่งกับเขา หรือจะชนะเขาได้" ช่วงเวลานั้น เป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ พร้อมเตรียมลุยต่อในเป้าหมายการร่วมแข่งกีฬามหาวิทยาลัย ซึ่งจะเปิดโลกใบใหม่ให้กับเคนชินในฐานะนักวิ่ง 

 


แข่งวิ่งในลู่ครั้งแรกที่กีฬามหาวิทยาลัย

 

"ช่วงใกล้แข่งกีฬามหาวิทยาลัยผมตั้งใจและเน้นซ้อมวิ่งเต็มที่ประมาณหนึ่งเดือนเน้นเรื่องความเร็วเยอะมากตอนนั้นรู้ตัวแล้วว่าต้องแข่ง 10,000 เมตรและยังต้องลงแข่งแข่งว่ายน้ำให้กับมหาวิทยาลัยด้วย" เคนชินเล่าถึงความทุ่มเท ที่มีต่อการแข่งวิ่งในสนาม 400 เมตรครั้งแรก ในกีฬาระดับประเทศครั้งแรก ที่รวมนักวิ่งไทยเอาไว้มากมาย

 

"คือผมต้องแข่งตอน 17.20 น. ตอนนั้นผมยังอยู่สระว่ายน้ำอยู่เลย เพราะตอน 16.45 น. ผมแข่งว่ายน้ำ 400 เมตร รีบวิ่งมา ทันรายงานตัวตอนเค้าเรียกครั้งสุดท้ายพอดี รีบเปลี่ยนเสื้อ รีบกินเจล (เจลพลังงาน) ลุ้นตั้งแต่รายงานตัวเลยครับ พอมารายงานตัวทัน ทุกคนมองผมแบบงงมาก ตัวเปียก ผมเปียก ผมก็ตื่นเต้น มันเลยออกอาการแปลกๆ นี่เป็นงานแรกของผม ไม่มีใครรู้จักผม แต่คนอื่นเค้ารู้จักกันหมดเลย" เคนชินเล่าแล้วหัวเราะ

 

แผนที่วางไว้คือการวิ่งเกาะกลุ่มนำในพวกที่หนึ่ง แต่มีเป้าหมายลึกๆ ในใจ คือการวิ่ง 33 นาที จึงเริ่มเปิดเกมแบบแรง แต่พอเข้ากิโลที่ห้าถึงหก ความเร็วเริ่มตก เคนชินเล่าว่า ตอนนั้นเค้าลังเลว่าจะเร่งขึ้นเพื่อเอาเวลา หรือเกาะต่อไป "แต่รู้สึกสภาพไม่ค่อยไหว เพราะร้อนและเหนื่อยจากว่ายน้ำมา จังหวะกิโลสุดท้ายผมได้ยินเพื่อนตะโกนบอกให้สปริ้นท์ ผมยังรู้สึกใกล้หมด เลยคิดว่า 600 เมตรท้ายจะเร่ง เพราะลงคอร์ด 500 เมตรมาเยอะ ก็เลยตัดสินใจกระชากตอน 600 ได้ยินเสียงเฮดังมาก ผมก็ใส่เต็มที่เลย (หัวเราะ)"

 

แม้สุดท้ายจะไม่ได้เวลา 33 นาทีตามเป้า แต่เคนชินก็ได้อันดับหนึ่งในพวก หลังแข่งจบเค้าเดินเข้าไปจับมือกับนักกีฬาอีกสองคน คือแทน จาตุรนต์ และเจษ เจษฎา ซึ่งร่วมวิ่งกันมาตลอดระยะทาง "ผมอยากขอบคุณเค้าแหละที่วิ่งมาด้วยกัน แล้วผมว่าที่ผมทำได้ เป็นเพราะผมซ้อมแดดตลอด นักไตรซ้อมก็จะวิ่งช่วง 9 ถึง 10 โมงอยู่แล้ว ก็เลยชิน ยิ่งแดดแรงยิ่งคึก ตอนซ้อมอยู่เชียงรายผมก็อึด สู้ต่อได้ตลอด เหมือนนักไตรคนไทยก็เป็นแบบนั้น"

 

หลังจากพวกที่สองลงสนาม เคนชินนั่งชมการแข่งขันที่มีความเร็วมากกว่า เขาเล่าว่าเห็นแล้วอยากลงแข่งอีกครั้ง เพื่อทำสถิติให้ตัวเอง สะท้อนถึงความมุ่งมั่น และใจสู้ของเคนชินเป็นอย่างมาก "สุดท้ายได้เหรียญก็ดีใจสุดๆ ครับ เพื่อนในชมรมก็ดีใจมาก นี่คือเหรียญแรกของกรีฑาแม่ฟ้าหลวง ทุกคนดีใจมาก แต่ผมตกใจมากกว่า ไม่อยากเชื่อ เพราะตอนเห็นชื่อนักวิ่งตอนแรก หวังว่าแค่ติดท็อปเท็นก็ดีใจแล้ว (หัวเราะ) พอแข่งจบโค้ชก็บอกว่า บอกแล้วให้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว (หัวเราะ)"

 

 

เป้าหมายต่อไป Pro license นักไตรกีฬา

 

18 กุมภาพันธ์นี้เคนชินจะลงสนามอีกครั้ง ในฐานะนักไตรกีฬา ที่งานบางแสน 70.3 อีกหนึ่งสนามไอรอนแมนที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทย ก่อนวางเป้าหมายใหญ่ปลายปี 2567 นี้ "ปลายปีจะไปสนามที่นิวซีแลนด์ เป็นสนามชิงแชมป์โลกครับ งานนี้เต็มที่ เป้าปีนี้คือจบอันดับท็อปห้าโลกรุ่นอายุ ระหว่างนี้ก็น่าจะหางานวิ่งเพื่อทำเวลาไปด้วย ตอนนี้เตรียมตัวสำหรับบางแสนไอรอนแมน 70.3 ก่อน ตั้งเป้าว่าเป็นแชมป์ครับ"

 

ตลอดการสัมภาษณ์เคนชินเป็นคนอารมณ์ดี พูดภาษาไทยได้ดี ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองแบบมีเป้าหมายชัดเจนมาก ตั้งแต่เริ่มต้นสมัยเด็กในญี่ปุ่น จนย้ายมาชลบุรี และเชียงราย ทั้งหมดเดินไปบนเส้นทางกีฬา เพื่อสู่ความเป็นเลิศ และการได้ใช้ชีวิตในไทย ที่เต็มไปด้วยมิตรภาพที่ดี ณ เวลานี้ อาจกล่าวได้ว่า เคนชินประสบความสำเร็จก้าวแรกแล้ว แต่ก้าวต่อไปของเคนชิน เขาตั้งเป้าสู่การเป็นนักไตรกีฬาอาชีพ 

 

"เป้าหมายระยะยาวของผม คืออยากได้ Pro license ภายในสองปีข้างหน้า เพื่อเป็นโปรด้านไตรกีฬา แข่งไตรกีฬาแบบเต็มตัวครับ"

 

เพื่อชัยชนะนักกีฬาทุกคนล้วนต้องทุ่มเทไม่ต่างกัน ไม่ว่ากีฬาชนิดใด ความสำเร็จคือรางวัลของคนตั้งใจ เรื่องราวของเคนชิน การเดินทางของนักว่ายน้ำสัญชาติญี่ปุ่น สู่แชมป์ไตรกีฬา และเหรียญรางวัลจากงานวิ่งในประเทศไทย อาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคน ในการตั้งเป้าหมายให้สูง เปิดประสบการณ์ให้หลากหลาย กล้าทำในสิ่งที่แตกต่าง แล้ววันนึงชัยชนะจะเป็นของเรา


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง

La Vie en Rose