stadium

"โค้ชนก" พนม พุดชา เบื้องหลังความสำเร็จกรีฑาพาราไทย

27 พฤศจิกายน 2566

จากนักกีฬาวิ่งผลัด 4x100 เมตรทีมชาติไทย สู่บทบาทโค้ชของทีมพาราลิมปิกในยุคที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดยุคหนึ่ง โดยเฉพาะการประสบความสำเร็จครั้งสำคัญของทีมนักวิ่งผู้พิการแขนขา นี่คือเรื่องราวของ "โค้ชนก" พนม พุดชา บนเส้นทางแห่งการวิ่ง

 

 

อดีตนักวิ่งซีเกมส์ 3 สมัย

 

ในช่วงปี 2550 ในยุคทีมผลัด 4x100 เมตรชาย ที่ประกอบด้วย "โจ๊ก" สิทธิชัย สุวรประทีป และ "เอก" วัชระ สอนดี ปรากฏชื่อของ "นก" พนม พุดซา ในฐานะตัวสำรอง ซึ่งทำให้นกได้รับราชการสังกัดกองทัพอากาศในเวลาต่อมา และหลังจากเลิกเล่นทีมชาติ นกก็เข้าฝึกอบรมการเป็นผู้ฝึกสอน กระทั้งได้รับโอกาสครั้งสำคัญในทีมพาราลิมปิก 

 

"หลังจากเลิกวิ่ง ก็มาเข้าอบรมเป็นผู้ฝึกสอนสำหรับนักวิ่งปกติ จนทีมพาราลิมปิกขาดโค้ช ผมก็เข้าไปช่วย เป็นโอกาส บวกกับดวงที่จะได้เป็นโค้ช ตอนนั้นจากคนที่ไม่เคยคิดเลยว่าคนพิการวิ่งกันอย่างไร ก็เป็นโจทย์ที่ยากมาก" นกเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่ทีมพาราลิมปิกไทย 

 

เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับโตเกียวพาราลิมปิกซึ่งทีมวีลแชร์เรซซิ่งต้องการผู้ช่วยโค้ช นกจึงได้เข้าไปช่วยโค้ช สุพรต เพ็งพุ่ม และในปีนั้นทีมวีลแชร์เรซซิ่งไทย ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม สามารถครองเหรียญทองได้มากกว่าพาราลิมปิกครั้งก่อน ที่ ริโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล

 

"ตอนแรกผมก็สนใจ เรารู้สึกว่าท้าทาย อยากให้คนพิการได้ดึงศักยภาพของตัวเองออกมา และอยากใช้ประสบการณ์ของเราตอนที่ติดทีมชาติ และจากการฝึกอบรม ไปสอนและดูแลพวกเขา ผลที่ออกมาผมรู้สึกว่าภูมิใจ ดีใจ แล้วได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้พิการ ทำให้ทุกคนได้รับการยอมรับมากกว่าเดิม" นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญมากสำหรับนก เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นโค้ชอย่างเต็มตัว

 

 

สู่โค้ชทีมนักวิ่งผู้พิการแขนขา

 

หลังจากผ่านโตเกียวพาราลิมปิกแล้ว เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ทีมนักวิ่งผู้พิการแขนขาต้องการเปลี่ยนโค้ชชุดใหม่ นกจึงรับข้อเสนอเข้าไปเป็นโค้ชของทีมนักวิ่งผู้พิการแขนขาพาราลิมปิกทีมชาติไทยแบบเต็มตัว ทำทีมเพื่ออาเซียนพาราเกมส์ที่อินโดนีเซียปี 2022 (เป็นปีที่ซีเกมส์จัดการแข่งขันที่ฮานอยประเทศเวียดนาม แต่เวียดนามไม่พร้อมสำหรับการจัดกีฬาผู้พิการ จึงต้องไปจัดที่อินโดนีเซียแทน)

 

"ผมก็ได้ทำทีมไปแข่งอาเซียนพาราเกมส์ที่อินโดนีเซีย ตอนนั้นทีมกรีฑาพาราไทยประสบความสำเร็จทำได้ 9 เหรียญทอง จากเป้า 7 เหรียญทอง และต่อด้วยอาเซียนพาราเกมส์ที่กัมพูชา ก็ประสบความสำเร็จมากเช่นกัน จากนั้นก็ไปรายการชิงแชมป์โลกที่ปารีส" นับเป็นการประสบความสำเร็จอย่างสวยงามของโค้ชนก พนม

 

โดยนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือน้องอุ้ม ศศิราวรรณ อินทโชติ สาวจากจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเริ่มต้น เข้ามาเป็นนักกีฬาพาราลิมปิกแบบนับหนึ่ง และใช้เวลาสามปีเพื่อมาถึงจุดนี้ "อุ้มเป็นน้องที่ได้รับการแนะนำมาจากเพื่อนที่ศรีสะเกษ บอกว่า น้องไม่เคยวิ่งมาก่อน อาจจะต้องฝึกเยอะ เพราะไม่มีพื้นฐานเลย เราก็ค่อย ๆ ปรับไป ใช้เวลาสามปี ตั้งแต่น้องอยู่ ม.6 รับมาอยู่ด้วยกันเลย มาสร้างพื้นฐานความแข็งแรง ถือว่าพัฒนาแบบก้าวกระโดดมาก"

 

ในเอเชียนพาราเกมส์หางโจวที่เพิ่งจบไป อุ้มทำผลงานได้ 1 เหรียญทองและ 1 เหรียญทองแดง ซึ่งก่อนหน้านั้นรายการชิงแชมป์โลกที่ปารีส อุ้มก็สร้างประวัติศาสตร์ สามารถคว้าโควตาสำหรับปารีสพาราลิมปิกมาได้ด้วย "สำหรับนักกรีฑา 3 ปีถือว่าประสบความสำเร็จมาก และไม่ธรรมดา อุ้มก็เคยบอกตลอดว่าถ้าไม่มีผม ก็คงไม่มีวันนี้ เราเองก็รู้สึกว่าน้องทุ่มเท"

 

 

เดินหน้าต่อไปในระดับโลก

 

3 ปีของโค้ชพนม ในฐานะโค้ชทีมผู้พิการแขนขาพาราลิมปิกไทย และ 3 ปีของ อุ้ม ศศิราวรรณ นับเป็นช่วงเวลาสำคัญของการสะสมประสบการณ์ จนประสบความสำเร็จร่วมกันทั้งสองคน จากจุดที่ไม่เชื่อว่าจะทำได้ ก็ไปได้เกินเป้าหมายมากกว่าที่ฝันไว้ โดยเฉพาะรางวัลที่นักกีฬาได้รับ ที่เปลี่ยนชีวิตของเธอตลอดไป

 

"วันที่ไปรับเขา เราก็รู้ว่าฐานะทางบ้านน้องเป็นยังไงบ้าง เขาลำบากมาก ณ ตอนนี้ เงินรางวัลที่น้องได้ ก็เอาช่วยเหลือครอบครัว ตอนนี้น้องอายุเพิ่ง 20 ปี ถือว่าอนาคตสดใสมาก ผมเองก็เห็นว่าเค้ามีความเป็นสปรินเตอร์ที่ดีได้ ก็ค่อย ๆ สะสมกันไป เพื่อจะต่อยอด และให้เป็นตัวหลักของระยะสปรินเตอร์ของนักกีฬาคนพิการได้ในอนาคต"

 

ประสบการณ์ในฐานะนักกีฬาทำให้โค้ชนกใส่ใจเรื่องการดูแล และปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้อง จึงมองว่าไม่ควรรีบเร่งให้นักกีฬาซ้อมหรือแข่งหนักจนเกินไป เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ และให้นักกีฬาสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว "ตัวผมเองก็จะตั้งใจหาความรู้เพิ่มเติม เหมือนเป็นการอัพเกรดเวอร์ชัน ผมก้าวมาขนาดนี้ ผมต้องไปต่อให้ทันเขา พัฒนานักกีฬาของผม ตอนแรกก็ตั้งเป้ากับอาชีพโค้ชไว้ว่าเป็นงานเรื่องวิ่งที่ผมรัก ทำให้ผมมีวันนี้ เพราะผมวิ่งมาตั้งแต่เด็ก ก็มีความสุขกับมัน และตอนนี้ถือว่าทำได้ตามเป้าหมาย"

 

โดยนอกจากอุ้ม ศศิราวรรณแล้ว ทีมกรีฑาผู้พิการแขนขายังมีนักวิ่งชายคือ จะฟะ แซ่ปลา ที่ทำผลงานได้ดีด้วยเช่นกัน โดยสามารถคว้าเหรียญทองแดงได้จากเอเชียนพาราเกมส์หางโจว และมีลุ้นแรงกิ้งเพื่อไปปารีสพาราลิมปิก 

 

"ตอนนี้คนไทยสนับสนุนนักกีฬาคนพิการมากขึ้น เพราะสื่อให้ความสำคัญ ทำให้ได้เห็นจุดเด่นของคนพิการ ได้เห็นความพยายามของพวกเขา ทำให้ทุกคนหันมาให้ความสนใจ อันดับแรก ผมก็อยากขอบคุณสื่อที่ช่วยกันผลักดัน รวมถึงผู้ใหญ่ทุกคน และสมาคม ตอนนี้พวกเราได้รับการดูแลที่ดีมากขึ้น คนพิการเค้าจิตใจอ่อนแอมากนะครับ ทุกคนก็รู้สึกดีขึ้น จนไม่รู้สึกต่ำต้อย เพราะได้รับการยอมรับ จนเกือบจะเท่าเทียมกับคนปกติ ก็เกิดจากแรงผลักดันจากทุกคนครับ"

 

หลังจากนี้ทีมพาราลิมปิกไทยยังมีอีกหลายรายการแข่งขัน ทั้งศึกชิงแชมป์โลกที่นครราชสีมา และไทยแลนด์อินเตอร์เนชั่นแนล ก่อนจะไปถึงปารีสพาราลิมปิก "ฝากถึงคนดูแฟนชาวไทย ขอบคุณแรงเชียร์และกำลังใจ นักกีฬาทุกคนถึงจะมีความพิการและบกพร่อง เค้าก็เป็นคนไทยที่ทำเพื่อคนไทยจริงๆ ทุกคนสู้เต็มที่ ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อคนไทย อยากให้เชียร์พวกเราต่อไป ทุกคนรอกำลังใจจากทุกคน และภูมิใจที่ได้ทำเพื่อทุกคนจริงๆ ครับ"


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง

La Vie en Rose