stadium

พักตร์พงษ์ เดชเจริญ : ติดทีมชาติไทย เพราะ “โต๊ะกินข้าว”

30 พฤศจิกายน 2566

ชื่อของ "ต้น ราชนาวี" พักตร์พงษ์ เดชเจริญ แฟนๆอาจจดจำภาพของเค้า จากลีลาการเล่นเซปักตะกร้อ แต่แท้จริงแล้ว เค้าถือเป็นกำลังหลักของทีมชาติไทย ในกีฬาเทคบอล อยู่ในเวลานี้

 

 

 

รู้จักตะกร้อ เพราะคุณพ่อนำพา

 

ชีวิตในวัยเด็กของ “ต้น ราชนาวี” รู้จักกับลูกหวาย จากคุณพ่อที่เป็นนักกีฬาเซปักตะกร้อ เป็นความทรงจำที่จุดประกายให้ พักตร์พงษ์ เดชเจริญ อยากเข้าสู่เส้นทางนี้ แม้จะมีอุปสรรคมากมายรออยู่

 

“พ่อผมเป็นนักตะกร้อ เวลาแกไปออกกำลังกาย ก็จะพาผมไปด้วย ได้ซึมซับกับมันพอสมควร ผมเริ่มรู้สึกชอบ พ่อเลยซื้อรองเท้าให้คู่นึง”

 

“ตอนหัดเดาะครั้งแรก พ่อเห็นว่าน่าจะมีแวว เลยให้เริ่มฝึกจริงจังช่วง ป.3 ผมยังจำภาพได้อยู่เลย กีฬาอะไรกันเนี่ย เดาะยากมาก ห้ามให้ลูกตกพื้น ตาตุ่มนี่บวมเป็นลูกมะนาวเลย อย่าลืมว่าเท้าเด็กไม่สามารถรับน้ำหนักความแข็งลูกตะกร้อได้ ยิ่งเดาะโดนจุดเดิมๆ ยิ่งช้ำ เจ็บจนร้องไห้ เลยถามพ่อว่า ทำยังไงถึงจะหายเจ็บ?”

 

“พ่อตอบกลับว่า แค่เดาะไปเรื่อยๆจนกว่าจะหายเจ็บ ทำซ้ำๆ เดี๋ยวร่างกายชินเองแหละ ผมคิดในใจทำไมมันยากจัง เดาะยังไงก็ตก แต่พอเห็นพ่อเล่นกับเพื่อน เค้าเดาะได้ กระโดดตีลังกาได้ เลยบอกตัวเองว่า สักวันจะทำให้ได้อย่างเค้า จะเก่งให้ได้ ความที่พ่อพาไปเล่นตะกร้อทุกวัน เป็นโชคดีที่ผมได้พัฒนาตัวเองแบบก้าวกระโดด ได้เล่นกับพวกพี่ๆ เลยมีเป้าหมายอยากเป็นนักกีฬาตะกร้อ อยากติดทีมชาติ อยากออกทีวี”

 

 

จากเด็กบ้านนอก ก้าวเข้าสู่เมืองใหญ่

 

สมัยมัธยม พักตร์พงษ์ เดชเจริญ ได้มาศึกษาต่อที่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต จังหวัดปทุมธานี จากเด็กจังหวัดอุดรธานี ที่ไม่เคยสัมผัสบรรยากาศแบบนี้มาก่อน แม้รอบๆตัวจะมีแต่คู่แข่งที่เต็มไปด้วยความสามารถ แต่ก็ไม่ทำให้ความมุ่งมั่น ความตั้งใจลดลงแต่อย่างใด

 

“พอได้เข้ามาเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต เราเป็นเด็กบ้านนอก ไม่เคยเข้าเมืองใหญ่ เจอคนเก่งๆเยอะมาก ที่นี่จริงจังกับการซ้อม แทบจะไม่เห็นใครซ้อมเหยาะแหยะ คนอื่นอาจมองว่าตึงเกินไป แต่สำหรับผมเป็นอะไรที่ชอบสุดๆ เรามีเป้าหมายอยากชนะคนเก่งๆ ซ้อมให้หนักขึ้น เค้าซ้อมเสร็จ ผมซ้อมต่อ เราเล่นเป็นตัวเสิร์ฟด้วย ส่วนตัวมองว่าถ้ามีพื้นฐานดี มีชัยไปกว่าครึ่ง”

 

“ส่วนความทรงจำกีฬาสี พวกผมหมดสิทธิ์ เพราะเราเป็นนักตะกร้อของโรงเรียน มันห่างชั้นเกินไปกับคนอื่น ต้องไปเตะฟุตบอลแทน แต่นักบอลก็สู้ผมไม่ได้ เพราะเราฟิตกว่า”

 

“ช่วงจะเรียนจบมัธยม พวกผมกวาดแชมป์เกือบทุกรายการในประเทศไทยในรุ่นเยาวชน ผมติดทีมชาติตอนอายุ 16 ปี, ติดทีมชาติไทยชุดนักเรียนอาเซียน ตอนอายุ 18, ได้เก็บตัวกับทีมชาติชุดใหญ่ตอนอายุ 20”

 

Credit : Nation Photo

 

ตะกร้อในร่ม สู่ ตะกร้อชายหาด

 

เส้นทางในกีฬาเซปักตะกร้อของ พักตร์พงษ์ ดูเหมือนจะไปได้สวย แต่หากมองภาพในระยะยาว การเบียดรุ่นพี่ขึ้นมาเป็นตัวหลักทีมชาติไทย เป็นอะไรที่ยากมาก บวกกับช่วงเวลานั้น มีตะกร้อชายหาดเข้ามาพอดี จึงตัดสินใจไปหาความท้าทายใหม่ๆ

 

“ตะกร้อชายหาดเข้ามาตอนผมอายุ 21 ปี ทางนู้นขาดตำแหน่ง ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดีในการไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ต้องยอมรับตามตรงว่า เซปักตะกร้อในร่ม พี่ๆแต่ละคนเก่งมากๆ กว่าตัวเองจะได้โอกาสเล่น ดูจะยากมากๆ เลยตัดสินใจไปตะกร้อชายหาด”

“สัมผัสแรกที่เข้ามาเล่น บอกเลยยากมาก เพราะต้องถอดรองเท้าเล่นบนพื้นทราย ต้องเล่นกลางแจ้ง มีลมด้วย แตกต่างจากตะกร้อในร่มอย่างสิ้นเชิง”

 

“ตะกร้อในร่ม ไม่มีลม ใส่รองเท้าเล่น การกระโดดฟาด ตีลังกา สมดุลกว่า แต่ถ้าเป็นตะกร้อชายหาด หัวเราจะปักทรายเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะทรายมันลื่น เหยียบลงไปพื้นยวบ เค้าเตะมาไม่รู้ทรายจะเข้าตารึเปล่า ผมใช้เวลาทำความรู้จักอยู่ 5 เดือน ปรับตัวเองให้ชำนาญเกือบปี”

 

“ส่วนเวลาซ้อมมี 2 เวลา คือ 9.00-12.00 และ 15.00-18.00 ซ้อมตอนมีแดดเท่านั้น ยิ่งไอแดดโดนทรายไม่ต้องพูดถึง ร้อนจนทนไม่ไหว บางทีเหยียบทรายไม่ได้เลย ที่เห็นนักตะกร้อใส่ถุงเท้า 2-3 ชั้น ไม่ใช่ว่ากลัวเจ็บนะครับ กลัวร้อนต่างหาก นึกภาพดูถ้าวันไหนไม่เอาน้ำไปรดสนามก่อนซ้อม หรือ ก่อนแข่ง แทบจะดิ้นเป็นเจ้าเข้า”

 

 

กวาดผลงานเรียบ “เอเชียนบีชเกมส์”

 

พักตร์พงษ์ เดชเจริญ รับใช้ทีมชาติไทย ในกีฬาเซปักตะกร้อชายหาด 10 ปีเต็ม โดยเฉพาะมหกรรมกีฬา “เอเชียนบีชเกมส์” เป็นหนึ่งในทัวร์นาเมนต์ที่เขาทำผลงานได้อย่างสุดยอด ด้วยการกวาดเหรียญทองทุกอีเวนต์ 

 

“ผมเล่นตะกร้อชายหาด 10 ปี เล่นเอเชียนบีช 5 ครั้ง ได้เหรียญทองทั้งหมด ทุกอีเวนต์ ไม่ว่าจะเป็น ทีมชุด และ ทีมเดี่ยว มันคือผลงานที่ภูมิใจที่สุดในชีวิต แต่อยู่ดีๆ การแข่งขันตะกร้อชายหาดในเอเชียนบีช ถูกยกเลิกจัดการแข่งขัน พวกผมก็ไปไม่เป็นเลย”

 

 

ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง 

 

แม้เซปักตะกร้อชายหาดจะยกเลิกในการแข่งขัน “เอเชียนบีชเกมส์” แต่ก็มี กีฬาเทคบอลชายหาด เข้ามาแทนพอดี ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนของ “ต้น ราชนาวี” ในการปรับตัว เรียนรู้กับกีฬาชนิดใหม่อีกครั้ง 

 

“กีฬาเทคบอลชายหาด เข้ามาแทนที่ ตะกร้อชายหาด ในเอเชียนบีชเกมส์ พวกผมโชคดีได้เข้ามาเล่นเพราะ สมาคมตะกร้อ และ สมาคมเทคบอล มีความใกล้ชิด สนิทสนมกัน โค้ชของตะกร้อชายหาด กับ เทคบอล เป็นคนเดียวกัน”

 

“ก่อนหน้านี้ ทางโค้ชได้เฟ้นหานักกีฬาทั่วทุกสารทิศ ไม่ว่าจะเป็น ตะกร้อ นักฟุตบอล นักฟุตวอลเลย์ แต่สุดท้ายโค้ชเลือกนักตะกร้อ เนื่องจากนักตะกร้อเล่นลูกบนอากาศเป็นหลัก และเทคบอลเน้นเล่นบนอากาศ ซึ่งถ้าเอานักฟุตบอลมาเล่น ความผาดโผนจะไม่มี พวกเค้าเล่นกับพื้นเป็นส่วนใหญ่”

 

 

ความท้าทายใหม่ที่ชื่อว่า “เทคบอล”

 

พักตร์พงษ์ ยอมรับว่า หลังจากได้เข้าสู่วงการเทคบอล ทุกอย่างรอบตัวเป็นสิ่งที่ใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ หรือ แม้กระทั่งกติกาที่ต้องศึกษาใหม่หมด 

 

“เห็นโต๊ะเทคบอลครั้งแรก ยืนงงอยู่แปปนึง มันเล่นยังไง? จะเสิร์ฟยังไงให้ลง ลองเตะดูคิดว่าลูกลงโต๊ะแน่ๆ ปรากฏลูกโค้งหลบออก”

 

“ยิ่งกติกาปวดหัวกันเป็นแถว เพราะเราพูดอังกฤษไม่ได้ ฟังไม่ออก แปลไม่ได้ ทำได้แค่ฝึกเบื้องต้นให้ชินกับโต๊ะก่อน หลังจากนั้นโค้ชได้ดึงผู้ฝึกสอนต้นตำหรับจากฮังการี มาสอนพวกเรา เริ่มเข้าใจมากขึ้น พอผ่านมาได้ 4 เดือน โควิดก็ดันมาซะก่อน ต้องหยุดซ้อม 1 ปีเต็ม ตอนนั้นบ้านเราไม่มีโต๊ะซ้อม อีกอย่างนักกีฬาอยู่กระจัดกระจายทั่วประเทศ ทำได้เต็มที่คือ เล่นฟิตเนส เดาะตะกร้อที่บ้านเท่านั้น”

 

“ปัญหาหลักคือ ไม่มีโต๊ะ ผมไม่รู้จะทำยังไง ตัดสินใจเอาโต๊ะกับข้าวที่บ้านมาซ้อมเลย แปลกไปอีกแบบดี”

 

“หลังหมดโควิดรอบแรก เรากลับขึ้นมาซ้อมต่อ ซ้อมได้ไม่กี่วัน โควิดรอบ 2 ก็มา หนักกว่ารอบแรกอีก ทุกคนต้องกลับไปซ้อมของใครของมัน”

 

“หมดโควิดรอบ 2 โค้ชให้ทุกคนเก็บตัว 3 เดือนเพราะห่างโต๊ะกันมานาน เก็บตัวได้แค่ 2 อาทิตย์ รู้ข่าวว่าจะมีรายการ เทคบอลชิงแชมป์โลก ที่ประเทศเยอรมัน อยู่ดีๆก็มีหนังสือเชิญมาที่เรา”

 

“ตอนที่ทราบข่าวว่ามีหนังสือเชิญ ทุกคนตกใจกันมาก อย่าลืมว่าพวกเราเพิ่งหัดเล่น จะไปกระโดดเตะเหมือนนักกีฬาระดับโลกได้ไง แต่โค้ชได้อธิบายว่า ทางฝ่ายจัดการแข่งขัน เห็นศักยภาพทีมไทย จึงขอเชิญเข้าร่วมการแข่งขัน ทางสมาคมถามว่าพร้อมมั้ย? พวกเราทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกัน พร้อมมาก ทั้งที่ซ้อมได้แค่ 2 อาทิตย์”

 

 

ประสบการณ์สุดล้ำค่า ที่เยอรมัน 

 

แม้ทีมชาติไทย จะตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย ในเทคบอลชิงแชมป์โลก 2022 ที่ประเทศเยอรมัน แต่กลับเป็นทัวร์นาเมนต์แจ้งเกิดสำหรับพวกเขา โดยเฉพาะท่าตีลังกา ที่เรียกเสียงฮือฮา และ สร้างความประทับใจ ให้กับผู้เข้าชมทั้งสนาม รวมถึงนักกีฬาระดับโลก

 

“สนามแข่งสวยจริงๆ เหมือนกับในทีวีเป๊ะ ทุกคนตื่นเต้นมาก มันเป็นรายการระดับโลก” 

 

“วันแรก เราก็กระโดดตีลังกาเตะ ปรากฏคนดูโห่เรา เค้าไม่เคยเห็นชาติไหนที่ทำแบบนี้มาก่อน และนักกีฬาบางคนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีกีฬาเซปักตะกร้ออยู่ในประเทศไทย เค้าเลยประท้วงกรรมการ กลายเป็นว่า พอเราตีลังกาเมื่อไหร่ ฟาวล์ทันที”

 

“จบวันแรก ทีมงานเอากติกามาดู และปรึกษาผู้ฝึกสอนต้นตำหรับฮังการี ปรากฏว่าไม่มีกฏข้อไหนที่เขียนว่า ห้ามตีลังกา จากนั้นได้เอากฏไปให้ฝ่ายจัดการแข่งขันดู ได้ข้อสรุปว่า สามารถกระโดดตีลังกาได้”

 

“วันที่ 2 เรายังกระโดดตีลังกาฟาด โดนโห่เหมือนเดิม จนวันที่ 3 พวกเราทำเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง เตะไปเรื่อยๆ จากเสียงโห่ กลายเป็นเสียงตรบมือ ผู้ชมเริ่มเห็นสไตล์การเล่นของไทย มันดูสวยงาม เท่ดี ทำเอานักกีฬาบางคนถึงกับเข้ามาถามว่า พวกคุณตีลังกาไม่เหนื่อยบ้างเหรอ? ไปเอาแรงมาจากไหน? ผมบอกว่า ประเทศไทยเราเตะตะกร้อ ตีลังกาอยู่บ่อยๆ”

 

“แม้สุดท้ายพวกเราจะตกรอบ 16 ทีม แต่อย่าลืมว่า ทุกคนซ้อมได้แค่ 2 อาทิตย์ เป็นประสบการณ์อันล้ำค่า และ ไม่มีวันลืม ทีมอื่นเค้าแข่งหลายร้อยแมตช์ แต่เราแข่งแค่ครั้งเดียวเองนะ”

 

“และแมตช์ที่สร้างชื่อให้ประเทศไทยในทัวร์นาเมนต์นี้ คือ Gala Match ซึ่งเป็นแมตช์พิเศษ ที่ทางสหพันธ์จะเปิดให้คนทั่วไปโหวตว่า อยากดูชาติไหนแข่งมากที่สุด ปรากฏว่า อันดับ 1 เป็นของเรา และ อันดับ 2 บราซิล”

 

“ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเราไม่รู้ข่าวเลย จนกระทั่งท่านเลขาสมาคม โทรมาหาตอนตี 3 บอกว่า จะได้เล่น Gala Match นะ พวกเราดีใจจนทำตัวไม่ถูกเลย แล้วประเด็นคือ ชุดแข่งยังไม่ได้ซัก เพราะตั้งใจว่าจะกลับไปซักที่ไทย เพราะเราตกรอบหมดแล้ว ก็รีบตื่นมาซักแห้ง รีบเอาไดร์เป่าผมเป่ารัวๆๆ” 

 

“พอช่วงเช้า ใกล้เวลาแข่ง ตื่นเต้นหนักเลย อยากเล่น อยากโชว์ เพราะเราไปครั้งแรก อีกอย่าง บราซิล คือ อดีตคู่มือ 1 ของโลกด้วย พอลงไปเล่น เสียงตรบมือ เสียงเฮ จากแฟนๆดังสนั่นมาก ทุกวันนี้คลิปผม กับ บราซิล ยังเป็นไวรัลจนถึงทุกวันนี้”

 

 

“อาปอร์ จอร์จีเดียก” ไอดอลในดวงใจ

 

อาปอร์ จอร์จีเดียก นักเทคบอลประเภทชายเดี่ยว อันดับ 1 ของโลกจาก โรมาเนีย ถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ พักตร์พงษ์ เดชเจริญ ชื่นชอบเป็นพิเศษ และ ศึกษาฟอร์มการเล่นอยู่บ่อยๆ 

 

“อาปอร์ คือ นักกีฬาที่ผมยกให้เป็นไอดอลเลย เค้าเก่งมากๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกเสิร์ฟ การโจมตี การตั้งรับ ทุกอย่างดีหมด ผมชอบคนที่เล่นใช้ความคิด ซึ่งอาปอร์ เป็นคนที่วางแผนการเล่นได้ฉลาดมาก ไม่แปลกใจที่หลายคนยกย่องเค้าเป็นสุดยอดผู้เล่นอันดับ 1 ของโลก” 

 

 

 

เป็นนักกีฬาเทคบอลได้ เพราะ “โต๊ะกินข้าว”

 

“ทุกวันนี้ยังยกมือไหว้โต๊ะกินข้าวอยู่เลย มันมีบุญคุณกับผมมาก ผมกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่า ที่เป็นนักกีฬาเทคบอลทีมชาติไทยได้ เพราะโต๊ะกินข้าวนี่แหละ เป็นความทรงจำที่ดีในชีวิตจริงๆ”

 

“ขอบคุณหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ ขอบคุณครอบครัวที่สนับสนุนมาตลอด พอมองย้อนกลับไป เส้นทางชีวิตมันมาไกลจริงๆ” 


stadium

author

"เจมส์จินโญ่" ธัมมสาร อ่อนเกิดแก้ว

StadiumTH Content Creator / รักเชลซี พิคานย่า และ ทุกอย่างที่เป็นบราซิล

โฆษณา