stadium

ดลพร สินโพธิ์ : การต่อสู้จากจุดเริ่มต้น บนเส้นทางความฝันสู่ระดับโลก

3 มกราคม 2567

“หนูอยากไปให้ถึงระดับโลก” นั่นคือปลายทางความฝันบนเส้นทางนักตบลูกยางของ “ยูฟ่า” ดลพร สินโพธิ์ มือเซตดาวรุ่งทีมชาติไทย ซึ่งเธอได้รับโอกาสกับทีมชาติไทยชุดใหญ่เรียบร้อยแล้ว เรียกได้ว่านับหนึ่งสำหรับก้าวแรกในการเดินทางตามความฝัน 

 

อย่างไรก็ตามกว่าจะมาถึงจุดนี้ เธอต้องฝ่าฟันความยากลำบากมาไม่น้อย แต่อะไรคือเหตุผลที่ทำให้มือเซตอนาคตไกลรายนี้ ยังยืนหยัดทำเพื่อความฝันต่อไป ติดตามเรื่องราวของเธอไปพร้อมกัน

 

 

เหนื่อยแต่ไม่ถอดใจ

 

“วอลเลย์บอลไม่ได้อยู่ที่ความสูง แต่อยู่ที่ใจ นักกีฬาต้องมีความอดทน มีความพยายาม” นี่คือประโยคแรกที่เธอเริ่มบทสนทนา ซึ่งมันแสดงออกถึงความทรหดบนเส้นทางที่เธอต้องฝ่าฟันมา เราไม่แปลกใจเลยว่าทำไม​ “ยูฟ่า” ถึงเป็นนักกีฬาที่เราอยากได้ตัวมานั่งพูดคุยด้วยตั้งแต่ปีก่อน

 

ตั้งแต่เด็กแล้ว “ยูฟ่า” มีรูปร่างสูงมากเมื่อเทียบกับเด็กผู้หญิงในรุ่นเดียวกัน แถมยังชื่นชอบการเล่นกีฬาเป็นชีวิตจิตใจ ว่ายน้ำ กรีฑา แบดมินตัน เธอเป็นตัวแทนโรงเรียนลงแข่งขันมาตลอด พื้นฐานทางด้านกีฬาจึงค่อนข้างโดดเด่น ในวัย 11 ปีเธอได้รับการทาบทามจากโรงเรียนกุดเชียงมี ในจังหวัดบ้านเกิดที่ขอนแก่น ให้มาเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลของโรงเรียน 

 

“มีอาจารย์ถามว่าหนูสนใจเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลของโรงเรียนไหม ซึ่งตอนนั้นหนูสนใจค่ะ เพราะที่บ้านชอบดูวอลเลย์บอลอยู่แล้ว หลังจากปรึกษาครอบครัวก็ตอบรับกลับไป”

 

“หนูใช้เวลากินนอนอยู่กับโรงเรียนอยู่ปีกว่า ๆ เริ่มฝึกพื้นฐานใหม่ทั้งหมด พอเริ่มมีทักษะวอลเลย์บอลแล้ว ก็ออกไปแข่งรายการวิทยุการบิน ซึ่งเป็นแมตช์แรก เริ่มจากรอบคัดภูมิภาค ชนะเป็นตัวแทนไปแข่งรอบชิงแชมป์ระดับประเทศ แล้วก็ได้แชมป์กลับมา ตอนนั้นเหมือนจุดประกายให้ตัวเองเลย หนูคิดในใจเลยว่าอย่างน้อยเส้นทางนี้มันก็ไปได้นะ”

 

จากฟอร์มการเล่นอันโดดเด่นที่ช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ ทำให้ “ยูฟ่า” ได้รับความสนใจจากทีมยักษ์ใหญ่ในระดับประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโรงเรียนกีฬานครนนท์วิทยา 6 ซึ่งเป็นอคาเดมี่ของสโมสรวอลเลย์บอลนครนนท์ และยังเป็นสถาบันที่ปั้นนักกีฬาลูกยางติดทีมชาติมาตลอด ซึ่งแสดงความสนอกสนใจอยากได้ตัวเธอไปร่วมทีมอย่างจริงจัง

 

“หลังจากได้แชมป์กลับมาเป็นช่วงปิดเทอมพอดี หนูต้องไปเรียนต่อในระดับมัธยม พ่อกับแม่ก็ช่วยกันหาโรงเรียน วางแผนอนาคตให้ลูกว่าจะไปเรียนต่อที่ไหนดี ซึ่งตอนนั้นโค้ชเอ็ม (ธนกฤต อินเลี้ยง) ของนครนนท์ก็ติดต่อเข้ามา ก็เลยตัดสินใจไปเรียนต่อที่นั่น”

 

ในช่วงแรก “ยูฟ่า” พบกับความยากลำบากในการปรับตัวไม่น้อย เด็กต่างจังหวัดจากบ้านมาตามหาความฝันเพียงลำพัง ต้องห่างไกลจากอ้อมแขนพ่อแม่ที่คอยดูแลเพื่อมาใช้ชีวิตร่วมกับคนแปลกหน้า หัดทำอะไรด้วยตัวเอง บวกกับโปรแกรมฝึกซ้อมที่หนักขึ้น กว่าจะผ่านไปแต่ละวันช่างเหนื่อยล้า นอนร้องไห้จนอยากเก็บกระเป๋ากลับขอนแก่น

 

“ตอนมาอยู่ใหม่ ๆ หนูคิดถึงบ้านมาก ร้องไห้โทรหาพ่อแม่ทุกวัน อยากเลิกเล่น ทำไมฉันต้องมาอยู่ที่นี่ คือมันเหนื่อยมันท้อมาก มันใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นซึ่งเราไม่เคยมาก่อน เพราะอยู่บ้านค่อนข้างสบายมีคนทำอะไรให้หมด อยากได้อะไรพ่อแม่ก็คอยหาให้ แต่ก็ต้องอดทนเพราะหนูเลือกทางนี้แล้ว พ่อก็บอกเสมอว่าให้อดทน สู้ ๆ คอยให้กำลังใจตลอด และเชื่อมั่นว่าหนูทำได้อยู่แล้ว สู้จนกว่าจะเก่ง จนกว่าจะได้”

 

“นอกจากปรับตัวเรื่องการใช้ชีวิตแล้ว ยังต้องปรับตัวเรื่องระบบการเล่นในสนาม เพราะหนูต้องมาเริ่มเล่นตำแหน่งใหม่ ครูเอ็มเปลี่ยนให้หนูมาเล่นเป็นตัวตี จากเดิมตอนประถมหนูเล่นเป็นบล็อกกลาง เพราะตอนหนูเข้า ม.1 ตอนนั้นเหมือนทางโรงเรียนไม่มีตัวตี ซึ่งเราเป็นเด็กอะเลิร์ท ทำอะไรก็ได้ เขาเลยเลือกเรามาเป็นตัวโค้งตัวหัวเสา จากนั้นจนถึง ม.5-6 จุดเปลี่ยนคือหนูบาดเจ็บหนักทำให้ต้องเปลี่ยนตำแหน่งอีกครั้ง”

 

 

เส้นทางที่คาดเดาไม่ได้ แต่ก้าวต่อไปด้วยความมุ่งมั่น

 

ภายใต้การดูแลของโค้ชเอ็ม “ยูฟ่า” เติบโตและพัฒนาขึ้นในทุก ๆ ด้าน จนถูกเรียกตัวติดทีมชาติไทยชุดเยาวชน 

 

“หนูติดเยาวชนทีมชาติครั้งแรกตอนอายุ 16-17​ ติดทีมชาติรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ไปลุยศึกชิงแชมป์โลก 2021 ที่ประเทศเม็กซิโก ช่วยทีมจบอันดับ 11 ซึ่งเป็นผลงานดีที่สุดในรอบ 10 ปี หนูดีใจมากเพราะมันเป็นครั้งแรกที่ได้ลงเล่นโดยมีธงชาติไทยติดบนหน้าอก คุณพ่อกับแม่ดีใจมากค่ะ บอกทุกคนในละแวกบ้าน จากนั้นหนูก็ติดมาเรื่อย ๆ ตามรุ่นอายุ จนมาถึงชุดใหญ่” 

 

เส้นทางของ “ยูฟ่า” ดูจะก้าวไปได้สวย แต่แล้วเหมือนโชคชะตาต้องการท้าทายความแข็งแกร่งในตัวเธอ “ยูฟ่า” โชคร้ายได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่าระหว่างแข่งกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ต้องพักฟื้นนานนับปี

 

“ตอนที่บาดเจ็บ เป็นช่วงที่หนูกำลังฟอร์มดีเลย มีโอกาสจะได้ขึ้นทีมสโมสรชุดใหญ่อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้หนูกลับมาได้ อย่างแรกเลยคือครอบครัว พ่อกับแม่คอยส่งกำลังใจให้หนูตลอด ไม่ปล่อยให้เราเสียใจอยู่คนเดียว เพราะมันเป็นความฝันที่เราอยากจะทำ พอมันเป็นจุดเปลี่ยน พ่อก็ไม่เคยพูดให้เราท้อหรือถอดใจ อีกอย่างตอนเด็ก ๆ เราฝึกความอดทนมาเยอะ เรื่องแค่นี้ทำไมจะผ่านไปไม่ได้ ช่วงที่รักษาตัวหนูต้องใช้ความอดทนมาก ๆ วัน ๆ อยู่แต่ในห้องกายภาพ ได้แต่ดูเพื่อน ๆ พี่ ๆ ลงเล่นวอลเลย์บอล เห็นแล้วมันก็อยากเล่นมาก”

 

“หนูบอกตัวเองอย่างเดียวเลยว่าให้อดทน เดี๋ยวก็หาย เพราะเราเห็นรุ่นพี่หลายคนที่เคยบาดเจ็บหนัก แต่ก็กลับมาโชว์ฟอร์มได้ดี อย่างเช่น พี่เตย (หัตถยา บำรุงสุข) กับพี่แนน (ทัดดาว นึกแจ้ง) ซึ่งเขาใช้เวลานานมากกว่าจะกลับมาเล่นได้อีกครั้ง” 

 

ระหว่างใช้เวลาพักฟื้น “ยูฟ่า” ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เลย ทำได้เพียงแค่นั่งเซตบอลเท่านั้น แต่นั่นเหมือนเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่เธอไม่เคยรู้เลยว่า หลังจากหายเจ็บกลับมาแล้วเส้นทางของเธอกำลังจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง

 

“ตอนนั้นไม่ได้จับบอลนานประมาณครึ่งปี พอเริ่มดีขึ้นก็ได้จับบอลเซตบอล อาจารย์บอกวิ่งไม่ได้ ก็โยนบอลให้เซตเรื่อย ๆ แต่กลายเป็นว่าพอหายเจ็บกลับมาได้เล่นตำแหน่งใหม่คือเป็นมือเซตแทน เพราะเขาคิดว่าน่าจะเป็นตำแหน่งที่จะทำให้เราลงเล่นได้ยาว ๆ ซึ่งเราก็อดทนทำไปทุกวัน ทำตลอด”

 

ฟ้าหลังฝนสวยงามเสมอ ไม่ใช่แค่ประโยคโรแมนติกอีกต่อไป เนื่องจากมันเกิดขึ้นจริงกับ “ยูฟ่า” เพราะหลังฟื้นตัวเรียกความฟิตกลับมาได้อีกครั้งในปี 2023 นอกจากเธอจะผ่านการตัดตัวในตำแหน่งมือเซตกับทีมชาติรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปีแล้ว เธอยังได้รับโอกาสจากทีมชาติชุดใหญ่ ลุยศึก ซี วีลีก 2023 สนามสอง ในตำแหน่งเดียวกันอีกด้วย

 

“ประสบการณ์ติดชุดใหญ่ ตอนติดครั้งแรกก็ดีใจมากค่ะ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นแมตช์ใหญ่ แต่มันคือแมตช์แรกที่หนูกลับมาแข่งหลังจากหายเจ็บ แถมยังได้เล่นในตำแหน่งใหม่ ก็ดีใจมากที่โค้ชให้โอกาส ภูมิใจมากค่ะ ตอนเดินลงสนามขนลุกไปทั้งตัว พ่อกับแม่ท่านก็ดีใจมากๆ พอเขารู้ว่าหนูติดทีมชาติก็รีบขับรถมาหาที่กรุงเทพ ตอนลงไปเล่นยังได้ยินเสียงพ่อกับแม่ส่งเสียงเชียร์อยู่ตลอด อย่างน้อยอายุเท่านี้ก็มีชื่อติดทีมชาติแล้ว แม้ว่าเราจะยังเซตไม่ได้แพรวพราวมากนัก”

 

 

ตำแหน่งเปลี่ยน แต่ความมุ่งมั่นไม่เคยเปลี่ยน

 

ทุกครั้งที่เปลี่ยนตำแหน่ง “ยูฟ่า” ก็ต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยและฝึกซ้อมทักษะในแต่ละด้านเพิ่มมากขึ้น แต่เพราะว่านี่เป็นเพียงก้าวแรกของการเดินทางไปยังจุดหมาย เธอมุ่งมั่นและทำตามคำสอนของโค้ชอยู่เสมอ 

 

“ตัวเซตมีภาระหน้าที่หลายอย่าง ต้องใช้ความคิดในการเซตบอลแต่ละครั้ง น่าจะเป็นตำแหน่งที่หนักที่สุดตั้งแต่เล่นมาเลย เพราะต้องคิดเร็วทำเร็วอยู่ตลอด แต่ถ้าถามว่าตำแหน่งไหนเล่นแล้วรู้สึกสนุกที่สุด คิดว่าเป็นตำแหน่งหัวเสาเพราะหนูเป็นคนทำแต้ม แต่เสน่ห์ของตัวเซตคือเวลาเราตั้งบอลให้เพื่อนตีได้คะแนนหรือหลอกบล็อกฝั่งตรงข้ามได้ มันจะรู้สึกดีใจมากกว่า เพียงแต่มันดีใจได้ไม่แรงเท่ากับเราเป็นคนตีเอง เซตเตอร์มันก็สนุกอีกไปแบบ แถมยังทำให้ร่างกายของเรายืนระยะได้นานด้วย”

 

“มือเซตหนูชอบพี่นุช (นุศรา ต้อมคำ) พอหนูมาเล่นเป็นตัวเซตยิ่งทำให้ตื่นเต้นมาก ในแคมป์ทีมชาติช่วงแรกได้แฟนอาจารย์อ็อต เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร (เฟง คุน อดีตมือเซตทีมชาติจีน ดีกรีแชมป์โอลิมปิก 2004, 2008) มาสอนเบสิกให้ จากนั้นก็เป็นพี่นุชที่คอยสอนคอยให้คำแนะนำ ซึ่งพี่นุชก็มาร่วมซ้อมกับทีมด้วย เจ้ก็สอนหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับเซตเทคนิคและแท็กติกการเล่น ซึ่งมันช่วยได้หนูได้มาก”

 

ยูฟ่า เล่าต่อด้วยรอยยิ้มว่า “ตอนนั้นหนูเกร็งมาก เจ้ก็จะบอกให้ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ หัดไป เพราะหนูยังทำไม่ได้ หนูอยากเก่งให้เหมือนพี่นุช หรือถ้าเก่งได้มากกว่าก็ยิ่งดีเลย ตอนนี้ก็คิดซะว่าเริ่มใหม่ยังมีเวลาเรียนรู้อีกเยอะ จะฝึกฝนให้ชำนาญให้ดีเหมือนพี่นุชไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเก่งและประสบความสำเร็จ”

 

ส่วนเป้าหมายนอกจากจะไปถึงระดับโลกแล้วคือการไปเล่นในลีกต่างประเทศ ซึ่งเธอคิดว่ามันเป็นหนทางที่จะทำให้พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อทำความฝันของรุ่นพี่และคนไทยทั้งประเทศให้สำเร็จนั่นคือการพาทีมชาติไทยผ่านเข้าไปเล่นโอลิมปิกเกมส์รอบสุดท้าย

 

“เป้าหมายระยะสั้นของหนูตอนนี้ขอให้ตัวเองไม่บาดเจ็บซ้ำอีก อยากทำให้ร่างกายฟิตและแข็งแรงพร้อมลงเล่น และหวังว่าเส้นทางไทยแลนด์ ลีก ฤดูกาลนี้ขอให้ตัวเองฟอร์มดีในเส้นทางของการเป็นมือเซต”

 

“ส่วนเป้าหมายในระยะยาว หนูอยากไปเล่นลีกต่างประเทศพัฒนาตัวเองและเก็บเงิน เพราะหลังเลิกเล่นอยากจะไปเปิดสวนฟาร์มที่บ้าน เป็นคาเฟ่ร้านอาหาร คนผ่านทางมาก็นั่งชิลได้ ส่วนประเทศที่อยากไปเล่นลีกอาชีพคือญี่ปุ่น เพราะนักกีฬาเขามีระเบียบวินัยในการฝึกซ้อม แถมญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่สวยงาม น่าเที่ยว และหนูชอบอาหารญี่ปุ่น ตอนชุดเยาวชนยังไม่เคยมีไปแข่งที่ญี่ปุ่น มีแต่ไปยุโรป”

 

“ส่วนโอลิมปิกเกมส์ ถึงแม้ว่าทุกครั้งโอกาสของพวกเราจะน้อย แต่เราทุกคนก็ไปด้วยความหวัง นักกีฬา โค้ชทุกคนช่วยกันตลอด พี่ ๆ ทุกคนก็มีความหวังเหมือนกัน นักกีฬาหวังเหมือนกัน พวกเรายอมเสียสละเวลาไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวเพื่อมาฝึกซ้อม ซ้อมหนักด้วย ท้อด้วย แต่สักวันหนึ่งพวกเราจะต้องทำให้สำเร็จให้ได้”


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

La Vie en Rose